Digiqole ad

“มนุษย์ สว.2567” แบบนี้ก็มีด้วย ประวัติศาสตร์การเมืองไทยหน้าใหม่

 “มนุษย์ สว.2567” แบบนี้ก็มีด้วย ประวัติศาสตร์การเมืองไทยหน้าใหม่
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 428 ระหว่างวันที่ 19-25 เมษายน 2567

 หน้า 2-3

          “มนุษย์ สว.2567” แบบนี้ก็มีด้วย ประวัติศาสตร์การเมืองไทยหน้าใหม่

ในเดือนหน้า วันที่ 11 พฤษภาคม 2567 เป็นวันทำงานวันสุดท้ายของการทำงานสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 250 คน ชุดที่ 12 จากนั้นจะเปิดให้มีการ “คัดเลือก” สว.ชุดที่ 13 จำนวน 200 คน ที่มาจากวิธีการคัดเลือกแบบใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาก่อน “เลือกกันเอง”

คุณสมบัติผู้สมัคร สว.

จากข้อมูลของคณะกรรมการการเลือกตั้ง, วุฒิสภา และ ThaiPBS ระบุว่า คุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. : มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันที่สมัครรับเลือก มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี ไม่นับรวมกลุ่มที่ 8 คือ กลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น ประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์

ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ เกิดในอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีนับถึงวันที่สมัคร เคยทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีนับถึงวันที่สมัคร เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปีการศึกษา

26 ลักษณะต้องห้ามผู้สมัคร สว.

26 ลักษณะต้องห้ามผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. 1. ติดยาเสพติดให้โทษ 2. เป็นบุคคลล้มละลาย หรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต 3. เป็นเจ้าของ หรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดๆ 4. เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช 5. อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่ 6. วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ 7. อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง 8 .ต้องคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล 9. เคยได้รับโทษจำคุก โดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกในระดับอำเภอ ยกเว้นความผิดที่กระทำโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ 10. เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริต หรือประพฤติมิชอบในวงราชการ 11.เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต 12. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือ ต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดในกฎหมายว่าด้วยยาเสพติด การพนัน การค้ามนุษย์ หรือการฟอกเงิน13. เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

14.อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 15. เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ 16. เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ 17. เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีการเสนอ การแปรญัตติ หรือ การกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือกรรมาธิการ มีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในการใช้งบประมาณรายจ่าย 18. เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่า เป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง 19. เป็นข้าราชการ 20.เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็น สส. มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก 21. เป็นสมาชิกพรรคการเมือง 22. เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง เว้นแต่ได้พ้นจากการดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก 23. เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นรัฐมนตรีมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก 24. เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น เว้นแต่ได้พ้นจากการเป็นสมาชิกมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับถึงวันสมัครรับเลือก 23. เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตร ของผู้ดำรงตำแหน่ง สส. สว. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ในคราวเดียวกัน หรือผู้ดำรงตำแหน่งใดในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ 26. เคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ

 

20 กลุ่มอาชีพที่สมัคร สว. ได้

1.กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ 2. กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ หรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย 3. กลุ่มการศึกษา เช่น เช่น ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา 4. กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท พยาบาล เภสัชกร 5. กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก 6. กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง 7. กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ 8. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน 9. กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมาย (SME) และ ผู้ประกอบกิจการอื่นๆ 10. กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากข้อ (9) 11. กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม 12.กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 13. กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน 14. กลุ่มสตรี 15. กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น 16. กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดงและบันเทิง 17. กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์ 18. กลุ่มนักกีฬา สื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม 19. กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ 20. กลุ่มอื่น ๆ

สมัคร สว. เตรียมอะไรบ้าง

1.หลังจากทราบวันรวมถึงสถานที่รับสมัครแล้วให้ขอรับใบสมัครที่สำนักงานเขต-อำเภอ โดยในระเบียบ กกต. การเลือก สว. ข้อ 49 กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์ที่จะสมัครนำบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายและมีเลขบัตรประชาชนของผู้ถือบัตร หรือบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ (แอปพลิเคชัน ThaID) ไปติดต่อขอรับเอกสารการรับสมัครได้จากนายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นสำหรับกรุงเทพมหานคร ด้านนายทะเบียนจะเตรียมเอกสารสามอย่างให้แก่ผู้ประสงค์จะสมัคร สว. (ข้อ 50) ได้แก่ 1.1 แบบใบสมัคร (สว. 2)  1.2 แบบข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว. 3) 1.3 แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว. 4)

2.การยื่นใบสมัคร ในระเบียบ กกต. การเลือกสว. ข้อ 51 กำหนดให้ ผู้สมัครจะต้องยื่นเอกสารและหลักฐานประกอบการการสมัครด้วยตนเอง ต่อผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอ ณ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกระดับอำเภอกำหนด และต้องไม่เกินกรอบระยะเวลารับสมัคร เอกสารที่เกี่ยวข้อง และหลักฐานที่ผู้สมัคร สว. ต้องยื่น  1.1 แบบใบสมัคร (สว. 2) 2.2 แบบข้อมูลแนะนำตัวของผู้สมัคร (สว. 3)

3. แบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว. 4) ยกเว้นผู้ที่จะสมัครในกลุ่มสตรี ผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มอัตลักษณ์อื่น ตาม พ.ร.ป. สว. มาตรา 11 (14) และ (15) ไม่ต้องใช้เอกสารนี้ เอกสารดังกล่าว ต้องมีผู้รับรองและพยานอย่างน้อยหนึ่งคนลงลายมือชื่อยืนยันว่าผู้สมัครมีคุณลักษณะเช่นนั้นจริงและต้องมีสำเนาบัตรประชาชนของผู้รับรองและพยานซึ่งลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องมาด้วย

4.สำเนาบัตรประชาชน

5. สำเนาทะเบียนบ้าน

6. ใบรับรองแพทย์

7. รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมหมวกและไม่สวมแว่นตาดำ ขนาดกว้างประมาณ 8.5 เซนติเมตร ยาวประมาณ 13.5 เซนติเมตร จำนวนคนละสองรูป สำหรับปิดแบบข้อมูล สว. 3

8. หลักฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับอำเภอที่ผู้สมัครเลือกสมัคร ได้แก่ – หลักฐานที่แสดงว่าผู้สมัครเกิดในอำเภอที่สมัคร เช่น สูติบัตร – หลักฐานที่แสดงว่ามีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในอำเภอที่สมัครไม่น้อยกว่าสองปี – หลักฐานที่แสดงว่าทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครมาแล้วเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี – หลักฐานที่แสดงว่าเคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี – หลักฐานที่แสดงว่าเคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีการศึกษา

9. หลักฐานอื่น ๆ เช่น เอกสารแสดงการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล (ถ้ามี) หลักฐานการลาออกกรณีเป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

10. เงินค่าธรรมเนียมการสมัคร คนละ 2,500 บาท โดยการชำระเงินค่าสมัคร ผู้สมัครสามารถชำระเป็นเงินสด หรือตั๋วแลกเงินหรือแคชเชียร์เช็ค แล้วแต่กรณี (ข้อ 52 วรรคท้าย)

11. สำเนาหลักฐานอื่นที่ผู้สมัครนำมาแสดงตนว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนและไม่มีลักษณะต้องห้ามไม่ให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตามข้อ 46 และไม่เป็นผู้ถูกจำกัดสิทธิตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองตามข้อ 47

ครั้งแรกประวัติศาสตร์ “เลือกกันเอง”

หากย้อนดูประวัติศาสตร์การได้มาของ “สภาสูง” หรือสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทยนั้น พบว่าตั้งแต่ สว.ชุดที่ 1 มาจากการ “เลือกตั้งทางอ้อม” ต่อมา สว.ชุดที่ 2-7 มาจากการ “แต่งตั้ง” สว.ชุดที่ 8 และ 9 ใช้วิธีการ “เลือกตั้ง 100%” ส่วน สว.ชุดที่ 10 และ 11 ใช้การ “เลือกตั้งผสมสรรหา” จนกระทั่ง สว.ชุดที่ 12 ที่กำลังจะหมดวาระในเดือน พ.ค.2567 มาจากการแต่งตั้งโดยคณะ คสช. จำนวน 250 คน

เมื่อหมดวาระลงแล้วนั้น สว.ชุดที่ 13 จะใช้วิธีการ “ผู้สมัครเลือกกันเอง” ซึ่งถือว่าเป็นวิธีที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ สว.ไทย และเมื่อลงลึกในรายละเอียกพบว่า เป็นวิธีการที่ซับซ้อนมากที่สุดอีกด้วย ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ระดับอำเภอ-จังหวัด-ประเทศ มีขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนการเลือกในระดับอำเภอ (มาตรา 40) : เริ่มด้วยการเลือกกันเองภายในกลุ่มที่ผู้สมัครฯ ก่อน โดยเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 2 คน สามารถลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกิน 1 คะแนน ผู้ได้คะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม

แต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกแบ่งออกตามสาย แบ่งออกไปไม่เกิน 4 สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม จะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นที่อยู่ในสายเดียวกัน กลุ่มละ 1 คน ห้ามเลือกคนที่อยู่กลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเองในขั้นนี้ ผู้ได้คะแนน 3 ลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกในระดับอำเภอสำหรับกลุ่มนั้น และเข้าสู่การเลือกต่อในระดับจังหวัด

ขั้นตอนการเลือกในระดับจังหวัด (มาตรา 41) : ผู้ได้รับเลือกระดับอำเภอแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 2 คน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกิน 1 คะแนน ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 5 อันดับแรก ให้ถือเป็นผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม แต่ละกลุ่มเมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มแล้ว จะถูกแบ่งออกตามสาย ไม่เกิน 4 สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกตั้งขั้นต้นของกลุ่มอื่น ที่อยู่ในสายเดียวกัน ห้ามเลือกคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเอง ผู้ได้รับคะแนนสูงสุดสองลำดับแรกของแต่ละกลุ่ม จะถือว่าได้รับเลือกในระดับจังหวัดของกลุ่มนั้น และเข้าสู่การคัดเลือกในระดับประเทศต่อไป

            ขั้นตอนการเลือกในระดับประเทศ (มาตรา 42) : ผู้ได้รับเลือกระดับจังหวัดแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกกันเองภายในกลุ่ม ซึ่งจะเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 10 คน โดยจะลงคะแนนให้ตัวเองก็ได้ แต่ไม่สามารถลงคะแนนให้ผู้ใดได้เกินหนึ่งคะแนน ผู้ได้คะแนนสูงสุด 40 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม ถือเป็นผู้ได้รับเลือกตั้งขั้นต้นของแต่ละกลุ่ม ในขั้นนี้หากแต่ละกลุ่มได้ไม่ครบ 40 คน ก็ถือตามจำนวนเท่าที่มี แต่จะน้อยกว่า 20 คนไม่ได้ โดยผู้อำนวยการเลือกตั้งระดับประเทศจะจัดให้ผู้ที่ไม่ได้รับเลือก ซึ่งยังอยู่ ณ สถานที่นั้น เลือกกันเองในกลุ่มจนกว่าจะได้จำนวนอย่างต่ำ 20 คน แต่ละกลุ่ม เมื่อได้ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นแล้ว จะถูกแบ่งออกตามสาย แบ่งออกไม่เกิน 4 สาย และให้มีจำนวนกลุ่มเท่าๆ กัน ผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของแต่ละกลุ่มจะต้องเลือกผู้ได้รับเลือกขั้นต้นของกลุ่มอื่นในสายเดียวกัน กลุ่มละไม่เกิน 5 คน ห้ามเลือกคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันหรือเลือกตนเอง ผู้ได้รับคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกของแต่ละกลุ่ม (20 กลุ่ม คูณ 10 คน = 200 คน) เป็นผู้ได้รับเลือกเป็น สว. สำหรับกลุ่มนั้น และผู้ที่ได้ลำดับที่ 11-15 จะเป็นผู้ที่อยู่ในบัญชีสำรองของกลุ่มนั้น

            สว.ชุดใหม่ ทำอะไร!?!

พิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ สว. มีบทบาทในการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้ แต่ต้องรวบรวมรายชื่อ สส. เพื่อเสนอร่วมกัน สว. เพียงฝ่ายเดียวไม่สามารถเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญได้

พิจารณากฎหมาย สส. มีอำนาจหลักพิจารณากฎหมาย สว. อำนาจน้อยกว่า แต่ถ้าพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ สว. อำนาจเท่า สส. ให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่ง ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ และผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานรัฐ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง 7 คน ผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 คน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 9 คน  คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 7 คน  ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน7 คน ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ส่งต่อปัญหาประชาชนให้ดำเนินการ

ประชุมให้ความรู้สื่อมวลชน

เมื่อเร็ว ๆ นี้  สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดย นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมให้ความรู้แก่สื่อมวลชนในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งมีการไลฟ์สดทางเฟสบุ๊กเพจสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งด้วย

นายอิทธิพลได้กล่าวถึงการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งกำลังจะมีขึ้นในช่วงเดือนพฤษภาคม 2567 ว่าถึงแม้ว่านี่จะไม่ใช่ครั้งแรก แต่ในครั้งนี้จะเป็นการเลือก สว. เต็มรูปแบบ ซึ่งเป็นการเลือกกันเอง โดยผู้สมัครด้วยตนเอง จำนวน 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมโดยตรงในกระบวนการเลือกตั้ง ซึ่งวาระของ สว. ชุดปัจจุบันนี้จะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 และจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้ง สว. อีก 15 วันนับจากนั้น ซึ่งจะมีการรับสมัคร สว. เป็นเวลา 5 วัน ต่อด้วยอีก 5 วัน เพื่อการประกาศรายชื่อผู้สมัคร

และหลังจากปิดการรับสมัครไม่เกิน 20 วัน จะต้องจัดให้มีการเลือกระดับอำเภอ จากนั้นอีก 7 วัน จัดให้มีการเลือกระดับจังหวัด ต่อจากนั้นอีก 10 วัน ถึงจะเลือกให้เลือกระดับประเทศ ซึ่งคาดว่าจะรู้ผลภายในเดือนกรกฎาคม และโดยกฎหมาย กกต. จะต้องรออีก 5 วันก่อนที่จะมีการประกาศ เผื่อว่าจะมีประเด็นอะไรให้ต้องทบทวน

ผู้สมัครจะต้องศึกษาและตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในการสมัครให้ดีๆ และสำรวจตัวเองว่ามีความรู้ความเชี่ยวชาญประสบการณ์อาชีพ และเป็นกลุ่มอาชีพใด เพราะมีกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการสมัคร โดยสามารถศึกษาได้จาก พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. ซึ่งมีการออกระเบียบ กกต. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2567 แก้ไขรองรับออกมาแล้ว และในการเลือกตั้งในครั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้สมัครประมาณ 100,000 คน ซึ่งทั้งหมดจะถูกคัดเลือกตามกระบวนการจนเหลือ 200 คน จาก 20 กลุ่มโดยแบ่งเป็นกลุ่มละ 10 คน

สำหรับกรณีที่มีการจัดตั้งกลุ่มอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง สว. นั้น นายอิทธิพรกล่าวว่าในเวลานี้ ยังไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นการสร้างเครือข่ายเพื่อบล็อกโหวต หรือล็อบบี้กันหรือไม่ เนื่องจากเป็นการประกาศว่าเป็นการอบรม ซึ่งดูจะเป็นเรื่องดีในการประชาสัมพันธ์ให้แก่ประชาชน อีกทั้งไม่มีข้อห้ามมิให้มีการจัดการอบรม จึงคิดว่าน่ามองตามข้อเท็จจริงไปก่อน

ส่วนพรรคการเมืองที่พยายามจะหนุนหลังการเลือกตั้ง สว. หรือการรวมตัวกันของอดีต สว. เพื่อส่งผู้สมัครนั้น นายอิทธิพรกล่าวว่าเป็นสิ่งที่ไม่สามารถจะกระทำได้ อีกทั้งอดีตสมาชิกพรรคการเมืองที่จะลงสมัครจะต้องเว้นระยะห่างอย่างน้อย 5 ปี เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแทรกแซงจากพรรคการเมือง ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย (ที่มา : thestructure)

            สว.ในอุดมคติไม่ตรงกับความเป็นจริง

ทั้งนี้ รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร นักวิชาการและอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหาร ได้กล่าวถึงบทบาทหน้าที่ของวุฒิสภาอุดมคติที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงในมติชนสุดสัปดาห์ว่า การมีวุฒิสภาในยุคเริ่มแรก เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นสภาพี่เลี้ยงแก่สภาผู้แทนราษฎรก็ดี เป็นสภากลั่นกรองหลังจากการผ่านกฎหมายของสภาผู้แทนราษฎรก็ดี หรือการทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษาในการบริหารราชการแผ่นดินแก่รัฐบาลในฐานะผู้มีวุฒิก็ดี การกำหนดให้วุฒิสภาต้องเป็นกลาง ปลอดจากการเมือง ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง ไม่ฝักใฝ่หรือยอมตนอยู่ภายใต้อาณัติทางการเมืองใดๆ ก็ดี สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นอุดมคติ เพราะในความเป็นจริง พฤติกรรมการแสดงออกของวุฒิสภาที่ผ่านมาทุกคยุคทุกสมัยแทบจะไม่มีความเป็นกลางทางการเมืองให้เห็น แต่เป็นกลไกที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อค้ำจุนอำนาจให้แก่ฝ่ายที่มีอำนาจในการแต่งตั้ง สรรหา คัดเลือกเข้ามาเท่านั้น

คุณสมบัติ ความรู้ความสามารถที่จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง เป็นผู้มีวุฒิจากประสบการณ์ในการทำงานที่จะให้คำปรึกษาแนะนำในการบริหารราชการแผ่นดินกลับเป็นคุณสมบัติรอง โดยความใกล้ชิด การเป็นที่ไว้วางใจของผู้มีอำนาจในการแต่งตั้งกลับเป็นคุณสมบัติที่สำคัญกว่า การทำหน้าที่วุฒิสภา จึงเป็นไปเพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ทางการเมืองของผู้มีอำนาจ การยกมือลงมติในเรื่องต่างๆ ก็ตามแต่ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นวิปวุฒิจะคอยบอกมา เนื้อหาสาระของกฎหมายหรือสิ่งที่จะลงมติแทบจะไม่ต้องพิจารณากัน

“รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นฉบับเดียวที่กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภา 200 คน มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน โดยก่อนหน้านั้นแทบทุกฉบับมาจากการแต่งตั้งโดยพระมหากษัตริย์จากการเสนอแนะของผู้เป็นรัฐบาล รัฐธรรมนูญ 2550 เปลี่ยนให้มีสมาชิกวุฒิสภา 150 คน โดยมาจากการเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งคน รวม 76 คน และจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาอีก 74 คน รัฐธรรมนูญ 2560 เปลี่ยนวิธีการให้มาจากการเลือกตั้งจากผู้สมัครในกลุ่มอาชีพต่างๆ 20 กลุ่มอาชีพ โดยให้ผู้สมัครคัดเลือกกันเอง และคัดเลือกสลับไขว้กลุ่ม และมีการลงคะแนนคัดเลือกกัน 3 ระดับ คือ ระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นแสดงให้เห็นถึงพัฒนาการในแนวคิดการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาที่เปลี่ยนแปลงไปมาในรอบ 20 ปี จากเลือกตั้งทั้งหมด เป็นเลือกตั้งผสมกับสรรหา และเป็นการเลือกตั้งจากผู้สมัครด้วยกันเองในแต่ละกลุ่มอาชีพ เป็นความไม่นิ่งและไม่พอใจกับผลที่ได้ จึงต้องออกแบบใหม่ทุกครั้ง”

รศ.สมชัย ศรีสุทธิยากร  กล่าวด้วยว่า การกำหนดให้การสมัครเข้าสู่การคัดเลือกกันเองของผู้ประสงค์เป็นสมาชิกวุฒิสภาเป็น 20 กลุ่มอาชีพ เพื่อนำไปสู่วุฒิสภาที่ประกอบด้วยบุคคลที่มาจากกลุ่มอาชีพต่างๆ ในสังคม อาทิ กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดิน เช่น อดีตข้าราชการ อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ กลุ่มอาชีพการศึกษา เช่น ครู อาจารย์ บุคลากรทางการศึกษา กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกร กลุ่มอาชีพทำนา กลุ่มอาชีพทำสวน ฯลฯ จะเป็นหลักประกันให้เกิดความหลากหลายทางอาชีพจริงหรือไม่

คำตอบคือ ไม่จริง เพราะการจะสมัครในกลุ่มอาชีพใด แม้จะต้องระบุว่ามีประสบการณ์ในกลุ่มอาชีพนั้นมาไม่น้อยกว่า 10 ปี แต่กระบวนการในการรับรองตามแบบที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศออกมา ซึ่งเรียกว่าแบบ ส.ว.4 นั้นเป็นเพียงให้บุคคลทั่วไป สามารถลงนามรับรองได้ว่าบุคคลผู้สมัคร เป็นผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในกลุ่ม ทำงานหรือเคยทำงานในกลุ่มไม่น้อยกว่า 10 ปี และมีพยานร่วมลงนามอีก 1 คนเท่านั้น

ส่วนในใบสมัครตามแบบฟอร์ม ส.ว.3 ก็ให้ผู้สมัครเขียนประวัติการทำงานหรือประสบการณ์การทำงานในกลุ่มที่สมัคร ไม่เกิน 5 บรรทัด ดังนั้น ผู้สมัครแต่ละรายอาจสามารถเลือกไปอยู่ในกลุ่มอาชีพ โดยพิจารณาจากความรุนแรงในการแข่งขันมากกว่าจะเป็นความรู้ความเชี่ยวชาญจริงที่ตนเองมี กลุ่มอาชีพบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐ หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน ที่คาดว่าจะมีผู้สมัครจำนวนมาก ก็อาจหลีกไปสมัครในกลุ่มทำนา กลุ่มทำสวน กลุ่มผู้สูงอายุ หรือกลุ่มอื่น ๆ ได้ ในขณะที่กลุ่มอาชีพที่ไม่ได้เป็นข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น กลุ่มอาชีพทำนา ทำสวน อาจถูกเบียดบังสัดส่วนที่ตัวเองควรจะได้ไปให้แก่กลุ่มอื่นที่ต้องการหลีกเลี่ยงการแข่งขันในกลุ่มอาชีพเดิมดังกล่าว

การออกแบบให้เลือกกันเองและเลือกไขว้จะป้องกันการทุจริตได้หรือไม่ คําตอบคือ ไม่ เนื่องจากกระบวนการคัดเลือกกันเองในแต่ละละกลุ่มอาชีพในรอบแรกที่กระทำในระดับอำเภอ มีกติกาให้หนึ่งคนสามารถเลือกได้ 2 เสียง คืออาจเลือกตัวเองหนึ่งเสียง และเลือกบุคคลอื่นอีก 1 เสียง ในกรณีที่มีการกะเกณฑ์หรือนัดแนะเพื่อการทุ่มลงคะแนนให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นเรื่องไม่ยาก ง่ายกว่าการทุจริตโดยการซื้อเสียงจากประชาชนผู้มีสิทธิในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอย่างมากมาย ยิ่งกรณีกำหนดค่าสมัครคนละ 2,500 บาท หากต้องการคะแนนพื้นฐานเพียง 10 คะแนนเพื่อผ่านการคัดเลือกในรอบแรกที่เลือกกันเองในกลุ่มอาชีพ เป็นเรื่องที่ไม่ต้องลงทุนมากมาย

“ในขณะที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเองก็ไม่สามารถออกระเบียบปฏิบัติเพื่อป้องกันการฮั้วในการลงคะแนนในลักษณะดังกล่าวนี้ได้และไม่มีการออกมาชี้แจง ป้องปราม และกล่าวถึงบทลงโทษหากพบว่ามีการกระทำดังกล่าวอย่างชัดเจน เงินงบประมาณ 1,800 ล้านบาท ที่คณะกรรมการการเลือกตั้งเสนอขอใช้งบประมาณในการจัดการให้ได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ก็จะถูกใช้เป็นค่าตอบแทนบุคลากรและค่าดำเนินการทางธุรการต่างๆ ให้เกิดความสำเร็จ คือ มีผู้ผ่านการคัดเลือกครบจำนวนที่ต้องการเท่านั้น แต่ไม่ได้ใส่ใจถึงปัญหาที่จะเกิดขึ้นในกระบวนการคัดเลือกที่อาจไม่สุจริตและเที่ยงธรรม คุณภาพของสมาชิกวุฒิสภาที่ได้จากระบวนการคัดเลือกกันเอง 3 ขั้น จะเป็นตัวบ่งชี้ของการออกแบบการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาของประเทศไทยอีกครั้ง หากไม่ดีก็เปลี่ยนวิธีการได้มา วิธีการสรรหาไปเรื่อย ๆ แต่ไม่เคยคิดว่า ถึงวันนี้เรายังจำเป็นต้องมีวุฒิสภากันอีกหรือไม่”

ภาพ : www.ilaw.or.th/อินเทอร์เน็ต

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 428 ระหว่างวันที่ 19-25 เมษายน 2567

 หน้า 2-3

“มนุษย์ สว.2567” แบบนี้ก็มีด้วย ประวัติศาสตร์การเมืองไทยหน้าใหม่

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์
ฉบับที่ ๔๒๘ ระหว่างวันที่ ๑๙-๒๕ เมษายน ๒๕๖๗
https://book.bangkok-today.com/books/ksnb/#p=1
(พลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

 

 

 

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post