Digiqole ad

พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและพระราชนิพนธ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ          

 พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและพระราชนิพนธ์ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ           
Social sharing

Digiqole ad

            วันที่ ๒ เมษายน เป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของ “สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี” และเป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” ในฐานะที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงานด้านศิลปวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกของชาติ คณะกรรมการวันอนุรักษ์มรดกไทย ให้คำจำกัดความคำว่า มรดกไทย หมายถึง “มรดกทางวัฒนธรรมที่แสดงออกถึงสัญลักษณ์ของความเป็นชาติ ได้แก่ โบราณวัตถุ โบราณสถาน ศิลปวัตถุ ศิลปหัตถกรรม วรรณกรรม ดนตรี และนาฏศิลป์ ตลอดถึงการดำเนินชีวิตและคุณค่าประเพณีต่าง ๆ อันเป็นผลผลิตร่วมกันของผู้คนในผืนแผ่นดินในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา” รัฐบาลได้รณรงค์สร้างความเข้าใจให้ประชาชนรู้สึกสำนึกรัก ตระหนัก เห็นคุณค่า มีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมกันรักษาและสืบทอดมรดกไทย ทั้งยังเป็นการพัฒนาส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในท้องถิ่นอีกด้วย


ทั้งนี้ เพื่อรณรงค์สร้างความเข้าใจ ความสำนึกรัก และหวงแหนในมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ รวมทั้งให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพิทักษ์รักษามรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งกิจกรรมเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นราชสักการะแด่กรมสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในฐานะมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงในงานด้านศิลปวัฒนธรรมของชาติตลอดมา ซึ่งกรมศิลปากรได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีกำหนดให้มีวันอนุรักษ์มรดกไทย เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้รำลึกถึงความสำคัญ และความจำเป็นของการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมของชาติขึ้น ซึ่งในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๒๘ รัฐบาลซึ่งมี ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้ประกาศให้วันที่ ๒ เมษายนของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็น “วันอนุรักษ์มรดกไทย” อีกทั้ง วันที่ ๒ เมษายนของทุกปี อีกทั้งกระทรวงศึกษาธิการกำหนดให้ปี ๒๕๕๒ – ๒๕๖๑ เป็นทศวรรษแห่งการอ่านของประเทศและให้การส่งเสริมการอ่านเป็นวาระแห่งชาติเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงกำหนดให้วันที่ ๒ เมษายนของทุกปี เป็น “วันรักการอ่าน” อีกด้วย

นักปราชญ์ด้านภาษา
พระองค์ทรงมีความรู้ทางด้านภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร ทรงสามารถรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาจีน และทรงกำลังศึกษาภาษาเยอรมันและภาษาละตินอีกด้วย ขณะที่ทรงพระเยาว์นั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสอนภาษาไทยแก่พระราชโอรสและพระราชธิดา โดยทรงอ่านวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ พระราชทาน และทรงให้พระองค์ทรงคัดบทกลอนต่าง ๆ หลายตอน ทำให้พระองค์โปรดวิชาภาษาไทยตั้งแต่นั้นมา นอกจากนี้ ยังทรงสนพระทัยในภาษาอังกฤษและภาษาบาลีด้วย


เมื่อพระองค์ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนจิตรลดานั้น ทรงได้รับการถ่ายทอดความรู้ทางด้านภาษาทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาเขมร ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส โดยภาษาไทยนั้น พระองค์ทรงเชี่ยวชาญทั้งด้านหลักภาษา วรรณคดี และศิลปะไทย เมื่อทรงจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พระองค์พอรู้แน่ว่าอย่างไรก็คงไม่ได้เรียนแผนกวิทยาศาสตร์ จึงพยายามหัดเรียนภาษาบาลี อ่านเขียนอักษรขอม เนื่องจากในสมัยนั้น ผู้ที่จะเรียนภาษาไทยให้กว้างขวาง ลึกซึ้ง จะต้องเรียนทั้งภาษาบาลี สันสกฤต และเขมร ซึ่งภาษาบาลีนั้น เป็นภาษาที่พระองค์สนพระทัยตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แต่ได้เริ่มเรียนอย่างจริงจังในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนสามารถจำการแจกวิภัตติเบื้องต้นที่สำคัญได้ และเข้าพระทัยโครงสร้างและลักษณะทั่วไปของภาษาบาลีได้ นอกจากนี้ ยังทรงเลือกเรียนภาษาฝรั่งเศสแทนการเรียนเปียโน เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะอ่านหนังสือภาษาฝรั่งเศสที่มีอยู่ในตู้หนังสือมากกว่าการซ้อมเปียโน

เมื่อทรงเข้าศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้น พระองค์ทรงเลือกเรียนสาขาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอก และวิชาภาษาไทย ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤตเป็นวิชาโท ทำให้ทรงศึกษาวิชาภาษาไทยในระดับชั้นสูงและละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นทั้งด้านภาษาและวรรณคดี ส่วนภาษาบาลีและสันสกฤตนั้น ทรงศึกษาทั้งวิธีการแบบดั้งเดิมของไทย คือ แบบที่เรียนกันในพระอารามต่าง ๆ และแบบภาษาศาสตร์ซึ่งเป็นวิธีการตะวันตก ตั้งแต่ไวยากรณ์ขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง และเรียนตามวิธีการอินเดียโบราณเป็นพิเศษในระดับปริญญาโท ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้ส่งศาสตราจารย์ ดร. สัตยพรต ศาสตรี มาถวายพระอักษรภาษาสันสกฤต โดยวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทของพระองค์ เรื่อง ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท นั้น ยังได้รับการยกย่องจากมหามกุฏราชวิทยาลัยว่า เป็นวิทยานิพนธ์ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถ ในภาษาบาลีพุทธวจนะเป็นพิเศษ พระปรีชาสามารถทางด้านภาษาของพระองค์นั้นเป็นที่ประจักษ์ จึงได้รับการทูลเกล้าถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางด้านภาษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย มหาวิทยาลัยบักกิงแฮม สหราชอาณาจักร เป็นต้น


            เจ้าหญิงนักเขียน
พระองค์โปรดการอ่านหนังสือและการเขียนมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ รวมกับพระปรีชาสามารถทางด้านภาษาทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ร้อยแก้วและร้อยกรอง ดังนั้น จึงทรงพระราชนิพนธ์หนังสือประเภทต่าง ๆ ออกมามากกว่า ๑๐๐ เล่ม ซึ่งมีหลายหลากประเภททั้งสารคดีท่องเที่ยวเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เช่น “เกล็ดหิมะในสายหมอก”, “ทัศนะจากอินเดีย”, “มนต์รักทะเลใต้” ประเภทวิชาการและประวัติศาสตร์ เช่น “บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์”, “กษัตริยานุสรณ์” หนังสือสำหรับเยาวชน เช่น “แก้วจอมแก่น”, “ แก้วจอมซน” หนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์ไทย เช่น “สมเด็จแม่กับการศึกษา” , “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับพระราชกรณียกิจพระราชจริยาวัตรด้านการศึกษา” ประเภทพระราชนิพนธ์แปล เช่น “หยกใสร่ายคำ”, “ความคิดคำนึง”, “เก็จแก้วประกายกวี” และหนังสือทั่วไป เช่น “นิทานเรื่องเกาะ (เรื่องนี้ไม่มีคติ)” , “ เรื่องของคนแขนหัก” เป็นต้น และมีลักษณะการเขียนที่คล้ายคลึงกับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ ในพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ นอกจากจะแสดงพระอารมณ์ขันแล้ว ยังทรงแสดงการวิพากษ์ วิจารณ์ในแง่ต่าง ๆ เป็นการแสดงพระมติส่วนพระองค์


นอกจากนี้ “วรจรเที่ยว” เป็นสมุดบันทึกภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ๑๒ ประเทศ เป็นสมุดบันทึกเอกประสงค์ สำหรับจดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันได้โดยไม่หมดอายุ โดยได้รวบรวมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ที่ได้ทรงถ่ายภาพจากการเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศต่างๆ รวม ๑๒ ประเทศ เท่าจำนวนเดือนใน ๑ ปี
“บุหงารำไป” หนังสือพระราชนิพนธ์เล่มนี้เป็นส่วนขยายของหนังสือพระราชนิพนธ์ชุดเสด็จฯ เยือนต่างประเทศเรื่องชมช่อมาลี ซึ่งทรงันทึกเรื่องราวการเดินทางคราวเสด็จฯ เยือนสาธารณรัฐอินโดนีเซียในปี ๒๕๒๗ บุหรารำไปประกอบด้วยเนื้อหาและรูปเกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของอินโดนีเซีย รวมทั้งพระฉยาลักษณ์และของที่ระลึกที่มีผู้ทูลเกล้าฯถวาย
           “ผีเสื้อ” เป็นพระราชนิพนธ์ทรงแปลจากวรรณกรรมภาษาจีนของ หวางเหมิง หวางเหมิงเคยเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือวรรณกรรมประชาชน รองประธานสมาคมนักประพันธ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน รัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม และกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน


“ข้าวไทย” เป็นพระราชนิพนธ์ที่ทรงจัดทำขึ้นไว้เมื่อครั้งเสด็จฯ ไปทรงบรรยายเรื่องข้าวไทยที่ถาบัน International Rice Intitute เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๓๗ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กระทรวงพาณิชย์จัดพิมพ์เผยแพร่และจำหน่ายหารายได้ทูลเกล้าฯถวาย โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย เนื่อหาของบทพระราชนิพนธ์มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ
“ดั่งดวงแก้ว” เป็นหนังสือรวมพระราชนิพนธ์ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ภาพประกอบเป็นภาพจิตรกรรมฝีพระหัตถ์ บางภาพจากหนังสือทอสีเทียบฝันและหนังสือพระราชนิพนธ์สิงคโปร์สัญจร
“ดุจดวงตะวัน” เป็นหนังสือรวมพระราชนิพนธ์ ประกอบด้วยพระราชนิพนธ์บทกวี บทเพลงพระราชนิพนธ์ พระราชนิพนธ์สารคดี บทสัมภาษณ์ ปาฐกถา รวมทั้งภาพการ์ตูนฝีพระหัตถ์ที่เกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คณะกรรมการจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ
“ชีวิตที่หมุนไปไม่หยุดหยั้ง ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ๒๕๔๗ – ๒๕๕๑” เป็นหนังสือรวมภาพถ่ายฝีพระหัตถ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จัดแสดงในนิทรรศการชื่อเดียวกัน ระหว่างวันที่ ๑ – ๒๔ สิงหาคม ๒๕๕๑ ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นามปากกาพระราชนิพนธ์
นอกจากพระนาม “สิรินธร” แล้ว พระองค์ยังทรงใช้นามปากกาในการพระราชนิพนธ์หนังสืออีก ๔ พระนาม ได้แก่
“ก้อนหินก้อนกรวด” เป็นพระนามแฝงที่ทรงหมายถึง พระองค์และพระสหาย สามารถแยกได้เป็น ก้อนหิน หมายถึง พระองค์เอง ส่วนก้อนกรวด หมายถึง กุณฑิกา ไกรฤกษ์ พระองค์มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า “เราตัวโตเลยใช้ว่า ก้อนหิน หวานตัวเล็ก เลยใช้ว่า ก้อนกรวด รวมกันจึงเป็น ก้อนหิน-ก้อนกรวด” นามปากกานี้ ทรงใช้ครั้งเดียวตอนประพันธ์บทความ “เรื่องจากเมืองอิสราเอล” เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐
“แว่นแก้ว” เป็นชื่อที่พระองค์ทรงตั้งขึ้นเอง ซึ่งพระองค์มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า “ชื่อแว่นแก้ว นี้ตั้งเอง เพราะตอนเด็ก ๆ ชื่อลูกแก้ว ตัวเองอยากชื่อแก้ว ทำไมถึงเปลี่ยนไปไม่รู้เหมือนกัน แล้วก็ชอบเพลงน้อยใจยา นางเอกชื่อ แว่นแก้ว” พระนามแฝง แว่นแก้วนี้ พระองค์เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๑ เมื่อทรงพระราชนิพนธ์และทรงแปลเรื่องสำหรับเด็ก ได้แก่ “แก้วจอมซน” , “แก้วจอมแก่น” และ “ขบวนการนกกางเขน”


“หนูน้อย” พระองค์มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า “เรามีชื่อเล่นที่เรียกกันในครอบครัวว่า น้อย เลยใช้นามแฝงว่า หนูน้อย” โดยพระองค์ทรงใช้เพียงครั้งเดียวในบทความเรื่อง “ป๋องที่รัก” ตีพิมพ์ในหนังสือ ๒๕ ปีจิตรลดา เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๓
และ “บันดาล” พระองค์มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า “ใช้ว่า บันดาลเพราะคำนี้ผุดขึ้นมาในสมอง เลยใช้เป็นนามแฝง ไม่มีเหตุผลอะไรในการใช้ชื่อนี้เลย” ซึ่งพระองค์ทรงใช้ในงานแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยที่ทรงทำให้สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖
นอกจากนี้ ยังทรงพระราชนิพนธ์เพลงเป็นจำนวนมาก โดยบทเพลงที่ดังและนำมาขับร้องบ่อยครั้ง ได้แก่ “เพลงส้มตำ” รวมทั้ง ยังทรงประพันธ์คำร้องในบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้แก่ “เพลงรัก” และ “เพลงเมนูไข่”

(ที่มาข้อมูล : จำเป็น เรืองหิรัญ นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการพิเศษ/ภาพ : อินเทอร์เน็ต)

พระอัจฉริยภาพด้านภาษาและพระราชนิพนธ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๒๕
ระหว่างวันที่ ๒๙ มีนาคม – ๔ เมษายน ๒๕๖๗
https://book.bangkok-today.com/books/rqpd/#p=28
(พลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post