Digiqole ad

100 ปี “มล.ปิ่น มาลากุล” บุรุษทรงคุณค่าด้านการศึกษาไทย

 100 ปี “มล.ปิ่น มาลากุล” บุรุษทรงคุณค่าด้านการศึกษาไทย
Social sharing

Digiqole ad

      ศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นผู้วางแนวทางและนโยบายด้านการศึกษาของไทย รวมถึงงานสร้างสรรค์ด้านการศึกษามาอย่างยาวนาน ตลอดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงศึกษาธิการมา 22 ปี ส่งผลถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจนถึงปัจจุบัน โดยท่านใช้เวลาตลอดทั้งชีวิตเพื่อการพัฒนาการศึกษาเพื่อสนองพระราชกระแสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลที่ว่า “อย่าทิ้งเรื่องนี้เป็นอันขาด”

ในปี พ.ศ.2564 นี้ถือเป็นปีที่ครบวาระ 100 ปีเกิดของศาสตราจารย์หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เพื่อเป็นการยกย่องว่าท่านคือ ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านการศึกษา วัฒนธรรม วรรณกรรม และการสื่อสาร อีกทั้งยังเป็นที่ประจักษ์โดยทั่วกันถึงการเป็นผู้ก่อตั้งและริเริ่มการจัดตั้งสถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยในภูมิภาค อาทิ จัดตั้งวิทยาลัยวิชาการศึกษาปทุมวัน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หอวชิราวุธานุสรณ์ ท้องฟ้าจำลอง วิทยุการศึกษา โครงการพัฒนาการศึกษาหลายโครงการ และ SEAMEO (The Southeast Asian Ministers of Education Organization ผู้อํานวยการคนแรกของโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาที่เรารู้จักกันในปัจจุบันและยังก่อตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูง ผู้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาของไทย

ชีวประวัติ หม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2446 เป็นบุตรของเจ้าพระยาพระเสด็จสุเรนทราธิบดี (หม่อมราชวงศ์เปีย มาลากุล)  อดีตเสนาบดีกระทรวงธรรมการและท่านผู้หญิงเสงี่ยม ท่านเป็นผู้ที่ตั้งใจและสนใจในการศึกษาตั้งแต่เด็ก ท่านได้เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาพิเศษที่โรงเรียนราชบูรณะ (ปัจจุบันคือโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย) จากนั้นพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ได้รับทุนของกระทรวงธรรมการ จึงไปศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษ ที่ The School of Oriental and African Studies, University of London (SOAS) มหาวิทยาลัยลอนดอน และได้รับประกาศนียบัตรวิชาภาษาและวรรณคดีบาลีและสันสกฤต แล้วย้ายไปศึกษาต่อที่คณะบูรพคดีศึกษา (Faculty of Oriental Studies) สถาบันตะวันออกของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ได้รับปริญญาตรี (B.A.) เกียรตินิยมสาขาบูรพคดีศึกษา (Oriental Studies) วิชาเอกภาษาบาลีและสันสกฤต และปริญญาโท ทางอักษรศาสตร์ (M.A.) จากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด

รับราชการ ด้วยความสนใจด้านการศึกษาในปี พ.ศ.2455 ท่านได้ถวายตัวเป็นมหาดเล็กรับใช้ในพระบรมมหาราชวังรุ่นแรก  ต่อมาได้เป็นอาจารย์ประจำกองแบบเรียนกรมวิชาการ ต่อมาในปี พ.ศ.2480 หม่อมหลวงปิ่นได้รับมอบหมายจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้จัดตั้งโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ซึ่งเป็นโรงเรียนสหศึกษาแห่งแรกโดยการยุบรวมโรงเรียนมัธยมหอวังและท่านได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาเป็นท่านแรก มีนโยบายเพื่อกระจายความรู้ไปพื้นที่ต่างๆ ให้ได้รับความรู้อย่างเท่าเทียมกัน

ปี พ.ศ.2489 ท่านดำรงตำแหน่งเป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และในปี พ.ศ.2495 – พ.ศ.2496 ท่านได้เป็นรักษาการอธิบดีกรมวิชาการ หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2497 ได้เป็นรักษาการอธิบดีกรมการฝึกหัดครู รักษาการอธิการวิทยาลัยวิชาการศึกษา ศาสตราจารย์พิเศษในคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จนถึงวันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2502 เนื่องจากยุบกระทรวง และตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ตั้งแต่พ.ศ.2500 ถึง พ.ศ.2512 เป็นเวลายาวนานถึง 12 ปีเศษ

ผลงานด้านการศึกษา หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ (ทับแก้ว) และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทำให้ประชากรในชนบทได้มีโอกาสเรียนถึงระดับอุดมศึกษา  มีการเตรียมการจัดตั้งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาตั้งแต่แรกเมื่อ พ.ศ.2503-พ.ศ.2506 ดังนั้นเราจึงจะเห็นหอศิลป์ปิ่นมาลาเป็นอนุสรณ์ให้ชนรุ่นหลังได้รำลึกถึงคุณความดีของท่าน

ในส่วนมหาวิทยาลัยศิลปากร มีนโยบายที่จะเปิดคณะวิชาและสาขาวิชาที่หลากหลายขึ้น แต่เนื่องจากบริเวณพื้นที่ในวังท่าพระคับแคบมาก ไม่สามารถจะขยายพื้นที่ออกไปได้ จึงได้ขยายเขตการศึกษาไปยังพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม หม่อมหลวงปิ่น ยังได้เป็นผู้แทนประเทศไทยในการสมัครเข้าเป็นสมาชิกขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ (UNESCO) ในพ.ศ.2491 การศึกษากับนานาชาติและองค์การระหว่างประเทศ เป็นผลให้การศึกษาของไทยเจริญก้าวหน้าอย่างมีระบบแบบแผน และประสานประโยชน์ทางการศึกษากับนานาประเทศเป็นที่ประจักษ์ทั่วกัน

ผลงานด้านวัฒนธรรม วรรณกรรม และการสื่อสาร นอกจากนี้ท่านยังมีผลงานอีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา แบ่งออกเป็น 5 หมวด คือ หมวดการศึกษา, หมวดบทละคร, หมวดคำประพันธ์, การท่องเที่ยว และเบ็ดเตล็ด โดยมีการตีพิมพ์เป็นเล่มเผยแพร่รวม 207 เล่มหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล เป็นนักการศึกษาที่ยิ่งใหญ่ และเป็นครูที่มีบทบาทต่อการศึกษาของไทยเป็นอย่างมาก นับเป็นผู้ที่มีผลงานที่สร้างคุณประโยชน์ต่อวงการศึกษาของไทยอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ควบคู่กับคุณธรรมที่ท่านได้ทำให้เห็นอย่างชัดเจนเสมอ

ดอกผลที่นักการศึกษารุ่นหลังได้ใช้ประโยชน์จากที่หม่อมหลวงปิ่น มาลากุลได้สร้างเอาไว้ในอดีต คือสิ่งที่เราต้องช่วยกันสืบสานต่อไป เพื่อระลึกถึงคุณความดีของท่าน

เรื่อง: นางสาวนภัสวรรณ บัวอิ่น และนางสาวชนฉัตร ยอดมิ่ง ภาควิชานิเทศศาสตร์ นักศึกษาภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ภาพ: อินเทอร์เน็ต

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post