Digiqole ad

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย สร้างแรงกระเพื่อม ตระหนักรู้แก่ผู้บริโภค เลือกอาหารปลอดภัย และส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มอย่างมีสวัสดิภาพ

 องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย สร้างแรงกระเพื่อม ตระหนักรู้แก่ผู้บริโภค เลือกอาหารปลอดภัย และส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ในฟาร์มอย่างมีสวัสดิภาพ
Social sharing

Digiqole ad

องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย (World Animal Protection-Thailand) องค์กรพัฒนาเอกชนระดับโลก
ที่มุ่งเน้นการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ จัดงาน Happy Meat Happy Me” สัตว์อยู่ดี คนอยู่ได้ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจให้กับผู้บริโภคในการเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัย เพื่อเชื่อมโยงและกระตุ้นการปรับปรุงการเลี้ยงสัตว์
ในอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบอย่างมีมนุษยธรรม และคำนึงถึงสวัสดิภาพที่ดีของสัตว์ในฟาร์ม ก่อนส่งออกมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค พร้อมเปิดตัว ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย มารีญา พูลเลิศลาภ มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2560  โดยมีไฮไลท์ สร้างเสียงฮือฮา กับแฟชั่นโชว์สุดสร้างสรรค์ในคอลเลคชั่น “END FACTORY FARMING” ซึ่งสะท้อนปัญหาสวัสดิภาพสัตว์ และเป็นตัวแทนของสัตว์ในการเรียกร้องความเป็นธรรม ผลงานการออกแบบของ สาริศา นวลศรี Creative director of SAVETUDIOS และกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ สัตว์อยู่ดี คนอยู่ได้ “ทำไมเราต้องเรียนรู้แคร์ชีวิตหมู ชีวิตไก่”  ณ ชั้น G สามย่านมิตรทาวน์

โรจนา สังข์ทอง ผู้อำนวยการ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “Happy Meat Happy Me” สัตว์อยู่ดี คนอยู่ได้ เป็นนิทรรศการเชิงประสบการณ์เพื่อให้คนในสังคมได้ตระหนักถึงความสำคัญของคุณภาพชีวิตสัตว์  ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพชีวิตมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมอย่างเกื้อกูลกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Food System ที่องค์กรทำอยู่ เพื่อเป็นการส่งเสริมสร้างความตระหนักถึงการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มที่อยู่ในระบบอุตสาหกรรมอาหาร โดยเริ่มจากตัวเราซึ่งเป็นผู้บริโภคเนื้อสัตว์ ซึ่งงานนี้จัดขึ้นหวังว่าจะทำให้ทุกท่านได้ตระหนักถึงว่ากว่าที่สัตว์เหล่านั้นจะมาอยู่ในจานอาหารของคุณเขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง เนื้อสัตว์ที่เลี้ยงมาอย่างทารุณโหดร้าย เมื่อเรากินเข้าไปจะส่งผลเสียต่อเราอย่างไร นี่คือสิ่งที่เราพยายามสื่อสารออกไป เปรียบกับตัวเราเองก็อยากมีชีวิตที่มีความสุขไปจนถึงวันสุดท้าย สัตว์ก็เช่นกันเขาก็ต้องการคุณภาพชีวิตไปจนกว่าจะกลายมาเป็นอาหารนั่นเอง

โชคดี สมิทธิ์กิตติผล ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ได้ทำงานผลักดันและขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์มาหลายปีมีความสำเร็จเกิดขึ้นแล้ว เช่น การเรียกร้องให้ระบบอุตสาหกรรมยกเลิกการเลี้ยงแม่หมูในคอก เพราะสร้างความทรมานให้กับแม่หมูอย่างมาก เป็นเรื่องยากที่จะเปลี่ยนธุรกิจผลิตอาหารขนาดใหญ่ของประเทศแต่เราทำสำเร็จ    ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ได้มาจากองค์กรเพียงอย่างเดียว แต่มาจากผู้บริโภคทุกคนที่ช่วยกันลงชื่อผลักดันเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ตลอดเวลาที่ทำงานเรื่องนี้เราต้องคุยกับภาคธุรกิจใหญ่ๆ เขามีคำถามว่าทำไมเขาจะต้องเปลี่ยนในเมื่อทำแบบเดิมคนก็ซื้อกินอยู่ดี สิ่งที่เราพยายามจะบอกคือนั่น เป็นเพราะว่าผู้บริโภคยังไม่มีความรู้ ความเข้าใจถึงที่มาของอาหารที่กิน ดังนั้นงานนี้จะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจที่มาของอาหารมากขึ้น และหวังว่าถ้าทุกคนตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น อยากให้ทุกคนช่วยกันมีส่วนร่วมทางใดทางหนึ่ง ที่จะช่วยยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ และยุติการทารุณกรรมสัตว์ในระบบอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน

อนัฆ นวราช ผู้ก่อตั้งปฐม ออร์แกนิก กล่าวถึงการสนับสนุนเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ที่ส่งเสริมสวัสดิภาพสัตว์ว่า “เกษตรกรที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับปฐม ออร์แกนิก มีประมาณ 200 ราย ซึ่งในการทำเกษตรอินทรีย์ จะยึดตามหลักมาตรฐานระบบเกษตรอินทรีย์ ของสมาพันธ์เกษตรอินทรีย์นานาชาติ หรือ IFOAM ซึ่งนำไปใช้ทั้งการปลูกผัก รวมไปถึงการเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมูให้ถูกวิธี ให้ถูกต้องตามมาตรฐานมากที่สุดเท่าที่พื้นที่เขาจะทำได้ จึงทำให้ได้เนื้อไก่ เนื้อหมูออร์แกนิก ทั้งนี้ความเปลี่ยนแปลง คือสิ่งสำคัญ ที่เราต้องช่วยกันเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เปลี่ยนทั้งผู้ผลิต เปลี่ยนทั้งผู้บริโภค เพราะทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการมีสุขภาพที่ดี ฉะนั้นถ้าเรายกระดับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์มได้ หรือเลือกบริโภคเนื้อสัตว์ที่มาจากฟาร์มที่คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ก็จะทำให้เรามีสุขภาพทีดีขึ้นได้

สาริศา นวลศรี Creative director of SAVETUDIOS ผู้สร้างสรรค์คอลเลคชั่น “END FACTORY FARMING” ที่มาในรูปของเสื้อผ้า Ready-to-wear พูดถึงแรงบันดาลใจในการออกแบบคอลเลคชั่นนี้ กล่าวว่า องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย มีแนวทางการทำงานเดียวกันกับเราในมุมมองที่ว่า เราจะอยู่อย่างไรโดยที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม หรือทำร้ายสิ่งมีชีวิต คอลเลคชั่นนี้จึงเป็นการารนำเสื้อยืดมือสองในอุตสาหกรรม fast fashion ที่เหลือใช้มา Upcycling ให้เป็นเสื้อผ้าชิ้นใหม่ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการสร้างผลกระทบต่อโลกน้อยที่สุด ใช้การดัดแปลงโครงชุดมาจาก ชุดของเกษตรกรท้องถิ่น และนำเอาลวดลายพิมพ์และสี ของธรรมชาติดอกไม้ ความงาม ที่เกี่ยวกับสัตว์ที่อยู่ในฟาร์มแบบมีความสุขตามธรรมชาติ (หมูและไก่) ในรูปแบบของการ์ตูนภาพวาดและอาหาร เช่น เบคอน ไข่ดาว สื่อถึงสีสันสดใสที่ดูน่ารักและอบอุ่นของฟาร์มแบบธรรมชาติ แต่ในทางตรงกันข้ามแล้ว สัตว์พวกนี้ มีอายุเพียงแค่ 3-4 เดือนในระบบอุตสาหกรรมเลี้ยงสัตว์ และมีความเป็นอยู่ที่ไม่มีสวัสดิภาพ ซึ่งมีความรู้สึกเจ็บปวดและทรมานไม่ต่างจากมนุษย์ นางแบบจึงเปรียบเสมือนตัวแทนของสัตว์ที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ให้กับพวกเขาเหล่านั้น

สำหรับการเสวนาเรื่อง ทำไมเราต้องแคร์ชีวิตหมู ชีวิตไก่ ร่วมเสวนาโดย มารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ทรงกลด บางยี่ขัน บรรณาธิการบริหาร นิตยสาร The Cloud ธนบูรณ์  สมบูรณ์ ผู้ก่อตั้ง Greenery และ เหมือนดาว คงวรรณรัตน์ ผู้จัดการโครงการสัตว์ฟาร์ม องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทยได้แสดงความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ เริ่มจาก

เหมือนดาว คงวรรณรัตน์ กล่าวว่า สัตว์มีความรู้สึกเหมือนกับมนุษย์เรา มีความรู้สึกเจ็บปวด หวาดกลัว ดังนั้นเขาควรที่จะมีชีวิตที่ปราศจากความทุกข์ทรมานเช่นกัน แต่สัตว์เลี้ยงในระบบอุตสาหกรรม ที่คำนึงถึงแต่ผลผลิตที่ได้ออกมาให้มีน้ำหนัก มีปริมาณมากๆ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาด โดยใช้เวลาน้อยที่สุด จึงละเลยความทุกข์ทรมานของสัตว์ที่ถูกนำมาบริโภค รวมไปถึงการใช้ยาปฏิชีวนะในสัตว์อย่างไร้ความรับผิดชอบ ส่งผลให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาตามมา เมื่อผู้บริโภคกินเข้าไปก็ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยตรงด้วยเช่นกัน จริงๆ แล้วเรื่องของสุขภาพคน สุขภาพสัตว์ และสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อเนื่องกัน การจะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งผู้บริโภคออกมาเรียกร้อง ผู้ผลิตคำนึงสวัสดิภาพสัตว์ และสำคัญคือการสนับสนุนจากภาครัฐที่จะทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน”

ธนบูรณ์ สมบูรณ์ กล่าวว่า “ในแง่ผู้บริโภคเราสามารถเลือกได้ว่าจะรับประทานเนื้อสัตว์ที่มาจากระบบการเลี้ยงรูปแบบไหน การที่เราจ่ายเงินไปก็เหมือนกับการทำบุญ ถ้าคุณซื้อเนื้อสัตว์ที่มาจากฟาร์มเลี้ยงแบบคำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์ก็เท่ากับว่าคุณได้ทำบุญแล้ว อยากให้ตั้งคำถามว่าถ้าในวันพรุ่งนี้เราเจ็บป่วยต้องเข้าโรงพยาบาล ค่ารักษาพยาบาลแพงแค่ไหน ก็ต้องจ่าย แต่ถ้าเราสามารถดูแลสุขภาพของเราได้ด้วยการบริโภคเนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพ มีสวัสดิภาพสัตว์ที่ดี อาจจะจ่ายแพงอีกซักนิด แต่ก็ไม่แพงไปกว่าค่ารักษาพยาบาล แล้วทำไมเราถึงไม่ยอมจ่าย”

ทรงกลด บางยี่ขัน ได้ยกตัวอย่างถึงความร่วมมือที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม กล่าวว่า “การเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้ต้องใช้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ประชาชนเรียกร้อง รัฐขานรับ โดยเฉพาะภาครัฐที่มีอำนาจในการออกกฎระเบียบต่างๆ เมื่อมีกฎหมายที่ชัดเจนภาคธุรกิจก็ต้องปฏิบัติตาม อีกมุมหนึ่งผมมองว่าปัจจุบันทิศทางของผู้บริโภคเปลี่ยนไปแล้ว มนุษย์มองตัวเองน้อยลงเรื่อยๆ แต่ใส่ใจสิ่งรอบข้าง ใส่ใจโลกมากขึ้น ธุรกิจที่สนใจแต่ตัวเองอยู่ไม่รอดหรอก  เพราะเทรนด์ไปทางนั้น ดังนั้นธุรกิจสีเขียวทั้งหลายสามารถสร้างคุณค่าได้มากกว่า ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าที่คำนึงถึงสุขภาพ สินค้าที่มีส่วนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถ้าภาคธุรกิจยังไม่เปลี่ยนก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นจึงถึงเวลาที่ธุรกิจเองก็หันกลับมาจุดนี้ด้วย”

มารีญา พูลเลิศลาภ ทูตองค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย กล่าวว่า “สิ่งมีชีวิตทุกสิ่งบนโลกใบนี้ ไม่มีสิ่งไหนที่เกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเราโดยเฉพาะ แต่มนุษย์เราใช้อำนาจ คิดว่าตนเองเป็นสิ่งสำคัญกว่า เพื่อเลี้ยงสิ่งเหล่านี้ไว้เป็นอาหาร การที่มารีญาสนใจเรื่องสวัสดิภาพสัตว์มาจากความคิดที่ว่า เวลาเราโดนทำร้ายเรายังรู้สึกเจ็บ แล้วเมื่อเราเห็นสัตว์โดยทำร้ายทำไมเขาจะไม่เจ็บ ดังนั้นเมื่อหันกลับมาดูจานอาหารของเราทำไมเราต้องทำให้สัตว์เหล่านี้ทรมานไปด้วย ในเมื่อเรามีทางเลือก มารีญาตั้งคำถามเหมือนกันว่าทำไมเราต้องมีอุตสาหกรรมปศุสัตว์ เป็นเพราะว่าต้องขายจำนวนมาก ที่ต้องขายจำนวนมาก ก็เพราะมีจำนวนประชากรมาก แต่ทำไมเราไม่คิดบ้างว่าเราอาจจะบริโภคเนื้อสัตว์มากกว่าที่ควรด้วยซ้ำ การที่เราบริโภคเยอะขนาดนี้ มันถึงเวลาที่ควรจะเปลี่ยน และต้องเปลี่ยนอย่างรวดเร็วด้วย ไม่ใช่แค่สุขภาพของเรา แต่ยังรวมถึงโลกของเราด้วย เพราะการเลี้ยงสัตว์เราต้องใช้ทรัพยากรมากขนาดไหนที่จะมาเป็นอาหารสัตว์ ต้องถางป่าอีกแค่ไหนเพื่อจะเลี้ยงสัตว์ ทุกวันนี้ทุกคนก็เห็นถึงผลกระทบของ Climate Change มันเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก  การกินของเราก็ต้องกินทุกวัน ไม่มื้อเดียวก็หลายมื้อ ก็แปลว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่สร้างอิมแพคได้มากที่สุด ในโลกของเรา เมื่อเรารู้ว่าอะไรเกิดขึ้น และเรามีทางเลือกที่ดีกว่านี้ เราก็ควรที่จะเปลี่ยนและผลักดัน”

ตลอดระยะเวลาการจัดงาน Happy Meat Happy Me” สัตว์อยู่ดี คนอยู่ได้ ตั้งแต่วันนี้ถึง 23 ต.ค.65 ระหว่างเวลา 10.00-20.00 . ณ ชั้น G สามย่านมิตรทาวน์ มีกิจกรรมการเสวนา และเวิร์คช้อปหมุนเวียนให้ผู้ร่วมงานได้รับสาระความรู้มากมายเกี่ยวกับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม รวมไปถึงการออกร้านจำหน่ายอาหารปลอดภัยจากฟาร์มต่างๆ ในโซน Happy Food ที่ใส่ใจกับการเลี้ยงสัตว์อย่างมีสวัสดิภาพสัตว์ และปราศจากการใช้ยาปฏิชีวนะ อาทิ แทนคุณ ออร์แกนิคฟาร์ม, ฟาร์มหมูหลุมดอนแร่, ว.ทวีฟาร์ม ปศุสัตว์ไบโอไดนามิก, Food for fighter และ ฟาร์มคิดดี  เป็นต้น

ทั้งนี้ผู้สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งขอการยกระดับสวัสดิภาพสัตว์ในฟาร์ม และยุติการทารุณกรรมสัตว์ทุกรูปแบบอย่างยั่งยืนร่วมกับ องค์กรพิทักษ์สัตว์แห่งโลก ประเทศไทย ติดตามกิจกรรมต่างๆ และรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.worldanimalprotection.org และ Facebook: World Animal Protection Thailand

Facebook Comments


Social sharing

Related post