Digiqole ad

สปก.-สวยปนเก่ง ๕๕ นางสาวไทย

 สปก.-สวยปนเก่ง ๕๕ นางสาวไทย
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๒๑ ระหว่างวันที่ ๑-๗ มีนาคม ๒๕๖๗

หน้า  2-3

            สปก.-สวยปนเก่ง

            ๕๕ นางสาวไทย

ในช่วงเวลา ๙๐ ปี ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๗๗-๒๕๖๗ ประเทศไทยเรามีผู้หญิงที่สวยที่สุดในประเทศในนาม “นางสาวสยาม” ที่เปลี่ยนมาใช้ “นางสาวไทย” ในภาคหลังถึง ๕๕ คนด้วย ถามว่าทำไมไม่ครบ ๙๐ คน ตาม พ.ศ.ที่เริ่มจัดจนกระทั่งถึงปัจจุบัน หายไปไหนถึง ๓๕ คน พอจะสรุปสาเหตุเนื่องมาจาก ๑. เหตุการณ์ความไม่สงบจากสงครามโลกครั้งที่ ๒ และสงครามอินโดจีน ๒. เหตุการณ์ความไม่สงบภายในประเทศจากกรณี ๑๔ ตุลา ๓. เศรษฐกิจไม่ดี ๔. เจ้านายชั้นผู้ใหญ่สวรรคตและสิ้นพระชนม์ ๕. ปัญหาองค์กรไอทีวี ในฐานะผู้จัดประกวด  ๖. อุทกภัย (น้ำท่วม) ครั้งใหญ่ ๗. สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ และ ๘.สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ผู้ถือลิขสิทธิ์การจัดประกวด ไม่สามารถหาผู้จัดรายใหม่ได้

ถึงวันนี้คงอยู่กันไม่ครบ ได้ล้มหายตายจากกันไปหลายท่าน ในโอกาสที่เพิ่งจะจัดการประกวดนางสาวไทย ประจำปี ๒๕๖๗ ไปเมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ ที่ผ่านมา ในโอกาสนี้ “อีบุ๊กบางกอกทูเดย์” ขอรวบรวมเรื่องราวและเหตุการณ์สำคัญที่น่าสนใจของเวทีแห่งนี้มานำเสนอกัน

ปฐมบทแห่งสาวงามสยามประเทศ

การประกวด “นางสาวไทย” จัดครั้งแรกในวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๗ ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ โดยใช้ชื่อว่า “นางสาวสยาม” รัฐบาลได้จัดขึ้นในงานเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญ ภายในพระราชอุทยานสราญรมย์ ซึ่งเป็นสโมสรคณะราษฎร ในปี พ.ศ.๒๔๗๗ เป็นการเฉลิมฉลองรัฐธรรมนูญเป็นปีที่สอง แต่เริ่มจัดการประกวดนางสาวสยามเป็นปีแรก กำหนดระยะเวลาจัดงาน ๕ วัน คือวันที่ ๘-๑๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๗ ในคืนวันที่ 8 ธันวาคม เป็นการคัดเลือก “นางสาวธนบุรี” คืนวันที่ 9 ธันวาคม เป็นคัดเลือก “นางสาวพระนคร” และคืนวันที่ ๑๐-๑๒ ธันวาคม เป็นการประกวด “นางสาวสยาม”  โดยผู้เข้าประกวดแต่งกายด้วยชุดไทยห่มสไบเฉียง นุ่งซิ่นยาวกรอมเท้า

การจัดงานครั้งนี้มีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการจัดงานอันประกอบด้วยบุคคลที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นและมีคณะกรรมการตัดสิน ได้แก่ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และ เจ้าพระยารามราฆพ เป็นต้น ได้รับการดูแลเรื่องการแต่งกาย และการประกวด โดยหม่อมกอบแก้ว อาภากร ณ อยุธยา

เมื่อเริ่มจัดการจัดประกวดเป็นปีแรก จึงทำให้เป็นการประกวดความงาม คือมิติใหม่ของงานฉลองรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ดูจะเป็นจุดรวมความสนใจของประชาชนมากที่สุด ด้วยเป็นของใหม่และสีสันอันชวนตื่นตา หนังสือพิมพ์ประชาชาติทยอยลงข่าวคราวการประกวดในครั้งนี้อย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขครั้งที่ ๑ ว่าด้วยนามของประเทศ พ.ศ.๒๔๘๒ กำหนดเรียกนามของประเทศว่าประเทศไทย ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นใด ซึ่งใช้คำว่า “สยาม” ให้ใช้คำว่า “ไทย” แทน ดังนั้น การประกวด “นางสาวสยาม” จึงเปลี่ยนมาใช้การประกวด “นางสาวไทย” นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๒

            “กันยา เทียนสว่าง” นางสาวสยามคนแรก

และแล้วชื่อของ กันยา เทียนสว่าง” (ลูซิล) ได้ถูกประกาศให้เป็นผู้ครองตำแหน่ง “นางสาวสยาม” คนแรกของไทย เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๗ เธอเป็นบุตรสาวของ “นายสละ-นางสนอม เทียนสว่าง” แม่เธอมีเชื้อสายมอญ บิดาของเธอทำงานเป็นนายท่าเรืออยู่ที่ท่าเขียวไข่กา บางกระบือ พระนคร เกิดเมื่อวันที่ ๓๐สิงหาคม พ.ศ.๒๔๕๗ ที่บ้านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี เธอเป็นลูกคนโตในพี่น้องทั้งหมด ๕ คน ด้วยเหตุที่หน้าตาคมคาย จมูกโด่งเหมือนฝรั่ง พ่อแม่จึงตั้งชื่อให้ว่า “ลูซิล” เธอได้รับการศึกษาจากโรงเรียนวัดสังเวช โรงเรียนราชินี และโรงเรียนสตรีวิทยา เมื่ออายุ ๑๐ ปีแม่เธอก็จากไป เธอได้รับการอุปการะจากน้าชาย เข้าประกวดนางสาวสยามเมื่อมีอายุ ๒๑ ปี ขณะนั้นทำงานเป็นครูอยู่ในโรงเรียนประชาบาลทารกานุเคราะห์ ได้ ๔ ปีแล้ว

 

ทั้งนี้ กันยา เทียนสว่าง” ได้ตำแหน่ง “นางสาวพระนคร” มาก่อนหน้า  สำหรับรางวัลที่เธอได้รับประกอบด้วยมงกุฎ ทำด้วยผ้ากำมะหยี่ปักดิ้นเงิน ประดับโครงเงินและเพชร ขันเงินสลักชื่อ “นางสาวสยาม ๗๗”, ล็อกเก็ตห้อยคอทองคำ, เข็มกลัดทองคำลงยา อักษรว่า “รัฐธรรมนูญ ๗๗” และเงินสด ๑,๐๐๐ บาท หลังพ้นจากตำแหน่ง ได้เข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติ ได้พบรักกับ ดร.สุจิต หิรัญพฤกษ์ ที่ทำงานอยู่กระทรวงต่างประเทศ ชีวิตการครองคู่ของเธอเต็มไปด้วยความรักความเข้าใจอันดีระหว่างกันและกัน โดยทั้งคู่มีบุตรธิดาด้วยกัน ๕ คน

กันยา (เทียนสว่าง) หิรัญพฤกษ์” ป่วยด้วย “โรคมะเร็งในมดลูก” เธอเดินทางไปรักษาตัวที่เยอรมันเพื่อทดลองยาที่เพิ่งค้นพบใหม่ ด้วยความหวังกำลังใจจะหายจากโรคร้าย แต่ท้ายที่สุดโรคร้ายได้คร่าชีวิตของเธอไป เมื่อวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๓ ในวัย ๔๖ ปี ร่างของเธอถูกเก็บไว้ ณ สุสานวัดมกุฏกษัตริยาราม ไว้นานถึง ๒๑ ปี เพื่อรอการฌาปนกิจพร้อมกับการพระราชทานเพลิงศพ ดร.สุจิต คู่ชีวิตผู้เป็นที่รักเมื่อ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๔

           “เรียม” มเหสีรายาปูตราแห่งปะลิส

จิกปวนมาเรียม บินตี อับดุลละฮ์” หรือพระนามเดิมคือ “เรียม เพศยนาวิน” (ประสูติวันที่ ๒๓ เมษายน พ.ศ.๒๔๖๕) เป็นนางสาวไทย พ.ศ.๒๔๘๒ (คนที่ ๖) เป็นสตรีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งในนาม “นางสาวไทย” เนื่องจากก่อนหน้านี้ใช้ชื่อการประกวดว่า “นางสาวสยาม” เป็นไทยมุสลิมคนแรกและคนเดียวที่ครองตำแหน่งดังกล่าว ภายหลังได้เสกสมรสกับ “รายาฮารุน ปูตราแห่งปะลิส ประเทศมาเลเซีย” เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๕ ซึ่งพระองค์ได้พบรักกับ “เรียม เพศยนาวิน” ในขณะที่เมื่อ พ.ศ. 2494 พระองค์ได้เสด็จมาประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์ โดยมีพระราชโอรส-ธิดาด้วยกัน ๔ พระองค์

ทั้งนี้พระองค์ได้รับรางวัลจากการครองตำแหน่งนางสาวไทยที่นับว่ามีค่าในขณะนั้น เช่น พานรอง, ขันน้ำ, จักรยาน และโต๊ะเครื่องแป้ง หลังรับตำแหน่งแล้วพระองค์จะมีหน้าที่สำหรับการประชาสัมพันธ์นโยบายการสร้างชาติของรัฐบาล หรือมีบทบาทสำคัญต่อการรังสรรค์ประเทศ อย่างเช่น ช่วงประเทศกำลังประสบปัญหาในสงครามอินโดจีน พระองค์ได้นำถ้วยเงินออกขายเพื่อนำเงินมาบำรุงประเทศ

จิกปวนมาเรียมสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๙ ด้วยพระอาการพระหทัยวายเฉียบพลัน สิริชันษา ๖๔ ปี พระศพถูกฝัง ณ สุสานหลวงประจำราชวงศ์จามาลูไลล์ รัฐปะลิส ประเทศมาเลเซีย

“อาภัสรา” นางงามจักรวาลคนแรกของไทย

อาภัสรา หงสกุล” (ปุ๊ก) นางสาวไทย พ.ศ.๒๕๐๗ (คนที่ ๑๔) ปัจจุบันแม้อยู่ในวัย ๗๗ ปี (เกิดวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ.๒๔๙๐) ยังสวยฉ่ำเป๊ะมาก  คือผู้ได้รับตำแหน่งนางงามจักรวาล ค.ศ.๑๙๖๕ (Miss Universe 1965)  เมื่อวันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๘ ณ หาดไมอามี รัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ในขณะนั้นอายุเพียง ๑๘ ปี  ซึ่งเป็นคนแรกของประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คนที่ ๒ ของเอเชีย ต่อจาก “อากิโกะ โคจิมะ” ประเทศญี่ปุ่นที่ครองตำแหน่งนางงามจักรวาล ค.ศ.๑๙๕๙ และ คนที่ ๑๔ ของโลก (ตรงกับลำดับนางสาวไทย คนที่ ๑๔ ด้วย) จากความสำเร็จครั้งนี้สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยและเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของชาวไทยโดยตลอด อาภัสราเกิดที่จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) เป็นบุตรคนที่ ๒ ในจำนวน ๖ คนของ “นาวาอากาศเอก (พิเศษ) เพิ่ม-เกยูร หงสกุล” รวมถึงเป็นพี่สาวของ “ปวีณา หงสกุล” ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี

นางสาวไทยสู่นางเอกคนแรก

ภายหลังจาก “อาภัสรา หงสกุล” เสร็จสิ้นภารกิจนางงามจักรวาล “น้อย กมลวาทิน” ผู้สร้างภาพยนตร์ไทยชื่อดัง ได้นำเธอมาแสดงภาพยนตร์ในฐานะนางเอกด้วยค่าตัวที่กล่าวกันว่าสูงที่สุดในประวัติการณ์ของนางเอกไทยในขณะนั้น โดยให้เธอประกบคู่กับ “ลือชัย นฤนาท” ในเรื่อง “พรายพิฆาต”  ซึ่ง “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ” ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรในรอบปฐมทัศน์เพื่อการกุศล เมื่อวันที่ ๑๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๐ I โรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมกรุง นอกจากนี้ เธอยังได้ขับร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ชื่อ “เหมือนสิ้นใจ” และมีแผ่นเสียงออกวางจำหน่ายให้สาธารณชนได้สะสมชื่นชม ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๔ อาภัสราได้แสดงภาพยนตร์เพื่อการกุศลเรื่อง “คนใจบอด” ร่วมกับนักแสดงชื่อดังมากมาย อาทิ “สมบัติ เมทะนี”, “เพชรา เชาวราษฎร์”, “ครรชิต ขวัญประชา” ฯลฯ กำกับโดย “เชิด ทรงศรี” และได้รับเกียรติให้เป็นตัวแทนนักแสดงถวายพวงมาลัยแด่ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” เมื่อครั้งพระองค์เสด็จฯ ทอดพระเนตรภาพยนตร์เรื่องนี้ในรอบปฐมทัศน์เพื่อการกุศลที่โรงภาพยนตร์โคลีเซียม เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๑๔ แม้จะมีผลงานเพียงสองเรื่องดังกล่าว แต่การร่วมแสดงภาพยนตร์ของนางงามจักรวาลคนแรกของไทยนี้ ก็ถือเป็นหนึ่งในหน้าประวัติศาสตร์สำคัญของวงการภาพยนตร์ไทย และยังอยู่ในความทรงจำของผู้ชมร่วมสมัยเสมอมา (ที่มา : หอภาพยนตร์ฯ)

“ภรณ์ทิพย์” นางงามจักรวาลคนที่ ๒

อีก ๒๓ ปี ให้หลังจากที่อาภัสรา ได้ตำแหน่งนางงามจักรวาลคนแรกของไทยมาครอง คนไทยได้เฮดัง ๆ อีกครั้ง เมื่อ “ปุ๋ย-ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก” นางสาวไทย พ.ศ.๒๕๓๑ (คนที่ ๒๖) สามารถพิชิตมงกุฎนางงามจักรวาลเป็นคนที่ ๒ ให้กับประเทศไทย นางงามจักรวาล ค.ศ.๑๙๘๘ คนที่ ๓๗  ของโลก จัดขึ้น ณ เมืองไทเป เกาะไต้หวัน เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๓๑

ปัจจุบัน “ภรณ์ทิพย์ นาคหิรัญกนก ไซมอน” อายุ ๕๖ ปี (เกิดวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๑) ใช้ชีวิตคู่กับนักธุรกิจชาวอเมริกัน “เฮิร์บ ไซมอน” เจ้าของบริษัทพัฒนาไซมอน หนึ่งในหุ้นใหญ่ของธุรกิจขนาดใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เช่น ห้างนอร์ดสตอร์ม มีบุตรชาย ๑ คนชื่อ “ฌอน ไซมอน” และบุตรสาว ๑ คน ชื่อ “โซฟี ไซมอน” ขณะนี้อาศัยอยู่ที่ลอสแองเจิลลิส สหรัฐอเมริกา แต่ยังคงเดินทางไปกลับประเทศไทย เพื่อช่วยเหลือการกุศลอยู่เป็นประจำ อาทิ ก่อตั้ง มูลนิธิแองเจิ้ลวิงส์หรือปีกนางฟ้า (Angels Wings Foundation) ด้วยปณิธานในการสนับสนุนเด็กไทยที่ด้อยโอกาสและมอบพลังให้เด็กเหล่านั้นด้วยการให้การศึกษา ซึ่งเป็นของขวัญอันประเสริฐยิ่ง อีกทั้งยังดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีให้กับ โครงการเกี่ยวกับผู้หญิงและเด็กภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยความร่วมมือกับสหประชาชาติ

 ความกตัญญู เวที Miss Universe และวัฒนธรรมไทย

เมื่อช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๖๖ “ปุ๋ย ภรณ์ทิพย์” ได้เดินทางมาปฏิบัติภารกิจการกุศลที่ประเทศไทยและครบรอบการดำรงตำแหน่งนางงามจักรวาล ๓๕ ปี เธอได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กของเธอเอง โดยได้ขอบคุณไปยังเวทีการประกวด Miss Universe ที่ยังคงให้ความสำคัญและส่งเสริมผู้หญิงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงจากทั่วโลก รวมถึงเป็นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เธอสามารถสร้างความฝันของตนเองได้อย่างยิ่งใหญ่ในหลายๆ เรื่อง ทั้งยังได้พูดถึงเรื่องความกตัญญูตลอดจนเรื่องของวัฒนธรรมไทย ขนบธรรมเนียมประเพณีที่งดงาม พร้อมขอบคุณมายังบ้านเกิดที่ที่ทำให้เธอได้เป็นผู้หญิงไทยที่โชคดีที่สุดและภูมิใจที่สุดด้วย

“ปุ๋ยรู้สึกขอบคุณอย่างยิ่งสำหรับของขวัญแห่งการเปลี่ยนแปลงที่ Miss Universe Organization ได้มอบให้ปุ๋ยเมื่อ 35 ปีที่แล้วในวันนี้! นับเป็นเกียรติและสิทธิพิเศษอย่างยิ่งที่ปุ๋ยได้เฉลิมฉลองวันนี้และเพื่อสะท้อนถึงช่วงเวลาที่น่าภาคภูมิใจของปุ๋ยถึงภารกิจต่างๆ : การรณรงค์เพื่อสิทธิเด็กที่องค์การสหประชาชาติ, การจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Pepperdine, ชีวิตแต่งงานเกือบ 21 ปี, การเลี้ยงดูลูกแสนพิเศษ 5 คน และที่สำคัญที่สุดคือ การเริ่มต้นมูลนิธิ Angels Wings ขอขอบคุณครอบครัว Miss Universe ของปุ๋ยที่ยังคงให้ความสำคัญและส่งเสริมผู้หญิงด้วยการจัดเตรียมรากฐานที่ไม่เหมือนใครเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้หญิงจากทั่วโลก อิทธิพลขององค์กร Miss Universe ทำให้เด็กสาวผู้ถ่อมตัวจากกรุงเทพฯ คนนี้สามารถสานความฝันซึ่งไร้ขอบเขตให้เป็นความจริง และปุ๋ยภูมิใจที่สุดในเด็กๆ ทุกคนที่มีค่าอย่างยิ่งที่ปุ๋ยได้ช่วยเหลือมาตลอดทาง พร้อมกันนั้นความกตัญญูกตเวทีอย่างจริงใจของปุ๋ยมอบไปที่แม่ของปุ๋ย ผู้ซึ่งปลูกฝังให้ปุ๋ยเห็นคุณค่าอย่างลึกซึ้งในวัฒนธรรมไทยซึ่งเต็มไปด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีที่งดงามและการให้เกียรติในความเคารพและความเมตตากรุณากราบขอบคุณค่ะ ถึงบ้านเกิดที่รักของปุ๋ย ถึงประเทศไทย ที่ทำให้ปุ๋ยได้เป็นผู้หญิงไทยที่โชคดีที่สุดและภูมิใจที่สุด” (ที่มา : https://mgronline.com)

 

 

    ๓ แพทย์หญิงดีกรีนางสาวไทย

ในทำเนียบนางสาวสยาม/นางสาวไทย มี 3 คน ที่สำเร็จการศึกษาทางด้านการแพทย์ โดยผู้ที่เปิดประตูสู่ความเป็นคุณหมอคือ “แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์” (หมอเบิร์ท) นางสาวไทย พ.ศ.๒๕๔๑ (คนที่ ๓๖) สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์ ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ

 

คนต่อมาคือ “แพทย์หญิงลลนา ก้องธรนินทร์” (หมอเจี๊ยบ) นางสาวไทย พ.ศ.๒๕๔๙ (คนที่ ๔๒)สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และจบแพทย์เฉพาะทาง จากภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ปัจจุบันนอกจากจะเป็นแพทย์ฉุกเฉินและนักแสดง แล้วหมอเจี๊ยบได้สานฝันในวัยเด็กของตนเองโดยการก่อตั้งมูลนิธิ Let’s be Heroes Foundation ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ดำเนินการด้วย 3 กิจกรรมหลัก หนึ่งคือ การสอนกู้ชีพพื้นฐานและการใช้เครื่อง AED สองคือ ฟรีคลินิกแพทย์เฉพาะทางเคลื่อนที่ไปยังพื้นที่ที่ขาดแคลน และสาม Let’s be Heroes for Animals โครงการช่วยเหลือสัตว์โดยทีมสัตวแพทย์ โดยทางโครงการไม่คิดค่าใช้จ่ายใด ๆ นอกจากนี้ หมอเจี๊ยบยังกล้าเป็นตัวเอง และมองข้ามข้อจำกัดเรื่องเพศ

 

คนสุดท้ายคือ “แพทย์หญิงพรรณประภา ยงค์ตระกูล” (หมอบุ๋ม) นางสาวไทย พ.ศ.๒๕๕๑ (คนที่ ๔๔)สำเร็จการศึกษาจากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง ข้าราชการการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

            ๓ นางสาวไทยจบดอกเตอร์

เท่าที่รวบรวมมาได้มีเพียงนางสาวไทย ๓ คนเท่านั้น ที่ได้สร้างมิติใหม่และบรรทัดฐานด้านศึกษาให้นางงามเวทีนี้คือ ได้ศึกษาต่อกระทั่งสำเร็จในระดับ “ปริญญาเอก” ได้ใช้ “ดร.” (ดอกเตอร์) นำหน้าชื่อ ขอไล่เรียงรายชื่อตามลำดับที่สำเร็จการศึกษาก่อนหลัง

 

   ๑.”ดร.บุ๋ม-ปนัดดา วงศ์ผู้ดี” นางสาวไทย พ.ศ.๒๕๕๓ (คนที่ ๓๗) สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอกสาขาวิชาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต ปัจจุบันเป็น อาทิ นักแสดง พิธีกร วิทยากร พรีเซนเตอร์ อาจารย์ และนักสังคมสงเคราะห์

        ๒.”ดร.นก-ชลิดา เถาว์ชาลี ตันติพิภพ” นางสาวไทย พ.ศ.๒๕๔๑ (คนที่ ๓๕) สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิทยาศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ จากสำนักวิชาเวชศาสตร์ชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง  สมรสกับ “คุณกบ-เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ” ผู้บริหารแห่งศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม ปัจจุบันเป็น อาทิ นักแสดง พิธีกร วิทยากรด้านชะลอวัยและฟื้นฟูสุขภาพ อาจารย์ และ พรีเซนเตอร์

     ๓.”ดร.โบว์ลิ่ง-ปริศนา กัมพูสิริ” นางสาวไทย พ.ศ.๒๕๕๕ (คนที่ ๔๗) สำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปัจจุบันเป็น อาทิ อาจารย์ นักแสดง ผู้ประกาศข่าว พิธีกร นางแบบ พรีเซนเตอร์และ วิทยากร

            “บิ้นท์-กานต์” พาเวทีโกอินเตอร์

            นางสาวไทยคนสุดท้ายที่ได้ไปประกวดนางงามจักรวาลหรือมิสยูนิเวิร์ส คือ “หมอเบิร์ท-แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์” นางสาวไทย พ.ศ.๒๕๔๒ จากนั้นมา “คุณแดง-สุรางค์ เปรมปรีดิ์” ในฐานะผู้ถือลิขสิทธิ์ในการส่งตัวแทนสาวไทยไปประกวดนางงามจักรวาล ได้แยกมาจัดประกวด “มิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส” และเปลี่ยนชื่อมาเป็น “มิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์” ในปัจจุบัน (เปลี่ยนมือผู้ถือลิขสิทธิ์การส่งนางงามจักรวาลคนใหม่ใน พ.ศ.๒๕๖๒ คือ “คุณปุ้ย-ปิยาภรณ์ แสนโกศิก” แห่งบริษัทพีทีเอ็น โกลบอล จำกัด)  แล้วส่งผู้ได้รับตำแหน่งชนะเลิศไปประกวดนางงามจักรวาลแทน

จึงทำให้นางสาวไทย พ.ศ.๒๕๔๓-๒๕๕๙ ไม่ได้เป็นแทนไปประกวดนางงามจักรวาลหรือนางงามนานาชาติแต่อย่างใด กระทั่งใน พ.ศ.๒๕๖๒ ( พ.ศ.๒๕๖๐-๒๕๖๑ งดจัดประกวด) ได้ส่ง “บิ๊นท์-สิรีธร ลีห์อร่ามวัฒน์” นางสาวไทย พ.ศ.๒๕๖๒ (คนที่ ๕๑) เป็นตัวแทนสาวไทยเข้าร่วมประกวด “มิสอินเตอร์เนชั่นแนล ปี ๒๐๑๙” (Miss International 2019) ที่ประเทศญี่ปุ่น หนึ่งในเวทีแกรนด์สแลมโลก ซึ่งไม่ทำให้คนไทยได้ผิดหวัง เธอเป็นสาวไทยคนแรกที่สามารถคว้ามงกุฎมาครองให้คนไทยชื่นใจได้สำเร็จ ในรอบ ๕๙ ปี แล้วยังได้ครองตำแหน่งต่ออีก ๒ ปี เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-๑๙ และอื่นคนคือ “กานต์-ชนนิกานต์ สุพิทยาพร” นางสาวไทย พ.ศ.๒๕๖๖ (คนที่ ๕๔) ที่เพิ่งจะคว้าตำแหน่ง รองอันดับ ๒ มิสโกลบอล ๒๐๒๓” (Miss Global 2023) ที่ประเทศกัมพูชา ทำให้เวทีนางสาวไทยกลัยบมามีสีสันและคึกคักอีกครั้งหนึ่ง

“ดินสอสี วนิดา” นางสาวไทยคนล่าสุด   

            เพิ่งจะประกาศผลการตัดสิน “นางสาวไทย พ.ศ.๒๕๖๗” (คนที่ ๕๕) ไปเมื่อไม่กี่วันก่อน โดยตัวแทนสาวงามจาสกจังหวัดเชียงใหม่ “ดินสอสี-วนิดา เขื่อนจินดา” บัณฑิตจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วัย ๒๖ ปี เป็นผู้ชนะการประกวด และนับเป็นตัวแทนเชียงใหม่คนที่ ๒ ติดต่อกันที่สามารถคว้ามงกุฎนางสาวไทยไปครองได้สำเร็จ ซึ่งภาษานางงามเรียกว่า B2B” (Back to Back) ต่อจาก “กานต์-ชนนิกานต์ สุพิทยาพร” นางสาวไทย พ.ศ.๒๕๖๖

ดินสอสีนับว่าเป็นนางงามที่มีความมานะพยายาม โดยก่อนหน้านี้เธอเคยได้เข้าประกวดเวที “มิสแกรนด์เชียงใหม่ ปี ๒๐๒๐” แล้วได้ตำแหน่งชนะเลิศมา แต่ไม่สามารถผ่านเข้ารอบลึกบนเวที “มิสแกรนด์ไทยแลนด์ ปี ๒๐๒๐” ได้ ต่อมาเธอฮึดสู้อีกครั้งในนามสายสะพาย “มิสแกรนด์นครพนม ปี ๒๐๒๒” เข้าประกวด “มิสแกรนด์ไทยแลนด์ ปี ๒๐๒๒” สุดท้ายก็ไปไม่ถึงฝั่งฝันอีกเช่นเดิม กลับมาบ่มฝึกฝนและพัฒนาตัวเองตัดสินใจเข่าร่วมประกวดเวที “นางสาวไทย พ.ศ.๒๕๖๗” กระทั่งคว้ามงกุฎมาครองได้สำเร็จ โดยเธอมุ่งมั่น ที่จะสานต่อเจตนาของตนเอง และขององค์กรด้วย ที่บอกว่า Local to Global ต้องคอยติดตามว่า ต่อจากนี้ไปจะมีอะไรที่สร้างสรรค์เกิดขึ้นบ้าง แต่ที่แน่ ๆ เธอจะเป็นตัวแทนสาวไทยเข้าร่วมประกวด “มิสโกลบอล ๒๐๒๔” (Miss Global 2024) แฟน ๆ นางงามต้องช่วยกันส่งพลังใจให้กับเธอ รวมถึงให้กำลังใจ TPN ในฐานะผู้จัดด้วยนะจ๊ะ

            …นี่แหละนางสาวไทยในยุคนี้จะต้องมี “สปก. คือ สวยปนเก่ง” หากไม่เจ๋งจริงคงไม่ได้เป็น “นางสาวไทย”

ที่มาข้อมูล : วิกิพีเดีย/ ภาพ : อินเทอร์เน็ต,นางสาวไทย,ThaiMoviePosters_A,matichonweekly,sanook

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๒๑ ระหว่างวันที่ ๑-๗ มีนาคม ๒๕๖๗

หน้า  2-3

            สปก.-สวยปนเก่ง

            ๕๕ นางสาวไทย

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๒๑ ระหว่างวันที่ ๑-๗ มีนาคม ๒๕๖๗
https://book.bangkok-today.com/books/qzrc/#p=1
(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post