Digiqole ad

วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP:61 ดร.บ๊อบ-จุมพล โพธิสุวรรณ เล่าเรื่อง ข้ามากับมูและดวง (2) ตอน “นางงามสายมู-อู้ฮูเวทีเสี่ยงทาย”

 วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP:61 ดร.บ๊อบ-จุมพล โพธิสุวรรณ เล่าเรื่อง ข้ามากับมูและดวง (2)  ตอน “นางงามสายมู-อู้ฮูเวทีเสี่ยงทาย”
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๓๑ ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๗

หน้า 33 วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP:61 ดร.บ๊อบ-จุมพล โพธิสุวรรณ

ข้ามากับมูและดวง (2)

ตอน “นางงามสายมู-อู้ฮูเวทีเสี่ยงทาย”

ตอนที่แล้ว “ดร.บ๊อบ-จุมพล โพธิสุวรรณ” ได้คุยเรื่องราวของ “สายมูกับการประกวด” ตอนนี้มาต่อที่เรื่องของ “ดวง” กันบ้างใน “กลุ่มสายดวงจ้วงมง” กับครับ!

ต้องบอกว่า บางครั้งต่อให้มูมาดีครบครันหรือเก่งแบบครบเครื่องแค่ไหน สุดท้ายอาจแพ้ “คนที่มากับดวง” หรือ “ความเฮง” ซึ่งมีตัวอย่างให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง มาดูเรื่องราวของดวงกับเวทีประกวดกันดีกว่า ทั้งจากประสบการณ์ของตัวเองและทั้งจากผู้คร่ำหวอดอยู่ในวงการประกวด

 

1.ดวงร้อยเปอร์เซ็นต์ : สำหรับเวทีใหญ่ ๆ ส่วนมากเป็นเวทีประกวดในงานเทศกาลหรือประเพณีสำคัญ อย่างที่โด่งดังและคนส่วนมากรู้จักคือ “เทพบุตรและเทพธิดาสลุงหลวง” ในงานสงกรานต์เมืองลำปาง ที่จัดกับมาตั้งแต่ปี 2534 ผู้เข้าประกวดโดยส่วนใหญ่จะเป็นหนุ่มสาวที่มาจาก 17 จังหวัดในภาคเหนือ  ในรอบแรก ๆ เป็นการคัดเลือกจากคณะกรรมการ และรอบ 3 คนสุดท้ายเป็นการเสี่ยงทายด้วยการจับก้านมะยมที่มีใบอยู่เต็มก้าน ซึ่งมีขั้นตอนคือ เจ้าหน้าที่จะให้ผู้เข้ารอบชาย 3 คน หญิง 3 คน ทำการล้างมือในขันน้ำมนต์ จากนั้นให้เลือกจับก้านใบมะยมที่จะมีเลขคู่และคี่ติดไว้  โดยให้แต่ละคนจับคนละ 3 ก้าน เมื่อได้ครบ 3 ก้านแล้วจึงมาเปิดดูเลขกัน หากใครได้เลขคู่เท่ากับมี 1 คะแนน หากได้เลขคี่ เท่ากับไม่ได้คะแนน  ในขณะที่กำลังลุ้นว่าใครจะได้เลขคู่หรือคี่ หากสังเกตกันดี ๆ ทั้งผู้เข้าประกวด พี่เลี้ยง และกองเชียร์ ถึงกับยกมือไหว้ขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองนับถือกันสนั่น นอกจากวิธีจับก้านมะยมแล้ว เวทีอื่น ๆ ยังมีใช้วิธีเสี่ยงดวง อาทิ เปิดตลับไม้ ใครได้สีด้ายไม่เหมือนใครก็ได้มงไป และวิธีจับสลาก

 

ทางด้านเวทีสาวประเภทสองไม่ยอมน้อยหน้า อย่าง “มาดามเพลินพิศ คิดถึงคุณ” เจ้าแม่นักจัดประกวดเวทีสาวประเภทสองตามสถานที่ต่าง ๆ มากว่า 20 ปี  ก็มีเวทีนางงามเสี่ยงดวงเหมือนกัน ไม่เน้นสวย ไม่เน้นเก่ง แต่เน้นมากับดวงจริง ๆ ซึ่งนิยมใช้วิธีจับสลากพิมพ์คำว่า “ตกรอบ” และ “เข้ารอบ” โดยคัดในแต่ละรอบไปเรื่อย ๆ  เมื่อถึงรอบสุดท้าย 3 คน หรือ 5 คน สลากจะพิมพ์คำว่า “นางงามดวงดี” เพียงได้ 1 ใบเท่านั้น ส่วนใครไม่ได้จะได้ตำแหน่งรองเท่ากันไป ในการประกวดเรียกเสียงฮาลั่นจากผู้ชมกันเลยทีเดียว

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ เมื่อคืนวันที่ 30 มีนาคม 2567 ณ วัดแม่ใส  ตำบลแม่ใส อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา มีงานประเพณีทำบุญฉลองพระธาตุ โดยทางคณะกรรมการวัดได้จัดประกวด “ธิดาดวงดีเทพีปอยหลวง” ของสาวประเภทสองเพื่อสร้างสีสันในงาน  โดยไม่เน้นอายุและความงาม สาวสองที่ดวงดีได้มงกุฎ มาจากการจับลูกบอลสีที่กำหนดขึ้นมานั่นเอง

2.ดวงมากับเพื่อน : กรณีนี้มีให้พูดถึงกันบ่อยมา คงต้องยกกรณีของ “คุณกบ-ปภัสรา ชุตานุพงษ์ (เตชะไพบูลย์)” ขึ้นมาอีกครั้ง สมัยเวทีมิสไทยแลนด์เวิลด์ ปี 1988 คุณกบเป็นพี่เลี้ยงส่งนางงามเข้าประกวด ทีมงานเห็นหน่วยก้านดีจึงชวนสมัครด้วย คุณกบคิดอยู่นานจึงตัดสินสมัครเข้าประกวด ด้วยเหตุผลสำคัญที่ว่า จะได้คอยดูแลนางงามที่ตัวเองส่งเข้าประกวดอย่างใกล้ชิด เมื่อประกาศผลการตัดสิน คุณกบได้ตำแหน่งชนะเลิศ ส่วนนางงามที่ส่งนั้นดันตกรอบ นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์แนวนี้เกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งเป็นพี่เลี้ยงหรือเพื่อนไม่ได้มาประกวด แค่มาส่งหรือให้กำลังใจเพื่อน แต่ถูกทีมงานหรือเพื่อนที่มาด้วยกันชวนสมัคร เป็นอย่างไรล่ะ สุดท้ายตนเองกลับได้ที่ 1 เฉยเลย

3.ดวงมากับม้ามืด : อุปสรรคอันใหญ่หลวงของบรรดา “ตัวเก็ง” ทั้งหลายนั่นคือ “ม้ามืด” ที่พร้อมจะเข้าวินอยู่เสมอเมื่อตัวเก็งพลาดท่าเสียที เหมือนกับถูกเจ้ากรรมนายเวรลงโทษ ในรูปแบบของการช็อตไมค์ตายไมค์ในรอบตอบคำถาม หรือเป็นลมล้มเจ็บ หรือป่วยไข้กะทันหัน ขึ้นเวทีประกวดไม่ไหว ทีนี้จะกลายเป็นดวงของ “ม้ามืด” คว้ามงของตัวเก็งไปอย่างน่าเสียดายฃ

4.ดวงมากับตัวสำรอง : กรณีนี้ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน เมื่อตัวเองไม่ผ่านการคัดเลือก แล้วกลายเป็นตัวสำรอง ครั้นเมื่อตัวจริงสละสิทธิ์จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตามแต่ ก็ได้เลื่อนขึ้นมาเป็นตัวจริง แล้วดันไปคว้ามงในท้ายที่สุด ยิ่งไปกว่านั้น อ.ปุ๋ย อนุรี เคยเล่าให้ฟังว่า มีเวทีประกวดเวทีหนึ่ง คนที่ได้ตำแหน่งชนะเลิศ เป็นตัวสำรองอันดับ 5 เหตุจากสำรองอันดับ 1-4 ไม่ว่างไม่สะดวกเข้าร่วมประกวด นี่ถ้าไม่ให้เรียกว่า “ดวง (มหาเฮง)” จะให้เรียกว่าอะไร

5.ดวงมากับการขอร้องหรือบังคับ : ในชีวิตนี้เจ้าตัวไม่เคยคิดที่จะเข้าประกวดเวทีใด ๆ เลย แต่ดันถูกขอร้องหรือบังคับหรือขอร้องแกมบังคับ ให้ไปสมัครเข้าประกวด และแล้วก็มงลงเฉยเลยจ้า

6.ดวงมากับความบังเอิญ : เหมือนมีอะไรดลจิตดลใจให้ไปในสถานที่แห่งนั้นในวันนั้นพอดิบพอดี (ฟ้าลิขิตหรือไม่นี่) เช่น มาเดินเล่นที่ห้างสรรพสินค้า แล้วมีการจัดประกวดแบบสมัครหน้างาน บังเอิญทีมงานเห็นว่าหน้าตาดีจึงชวนสมัครประกวด ปรากฏว่า คว้าตำแหน่งชนะเลิศซะงั้น

หลัก ๆ ก็น่าจะมีประมาณนี้ ก็อย่างว่า “คนดีดวงดีขายขี้ก็รวย คนดวงซวยซื้อหวยก็เจ๊ง” ครับ!

ภาพ : เพจเทศบาลนครลำปาง,เพจเชียงรายรีพอร์ต,FB : เพลินพิศครีเอชั่น

เรื่อง : ดร.บ๊อบ-จุมพล โพธิสุวรรณ

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๓๑ ระหว่างวันที่ ๑๐-๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๗

หน้า 33 วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP:61 ดร.บ๊อบ-จุมพล โพธิสุวรรณ

ข้ามากับมูและดวง (2)

ตอน “นางงามสายมู-อู้ฮูเวทีเสี่ยงทาย”

📍อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๓๑
ระหว่างวันที่ ๑๐ –  ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๖๗
(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)
#ebookbangkoktoday
#อีบุ๊กบางกอกทูเดย์
#bangkoktoday
#บางกอกทูเดย์

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post