Digiqole ad

“ธนาคารไทยพาณิชย์” คว้ารางวัล “Bank of the Year 2024” จาก วารสารการเงินธนาคาร

 “ธนาคารไทยพาณิชย์” คว้ารางวัล “Bank of the Year 2024” จาก วารสารการเงินธนาคาร
Social sharing

Digiqole ad

วารสารการเงินธนาคาร ฉบับเดือนเมษายน 2567 ประกาศผลการจัดอันดับ ธนาคารแห่งปี 2567 Bank of the Year 2024 โดยใช้ผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ 12 แห่ง ในรอบปี 2566 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม -31 ธันวาคม 2566 มาพิจารณาจัดอันดับ ปรากฏว่า ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ครองแชมป์ธนาคารแห่งปี 2567

โดยธนาคารไทยพาณิชย์สามารถโชว์ผลประกอบการที่โดดเด่น ในปี 2566 มีกำไรสุทธิ 47,958.20 ล้านบาท และมีอัตรากำไรสุทธิ 26.52% สูงเป็นอันดับ 1 ของระบบธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ากำไรของธนาคารลดลง 11.5% เนื่องจากในปี 2565 ธนาคารมีกำไรพิเศษจากการขายธุรกิจสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน (Unsecured Loan) และธุรกิจบัตรเครดิต และกำไรจากการขายบริษัทย่อยให้กลุ่มเอสซีบี เอกซ์
อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับงบกำไรขาดทุนปี 2565 ที่มีการปรับฐานใหม่ กำไรสุทธิปี 2566 ของธนาคารจะเพิ่มขึ้น 10.7% จากปี 2565 จากรายได้ดอกเบี้ยที่เติบโต 137,400 ล้านบาท เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพในการปล่อยสินเชื่อ (Loan Optimization) ในส่วนของค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน ธนาคารยังคงมุ่งเน้นในการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้อยู่ที่ 30.93%

ในด้านของความแข็งแกร่งของฐานะทางการเงิน ธนาคารมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) สูงถึง 18.8% หรือ 443,680 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 17.7% หรือ 417,536 ล้านบาท และเงินกองทุนชั้นที่ 2 อยู่ที่ 1.1% หรือ 26,144 ล้านบาท นอกจากนี้ ธนาคารยังได้ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss : ECL) จำนวน 27,910.27 ล้านบาท จากการพิจารณาตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น ในขณะที่อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) อยู่ในระดับสูงที่ 154.90%

สำหรับในปี 2567 ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้กำหนดแผนธุรกิจและเป้าหมายกลยุทธ์ “เพื่อเป็นธนาคารที่ดียิ่งขึ้น” (To Be A Better Bank) โดยมีความคาดหวังจะเป็นยูนิเวอร์แซลดิจิทัลแบงก์ที่เป็นอันดับหนึ่งด้านการบริหารความมั่งคั่ง และให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทาง ดังนี้

• วางกลยุทธ์ “Digital Bank with Human Touch รู้จักลูกค้าผ่านข้อมูล รู้ใจลูกค้าผ่านความรู้สึก” ด้วยการเป็น Universal Digital Bank ที่เป็นอันดับหนึ่งด้านการบริหารความมั่งคั่ง พร้อมมอบประสบการณ์การให้บริการที่เชื่อมถึงกันอย่างไร้รอยต่อในทุกช่องทางให้กับลูกค้า
• สร้างสมดุลของพอร์ตการให้สินเชื่อ และการบริหารอัตราผลตอบแทนที่ปรับด้วยความเสี่ยง โดยเน้นการสร้างผลตอบแทนที่ดีภายใต้การควบคุมความเสี่ยงที่รัดกุม และการบริหารจัดการต้นทุนการดำเนินการอย่างเหมาะสมและมีวินัย รวมทั้งให้น้ำหนักกับลูกค้ากลุ่มที่มีคุณภาพสูง เพื่อพัฒนาคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินมีทิศทางปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน
• ปรับแนวทางในการดำเนินธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับลูกค้าจากปัจจุบันสู่อนาคต มีการเตรียมการที่จะยกระดับบริการของ Wealth Management โดยมองว่าธนาคารจะสร้างความมั่งคั่งให้ลูกค้าทุกกลุ่ม ด้วยการนำเสนอบริการแบบองค์รวม (Holistic) ที่ออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า ทั้งในด้านการบริหารความมั่งคั่งส่วนบุคคลควบคู่ไปกับการทำธุรกิจ
• ปรับกระบวนการทำงานให้เป็นดิจิทัลอย่างครบวงจร และเพิ่มยอดขายผ่านช่องทางดิจิทัล เพื่อยกระดับประสิทธิภาพและเสถียรภาพของการดำเนินงาน โดยใช้กลยุทธ์สร้างผลิตภัณฑ์และบริการด้านดิจิทัล ขยายการทำงานเชื่อมโยงกันอย่างไร้รอยต่อระหว่างจุดให้บริการลูกค้า (Omnichannel) ทั้งในช่องทางดิจิทัลและช่องทางอื่นๆ ขณะเดียวกัน มุ่งปรับปรุงและพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานให้มีความทันสมัย เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความสามารถในการให้บริการในวงกว้าง โดยขยายฐานลูกค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อให้เกิดระบบนิเวศ (Ecosystem) รวมถึงการนำข้อมูลและเทคโนโลยีมาใช้ตอบโจทย์ลูกค้าอย่างตรงจุดและรวดเร็ว เพื่อเป็นหนึ่งในใจของลูกค้าทุกกลุ่ม
• พัฒนาให้ก้าวไปสู่การเป็นธนาคารชั้นนำด้านความยั่งยืน โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินให้ประชาชนชนทุกกลุ่ม (Financial Inclusion) และให้ความสำคัญกับหลักปฏิบัติที่สอดคล้องกับมาตรฐานความยั่งยืน เช่น การสนับสนุนด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing) การส่งเสริมให้ลูกค้าปรับตัวไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ผ่านการให้สินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม โซลูชั่นทางการเงินที่เกี่ยวข้อง และการมีส่วนร่วมกับลูกค้า (Customer Engagement) ทั้งการให้คำแนะนำและความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่การดำเนินกิจการที่ยั่งยืน รวมถึงการยกระดับการดำเนินงานด้านต่างๆ

Facebook Comments


Social sharing

Related post