Digiqole ad

คุมส่งออกวัคซีนแอสตร้าฯ “ประยุทธ์”ต้องกล้าหักสัญญา

 คุมส่งออกวัคซีนแอสตร้าฯ “ประยุทธ์”ต้องกล้าหักสัญญา
Social sharing

Digiqole ad

เพราะเลือกใช้แนวทางจัดหาวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 แบบ “แทงม้าตัวเดียว” เอาชีวิตและความปลอดภัยของคนทั้งประเทศไปฝากไว้กับ “วัคซีนแอสตร้าเซนเนกา” เป็นยี่ห้อหลัก  แถมยังมั่นอกมั่นใจว่าผลิตโดยโรงงานบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ที่รัฐบาลอุดหนุนเงินทุนให้ถึง 600 ล้านบาท  แต่ทำไปทำมาวัคซีนหลักที่รัฐบาลเชียร์ออกนอกหน้ามากว่าครึ่งปี  นอกจากจะส่งมอบช้าตั้งแต่ล็อตแรกแล้ว  ยังส่งมอบไม่ได้ตามสัญญาเดือนละ 10 ล้านโดส

วัคซีนที่รัฐบาลทำสัญญาซื้อกับบริษัทแอสตร้าเซนเนกาในปี2564 นั้นมีจำนวนรวม  61 ล้านโดส กำหนดส่งมอบเดือนมิถุนายน 6 ล้านโดส เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายนเดือนละ 10 ล้านโดส เดือนธันวาคม 5 ล้านโดส  แต่ในยามที่ประเทศไทยต้องการวัคซีนจำนวนมากมาฉีดเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อโควิด   ทางบริษัทแอสตร้าเซนเนกาแจ้งว่าสามารถส่งมอบวัคซีนให้ในเดือนกรกฎาคมนี้เป็นต้นไปเพียงสัปดาห์ละ 1 ล้านโดส หรือเดือนละ 4 ล้านโดสเท่านั้น

จากเดือนละ 10 ล้านโดส เหลือแค่ 4 ล้านโดส  จากที่ประกาศจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนวันละ 5 แสนโดสเพื่อทำเป้า 50 ล้านคนในปลายปี  รัฐบาลเลยต้องกลับลำวิ่งหาแทงม้าอีกหลายตัว  โดยเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรีรีบสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคจากจีนมาเพิ่มเติมเป็นการด่วนจำนวน 10.9 ล้านโดส ในวงเงิน 6,111.412 ล้านบาท   พร้อมเห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งจัดหาวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 20 ล้านโดสเป็นวัคซีนหลักที่จะฉีดให้กับประชาชนฟรีอีก 1 ยี่ห้อ

ขณะเดียวกันเพื่อลดแรงกดดันทางสังคมที่ส่งเสียงก่นด่าดังขึ้นเรื่อยๆว่ารัฐบาลล้มเหลวในการบริหารจัดการวัคซีน  คณะรัฐมนตรีจึงได้เห็นชอบสัญญาจัดซื้อวัคซีนโมเดอร์นาเพื่อเป็น “วัคซีนทางเลือก” โดยให้องค์การเภสัชกรรมนำเข้ามาขายต่อโรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้เอามาขายเอากำไรจากประชาชนที่ไม่ประสงค์จะฉีดวัคซีนที่รัฐบาลจัดหา

ดูการทำงานดูการแก้ปัญหาของรัฐบาลยามนี้แล้วต้องบอกว่า “วังเวง”  เพราะถามว่านอกจากวัคซีนซิโนแวคของจีนที่หากไม่หลงกระแสดราม่าข้อโจมตีเรื่องประสิทธิภาพต่ำในการสร้างภูมิคุ้มกัน  หรือเรื่องบริษัทผู้ผลิตมีเอี่ยวกับเจ้าสัวตระกูลใหญ่บริษัทยักษ์ที่เข้าไปถือหุ้น  แถมผู้บริหารระดับสูงสองฝ่ายยังมีสายสัมพันธุ์ทางครอบครัวแล้ว  การมีวัคซีนซิโนแวคใช้อย่างไม่ขาดมือยังดีกว่าไม่มีอะไรในมือ  เพราะวัคซีนไฟเซอร์ 20 ล้านโดส กับโมเดอร์นา 5 ล้านโดส จะนำเข้าได้ในช่วงไตรมาส 4  ถึงตอนนั้นไม่มีใครรู้ว่าเชื้อโควิด-19 จะระบาดไปขนาดไหน  คนที่รอคิวฉีดจะติดเชื้อและตายไปก่อนหรือไม่

ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่บรรดาผู้ใกล้ชิด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) บอกว่าจะเริ่มนับ 1 ของ 120 วันในการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาตินั้น  ไล่มาแต่ละวันพบว่ายอดผู้ติดเชื้อกับยอดผู้เสียชีวิตทำสถิติใหม่มาตลอด  จนถึงวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 ปรากฎยอดผู้ติดเชื้อใหม่ 7,058 คน ยอดผู้เสียชีวิต 75 คน กลายเป็นสัญญาณอันตรายที่แจ้งให้รับรู้ว่าขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู้การระบาดระลอก 4 อย่างชัดเจนแล้ว

หากรัฐบาลยังแก้ปัญหาแบบรายวันเหมือนวิ่งปะผุรอยรั่วของเรือที่กำลังจะจมน้ำโดยไม่ดูปริมาณน้ำที่กำลังจะท่วมกราบเรือ  สุดท้ายกัปตันและลิ่วล้อคงจะโดดลงเรือชูชีพ  ถีบเรือหนีแล้วปล่อยให้ผู้โดยสารหาทางเอาชีวิตรอดเอง

ความเจ็บป่วยและล้มตายในวันนี้ของคนไทยที่จำทนอยู่กับผู้นำที่ไร้วิสัยทัศน์ที่ห้อมล้อมด้วยนักการเมืองที่ไม่เคยเห็นหัวประชาชนมา 7 ปี  ยิ่งทวีความเจ็บปวดเมื่อเห็นดาราเด่น คนดัง อวดรวยด้วยภาพบินไปฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ที่ต่างประเทศ   หรือเจ็บช้ำในใจลงไปอีกกับข่าวส.ส.และส.ว. ที่กินเงินเดือนหลักแสนแต่ไม่เข้าประชุมสภาจนสภาล่ม  มิหนำซ้ำยังอ้างเหตุผลไม่เข้าประชุมว่ากลัวติดโควิด-19 ทั้งๆที่ฉีดวัคซีนก่อนชาวบ้านแล้วคนละ 2 เข็ม แล้วยังจะขอเข็มที่ 3 แบบบุคลาการทางการแพทย์ที่ทำหน้าที่ด่านหน้า

ศ.คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ที่ปรึกษาศบค.ให้ข้อมูลว่า ในช่วง 2 เดือนนี้ ประมาณ 96 ประเทศทั่วโลกมีการระบาดของไวรัสโควิด 19 กลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) อย่างมาก คาดว่าในอีก 1-2 เดือนนี้ ทั้งไทยและโลกส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดจะเป็นสายพันธุ์เดลต้า เพราะกระจายเร็วมาก  การกระจายของเชื้อเกิดจากการเคลื่อนที่ของคน เชื้อโรคไปเองไม่ได้ จึงไม่อยากให้มีการเคลื่อนย้าย อยู่กับบ้าน Work From Home ต้องได้ 75% แต่ตอนนี้ยังทำได้ไม่ถึง 50% พบว่ายังมีการเดินทางออกต่างจังหวัด ถ้ายังทำไม่ได้ คิดว่าต้องยกระดับมาตรการต้องล็อกดาวน์เหมือนเดือนเมษายน ปี2563 ยกระดับสูงสุด

“สภาเภสัชกรรม” ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาการระบาดและการตายจากโควิดด้วยนโยบายที่ชัดเจนใน 2 ประเด็น คือเร่งรัดกระจายวัคซีนที่มีอยู่ไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ และ 7 กลุ่มโรคเสี่ยงสูง แทนการกระจายฉีดมั่วไปทุกกลุ่มหรือเปิดการท่องเที่ยวโดยหวังผลทางเศรษฐกิจและการคุ้มกันหมู่ ซึ่งต้องใช้เวลานานจนทำให้อัตราตายสูงจนระบบบริการสาธารณสุขใกล้ล่มอย่างทุกวันนี้

ประเด็นสำคัญคือการเร่งรัดจัดหาวัคซีนโดยอาศัยพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ และความกล้าหาญทางนโยบายในการตัดสินใจบังคับใช้มาตรา 4 ซึ่งเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และตามมาตรา 18 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติมีอำนาจประกาศกำหนดเรื่องหนึ่งเรื่องใด ซึ่งมาตรา 18(2) ระบุ “สัดส่วนการส่งออกวัคซีนไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ซึ่งต้องเหมาะสมกับสัดส่วนการใช้วัคซีนภายในประเทศ

สรุปข้อเรียกร้องของสภาเภสัชกรรมคือ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ ออกระเบียบการส่งออกของโรงงานผลิตวัคซีน โดยให้แอสตร้าเซนเนก้า สยามไบโอไซส์ ลดสัดส่วนการส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ให้เหมาะสมกับสัดส่วนการใช้วัคซีนภายในประเทศ ในการประชุมคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้

ย้อนกลับไปดูข้ออ้างของแอสตร้าเซนเนกาที่ส่งมอบวัคซีนแก่รัฐบาลไทยได้ต่ำกว่าสัญญานั้นด้วยเหตุผลว่า  เพราะสยามไบโอไซเอนซ์มีกำลังผลิตแค่เดือนละ 16 ล้านโดส  ซึ่งเมื่อเปิดข้อมูลเดิมในปี 2563 ก็ไม่ได้ผิดปกติอะไรเพราะบริษัทแอสตร้าเซนเนกาบอกไว้เองว่า  โรงงานผลิตวัคซีนของสยามไบโอไซเอนซ์มีกำลังการผลิต 200 ล้านโดส/ปี  นับเป็น 1 ใน 24 ศูนย์ผลิตวัคซีนทั่วโลก  จะเป็นฐานการผลิตเพื่อป้อนแก่ภูมิภาคอาเซียน

ข้อเสนอของสภาเภสัชกรรมหรือก่อนหน้านี้นักการเมืองฝ่ายค้านบางคนก็เคยเสนอมาแล้วว่ารัฐบาลต้องคุมการส่งออกวัคซีนถึงจะจัดการปัญหาเรื่องวัคซีนไม่พอได้  และมิใช่เรื่องใหม่ที่หลายประเทศเคยทำเพื่อรักษาชีวิตของคนในประเทศตนในยามวิกฤติ  เช่น เมื่อโจ ไบเดน ก้าวขึ้นนั่งเก้าอีกประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา  กำหนดภารกิจแรกคือบริหารจัดการเรื่องวัคซีน  คุมการส่งออกเพื่อให้พอใช้ในประเทศก่อนจนตอนนี้มีเหลือและจะหมดอายุหลายล้านโดสจึงได้ประกาศจะบริจาคแก่นานาประเทศที่ยังขาดแคลนรวมทั้งไทย

บริษัท แอสตร้าเซนเนกา มีปัญหาในการส่งมอบวัคซีนแก่นานาประเทศล่าช้ากว่าสัญญามาตั้งแต่ต้นปี  จนหลายประเทศใช้มาตรการควบคุมการส่งออกวัคซีน  อาทิ  สหภาพยุโรป (EU) ได้ควบคุมการส่งออกวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาที่ผลิตในสหภาพยุโรป ด้วยเหตุผล“การปกป้องและความปลอดภัยของพลเมืองเป็นสิ่งสำคัญลำดับแรก”

อิตาลีหนึ่งในชาติสมาชิก EU ได้ออกคำสั่งสั่งห้ามส่งออกวัคซีนแอสตร้าเซเนกาจำนวน 250,000 โดสไปยังออสเตรเลียเมื่อต้นเดือนมีนาคมด้วยเหตุผลว่า ปริมาณวัคซีนที่แอสตราเซเนกาจะส่งออกไปยังออสเตรเลียนั้นมากกว่าจำนวนที่อิตาลีและสหภาพยุโรปสมควรจะได้รับ ขณะเดียวกันออสเตรเลียก็ไม่ใช่ประเทศที่มีความต้องการวัคซีนอย่างเร่งด่วน

หรืออย่างอินเดียที่เผชิญวิกฤติร้ายแรงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา  ได้มีคำสั่งระงับการส่งออกวัคซีนต้านโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนก้าเป็นการชั่วคราว  เนื่องจากคาดว่าความต้องการภายในประเทศจะเพิ่มขึ้นมากทำให้วัคซีนที่ผลิตขึ้นในอินเดียมีความจำเป็นต้องนำมาใช้ภายในประเทศอินเดียก่อน

ล่าสุดยังไม่มีเสียงขานรับจากกระทรวงสาธารณสุขและรัฐบาล  มีเพียงระดับปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เสนอมาตรการควบคุมการระบาดที่พูดแบบวนลูบ เช่นคนป่วยอาการน้อยให้กักตัวเองบ้านเพื่อช่วยลดปัญหาเตียงไม่พอ  หรือการยกระดับล็อคดาวน์ควบคุมการเดินทางระหว่างพื้นที่  ส่วนเรื่องวัคซีนก็แค่เร่งฉีดให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ และผู้ที่เป็น 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง ยังไม่เห็นความกล้าจะเล่นไม่แข็งกับแอสตร้าเซนเนกาแต่ประการใด

นอกจากผู้นำรัฐบาลไทยจะไม่กล้าแล้ว  ยังอาจมีอะไรบังตาหรือเปล่า

Facebook Comments


Social sharing

Related post