Digiqole ad

ขาดดุลการค้าจีน 1.3 ล้านล้าน รัฐบาลไทยไร้มาตรการแก้ไข

 ขาดดุลการค้าจีน 1.3 ล้านล้าน  รัฐบาลไทยไร้มาตรการแก้ไข
Social sharing

Digiqole ad

               การหลั่งไหลของทุนจีนที่เข้ามาลงหลักปักฐานในไทยเริ่มเห็นชัดเจนเมื่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้าให้การตอบรับรถEV (Electric Vehicle)จากจีนที่มีเทคโนโลยีทันสมัย  รูปทรงถูกใจและราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับค่ายยุโรป อเมริกาหรือญี่ปุ่น   เฉกเช่นเดียวกับสินค้าจีนอีกนับพันนับหมื่นรายการที่ถูกนำเข้ามาจำหน่ายแก่ผู้บริโภคชาวไทยในคุณภาพที่รับได้กับสนนราคาที่ไม่อาจปฏิเสธ  

               ทุนจำนวนมหาศาลที่อวดอ้างตัวเลขว่าสูงนับพันนับหมื่นล้านบาทที่จะขนเข้ามาลงในไทยในยามที่เศรษฐกิจชะลอตัว  ย่อมเป็นที่ต้องการเพื่อให้เกิดการจ้างงานและการผลิต  เช่นเดียวกับจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มีแนวโน้มจะหวนกลับมาหลายล้านคนพร้อมเม็ดเงินที่คาดหวังหลายแสนล้านบาท  คือเหตุผลที่ต้องเสนอเงื่อนไขเชื้อเชิญให้เข้ามาลงทุนให้เข้ามาเที่ยวไทย 

               อย่างไรก็ตามกับสถานการณ์ที่สินค้าจีนกำลังทะลักทลายเข้ามาท่วมตลาดไทยเหมือนเขื่อนแตก  เมื่อเทียบกับสินค้าไทยที่ส่งไปจีนอย่างยากลำบากด้วยเงื่อนไขและปัจจัยต่างๆ  จนล่าสุดในปี 2566 ประเทศไทยต้องเสียดุลการค้าแก่จีนสูงถึง 1.3 ล้านล้านบาท ส่วนในปี 2567 แนวโน้มการขาดดุลก็ยังคงเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท  โดยมีแต่เสียงของผู้ประกอบการไทยที่แสดงความกังวลกับผลกระทบที่จะรุนแรงขึ้น  ในขณะที่ฝ่ายราชการและรัฐบาลยังไม่แสดงความอนาทรร้อนใจหรือตื่นตัวว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศที่ต้องเร่งแก้ไขแต่อย่างใด    

  ในประเด็นดังกล่าว สมาคมสื่อมวลชนไทย – จีน ร่วมกับ คณะวิทยาการจัดการ  มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ได้จัดการเสวนาเรื่อง “ไทยขาดดุลการค้าจีนล้านล้านบาท  แก้อย่างไรให้เห็นผล” เมื่อช่วงบ่ายวันพุธที่ 24 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณบดี คณะวิทยาการจัดการ อาคารเฉลิมพระเกียรติ มรภ.พระนคร ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมศึกษาถึงประเด็นปัญหาดุลการค้าไทย-จีน  ว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมาถึงจุดที่ผู้รับผิดชอบควรใส่ใจดูแลแก้ไขอย่างใกล้ชิด  โดยต้องการร่วมแสวงหาข้อเสนอแนะต่อภาครัฐบาลเพื่อเร่งหาทางแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

                การเสวนาครั้งนี้ ผศ.ดร.จุฑาทิพย์  พหลภาคย์ คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มรภ.พระนคร เป็นผู้กล่าวเปิดการเสวนา  โดยมีวิทยากรที่ให้เกียรติเข้าร่วมประกอบด้วย นายณรงค์ศักดิ์ พุทธพรมงคล  ประธานกรรมการหอการค้าไทย-จีน  นายปารเมศ วิทยารักษ์สรรค์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล  นายจิรบูลย์ วิทยสิงห์  ประธานกิตติมศักดิ์สมาคมของขวัญของชำร่วยไทยและของตกแต่งบ้าน  และรองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย  ผศ.กัลยา นาคลังกา  ประธานหลักสูตรเศรษฐศาสตร์  และนายอนพัทย์ พัฒนวงศ์วรัณ  อาจารย์หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ  มรภ.พระนคร  ดำเนินรายการโดย นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ นายกสมาคมสื่อมวลชนไทย-จีน  

          นายณรงค์ศักดิ์ ให้ข้อมูลว่า ในปี 2566 คู่ค้าสำคัญของไทย 5 อันแรกคือ จีน มูลค่าการค้า 104,965 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  สหรัฐอเมริกา มูลค่า 68,358 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  ญี่ปุ่น มูลค่า 55,861 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มาเลเซีย 25,118 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  และไต้หวัน มูลค่า 21,401 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  โดยไทยได้เปรียบดุลการค้ารายเดียวคือสหรัฐฯ 29,371 ล้านเหรียญสหรัฐฯ   อีก 4 รายขาดดุล คือจีน 36,636 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท)  ญี่ปุ่น 6,522 ล้านเหรียญสหรัฐฯ  ไต้หวัน 11,808 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และ มาเลเซีย 1,369 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

          โครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยไปจีนในปี 2566 ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุตสาหกรรม 59.35%    สินค้าเกษตรกรรม 32.96 %  สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สัดส่วน 5.96%  สินค้าแร่และเชื้อเพลิง 1.74%   ส่วนโครงสร้างสินค้านำเข้าจากประเทศจีน ส่วนใหญ่ 37.42% เป็นสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป  34.20% เป็นสินค้าทุน  18.95% เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค  6.69% เป็นยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง  2.30%เป็น อาวุธยุทธปัจจัย  และ0.45% เป็นสินค้าเชื้อเพลิง 

           นายณรงค์ศักดิ์ มีความเห็นว่า  การแก้ปัญหาการค้าไทย-จีนด้วยการดึงนักธุรกิจจีนมาร่วมธุรกิจการค้าในไทยอย่างถูกต้องตามกฎหมายในสัดส่วน ไทย 51 : จีน 49 จะดีที่สุด  มีข้อดีหลายด้าน เพราะได้เงินลงทุนจากฝ่ายจีน ได้ขยายตลาดจีน ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีทันสมัยจากจีน               

          นายปารเมศ กล่าวว่า สินค้าจีนราคาถูกแต่คุณภาพดีขึ้นเมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่เป็นสินค้าก๊อปปี้ลอกเลียนแบบ  เดี๋ยวนี้มีแบรนด์ของตนเอง  มีตั้งแต่เกรดธรรมดาจนถึง A+  ขณะนี้สินค้าจีนเข้ามาตีตลาดไทยมากและมีผลกระทบต่อผู้ผลิตในประเทศ  เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีชาวบ้านก็เลือกใช้สินค้าราคาถูก

          ในสภามองการขาดดุลการค้าว่าน่าเป็นห่วง  โดยไทยตำหนิจีนไม่ได้  ต้องหันกลับมาดูตัวเอง  ทำอย่างไรจึงจะให้ SME ไทยมีการพัฒนาสินค้า สร้างนวัตกรรม ได้ค่าแรง  คำตอบคือต้อง Upskill (การพัฒนาเพื่อยกระดับทักษะที่มีอยู่ให้ดีกว่าเดิม)  Reskill (การสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นต่อการทำงาน)  ต้องสร้างหรือผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพ  ต้องมีการถ่ายทอดเทคโนโลยี  อย่างจีนบังคับต่างชาติที่เข้าไปลงทุนว่าต้องถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างน้อย 50% ซึ่งไทยยังช้าในเรื่องนี้แม้จะมีบทเรียน  ไทยต้องมองอนาคตในระยะยาว

              การร่วมลงทุนด้วยการจดทะเบียนบริษัทนั้นพบว่าเป็น “นอมินี” มากมาย   ไทยยังขาดหน่วยงานในการตรวจสอบ  ต้องเอาเทคโนโลยีมาใช้  ต้องมีระบบการตรวจสอบที่โปร่งใส   กรมพัฒนาธุรกิจการค้าแค่รับจดทะเบียนบริษัท    แต่พบว่ามี 2 คนไทยร่วมถือหุ้นในเกือบ 300 บริษัท  และที่ยังตรวจไม่พบอีกมากมาย

          คนไทยอยากเปิดร้านในเถาเป่า (Taobao แพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ของจีน) ยากมาก  แต่ต่างชาติเปิดในไทยง่ายมาก  เป็นผลกระทบรุนแรง  ต้องมีมาตรการปกป้องช่วยเหลือSMEไทย ที่เข้มแข็ง รัดกุม  เอาจริงเอาจังเรื่องการยืนยันตัวตนตอนจดทะเบียนพาณิชย์  สินค้าจากต่างประเทศไม่ต้องมีมอก.  รวมทั้งของกินจากจีนที่วางขายกลางเยาวราช  แต่สินค้าไทยกลับต้องขออนุญาตมากมาย  หลายหน่วยงานต้องทำงานแบบบูรณาการไม่ใช่ต่างคนต่างทำ

          ผศ.กัลยา  กล่าวว่าการค้าไทย-จีน เกิดการขาดดุลมากอาจจะเพราะรัฐบาลไม่วางนโยบายรองรับให้ดีเมื่อปล่อยให้เกิดการค้าเสรี  ตัวเกษตรกรไทย  หรือองค์กรท้องถิ่นยังไม่มีความพร้อมรับมือกับรูปแบบการค้าจากจีน  มองด้านเกษตรเช่นชาวสวนลำไยเคยมีความหวังมากต่อการส่งผลผลิตสู่ผู้บริโภคจีน  จึงมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มผลผลิต  แต่มีล้งจีนเข้ามากำหนดราคาแทนล้งไทยในท้องถิ่นที่ทุนน้อยกว่า  สู้ชาวจีนไม่ได้  สุดท้ายล้งจีนเป็นผู้กำหนดราคา  

          หรือสินค้าเกษตรไทยส่งออกมากแต่เป็นการขายผ่านคนจีน จะเห็นว่าผลไม้ไทยอย่างทุเรียนคนจีนไลฟ์สด ซื้อถูกขายแพงเอาไปเพิ่มมูลค่าได้  ขณะที่เกษตรกรไทยพัฒนาด้านนี้ไปอย่างช้ามาก  ดังนั้นเกษตรกรไทยหรือ SME ไทยต้องพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้น  พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ของคนไทยเพื่อคนไทยให้สามารถสู้กับต่างประเทศ

          นายจิรบูลย์   การเจรจาปัญหาการค้าระหว่างประเทศเป็นหน้าที่ของข้าราชการที่ไม่ได้ค้าขายคุยกันในห้อง  ส่วนพ่อค้านั่งรอนอกห้องประชุม

          การขาดดุลจีนนั้นไทยสูงเป็นอันดับ 1 ในกลุ่มอาเซียน  ประเทศอื่นมีการตั้งรับและแก้ไขปัญหา  บางประเทศมีการสร้างเงื่อนไขโดยไม่ละเมิดกฎองค์การการค้าโลก WTO  เป็นการสร้างกำแพงโดยไม่ผิดกฎหมาย  อาทิกลุ่มมุสลิมเอาศาสนาเป็นข้ออ้าง  อินโดนีเซียมีมาตรการปกป้องเกษตรกร เช่น ฤดูที่ผลผลิตออกห้ามนำเข้าไปขาย  และรัฐบาลอินโดนีเซียไม่ส่งเสริมการค้าออนไลน์

          ปี 2562 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย 40 ล้านคน  ปี 2567 ตั้งเป้า 35 ล้านคน น่าจะใกล้เคียงเป้าหมาย  เฉพาะจีนในช่วง 1 มกราคม -16 เมษายน 2567 เข้ามาแล้ว 2 ล้านคน ใกล้เคียงเป้าหมาย 8 ล้านคน  หวังว่าทัวร์ศูนย์เหรียญจะไม่กลับมาเพราะคนไทยไม่ได้ประโยชน์เลย  อย่างไรก็ตามรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนที่คาดหมายไว้หลายแสนล้านบาทก็ไม่อาจเอามาหักตัวเลขการขาดดุลการค้าเพราะเป็นคนละบัญชี 

          “ถึงเวลาที่ต้องเปิดศักราช Business Matching ร่วมทุนจากธุรกิจไทย 51 จีน 49 อย่างถูกต้องตามกฎหมาย   ในแผนพัฒนาฯฉบับที่ 14 ของจีนเน้นเรื่องพลังงานสะอาด  จีนมีโอกาสย้ายฐานมาไทยสูงมาก  เราจะรับมืออย่างไร  ระวังสินค้าจีนจะมาเปลี่ยนกล่องว่าผลิตในไทยแล้วส่งขายต่างประเทศ” นายจิรบูลย์ กล่าว

Facebook Comments


Social sharing

Related post