Digiqole ad

วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP:55 ครูปิ่น-ปิ่นศิริ ปิ่นศิริ เล่าเรื่อง “กรรมยืนหนึ่ง” ของกรรมการ (4) บนเวทีประกวดร้องเพลง!

 วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP:55 ครูปิ่น-ปิ่นศิริ ปิ่นศิริ เล่าเรื่อง “กรรมยืนหนึ่ง” ของกรรมการ (4) บนเวทีประกวดร้องเพลง!
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 425 ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 4 เมษายน 2567

หน้า 33 วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP 55/ครูปิ่น-ปิ่นศิริ ปิ่นศิริ

“กรรมยืนหนึ่ง” ของกรรมการ (4)

มาถึงไม้สุดท้ายที่มารับช่วงต่อจาก “อ.ปุ๋ย-ดร.บ๊อบ-กูรูหนุ่ม” ในประเด็น “กรรมยืนหนึ่ง” ของกรรมการ (4) สำหรับเรื่องราวต่อจากนี้คงหนีไม่พ้นประสบการณ์ตรงและอ้อมของ “ครูปิ่น” ที่รับเชิญให้ไปเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวดร้องเพลง ทั้งเวทีเล็กและเวทีใหญ่ระดับประเทศ โดยครูปิ่นจะขอแบ่งเป็นข้อหลัก ๆ เลยเพื่อสะดวกในการเล่าเรื่อง

1.คละชายหญิงไม่อิงฝ่ายใดนำ : สังเกตหรือไม่ว่า ในการประกวด/แข่งขันร้องเพลงนั้น เมื่อถึงรอบลึก ๆ จะไม่(ค่อย)ได้เห็นว่า ผู้เข้าประกวดเป็นชายทั้งหมด หรือหญิงทั้งหมด จะมีคละกัน แต่สัดส่วนอาจไม่ใช่ครึ่งต่อครึ่ง ชายมากกว่าหญิง หรือหญิงมากกว่า เว้นเสียแต่ทางผู้จัดงานระบุว่า อาทิ การคัดเลือกเข้าสู่รอบ 10 คนสุดท้าย ให้เลือกชาย 5 คน หญิง 5 คน อย่างบางเวทีแยกประเภทชายหญิง กันไปเลยเรื่องจะได้จบ

เรื่องที่ไม่จบเป็นกรรมของคณะกรรมการคือ เวลามีผู้เข้าประกวดชายเข้ารอบลึกไปมากกว่าผู้เข้าประกวดผู้หญิง หาว่ากรรมการมีรสนิยมในเพศเดียวกัน หรือกรรมการผู้หญิงฝักใฝ่นักร้องชาย ในทางกลับกันหากเป็นผู้หญิงมากกว่าผู้ชายก็หาว่า กรรมการชายแท้ให้คะแนนพิศวาสส่วนตัว สรุปคือไม่มีอะไรดีทั้งขาขึ้นขาล่อง

อย่างไรก็ตามอยากให้มองว่า ผู้จัดงานไม่ได้ซี้ซั้วเชิญคณะกรรมการมาตัดสิน เพราะคงไม่มีใครด้อยค่าเวทีที่ตัวเองสร้างขึ้นมากับมือ เท่าที่ครูปิ่นรับเชิญไปตัดสินเวทีต่าง ๆ โดยเฉพาะเวทีของโครงการ  “ศาลาเฉลิมกรุง…สืบสานตำนานเพลง” ในการคัดเลือกผู้เข้าประกวดในแต่ละรอบแทบจะใช้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิไม่ซ้ำกันเลย โดยเฉพาะรอบสุดท้ายที่ครูปิ่นเป็นคณะกรรมการตัดสิน คณะกรรมการมีทั้ง ศิลปินแห่งชาติ บรมครูด้านการร้องเพลงลูกกรุง ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการขับร้องและดนตรีกว่า 20 ท่าน โดยผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศได้รับคะแนนอย่างเป็นเอกฉันท์ และไม่มีข้อครหาจากผู้ชมแต่อย่างใด

2.เลือกร้องเพลงซ้ำอย่าหาได้ทำกัน : อีกหนึ่งกรรมของกรรมการคือ การได้ฟังเพลงจากผู้เข้าประกวดที่บังเอิญเลือกเพลงซ้ำ ๆ กัน โดยเฉพาะในรอบคัดเลือก บางเพลงมีผู้เข้าประกวดใจตรงกันนำมาร้องเกือบ 10 คน จะทำให้คณะกรรมการเกิดความรู้สึกน่าเบื่อ ไม่อยากฟังต่อ และกลายเป็นว่า “ร้องฆ่ากัน” บนเวที คือใครร้องดีก็เป็นจ่าฝูงในเพลงซ้ำนั้น ๆ เข้ารอบลึกไป อย่างที่ครูปิ่นเคยไปนั่งเป็นคณะกรรมการตัดสินการประกวดร้องเพลงที่จัดโดยศูนย์การค้าแห่งหนึ่ง ผู้เข้าประกวดจะเลือกเพลงมาร้องที่ซ้ำ ๆ กันหลายเพลง

จะว่าไปแล้ว กับเวทีเล็ก ๆ ทั่วไป หรืองานวัด เราไม่อาจไปกำหนดกฎเกณฑ์ได้ว่า ห้ามเลือกร้องเพลงที่ซ้ำกัน ครูปิ่นคิดว่าเขาจัดเป็นกิจกรรมเพื่อสีสันของศูนย์การค้าหรืองานวัด ไม่ได้จัดเป็นการเป็นงานแบบเวทีใหญ่ ๆ ถึงกระนั้นในเวทีใหญ่หากเลือกเพลงซ้ำกันนิยมใช้วิธีจับฉลาก จะไม่ใช้วิธีใครเลือกก่อนได้ก่อน

3.เพลงนั้นต้องแยกประเภทกันไป : ในการประกวดร้องเพลง ถ้าไม่ให้เป็นกรรมของคณะกรรมการควรแยกประเภทกันไปเลย หลัก ๆ คือ ลูกกรุง ลูกทุ่ง ไทยสากล และเพลงสากล แต่สำหรับเวทีใหญ่ไม่มีปัญหาเขาแยกกันชัดเจนอยู่แล้ว หากมีก็เป็นร้องเพลงไทยสากล 1 เพลง และ เพลงสากล 1 เพลง ถ้าเพลงหนึ่งช้า อีกเพลงหนึ่งก็เร็ว จะได้ไม่สร้างความหนักใจต่อคณะกรรมการ จากประสบการณ์ของครูปิ่นที่ผ่านมา ในกรณีที่จัดประกวดไม่แบ่งประเภทกัน คนที่เลือกร้องเพลงสากลมักจะได้เปรียบกว่าคนเที่ลือกร้องเพลงไทย เนื่องจากเพลงสากลมีลูกเล่นหรือการแสดงออกได้เยอะกว่าเพลงไทยที่มีข้อจำกัดในเรื่องกรอบของภาษา อาทิ เสียงสระ และ เสียงวรรณยุกต์

4.ไม่ควรชกข้ามรุ่นต้นทุนอาจพังสิ้น : หัวข้อนี้หากเป็นกรรมระหว่างกรรมการกับผู้เข้าประกวดแล้ว ดูเหมือนว่าจะค่อนไปทางอย่างหลัง ขยายความคือ มาระยะหลัง นักร้องที่เคยดัง รวมทั้งผู้ที่เคยได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวทีใหญ่ระดับประเทศมานานแล้ว  กลับมาสมัครแข่งขันในเวทีใหญ่อีกเวทีหนึ่ง เท่าที่สังเกตมักจะไปไม่ถึงฝั่งฝันกัน แพ้ให้กับคนรุ่นใหม่ ๆ (แพ้เด็ก) อย่างมากก็ได้แค่รองอันดับหนึ่ง อาจคิดว่า จะกลับมาดังอีกครั้ง เพื่อปากท้องของตัวเองและครอบครัว ด้วยความมีชื่อเสียง ด้วยดีกรีแชมป์มาก่อน จะทำให้ชนะอีกครั้ง แต่อาจลืมไปว่าเด็กหรือคนรุ่นใหม่เก่งและมีศักยภาพเยอะมาก หลายคนมีผลงานเป็นที่รู้จักผ่านช่องทางโซเชี่ยลมีเดียตั้งแต่ก่อนเข้าประกวดเสียอีก แตกต่างจากสมัยก่อนมาก กรรมการอย่างครูปิ่นแม้จะมีกรรมที่ได้รับรู้และเห็นคนกลุ่มนี้ผิดหวังจากการตัดสิน แต่ก็เคารพในการตัดสินใจของท่านเหล่านั้น พร้อมกับขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านด้วยครับ

 

5.ผลการตัดสินคะแนนเท่ากัน : ผลการตัดสินของเวทีประกวดร้องเพลงใหญ่ ๆ มักไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องผลคะแนนของผู้เข้าประกวดเท่ากัน ที่ทำให้ต้องเลือกว่าใครคือผู้ชนะเลิศ ใครคือผู้ที่ควรตัดออก ก่อนประกาศผลการตัดสินจะมีการประชุมคณะกรรมการ เพื่อแจ้งผลการตัดสินอย่างไม่เป็นทางการก่อน ส่วนใหญ่จะเอกฉันท์ ส่วนเวทีเล็กหรือเวทีทั่วไป “เสียงแตก” คะแนนเท่ากันมักเกิดขึ้นเป็นประจำ โดยเฉพาะผู้ชนะเลิศ มี 2 คนคะแนนเท่ากัน หรือ มีตำแหน่ง 5 อันดับ คนที่ 5 กับ 6 คะแนนเท่ากัน ต้องปัดตกไป 1 คน ซึ่งจะเกิดขึ้นด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม กรรมของกรรมการคือ ต้องมาโหวตหรือดีเบสกันใหม่ หากใช้วิธียกมือ ถ้ากรรมการมีจำนวนคี่จะง่ายหน่อย แต่ถ้าเป็นจำนวนคู่โอกาสที่คะแนนจะเท่ากันอีก แต่สุดท้ายต้องหาวิธีเลือกจนได้

 6.เจ้าหน้าที่ต้องหมั่นอยู่ใกล้กรรมการ : เรื่องนี้สำคัญไม่น้อยกว่าเรื่องอื่น ๆ เมื่อไหร่ที่กรรมการหันซ้ายหันขวาไม่เจอหน้าเจ้าหน้าที่แม้แต่คนเดียวก็กลายเป็นกรรมของกรรมการขึ้นมาในบัดดล เพราะอะไรหรือ เพราะว่าเวลากรรมการมีปัญหาในการลงคะแนน อาทิ ใบคะแนนที่มีลำดับและชื่อผู้เข้าประกวดไม่ตรงกัน ไม่แจ้งชื่อผู้เข้าประกวดที่สละสิทธิ์ โดยไม่มีการขีดฆ่าชื่อออก ต้องการกระดาษเขียนข้อมูลเพิ่มเติม ปากกาเขียนไม่ออก ต้องการน้ำยาลบคำผิด กรรมการอยากลุกเข้าห้องน้ำแต่หาจังหวะไปไม่ได้สักที แสงที่โต๊ะคณะกรรมการไม่สว่างพอ แจ้งข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นบนเวที เป็นต้น ดังนั้นถ้าหากมีเจ้าหน้าที่นั่งหรืออยู่ใกล้บริเวณโต๊ะคณะกรรมการจะช่วยลดกรรมของกรรมการ

ทั้งนี้จะเป็นกรรมของกรรมการหรือกรรมของใครใด ๆ จะไม่เกิดขึ้นในเชิงลบ ถ้าหากทุกฝ่ายเข้าใจและเข้าถึง กฎ กติกา มารยาท ของการประกวดครับ!  

เรื่อง : ครูปิ่น-ปิ่นศิริ ปิ่นศิริ

เรียบเรียง : ดร.บ๊อบ-จุมพล โพธิสุวรรณ

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 425 ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 4 เมษายน 2567

หน้า 33 วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP:55

ครูปิ่น-ปิ่นศิริ ปิ่นศิริ เล่าเรื่อง “กรรมยืนหนึ่ง” ของกรรมการ (4) บนเวทีประกวดร้องเพลง!

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๒๕
ระหว่างวันที่ ๒๙ มีนาคม – ๔ เมษายน ๒๕๖๗
https://book.bangkok-today.com/books/rqpd/#p=33
(พลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

 

 

 

 

 

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post