Digiqole ad

“What We Owe Each Other” สัญญาประชาคมศตวรรษที่ 21

 “What We Owe Each Other” สัญญาประชาคมศตวรรษที่ 21
Social sharing

Digiqole ad

อานันท์ ปันยารชุน ประธาน อมาตยา เซ็น เลคเชอร์ ซีรีย์ กรุงเทพฯ พร้อมคณะจัดงาน โจ ฮอร์น-พัธโนทัย กรรมการผู้จัดการ Strategy613 และ ณพวงศ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ประธานร่วมสมาคมศิษย์เก่า LSE ประเทศไทย เปิดปาฐกถาหัวข้อ “What We Owe Each Other” ว่าด้วยเรื่องสัญญาประชาคมในศตวรรษที่ 21 โดย บารอนเนส มินุช ชาฟิค ผู้อำนวยการ มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ลอนดอน (London School of Economics and Political Science – LSE) ร่วมเสวนากับนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ศาสตราจารย์อมาตยา เซน และ ศาสตราจารย์อลิซาเบธ โรบินสัน โดยมีบุคคลสำคัญ อาทิ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา, ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์, คุณหญิงชฎา วัฒนศิริธรรม, โชติ โสภณพนิช, อิสระ ว่องกุศลกิจ, สราวุฒิ อยู่วิทยา, เอกอัครราชทูต และตัวแทนจากสถานทูตมากกว่า10 ประเทศ เข้าร่วมงาน ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรม แกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ

ศาสตราจารย์อมาตยา เซน ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ ปี ค.ศ. 1998 มีความสัมพันธ์กับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ มหาวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์ลอนดอน มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ความทุ่มเทในการพัฒนาด้านเศรษฐศาสตร์ของศาสตราจารย์เซนนั้นมากเกินบรรยาย เป็นผู้ริเริ่มแนวคิดการพัฒนามนุษย์แบบองค์รวม และได้เปลี่ยนวิธีการประเมินความสำเร็จให้กับหน่วยงานระดับโลกต่างๆ เช่น ธนาคารโลกและสหประชาชาติ ในปีนี้เหมือนเช่นเคย ศาสตราจารย์เซนให้เกียรติมาเป็นผู้ร่วมเสวนากิตติมศักดิ์ในการบรรยายเกี่ยวกับเรื่องสัญญาประชาคมใหม่ครั้งนี้ด้วย

หลังจากการเกษียณอายุของ ศาสตราจารย์เซนในฐานะอาจารย์ประจำวิทยาลัยทรินิตี มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ในปี ค.ศ. 2004 ศิษย์เก่าของวิทยาลัยทรินิตีได้รวมตัวจัด Amartya Sen Lecture Series โดยเชิญวิทยากรระดับสูงมาร่วมอภิปราย โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยยกระดับคุณภาพของการอภิปรายสาธารณะในประเด็นต่างๆ เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืน สิ่งแวดล้อม ความยุติธรรม ประชาธิปไตย

ในปี ค.ศ. 2015 อานันท์ ปันยารชุน ได้เริ่มคุยกับ โจ ฮอร์น-พัธโนทัย ถึงความคิดที่จะนำปาฐกถานี้มาสู่เอเชีย และหลังจากประสบความสำเร็จในการบรรยาย 2 ครั้งแรกในกรุงเทพฯ โดยมี Haruhiko Kuroda ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่น และ Angel Gurría เลขาธิการ OECD เป็นผู้บรรยาย ในปีนี้คณะผู้จัดได้เชิญ บารอนเนส มินุช ชาฟิค นักเศรษฐศาสตร์ชั้นแนวหน้า เคยดำรงตำแหน่งรองประธานธนาคารโลก ที่มีอายุน้อยที่สุดในขณะนั้น ต่อมาปี ค.ศ. 2008-2011 ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการพัฒนาระหว่างประเทศ ถัดมาในปี ค.ศ. 2011-2014 ดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และในปี ค.ศ. 2014-2017 ดำรงตำแหน่งรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ ปัจจุบัน บารอนเนส มินุช ชาฟิค ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการมหาวิทยาลัย LSE มาบรรยายในหัวข้อ  “What We Owe Each Other”

อานันท์ ปันยารชุน กล่าวเปิดงานว่า ขณะที่เขาเรียนอยู่ที่เคมบริดจ์กับอมาตยา เซน ในปี ค.ศ.1950 พันธสัญญาทางสังคมในตอนนั้นมีความแตกต่างจากปัจจุบันมาก ในทศวรรษต่อมา เราได้เห็นอายุขัยที่เพิ่มขึ้น การศึกษาที่ดีขึ้น ความเจริญรุ่งเรืองที่เพิ่มขึ้น และอัตราการเกิดที่ลดลง ทั้งหมดนี้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานของสัญญาประชาคมในปัจจุบัน เมื่อเผชิญกับ “ชีวิตวิถีใหม่” ที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด และภัยพิบัติด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆที่วนเวียนเกิดขึ้น เราจึงต้องการสัญญาประชาคมฉบับใหม่

บารอนเนส มินุช ชาฟิค บรรยายถึงพันธสัญญาทางสังคมต่างๆ ที่ผูกมัดประชาชน รัฐบาล ครอบครัว และสังคมว่า บางอย่างเป็น “ข้อตกลงที่ไม่ได้เจรจา” เช่น ข้อตกลงระหว่างสมาชิกต่างวัยในครอบครัวเดียวกัน หรือ ระหว่างสามีภรรยาในการรับผิดชอบงานบ้านหรือการเลี้ยงลูก บางอย่างเป็นสัญญาที่เป็นทางการ เช่น นายจ้างจัดหาเงินบำนาญให้ลูกจ้าง และยิ่งไปกว่านั้น คือพันธสัญญาระหว่างประชาชนกับรัฐบาล เช่น การจัดหาบริการด้านสุขภาพและการศึกษา การจ่ายเงินทางสังคมส่วนใหญ่ที่ประชาชนได้รับจากรัฐบาล ไม่ว่าในช่วงเริ่มต้นของชีวิตที่มาในรูปแบบของการศึกษา หรือในช่วงหลังของชีวิตในรูปแบบของการดูแลสุขภาพ ที่ไม่ได้มาจากรายได้ที่แบ่งจาก “คนรวย” แต่เป็นเงินสมทบแบบเติมเงินหรือจ่ายภายหลังจากการออมของตนเองในรูปแบบของภาษีที่จ่ายให้กับรัฐบาลในช่วงปีวัยทำงาน

หลังจากการบรรยาย บารอนเนส ชาฟิกได้เข้าร่วมอภิปรายกับ ศาสตราจารย์เซน และศาสตราจารย์อลิซาเบธ โรบินสัน โดยมี โจ ฮอร์น-พัธโนทัยเป็นผู้ดำเนินรายการ ศาสตราจารย์โรบินสันเป็นนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นหัวหน้าสถาบันวิจัย Grantham ของ LSE ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันวิจัยที่มีชื่อเสียงชั้นนำของโลกที่ศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

ระหว่างการอภิปราย ศาสตราจารย์โรบินสัน กล่าวถึงความจำเป็นในการทำสัญญาประชาคมฉบับใหม่ เพื่อแก้ปัญหาความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม การจัดการเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งหากไม่เริ่มลงมือในตอนนี้ก็อาจจะไม่มีโอกาสอีกแล้ว ศาสตราจารย์เซนยังตั้งข้อสังเกตว่าสังคมสูงวัยไม่ควรถูกมองว่าเป็นปัญหา แต่ควรมองในแง่บวกว่าเป็นความจริงที่เราทุกคนต้องเผชิญ

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post