Digiqole ad

ปฏิรูปตำรวจ 7ปีมีแต่โบว์ดำและถุงดำ

 ปฏิรูปตำรวจ 7ปีมีแต่โบว์ดำและถุงดำ
Social sharing
Digiqole ad

จากกรมตำรวจ  สังกัดกระทรวงมหาดไทย  แปลงเป็น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี  ตั้งแต่ ปี 2541  สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงปัจจุบันในยุคพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นเวลา 23 ปีแล้วที่ได้ถามกันมาเป็นระยะว่านอกจากการเปลี่ยนชื่อ  เปลี่ยนอำนาจการควบคุมหน่วยงานที่มีกองกำลังกว่า 2 แสนนายแล้ว  ประชาชนได้รับประโยชน์อะไรมากขึ้นกว่าเดิมบ้างหรือไม่  ข้อความที่ว่า “เป็นตำรวจมืออาชีพ เพื่อความผาสุกของประชาชน” นั้นเป็นเป้าหมายร่วมของตำรวจไทยที่ต้องไปให้ถึง  หรือเพียงแค่วิสัยทัศน์ที่ยกมาให้องค์กรดูดี

นโยบายและความคิดที่จะปรับปรุงการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจไทยให้มีมาตรฐานแบบสากล  ให้เป็นผู้ถือกฎหมายและอาวุธเพื่อรักษาความสงบสุข  ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนนั้น  เป็นเรื่องที่ทุกรัฐบาลบอกกล่าวกับประชาชน  แต่ในทางปฏิบัตินั้นยังไม่อาจวัดผลสัมฤทธิ์ได้เป็นที่ประจักษ์  ในทางกลับกันสังคมไทยยังถูกฝังลึกไว้ด้วยผลงานอัปยศหลายชิ้นที่ยากจะลืมเลือน

คดีเพชรซาอุฯ : อุ้มฆ่า2แม่ลูก

ปี 2533  คดีเพชรซาอุฯที่คนงานไทยแอบขโมยเครื่องเพชรราชวงศ์ไฟซาลแห่งซาอุดีอาระเบียหนีกลับมาเมืองไทย  จากคดีลักทรัพย์ธรรมดาแต่เพราะมูลค่ามหาศาลได้กลายเป็นคดีฆาตกรรมอำพรางแม่ลูกตระกูลศรีธนะขันธ์  โดยมีตัวละครสำคัญในขณะนั้นคือ  พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ  อดีตผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ เจ้าของฉายา “สิงห์เหนือ”

เริ่มต้นจากการโชว์ผลงานตามจับหัวขโมยแสบ นายเกรียงไกร เตชะโม่ง ได้อย่างรวดเร็วและส่งคืนเครื่องเพชร แต่ทางการซาอุดีอาระเบียแจ้งว่าเครื่องเพชรประมาณครึ่งหนึ่งเป็นของปลอม  ทางการซาอุดีอาระเบียสงสัยว่าตำรวจไทยยักยอกเครื่องเพชรเอาไว้เอง  ทำให้พล.ต.ท. ชลอกลับมาทำคดีนี้อีกครั้งหนึ่ง  โดยสอบปากคำนายสันติ ศรีธนะขัณฑ์ เสี่ยเจ้าของร้านเพชรที่รับซื้อของโจร  แต่วิธีการที่ล้ำเส้นคือทีมงานของพล.ต.ท.ชลอได้ลักพาตัวภรรยาและลูกชายของนายสันติไปเป็นตัวประกันเพื่อบีบให้นายสันติสารภาพ  สุดท้ายลงเอยด้วยการฆาตกรรมอำพรางสองแม่ลูกเพื่อปิดปากโดยจัดฉากให้ดูเหมือนอุบัติเหตุทางรถยนต์

พล.ต.ท.ชลอ และลูกน้องทั้ง 9 คน ถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย โดยพล.ต.ท.ชลอถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานออกคำสั่งฆ่าสองแม่ลูกในปี พ.ศ. 2538  มีการต่อสู้คดี 3 ศาลจนศาลฎีกามีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ให้ประหารชีวิต  พล.ต.ท.ชลอถูกถอดยศ และเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมดในปี2553  อย่างไรก็ตามนายชลอได้รับการลดโทษในหลากหลายโอกาส  จากโทษประหารเหลือจำคุกตลอดชีวิตและหลังจากอยู่ในคุก 19 ปีก็ได้รับการพักการลงโทษ และออกจากเรือนจำกลางบางขวาง เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2556

คดีโจ ด่านช้าง : วิสามัญฆาตกรรม

ปี 2539  จากเหตุกลุ่มชายฉกรรจ์จำนวน 6 คน มีนายศุภฤกษ์ เรือนใจมั่น หรือ “โจ ด่านช้าง” เป็นหัวหน้าแก๊งพร้อมอาวุธสงครามจับครอบครัวหนึ่งเป็นตัวประกันในบ้านใต้ถุนสูงที่ตั้งอยู่กลางทุ่งนามีน้ำท่วมรอบบ้านในตำบลบางใหญ่ อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี

คดีนี้พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค รองอธิบดีกรมตำรวจ(ในขณะนั้น)  พร้อม พ.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้บังคับการกองปราบปราม(ในขณะนั้น) เดินทางลงพื้นที่คุมคดีด้วยตนเอง  โดยพ.ต.อ.อัศวิน ลงทุนถอดชุดตำรวจเหลือแต่เสื้อกล้ามเข้าเจรจาจนคนร้ายยอมปล่อยตัวประกัน และยอมมอบตัวให้จับได้ใส่กุญแจมือ  ตำรวจคุมตัวออกจากบ้านเดินลุยน้ำจะมาที่ถนน   แต่กลับพาเดินกลับเข้าบ้านอีกครั้งโดยอ้างว่าไปค้นหาอาวุธปืนที่ซ่อนอยู่   จากนั้นเกิดเสียงปืนดังขึ้นในบ้านหลายสิบนัด  ผู้ต้องหาทั้ง 6 รายถูกยิงตาย  ตำรวจอ้างว่าระหว่างหาอาวุธหนึ่งในคนร้ายได้หยิบปืนจากที่ซ่อนออกมายิงต่อสู้  กลายเป็นคดีวิสามัญฆาตกรรมที่อื้อฉาวจนทุกวันนี้

อัศวิน ขวัญเมือง เติบโตในหน้าที่การงานเลื่อนยศเป็นพล.ต.อ. เกษียณอายุราชการในตำแหน่งรอง ผบ.ตร.  แล้วได้นั่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  จากนั้นได้รับการแต่งตั้งจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน

สำหรับพล.ต.อ.สล้าง หลังจากเกษียณอายุได้เคยตั้งมูลนิธิขึ้นมาแจกจ่ายยาต้านโรคเอดส์  เคยแสดงบทบาทในเรื่องสาธารณะเช่นคัดค้านโครงการรถไฟฟ้าลอยฟ้า(BTS)ของกรุงเทพมหานคร  ตอนหลังออกมาต่อต้านโครงการรถไฟรางคู่ขนาด 1 เมตร  เสียชีวิตเมื่อปี 2561 ตอนอายุ 81 ปี เหตุกระโดดห้างสรรพสินค้าดังแถวแจ้งวัฒนะโดยสันนิษฐานว่าเป็นโรคซึมเศร้า

คดีบอส : เงินง้างยุติธรรม

โฆษณาของเครื่องดื่มชูกำลัง “กระทิงแดง” ที่ติดหูชาวบ้านคือ “เป้าหมายมีไว้พุ่งชน” แต่ลูกชายคนเล็กของครอบครัวอยู่วิทยาเจ้าของกระทิงแดง ชื่อเล่น “บอส”หรือนายวรยุทธ กลับขับรถหรูเฟอร์รารี่ ราคา 15 ล้านบาท ไปพุ่งชนรถจักรยายนต์ที่ดาบตำรวจ วิเชียร กลั่นประเสริฐ ตำรวจจากสถานีทองหล่อ กำลังขับขี่  ช่วงเช้ามืด 05.30 น. ของวันที่ 3 กันยายน 2555  บริเวณปากซอยสุขุมวิท 47 มีผลให้ดาบตำรวจวิเชียรตายคาที่ และด้วยความเร็วของรถยนต์ได้ลากศพของตำรวจไปไกลกว่า 200 เมตร  แต่บอส-วรยุทธ  ไม่ได้หยุดช่วยเหลือคู่กรณีหรือแจ้งเหตุ  กลับขับรถหนีกลับบ้านตัวเองที่อยู่ภายในซอยสุขุมวิท 53 ซึ่งต่อมาตำรวจติดตามจับกุมตัวได้

ความเป็นทายาทมหาเศรษฐีตระกูลดังที่ตอนแรกตำรวจตั้ง 5 ข้อหาหนัก  ขับรถขณะมึนเมา  ขับรถเร็วเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด  ขับรถโดยประมาททำให้ทรัพย์สินผู้อื่นเสียหาย  ขับรถชนแล้วหนี  ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย  เพราะความแตกว่ามีนายตำรวจสน.ทองหล่อพยายามเปลี่ยนตัวผู้ต้องหาเอาพ่อบ้านมารับผิดแทน  จึงต้องทำขึงขังเอาเรื่องแบบไม่ไว้หน้าใคร

แต่เมื่อเวลาผ่านไปคดีบอสกลายเป็นมวยล้มต้มคนดูทั้งประเทศ  เป็นการพิสูจน์ว่าประเทศไทยนั้น เงินง้างกฎหมายได้  คุกมีไว้ขังเฉพาะคนจนและคนไม่มีเส้น  อำนาจ บารมี และอิทธิพล ทำให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงขบวนการยุติธรรมได้  สามารถบิดเบือนข้อเท็จจริง  สร้างพยานหลักฐานใหม่  เปลี่ยนความเร็วรถได้  เปลี่ยนการดื่มก่อนขับเป็นดื่มหลังขับได้  ไม่ตั้งข้อหายาเสพติดทั้งๆที่ตรวจพบสารแล้วก็ได้  หรือแม้แต่เปลี่ยนผู้ตายซึ่งเป็นผู้เสียหายให้กลายเป็นคนผิดก็ยังได้  จนทำให้อัยการที่เคยสั่งฟ้องเปลี่ยนมาสั่งไม่ฟ้อง

คดีนี้แม้ว่าพล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีจะสั่งให้รื้อคดีใหม่แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติก็ไม่มีปัญญาจะนำตัวจำเลยกลับมาดเนินคดี  และตัวการใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการพยายามบิดเบือนกระบวนการยุติธรรมก็ยังไม่ถูกลงโทษ

โจ้ เฟอร์รารี่  : ถุงดำเขย่าสีกากี       

สิงหาคม 2564 คนไทยทั้งประเทศรับรู้ในคดีอื้อฉาวเมื่อ “ผู้กำกับโจ้” หรือ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล  อดีต ผกก.สภ.เมืองนครสววรรค์  มีพฤติการณ์กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายโดยการทรมาน นายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ ผู้ต้องหาคดียาเสพติดโดยใช้ถุงคลุมหัวจนถึงแก่ความตาย ตามที่ปรากฏในคลิปบนโลกออนไลน์

อีกทั้งยังพบว่ามีการครอบครอง รถหรู” ราคาแพงหลายสิบคันทั้งเฟอร์รารี ลัมโบร์กินี และอื่นๆ โดยเมื่อตรวจสอบย้อนหลังพบว่าตั้งแต่ปี 2554-2560 พ.ต.อ.ธิติสรรค์ เป็นเจ้าของสำนวนคดีนำจับรถหรูและรถทั่วไปรวม 368 คัน ขายทอดตลาดไปแล้ว 363 คัน ซึ่งคาดว่าจะได้รางวัลนำจับและสินบนจากกรมศุลกากรหลายร้อยล้านบาทที่อาจจะเข้าข่ายการ “ฟอกรถ”จากต่างประเทศที่ทำเป็นขบวนการใหญ่

จากพฤติกรรมอันอุกอาจของอดีตผู้กับกับโจ้  ประกอบกับประวัติที่ร่ำรวยผิดปกติ  ใช้ชีวิตหรูหราในแวดวงไฮโซ  มีผลให้สังคมหันมาตั้งคำถามต่อแวดวงสีกากีว่าคัดกรองบุคลากรกันอย่างไร  แต่งตั้งกันขึ้นมาอย่างไร  ไม่ตั้งข้อสงสัยกันบ้างหรือว่าร่ำรวยกันขึ้นมาอย่างไร   หรือการนายพลตำรวจทุกคนที่รับราชการมาทั้งชีวิต  ไม่เคยทำธุรกิจ ไม่เคยรับมรดก  แต่มีทรัพย์สินหลายสิบหลายร้อยล้านเป็นเรื่องปกติธรรมดาแบบรู้ๆกัน

ตำรวจเลวแค่ 0.01% ของสองแสน

อดีตนายตำรวจใหญ่คนหนึ่งเคยกล่าวว่า “ตำรวจเลวมีแค่ 0.01% ของสองแสนสอง”  โดยอธิบายว่าตำรวจทั่วประเทศสองแสนกว่าคน ในนครบาลอีกสองหมื่นคน ตำรวจร้อยละ 99.99 เป็นคนดี ตั้งใจทำงาน  ที่ผ่านมาสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้พยายามกำจัดคนไม่ดีออกจากวงการ

ข้อมูลสำนักงานตำรวจแห่งชาติเปิดเผยว่าช่วง 3 ปีที่ผ่านมา พบตำรวจเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง หรือพัวพันในคดียาเสพติด กว่า 170 นาย ในจำนวนนี้อยู่ในพื้นที่ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1, ภาค 2 และภาค 7 รวมทั้งพนักงานสอบสวนหลายสิบนายที่เข้าไปบิดเบือนสำนวนคดี จนทำให้ผู้ต้องหาได้เปรียบในรูปคดี

ปี 2563 มีการลงโทษข้าราชตำรวจที่กระทำความผิดทั้งสิ้น 400 ราย เป็นการไล่ออกจากราชการ 295 ราย ปลดออกจากราชการ 57 ราย และให้ออกจากราชการ 48 ราย

ปี 2564 ตั้งแต่เดือนมกราคม-สิงหาคม  มีข้าราชการตำรวจถูกลงโทษทั้งสิ้น จำนวน 148 นาย เป็นการไล่ออกจากราชการ จำนวน 108 นาย ปลดออกจากราชการ จำนวน 33 นาย และให้ออกจากราชการ จำนวน 7 นาย

ผลงานการกำจัดตำรวจเลวที่ดูเหมือนสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะทำจริงจังต่อเนื่องนั้น  หากลงในรายละเอียดเป็นที่รู้กันว่าแค่ปลาซิว ปลาสร้อย  ถ้าจะแก้ปัญหากันจริงๆคือต้องผ่าตัดทั้งองค์กร  แต่ก็อย่างที่เห็นกันอยู่คือคนมีอำนาจก็ยังหวงอำนาจ  คนเป็นนายกรัฐมนตรีที่ต้องการยึดครองเก้าอี้ในระยะยาวจะปล่อยองค์กรตำรวจที่มีกำลังพลกว่า2แสนนายไปทำไม

การปฏิรูปตำรวจจึงเป็นเพียงวาทกรรมที่สร้างผลงานชิ้นโบว์ดำในอดีตและถุงดำในปัจจุบันแค่นั้น

Facebook Comments

Related post