
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้จะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกสมัย ตามกลไกรัฐธรรมนูญปี 60 ที่เขียนโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ แต่บนเก้าอี้อำนาจการเมืองครั้งนี้ ดูเหมือนแรงกดดันมากขึ้นหลายเท่าทวีคูณ
มากจนทำให้เครียด และหงุดหงิด
ทุกอย่างที่กล่าวอ้าง ยิ่งกลายเป็นเข้าเนื้อ ยิ่งกลายเป็นเปลืองตัวมากขึ้น
ถูกถามเรื่องรัฐบาลมีปัญหา เพราะคัดคนมีประเด็นเข้ามาทำงาน ก็อ้างว่า “ถ้ามองย้อนกลับไป ก็เคยมีแบบนี้เยอะแยะ ลืมกันไปแล้วหรืออย่างไร เช่น เมื่อเข้ามาเป็นรัฐบาล ก็ทำปัญหาเยอะแยะไปหมด ลืมหมดแล้วหรือไง”
ถือเป็นการย้อนถามนักข่าวตามสไตล์ พล.อ.ประยุทธ์ แต่อีกมุมนี่คือการยอมรับใช่หรือไม่ว่า มีปัญหาจริงๆ
แล้วเหตุผลที่อ้างว่ารัฐบาลในอดีตก็เป็นก็มี จะให้หมายความว่าถอยหลังเข้าคลอง หรือว่าเมื่อคนอื่นทำไม่ดีได้ ก็เลยทำไม่ดีบ้างเช่นนั้นหรือ ตรรกะวิบัติไปหน่อยหรือไม่
“ผมหรือนายกฯ ไม่ใช่จะเป็นคนตรวจสอบเข้าใจกันหรือเปล่า เพราะมันมีกลไกกระบวนการการตรวจสอบอยู่ นายกฯ จะต้องทำเองทั้งหมดเลยหรือ เพราะนายกฯแค่สั่งให้ทุกคนตรวจสอบแล้วรายงานขึ้นมา นายกฯก็อ่านและตรวจสอบตามนั้น ตามที่เขาสรุปรายงานขึ้นมา เข้าใจหรือไม่”
“อ้าว ผมก็เป็นคนคัดคนเข้ามา เพราะมีคนเสนอเข้ามา แต่ทั้งหมดได้ผ่านกลไกการตรวจสอบคุณสมบัติคุณสมบัติ ก็จบลงแค่นั้น ผมจบแล้ว”
เป็นคำตอบที่สะท้อนการทำงาน สะท้อนระบบตรวจสอบการคัดคนเข้ามาทำงานระดับชาติที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีแค่การอ่านจากที่เขาสรุปรายงานขึ้นมาให้ แค่นั้นถือว่าจบแล้ว
งานสำคัญมากเช่นนี้ แต่กระบวนการทำไมจึงดูเหมือนไร้ประสิทธิภาพอย่างไม่น่าเชื่อ
พอถูกถามหนักข้อขึ้น ก็ออกอาการหงุดหงิด ไม่ตอบแล้ว
และใช้สไตล์เฉพาะตัว ที่จะไปพูดเรียกร้องความเห็นใจในทุกโอกาสที่ลงพื้นที่ ล่าสุดก็พูดเหมือนกับอ้อนขอความเห็นใจว่า เป็นโรคเครียด เพราะมีหลายอย่างรุมเร้า แต่สู้ได้ เพราะไม่ได้สู้เพื่อตัวเอง
“แต่โชคดีที่ไม่ได้ป่วยหนักหนาสาหัสแบบที่หลายคนอยากให้เป็น และหลายคนบอกผมบ่นมากเมื่อไหร่จะลาออกสักที ซึ่งผมไม่ได้บ่นแค่พูดให้ฟังเฉยๆ และบางคนก็บอกเมื่อไหร่ผมจะตายๆ สักที ก็ดีเหมือนกัน คนเราทำไมเกลียดกันขนาดนี้”
ถ้าจนถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่รู้ว่าทำไม จึงได้รับแรงกดดันเช่นนี้ ก็คงเป็นเรื่องยากที่จะแก้โรคเครียดได้ตรงจุด
แต่ที่น่าห่วงก็คือ ประเทศที่มีนายกฯเป็นโรคเครียด แต่ยังมาทำหน้าที่บริหารประเทศ แล้วประเทศ ประชาชนจะเครียดไปด้วยขนาดไหนกันล่ะนี่
ภูวนารถ ณ สงขลา