
ย้อนกลับไปวันที่คลื่นวัฒนธรรมต่างชาติโถมเข้าใส่สังคมไทย กระทั่งทำให้การละเล่นแบบไทยๆ หรือการสวมใส่ชุดไทยกลายเป็นเรื่องล้าสมัย และชวนให้เขินอายในสายตาคนไทยผู้เป็นเจ้าของมรดก ด้วยห่วงแหนภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษไทยสร้างมานับพันปี ‘สิงห์ชัย ทุ่งทอง’ กรรมการสภาสถาปนิก อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอดีตสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุทัยธานี ผู้ซึ่งเฝ้ามองการพัฒนาประเทศ ที่หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนไปตามนโยบายหาเสียงของนักการเมืองมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นเด็กด้วยความสนใจ กระทั่งกล้าตั้งคำถามจากสิ่งที่เขาคุ้นชินมากขึ้น เมื่อเรียนจบสถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต คณะสถาปัตยกรรม ก่อนจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทั้งในฐานะอาจารย์ และนักการเมืองในฐานะสมาชิกวุฒิสภาจังหวัดอุทัยธานี นั่นทำให้เส้นทางการสร้างชาติด้วยวัฒนธรรมที่เขาคิด ได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ
อะไรคือหัวใจของคำว่า “วัฒนธรรมสร้างชาติ วัฒนธรรมสร้างไทย” ที่กรรมการสภาสถาปนิก วัย 57 ปี “คิด- พูด และลงมือทำ” ได้ชัดขึ้น
คุณสิงห์ชัย เผยว่า “วัฒนธรรมสร้างชาติ” เป็นเพียงถ้อยคำที่จะขมวดแนวคิดการพัฒนาชุมชน สังคม ประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาที่เขาคิด บนความเชื่อที่ว่า ประเทศไทยนั้นมีครบถ้วนในวิถีของความเป็นมนุษย์ ทั้ง ศิลปะ ประเพณี วิถีชีวิต ที่มีการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงมานับพันปี
เพื่อให้คนไทยเข้าใจง่าย และรับรู้แนวคิดในการพัฒนาประเทศของสิงห์ชัย ทุ่งทอง จึงได้นำคำ 3 คำ ได้แก่ ศิลปะ ประเพณี และวิถีชีวิต มาย่อให้สั้นกระชับง่ายต่อการจดจำ เพื่อจุดประกายให้คนไทยได้ฉุกคิดเรื่องการพัฒนา ภายใต้การนำสิ่งที่เรามีอยู่มาขยาย และพัฒนาเพื่อความอย่างยั่งยืนให้ประเทศชาติครับ
ประเทศไทย คือ “บ้าน”
“สำหรับผมประเทศไทย คือ “บ้าน” เป็นบ้านหลังใหญ่ที่บรรพบุรุษของผม และของคนไทยทุกคนร่วมกันสร้างไว้ให้ลูกหลานได้อยู่อาศัย เรามีสถาปัตยกรรมที่งดงามไม่แพ้ชาติใดในโลก เรามีดินอุดมสมบูรณ์พอที่ทำสวนเกษตรขนาดใหญ่เลี้ยงดูคนในประเทศ และส่งขายได้ เรามีความเป็นมนุษย์ที่มีความสนุกสนานในสายเลือด ที่สะท้อนผ่านการแสดงการละเล่น ศิลปวัฒนธรรม ที่หลากหลาย บางแขนงถูกยกให้เป็นมรดกโลก
หลายครั้งเมื่อมีนักการเมืองเข้ามาบริหารประเทศตามวาระการเลือกตั้ง ต่างก็พยามคิดใหม่ทำใหม่ เพื่อขับเคลื่อน และหวังพัฒนาประเทศให้ทันกระแสโลก จนลืมให้ความสำคัญเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญ อาทิ เรื่องคอนเซ็ปต์ ที่ตั้งของประเทศ รวมถึงบริบท หรือวิถีของสังคมไทย ซึ่งมีความหลากหลาย และมีเอกลักษณ์โดดเด่นแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น”
“ที่สำคัญก็คือ ความมีชีวิตชีวาของคนไทยที่สอดรับกับความงามจากธรรมชาติ และศิลปวัฒนธรรมไทยหาไม่ได้ในชนชาติอื่นทั่วโลก”คุณสิงห์ชัย ฉายภาพเมืองไทย ผ่านมุมมองของสถาปนิกนักการเมืองให้ฟัง พร้อมพูดถึงสิ่งที่เขาคิดให้ฟังว่า
“เสียดาย ผลของการออกแบบประเทศโดยไม่มองสิ่งดีดีที่มีอยู่เดิม และไม่เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้ามามีส่วนในการพัฒนาที่ผ่านมาก่อให้เกิดผลเสียหาย ทั้งในส่วนของงบประมาณ การพัฒนาทางกายภาพ สภาพแวดล้อม ความขัดแย้ง รวมถึงสูญเสียประโยชน์สูงสุดที่ประเทศชาติจะได้รับ”
เบ้าหลอมความคิด สถาปนิกนักการเมือง
คุณสิงห์ชัย เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาต่างไปจากนักการเมืองทั่วไปว่า มาจากการเกิดในตระกูลนักเมือง และคลุกคลีอยู่กับการหาเสียงมาตั้งแต่จำความได้ จึงทำให้เขามีความสนใจบ้านเมือง โดยที่ไม่ได้เรียนเรื่องการเมืองการปกครอง กอปรกับการจบการศึกษา Pure Architect ทำให้มุมมองความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาประเทศชาติผิดแผกไปจากนักการเมืองที่จบด้านกฎหมาย และการเมืองการปกครองโดยสิ้นเชิง
“การมีโอกาสได้เรียนสถาปัตยกรรม ทำให้คิดอะไรที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงเสมอ หมายความว่าสิ่งที่คิดต้องจับต้องได้ และมีเหตุมีผลรองรับ สังเกตได้ว่าผมจะไม่พูดอะไรที่ขาดตรรกะ ห่างไกลจากความเป็นจริง หรือฟังแล้วเท่ แต่กินไม่ได้ บ่อยครั้งที่การพูด และคิดแบบนี้ทำให้งานสัมมนาที่ขาดความชัดเจนวงแตก (หัวเราะ)
“ผมมีความเชื่อว่า ในสังคมมนุษย์ที่อาศัยกันอยู่บนโลกใบนี้ ไม่มีอะไรดำรงอยู่ได้ด้วยความสมบูรณ์ แต่มันดำรงอยู่ได้ด้วยความสมดุล วันนี้เมืองไทยมีความพร้อมในทุกๆด้าน ศิลปะ ประเพณี วิถีชีวิต ลักษณะทางภูมิศาสตร์ ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่สวยงาม การเกษตร และประเพณีศิลปวัฒนธรรมที่งดงาม ซึ่งกว่าที่เราจะพัฒนามาถึงตรงจุดนี้ ผมเชื่อว่าบรรพบุรุษของเรา มีการลองผิดลองถูกมานับพันปี …เราไม่ได้เริ่มจากการเป็นคนป่าแล้วขึ้นมานะ
“คือกำลังจะบอกว่า วันนี้สำหรับประเทศไทย ถ้าคุณจะพัฒนา จะสร้างประเทศ ก็ต้องมองพื้นฐานของบ้านเมืองที่งดงามไปรอบๆตัวเสียก่อน เพื่อดูให้ชัดว่าต้นทุนที่มีค่าที่สุดของเราคืออะไร จากนั้นจึงนำสิ่งดีดีที่เรามี แต่ชนชาติอื่นไม่มี มาออกแบบประเทศ เพราะการออกแบบที่ดีที่สุด คือการออกแบบที่ใช้ต้นทุนถูกที่สุด และดีที่สุด
“ยกตัวอย่าง เรามีวัฒนธรรมทางด้านภาษาที่สร้างปฏิสัมพันธ์ให้สังคมไทยแน่นแฟ้น และใกล้ชิดมากกว่าชาติอื่น เวลาที่เราเจอใครๆ เราจะเรียกเขาว่า พี่ครับ ลุงครับ ตรงนี้ถือเป็นวัฒนธรรมภาษาที่วิเศษมากเลยนะ เพราะกว่าคำเหล่านี้จะซึมลงไปในจิตวิญญาณของคนไทย กระทั่งก่อเกิดเป็นความรักความสามัคคีของคนในชาติ ต้องใช้เวลาสั่งสมหลายชั่วอายุคน
“ความหมายก็คือ คนไทยจะรักชาติ ไม่ใช่พิมพ์ใส่กระดาษแล้วหยิบขึ้นมาท่อง แต่มันจะซึมซับในจิตวิญญาณของมนุษย์จากสิ่งที่ทำจนคุ้นชิน จากวิถีชีวิตที่คอยบอกเราว่า นี่ลุง นี่ป้า เวลาเดินผ่านต้องก้มหัวนะ หรือเอาแกงไปให้ป้าให้ลุงข้างบ้านซิ คนโบราณเขามีศิลปะ ประเพณี และวิถีชีวิต การมารวมตัวทำกิจกรรมร่วมกัน ก็เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อน โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้กติกา หรือกฎหมายมาควบคุมเหมือนในปัจจุบัน ถึงได้บอกว่าวัฒนธรรมของไทย คือสิ่งที่วิเศษสุด
“จากประสบการณ์ที่เป็นสมาชิกวุฒิสภา 6 ปี และเป็นรองประธานกรรมาธิการท่องเที่ยว 6 ปี เดินทางไปมาแล้วทั่วโลก กล้าพูดตรงนี้เลยว่า บนโลกใบนี้ ที่ที่ใครบอกว่าสวย หรือบอกว่าเป็นสุดยอดของชายหาด เป็นเมืองที่มีความสวยงาม และมีอัตลักษณ์ แต่คน หรือประชากรของเขายังไม่ใช่ คือไม่มีชีวิตชีวาเหมือนคนไทย ซึ่งมีสุนทรียะครบถ้วน ทั้งรัก โกรธ หลง คนไทยมีความสนุกเฮฮา มีโลกส่วนตัว สิ่งเหล่านี้วัฒนธรรมเรามีครบตามที่มนุษย์ต้องการ จึงมาคิดว่าแล้วทำไมเราไม่พัฒนาประเทศภายใต้สิ่งที่เรามีอยู่ คือนำสิ่งที่เรามีอยู่มาพัฒนากันละ
“ซึ่งนอกจากไม่สร้างความขัดแย้งกับคนในชาติแล้ว ยังจะทำให้ง่ายต่อการยอมรับด้วย ที่สำคัญไม่จำเป็นต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลงความคิด ความคุ้นชิน เพราะเพียงเรานำวัฒนธรรมวิถีชีวิต สภาพแวดล้อมที่มีอยู่เดิมมาพัฒนาให้สอดคล้องกับโลกปัจจุบัน เราก็เริ่มเดินไปได้แล้ว”
สถาปัตยกรรม…สร้างชาติ
หนึ่งในโอกาสที่คุณสิงห์ชัย เอ่ยปากว่ารู้สึกเสียดาย ที่ไม่มีโอกาสได้เสนอแนวคิด “วัฒนธรรมสร้างชาติ” โดยใช้สถาปัตยกรรมเป็นสื่อ ก็คือเมื่อครั้งที่มีการเสนอแบบสร้างท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ ซึ่งเขามองว่า สนามบินแห่งนี้ต้องเป็นมากกว่าท่าอากาศยานหลักของประเทศไทย ที่สำคัญสถาปนิกผู้ออกแบบควรเป็นสถาปนิกไทย ที่มีความเชี่ยวชาญ และลึกซึ้งในความเป็นไทย ไม่ใช่สถาปนิกชาวอเมริกัน-เยอรมัน
“ปีที่มีการประกวดแบบก่อสร้าง ตอนนั้นผมเป็นสถาปนิก และเป็นอาจารย์สอนที่ ม.รังสิต ซึ่งก็ทำได้แค่เฝ้ามองการพัฒนาประเทศในฐานะคนไทยที่สนใจการเมือง จึงตั้งคำถามในใจเบาๆว่า “จะเกิดอะไรขึ้นถ้านายดำเป็นคนออกแบบอาคารสนามบิน ซึ่งนานปีจะมีสักครั้ง ทำไมผู้นำประเทศไม่ถือโอกาสนี้ สร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ
“เชื่อว่า ถ้าสถาปนิกที่ออกแบบสนามบินสุวรรณภูมิชื่อ “นายดำ” สิ่งที่ได้แน่นอนเลยก็คือ เด็กที่เรียนสถาปัตยกรรมจะได้แรงบันดาลใจ เพราะยังไงมนุษย์ ก็ไม่ใช่เครื่องจักร มันต้องมีแรงบันดาลใจ เด็กๆจะได้มีความกระตือรือร้น และสร้างผลงานสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่า เป็นบุคลากรที่มีคุณภาพในวิชาชีพ และรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นไทย”
คุณสิงห์ชัยเก็บงำความรู้สึกเสียดายนั้นไว้ จนกระทั่งมีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา จังหวัดอุทัยธานี ในปี 2550 ซึ่งเป็นปีเดียวกันที่มีประกวดแบบสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ “สัปปายะสภาสถาน” แทนที่อาคารเดิมบริเวณข้างสวนสัตว์ดุสิตพอดี ความที่เป็น ส.ว.ใหม่ กอปรกับกระบวนการการทำงานการเมืองประเทศเราที่ต้องปิดไว้ให้มากที่สุด เพื่อไม่ให้มีการตั้งคำถาม หรือตรวจสอบ ทำให้สมาชิกวุฒิสภาป้ายแดงไม่มีโอกาสเข้าไปนำเสนอมุมมองความคิดต่อคณะกรรมการคัดสรรแบบในช่วงแรก แต่หลังจากมีโอกาสได้เข้าไปเป็น 1 ใน 10 คณะกรรมการคัดสรร เขาจึงดูข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (TOR หรือ Term of Reference)รัฐสภาเดิม ก่อนจะพบว่าเปิดกว้างให้สถาปนิกทั่วโลกเข้ามาแข่งขัน โดยไม่มีการกำหนดรูปแบบ
“คือผมคิดตลอดว่า หากเราจะพัฒนาประเทศ ควรเอาสิ่งที่มีอยู่เดิมมาพัฒนา เพื่อให้ง่ายต่อการรับรู้ และรักษาเอกลักษณ์ในทุกมิติ ถ้าพัฒนาแบบนี้ เราถึงจะสู้ตะวันตกได้ เพราะเขาไม่มี…อย่างที่เรามี”กรรมการสภาสถาปนิก กล่าวหนักแน่น พร้อมกับเล่าย้อนประโยคที่ได้พูดบนโต๊ะประชุมวันนั้นว่า
“ผมถามในที่ประชุมว่า วันนี้ทุกคนเห็นปัญหาความขัดแย้งของคนไทย ที่แบ่งออกเป็นฝักฝ่าย สีนั้นสีนี้เหมือนกันใช่ไหม เด็กไม่เห็นหัวผู้ใหญ่เพราะอะไร ทำไมไม่เหมือนสมัยก่อน เวลาที่เด็กเดินผ่านผู้ใหญ่จะต้องก้มหัว ถึงเวลาที่เราจะต้องทำให้คนในชาติมีความรักศรัทธาในความเป็นชาติ ผ่านงานออกแบบสถาปัตยกรรมไทย เหมือนครอบครัวที่มีลูก 10 คน แม้จะความคิดไม่เหมือนกัน แต่เมื่อใดที่พ่อกับแม่บอก ทุกคนจะยอมเข้าหากัน ประเทศชาติก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้นสถาปัตยกรรมช่วยได้ ในแง่ของความคิด และจิตวิญญาณ ดังนั้นสภาแห่งนี้ต้องนำเสนอความเป็นไทยครับ ส่วนจะเป็นไทยแบบไหนยุคไหนอย่างไร ไม่ใช่หน้าที่ของนักการเมือง หากเป็นหน้าที่ของสถาปนิก ที่จะเข้ามาสร้างสรรค์ผลงานบนพื้นฐานของความเป็นจริงที่ต้องการสะท้อนให้คนในชาติ และคนชาติอื่นได้สัมผัสรับรู้…”
คุณสิงห์ชัย ปล่อยให้เครื่องบันทึก บันทึกความเงียบภายในห้องสมุดสภาสถาปนิกครู่ใหญ่ ก่อนจะให้แง่คิดมุมมองเกี่ยวกับการออกแบบสถาปัตยกรรมไทย โดยขาดความรู้อย่างลึกซึ้งว่าเสียหายมากมายแค่ไหน “การออกแบบสถาปัตยกรรมไทย ต้องไม่คิดเองเออเอง ต้องอยู่บนพื้นฐานของความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง เช่น มีการออกแบบบางส่วนของโรงแรมให้มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นเจดีย์ เพื่อนำเสนอความเป็นไทย แบบนั้นมันผิดเป็นการทำลายศิลปวัฒนธรรมไทยโดยที่คุณไม่รู้ตัว พ่ออุ้ยแม่อุ้ยรู้ว่าเจดีย์วิหารต่างกัน อย่างเราเห็นสถาปัตยกรรมก็รู้ที่มา และความหมายเจดีย์แต่ละแบบ แต่การสร้างเจดีย์ไปไว้ในโรงแรม อาจทำให้เด็กรุ่นใหม่สับสนระหว่างเจดีย์ที่บรรพบุรุษยกมือไหว้ กับ ก้อนดินก้อนหนึ่ง ถามว่าตรงนี้ใครรับผิดชอบ”
ด้วยเหตุ และผล ประกอบกับข้อมูลที่คุณสิงห์ชัยค้นคว้า ในที่สุดที่ประชุมก็สนับสนุนความคิด “วัฒนธรรมสร้างชาติ” ที่เขาพยายามผลักดัน กระทั่งนำไปสู่การเปลี่ยนทีโออาร์ โดยกำหนดให้มีการนำเสนอความเป็นไทยในการออกแบบรัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งสิ่งที่เขาคิด พูด และทำ ทั้งหมดตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่า “วัฒนธรรมสร้างเอกภาพ” เป็นวัฒนธรรมด้านศิลปะในรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทย เพื่อสร้างความภาคภูมิใจ สร้างความเป็นเอกภาพของคนในชาติ
“สำหรับผมรัฐสภาแห่งใหม่ต้องไม่ใช่แค่ที่ทำงานของสมาชิกรัฐสภา ในเมื่อมันเป็นของชาติ มันต้องได้ประโยชน์ครบทั้ง 3 มิติคือ 1.รูปแบบ ต้องมีที่เมืองไทยเท่านั้น ไม่มีในประเทศอื่น 2.ต้องสร้างความภาคภูมิใจต่อคนไทย และ 3.ต้องเป็นแลนด์มาร์คที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกต้องมาดู ทีนี้เห็นหรือยังว่า วัฒนธรรมสร้างชาติได้อย่างไร
คิดแบบนี้มันมีแต่ได้กับได้ เพราะมันเป็นการคิดเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งสถาปนิก กับนักวิทยาศาสตร์ คิดเหมือนกัน คือคิดแบบมีเหตุมีผล แบบมีตรรกะไม่ใช่คิดแบบอุดมคติ การคิดแบบสถาปนิก เป็นการคิดที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานความจริง ซึ่งนอกจากเท่ และกินได้แล้ว ยังก่อให้ความรักชาติโดยที่ไม่ต้องพิมพ์ในกระดาษให้เด็กๆท่องเป็นนักแก้วนกขุนทองหรอก”
คุณสิงชัยบอกอีกว่า “จริงๆแล้วเชื่อว่าทุกคนรู้เรื่องวัฒนธรรมไทยกันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่ที่ผ่านมายังไม่มีใครนำความรู้มาทำเป็นเอกภาพ เพราะทุกคนต่างคิดเป็นส่วนๆ จึงได้นำคำที่เคยคิดเมื่อ 4-5 ปีก่อน “ วัฒนธรรมสร้างชาติ” มานำเสนอเพื่อใช้เป็นคอนเซ็ปต์หลักในการร่าง TOR รัฐสภาแห่งใหม่ ซึ่งในหนังสือที่แจกในงานประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ.2553 ได้ใช้คำว่า “สถาปัตยกรรมสร้างชาติ” เพราะคำนั้นคือส่วนหนึ่งของแนวคิด “ วัฒนธรรมสร้างชาติ”
เพื่อให้คำคำนี้เป็นที่รู้จักเป็นวงกว้าง คุณสิงห์ชัย จึงนำคำนี้มาใช้ทุกครั้งเมื่อต้องให้สัมภาษณ์ กับสื่อมวลชนทุกแขนง แม้ช่วงแรกๆหลายคนที่ฟังจะไม่เข้าใจความหมายว่าคืออะไรก็ตาม
“แน่นอนผมไม่ได้คาดหวังให้ทุกคนเข้าใจ แต่อยากให้ทุกคนฉุกคิด เพราะในส่วนของรายละเอียดที่ลึกลงไปจะเป็นบทบาทหน้าที่ของผู้ที่เชี่ยวชาญส่วนนี้จริงๆ เป็นเรื่องของสถาปนิก ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง อย่างตอนที่ได้กลับไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่บ้านเกิดจังหวัดอุทัยธานี หลายคนคิดว่าผมลึกเรื่องวัฒนธรรม หรือมีความรู้เรื่องประวัติศาสตร์ ขอยืนยันตรงนี้อีกครั้งว่า สิ่งที่ทำนั้นไม่จำเป็นต้องรู้อย่างลึกซึ้งทุกเรื่อง แค่ต้องการจุดประกายให้สังคมไทย ผู้นำประเทศสนใจในสิ่งที่เรามีอยู่เดิม แล้วนำมาพัฒนาต่อเท่านั้น”
“ศิลปวัฒนธรรม” มีความหมายมากกว่าการแสดง
เหตุผลสำคัญที่คุณสิงห์ชัยนำคำว่า “ศิลปวัฒนธรรม” กลับมาเป็นโมเดลในการพัฒนาประเทศชาติ โดยตีความให้กว้างกว่าคำว่า “ศิลปะการแสดง” ตามที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจก็เพราะว่าแท้จริงแล้ว คำว่า “ศิลปวัฒนธรรม” มีความหมาย และบริบทครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งศิลปะ ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิต
“ก็อย่างที่บอก “สถาปัตยกรรม” เป็นส่วนหนึ่งของ ศิลปะ ทั้งประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิต เป็นเหมือนลูกปัดที่ถูกร้อยเรียงอยู่ในสายสร้อยของความเป็นไทยเส้นเดียวกัน สำหรับการขับเคลื่อนเรื่องวัฒนธรรมสร้างชาติ ในภาคของการท่องเที่ยว สิ่งที่นำไปพัฒนาจังหวัดอุทัยธานี อันดับแรกที่ทำคือวางคอนเซ็ปต์วัฒนธรรมสร้างชาติให้สอดรับกับบริบทของความจริง เพื่อคืนวิถีชุมชนให้คนในท้องถิ่น และนำภูมิปัญญา และคนในพื้นที่กลับบ้านเกิด ทั้งหมดที่ทำไม่ได้คิดใหม่ หากแต่ทำภายใต้สิ่งที่มีอยู่เดิม ก่อให้เกิดความรักความสามัคคีในชุมชนจังหวัด
“วันนี้ จังหวัดอุทัยธานีมีจิตอาสาที่พร้อมทำหน้าที่ช่วยเหลือบ้านเกิดตามกำลังความสามารถโดยไม่คิดเงิน มีลูกหลานชาวอุทัยฯกลับมาสานต่ออาชีพปู่อาชีพย่ามากขึ้นเรื่อยๆ ใครๆก็อยากกลับมาอยู่บ้าน เพราะค่าครองชีพไม่แพง แถมของก็ถูก อยู่บ้านตัวเองไม่ต้องเช่า พูดง่ายๆ ขายของบนถนนคนเดิน ก็สามารถอยู่ได้แล้วครับ นี่คือความมั่นคง ที่ไม่สามารถนำตัวเลข GDP (Gross Domestic Product) หรือ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ” มาวัดได้
นี่คือภาพรวมๆการท่องเที่ยวจังหวัดอุทัยฯปัจจุบัน แต่หากมองภาพรวมทั้งประเทศ ลองคิดซิว่าจะมากมายแค่ไหน เอาสิ่งที่เรามีอยู่มาพัฒนา ไม่ใช่ ไปคิดตามเขา วันนี้ผมอายุ 57 ปี กล้าพูดตรงนี้เลยว่า ดิน ฟ้า อากาศ ความสวยงามที่กลมกลืนสอดคล้องนิสัยของคนไทย ไม่มีที่ไหนบนโลกใบนี้อีกแล้ว
“เชื่อไหมดินที่ดีที่สุดในโลกอยู่ที่ประเทศไทยนะ แต่คุณต้องพัฒนาให้ต่างจากการทำเกษตรในอดีต อย่างที่จังหวัดอุทัย ฯปลูกยางพาราได้ ถือว่าเบสิก ทุเรียนมี เงาะมี ลำไย เราก็มี ที่สำคัญถั่วแระ 4 แถว ที่เราเคยกินในร้านอาหารญี่ปุ่น ก็ปลูกที่อุทัย ถึงได้บอกไงว่า คุณไม่ต้องไปคิดอะไรใหม่เลย แค่เอาวิธีคิดวิธีการจัดการระบบของโลกเข้ามาปรับใช้เท่านั้นพอ เช่นระบบเกษตรที่เคยทำแบบธรรมดา ก็ใช้ไอทีเข้ามาช่วย คือใช้สิ่งที่มีอยู่เดิมมาพัฒนา…พอแล้ว
“สมมติถ้าผมสมัครผู้ว่า กทม. ผมจะใช้แนวคิดวัฒนธรรมสร้างชาติในการนำเสนอกรุงเทพฯ ซึ่งแต่ละเขตจะมีอัตลักษณ์ที่โดดเด่นแตกต่างกัน เอาง่ายๆเรื่องหาบเร่แผงลอย มีที่ไหนในโลกที่คุณสามารถกินได้ 24 ชั่วโมง นี่คือสิ่งที่มีอยู่เดิม วิธีคิดที่ง่ายที่สุดคือคุณไล่เขาออกไปอยู่ตรงไหนก็ได้ เพื่อจัดระเบียบ แต่อย่าลืมนะว่ามนุษย์ไม่ใช่สัตว์นะ
หรืออย่างสลัมคลองเตย ถ้าคิดแบบนักปกครอง ก็คือย้ายออกไปเพราะมันสกปรกไม่ได้เรื่อง แต่อย่างที่บอกมนุษย์ไม่ใช่สัตว์ที่จะหยิบจับไปตรงไหนก็ได้ เพราะมนุษย์มีวิถีชีวิต มีวงจรในการดำรงชีวิตที่เขาอยู่อาศัยตรงนั้น สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนก็คือคุณต้องเข้าใจมนุษย์
“Architect สอนให้ผมเป็นมนุษย์ และเข้าใจมนุษย์ เพราะฉะนั้นเวลาจะออกแบบอะไรก็ตาม ต้องใช้สิ่งที่มีอยู่เดิม ถ้าเป็นวัสดุ ก็เป็นวัสดุท้องถิ่นที่มีอยู่ในพื้นที่นั้น วัสดุที่เกิดจากภูมิปัญญา และก่อให้เกิดการสร้างงาน ทั้งหมดก็คือกำลังจะบอกว่าให้มองสิ่งที่มีอยู่รอบๆตัวก่อนอันดับแรก อย่างสลัมคลองเตย ถ้าเราเข้าไปเปลี่ยนแผ่นสังกะสี กระดาน ฝา ให้เป็นงานศิลปะ เป็นวัสดุที่แข็งแรง แต่ดีไซน์ให้เหมือนเป็นของเก่า เพื่อยังคงความเป็นเอกลักษณ์สลัม จัดโซนนิ่งห้องน้ำใหม่ ดีไซน์ทางเดินใหม่ วางสเปซ ปลูกต้นไม้ ให้ความรู้คนในชุมชน สลัมก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว สร้างงานสร้างอาชีพ เปลี่ยนภาพสลัมให้กลายเป็นความประทับใจได้เช่นกัน”
คิด…แบบสถาปนิก มีแต่ได้ไม่มีเสีย
ถึงตรงนี้นักการเมืองหัวพัฒนา หรือผู้อ่านที่เชื่อว่างบประมาณจำนวนมหาศาลมาพร้อมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่สำหรับอดีตสมาชิกวุฒิสภาที่เป็นทั้งนักการเมือง และสถาปนิก ยืนยันว่านั่นไม่ใช่แนวคิดของสถาปนิก
“ Architect สอนไว้ว่า การออกแบบที่ดีที่สุด คืองานออกแบบที่ประหยัดที่สุด ดีที่สุด ถูกที่สุด ประโยชน์ใช้สอยสูงสุด เพราะ Architect ประกอบด้วยสองสิ่งคือ Art และ Science มันไม่ใช่เพียวอาร์ต ที่สามารถมองขยะให้เป็นงานศิลปะได้ แต่ Architect มันต้องพิสูจน์ว่ามันเป็นอะไร มันคืออะไร และผลเป็นอย่างไร ตัวนี้แหละทำให้สถาปนิกมีกระบวนความคิดเป็นภาพในเชิงมิติ ไม่แบน นี่คือข้อดีของ Architect
วันนี้หากประเทศไทยจะพัฒนา ก็หวังให้คนที่ออกแบบประเทศมองสิ่งที่มีอยู่เดิมก่อน หรือที่ผมใช้คำว่า “วัฒนธรรมสร้างชาติ – วัฒนธรรมสร้างไทย” ตรงนี้รวมถึงการจัดวางโซนนิ่งประเทศเพื่อการพัฒนาด้วยนะ เช่น เอานิคมอุตสาหกรรมไปอยู่บนพื้นที่จังหวัดที่เพียบพร้อมไปด้วยความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ คือก่อนตัดสินใจโซนนิ่ง อยากให้ลองนำคำว่า “วัฒนธรรมสร้างชาติ” มาจับดูสักนิด คุณจะรู้เลยว่านิคมอุตสาหกรรมเหมาะสมที่จะอยู่ต้องไหนมากที่สุด จังหวัดที่มีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ… ไม่ใช่ครับ หรือจังหวัดที่เป็นแหล่งต้นน้ำป่าเขา ก็ไม่ใช่อีกเช่นกัน
ก่อนคิดจะทำอะไรต้องมองบริบทรอบๆในพื้นที่ที่เราจะก่อสร้างด้วย ต้องคำนึงถึง ศิลปะ ประเพณี วิถีชีวิต ซึ่งคำว่าวิถีชีวิตจะสอดรับกับสภาพแวดล้อมด้วย ถ้าคิดอย่างนี้มันจะไม่หลุด และจะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างมั่นคง และยั่งยืน
แล้วรู้ไหมว่าผลของการวางโครงสร้าง บ้าน หรือที่อยู่อาศัย ผิดที่ผิดผิดทิศผิดทาง ไม่สอดรับกับแสง อากาศ สภาพแวดล้อม ทิศทางลมเจ้าของบ้านไม่สามารถอยู่อย่างมีความสุขได้นะ แต่นี่คือการจัดวางโซนนิ่ง ถ้าวางในจุดที่ไม่ควรจัดวางอะไรจะเกิดขึ้นกับคนในบ้านหลังใหญ่หลังนี้ เสียหายมโหฬารเลยนะ
ซึ่งส่วนหนึ่งที่ทำให้คนไทยขัดแย้งกันจนถึงทุกวันนี้ เพราะเราละเลยตรงนี้ คนไม่เห็นหัวคน คิดถึงแต่ตัวเอง ทั้งๆที่วัฒนธรรมสั่งสอนให้คนไทยอ่อนน้อม และให้ความเคารพผู้ที่อาวุโสกว่า เรื่องบริบทสังคมคุณจะบอกแค่ว่า “ใช่” หรือ “ไม่ใช่” คำสองคำนี่ไม่ได้ ถ้า “ใช่” เพราะอะไร เพราะมันเป็นเรื่องของคนมากกว่าหนึ่งคน พอเป็นเรื่องของคนมากกว่าหนึ่งคน คุณต้องแชร์ เพราะฉะนั้นเรื่องของสังคมไม่มีอะไรถูกผิด มีแต่ว่าถูกพอสมควร ดี เหมาะสม อยู่กันได้
“ที่ผ่านมาหลายครั้งหลายหนเราเคยได้ยินคำถามว่า “ทำไมเราไม่เหมือนสิงคโปร์” ถ้าใครมาถามผมแบบนี้ ผมด่าส่งเลย มันคนละเรื่อง ยกไปเทียบกันไม่ได้ เพราะเราจะต้องเหมาะสม และดีแบบเรา อย่าง จังหวัดเชียงใหม่นี่น่าเสียดายที่สุด เพราะเป็นจังหวัดที่มีความเป็นมนุษย์ ทั้งในด้านกายภาพที่เรามองเห็นด้วยตา และสุนทรียะความสบายใจ ผู้คนหน้าตาสวยงาม ยิ้มแย้มแจ่มใส เอื้ออาทร เมตตา ปรานี นี่คือเมืองที่มีชีวิต
ผมยืนยันตรงนี้อีกครั้งก็ได้ว่าไปมาแล้วทั่วโลกอาคารสวยงาม ธรรมชาติก็อุดมสมบูรณ์ แต่คนที่อยู่อาศัยกลับไม่สอดรับกับเมือง นั่นเป็นเมืองที่ไม่มีชีวิต เชียงใหม่นี่สุดยอดของโลกแล้ว นี่คือเมืองของความเป็นมนุษย์ ไม่ใช่เมืองที่ศิวิไลซ์แค่เรื่องเทคโนโลยี แต่ประเทศไทยเรามีทั้งความสวยงาม และมีชีวิตชีวาขนาดนี้ใครที่ไหนจะไม่อยากมาเที่ยว ก็เหมือนกับการพัฒนาอาหารที่ปลอดภัยที่สุด ดีที่สุด ใครละจะไม่อยากซื้อกิน จริงไหมครับ
“ในชั่วโมงนี้ ถ้าประเทศไทยเราหารายได้จากการเกษตรอันดับหนึ่ง อันดับสองการท่องเที่ยว อันดับสามการบริการ และอันดับสี่ คือวัฒนธรรม พัฒนาแค่ 4 ตัวนี้พอแล้ว ต่อให้มนุษย์มีเทคโนโลยี หรือทันสมัยก้าวหน้าเพียงใด ถึงที่สุดแล้วคุณก็ต้องกลับมาบ้าน มาเที่ยว มากิน ชิม ช็อป มาดูหนังฟังเพลง มันไม่สามารถหนีไปจากไลฟ์สไตล์เหล่านี้ไปได้หรอก แล้ววัฒนธรรมประเทศไหนละ ที่มันสุดยอดเรื่องนี้ …ไม่ใช่วัฒนธรรมไทยหรือ เราไม่จำเป็นต้องออกแบบเชียงใหม่ ให้เหมือนภูเก็ต ถูกไหมครับ นี่มันคิดง่ายๆเลยนะ”
“แต่ที่มันเละเทะ เพราะคนที่ออกแบบประเทศไม่เข้าใจ เลยเลียนแบบตะวันตก และมุ่งจะพัฒนาจนลืมหันกลับมามองสิ่งดีดีที่เราไม่อยู่ ดังนั้นการออกแบบประเทศไทยควรอยู่ภายใต้กรอบของคำว่า “วัฒนธรรมสร้างชาติ”
งานออกแบบที่ดีที่สุด ต้องถูกที่สุด และมีประโยชน์ใช้สอยคุ้มที่สุด
ทุกครั้งที่มีโอกาสสอนเด็ก ๆ ซึ่งเป็นอนาคตของประเทศชาติ ในฐานะอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรม วิชา Professional Practices มหาวิทยาลัยรังสิต คุณสิงห์ชัยจะนำแนวคิดสำคัญเรื่องการออกแบบที่ดีที่สุด คือการใช้สิ่งที่มีอยู่เดิม โดยจะย้ำให้นักศึกษาด้วยว่า ยกเว้นสถาปัตยกรรมพิเศษ
“นี่คือหลักคิดของผม มีคุณค่าได้ประโยชน์ทฤษฎีสถาปัตยกรรมให้มากที่สุด ทั้งเรื่องความสวยงาม ฟังก์ชั่น ประโยชน์ใช้สอย ราคา ก่อนที่จะกวาดสายตามองไปข้างหน้า ผมอยากให้คนที่มีส่วนในการออกแบบประเทศไทยมองไปรอบๆก่อนว่า รอบตัวเรามีอะไรบ้าง เพราะอยากให้นักพัฒนาคิดแบบสถาปนิก ซึ่งเป็นวิชาชีพที่มีประโยชน์มากในการขับเคลื่อนประเทศ เพราะวิชาสถาปัตยกรรมสอนคนให้คิดเป็นระบบ คิดอย่างมีศิลปะและสุนทรียะอยู่ในจิตใจ สถาปนิกส่วนใหญ่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ซึ่งนั่นเป็นวิถีที่แท้จริงของมนุษย์ เพราะคำว่ามนุษย์ไม่ใช่ 1+1 เป็น 2 นะ เป็น 3 4 5 ก็ได้ นี่คือวิถีของสถาปนิก
แต่เป็นที่น่าเสียดายคนไทยส่วนมองสถาปนิกเป็นแค่ช่างเขียนแบบ เขาไม่ได้มอง Architect เป็นนักคิด ต่างจากฝรั่งที่ยกย่องให้สถาปนิก เป็นหนึ่งอาชีพที่เทียบเท่าแพทย์ และ วิศวกร เรายังไม่พัฒนาไปถึงตรงนั้น ส่วนหนึ่งเพราะคำว่า Architect เป็นคำสมัยใหม่สำหรับเรา แม้ลึกลงไปในความหมายของคำคำนี้จะมีอยู่ในวิถีชีวิตของคนไทย ทั้งการสร้างสุนทรียะให้กับคน ศิลปะ สภาพแวดล้อม แล้วก็ตาม
พอไม่เข้าใจเราก็เลยไม่ให้คุณค่า คิดว่า Architect คือคนเขียนแบบ (Draft man) จริงๆแล้ว Architect คือนักคิด นักสร้างสรรค์ที่มีกระบวนการทางความคิด คิดอะไรแบบมีเหตุผล และคิดแล้วเห็นเป็นภาพ ต่างจากนักกฎหมาย นักการเมืองการปกครอง
พอพูดแบบนี้หลายคนอาจนึกแย้งว่าแล้วมันช่วยประเทศชาติตรงไหน ที่คิดที่ทำที่มุ่งพัฒนาก็เพราะรักประเทศชาติเหมือนกัน คือเราทุกคนรักประเทศชาติกันทั้งหมดแหละ แต่ที่จะบอกก็คืออันดับแรกมองตัวคุณเองก่อนซิว่าทำอะไรได้บ้าง ผมก็พยายามนำเสนอสิ่งที่เป็นวิชาชีพของผม อยากให้งานในส่วนของรัฐสอดแทรก และสะท้อนความเป็นไทยผ่านงานสถาปัตยกรรม คุณไม่ต้องไปหวังภาคเอกชน เพราะเขาเป็นโลกเสรี
“เริ่มจากมีการประกวดแบบทุกที่ที่รัฐต้องการสร้าง เพื่อกระตุ้นการมีส่วนร่วม ซึ่งก็ไม่ได้หวังว่าเด็กๆจะชนะแบบหรอกนะ แต่การประกวดแบบมันเป็นตัวผลักดันขับเคลื่อนแรงจูงใจ เพราะการพัฒนาประเทศพัฒนาคน มันต้องมีแรงจูงใจ ถ้าไม่มีตรงนี้คุณไม่สามารถดึงศักยภาพของเขามาพัฒนาได้หรอก”
เรื่องสำคัญ ที่ต้องทำใต้ชายคาสภาสถาปนิก
ปัจจุบันคุณสิงห์ชัย ยังดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการสภาสถาปนิก ซึ่งเป็นองค์กรตามกฎหมายแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรี โดย 15 คนจากจำนวน 20 คน ได้รับการเลือกตั้งจากวิชาชีพ ที่เหลืออีก 5 คนแต่งตั้งโดยผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงมหาไทย มีวาระดำรงตำแหน่ง 3 ปี ซึ่งคุณสิงห์ชัยเป็น 1 ใน 5 ที่กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคัดสรร
“ในส่วนบทบาทสำคัญของกรรมการสภาที่ผมเป็น ก็มีหน้าที่ดูแลวิชาชีพ เพราะว่า Architect เป็นอาชีพที่ต้องมีใบประกอบวิชาชีพ เหมือนหมอ พยาบาล แพทย์ องค์กรนี้ทำหน้าที่ควบคุมให้อยู่ภายใต้มาตรฐานคุณภาพเดียวกันทั่วประเทศ ผ่านใบอนุญาต ที่ผ่านมาคิดเพียงแค่นั้น แต่ผมมาด้วยหวังว่าจะทำมากกว่านั้น คืออยากจะให้สังคมไทยรู้จักอาชีพนี้จริงๆ เพราะคนอาชีพนี้ส่วนใหญ่เป็นคนดี เพราะพวกเขามีศิลปะอยู่ในหัวใจ ถ้าดึงเขามามีส่วนร่วมในการดีไซน์ประเทศ ให้สังคมเห็นว่า Architect ทำอะไร เพื่อให้คนที่ประกอบอาชีพนี้มีรายได้ ได้เปิดกว้าง ให้เด็กรุ่นหลังมีแรงจูงใจในการสร้างชาติผ่านสถาปัตยกรรม ให้คุณค่าวิชาชีพน่าจะทำการพัฒนาประเทศยั่งยืนได้ พี่เชื่ออย่างนั้น
“สาเหตุที่ผู้ทรงคุณวุฒิกระทรวงมหาไทยเลือกผมมาเป็นหนึ่งคณะกรรมการ อาจเป็นเพราะผมพูด ทำ และผลักดันเรื่องวัฒนธรรมสร้างชาติ 5-6 ปี ประกอบกับเรียนด้านสถาปนิก เลยคิดว่าน่าจะเข้ามาช่วยเรื่องนี้ได้ แต่ปัญหาสำคัญขององค์กรนี้ก็คือ เราอยู่ภายใต้สังกัดกระทรวงมหาไทยก็จริง แต่เราไม่ได้เป็นข้าราชการนะ มีหลายอย่างที่ประชาชนต่อว่ากระทรวงมหาดไทย หรือรัฐบาลด้วยเพราะความไม่เข้าใจ เขาก็ไม่สามารถมาชี้แจงได้มากมาย เพราะมันมีระเบียบราชการ ก็ตกเป็นจำเลยสังคมไปหลายเรื่อง นอกจากบทบาทหน้าที่หลักแล้ว คณะกรรมการจะเข้ามาเชื่อมประสานองค์กรนี้ รัฐบาล ประชาชน คือพยายามให้เข้าใจกันมากที่สุดครับ
หลังจากเข้ามานั่งดำรงตำแหน่งแล้ว ก็รับว่า “ก็ยากพอสมควร เพราะมันมีวัฒนธรรมองค์กรอยู่ จะทำอะไรก็ต้องคิดถึงคนอื่นด้วย เพราะนิสัยก็ไม่ใช่ลักษณะคนหักด้ามพร้าด้วยเข่า เพราะถ้าทำอย่างนั้นอาจจะศูนย์หมดเลย ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า การทำงานเพื่อสาธารณะนั้นไม่ได้เป็นทำงานคนเดียว แต่ทำด้วยคนมากกว่าหนึ่งคน เพราะฉะนั้นมันจะมีปัญหาตรงนี้ คุณจะต้องคิดถึงคนอื่นด้วย มันอาจทำให้ช้าบ้าง เหมือนที่บอกว่า ถ้าเราพัฒนาประเทศอย่าไปคิดเป็นผู้วิเศษเป่าเสกเป็นอะไรได้ทันที และระบอบการพัฒนาที่เหมาะสมที่สุดเวลานี้ก็คือ “ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมทุกข์ ร่วมสุข”
ในส่วนของรัฐบาล อย่างเช่นรัฐสภา เราเริ่มไปดู และให้ความเห็นในเชิงเทคนิค มันช้าเพราะอะไร ด้วยเหตุใด ส่วนเรื่องโกงก็ต้องไปว่ากันด้วยกฎหมาย ที่สำคัญต้องให้ผู้เชี่ยวชาญทำ ความที่สภาสถาปนิกเป็นองค์กรสาธารณะ ที่ไม่ได้มีผลประโยชน์ ทำให้ง่ายที่จะเข้าไปแสดงความคิดเห็น เพื่อจะได้ช่วยรักษาประโยชน์ของประเทศชาติให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ การสร้างชาติ ก็เหมือนกับการต่อเติมบ้าน หากไม่ใช้สเปเชียลลิสต์ทำให้ครบทุกมิติ เดี๋ยวก็ทรุดพัง และก็ต้องรื้อ ทีนี้จะไปตามผู้รับเหมาที่ไหนได้ งานที่สร้างใหม่นั่นมันง่าย แต่งานที่ต้องรีบิลท์ต้องมีความชำนาญด้วย”
คุณสิงห์ชัย บอกอีกว่าสำหรับงานเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขทันทีในฐานะกรรมการสภาสถาปนิก คือ หนึ่งต้องการให้สังคมได้รับรู้ หรือรู้จักวิชาชีพนี้ หรืออย่างน้อยที่สุดคุณต้องมีที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐาน ถ้าหากคนรู้จักสถาปนิก และใช้สถาปนิก ซึ่งเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเข้าไปดูแล ปัญหาที่จะเกิดกับที่อยู่อาศัยของคุณก็จะหมดไป
หรือหากเป็นระดับประเทศ ในการสร้างบ้านแปงเมืองก็จะต้องใช้สถาปนิก ในฐานะเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ จึงต้องการสร้างการรับรู้นี้ให้ขยายวงกว้างมากขึ้นในสังคมไทย ซึ่งเป็นการสร้างงานให้สถาปนิกด้วย เพราะหลายครั้งจะเห็นว่าคนทั่วไป หรือแม้แต่ผู้บริหารประเทศไม่เข้าใจวิชาชีพนี้มากพอ เพราะการพัฒนาประเทศชาติ การกระจายอำนาจเป็นเรื่องสำคัญ แต่จะทำอย่างไรให้วิชาชีพนี้เข้าไปอยู่ในการกระจายอำนาจของการปกครอง นั่นหมายความว่าเป็นการกระจายการรับรู้ ต้องยอมรับว่าวันนี้องค์กรปกครองท้องถิ่นบ้านเราไม่มีวิชาชีพนี้เลย จึงเห็นการออกแบบอาคาร บ้านเรือนในต่างจังหวัดมันผิดรูปผิดรอย จึงต้องทำให้วิชาชีพนี้เข้าไปเกี่ยวเข้าไปเกี่ยวข้อง ให้ความรู้ และมีการการันตีให้เป็นอาชีพพวกเขา
เหนืออื่นใดวันนี้สภาสถาปนิกมีการตั้งอนุกรรมการประชาสังคม ภายใต้ชื่อคณะสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานภาครัฐ และสาธารณะ เพื่อทำหน้าที่สร้างการรับรู้ต่อประชาชาชนทั่วไป เป้าหมายก็คือเพื่อโฟกัส งาน สถานการณ์ หรือเหตุการณ์ ที่เกี่ยวกับโครงการภาครัฐ ที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เช่นกำลังจะมีภัยพิบัติ วิชาชีพนี้ก็ต้องเตรียมตัว เพราะเรามีเครือข่าย เพื่อให้พร้อมเข้าไปช่วยเหลือประชาชน ตรงนี้เป็นช่องทางหนึ่งที่เราต้องเข้าไปเกี่ยวข้องเข้าไปใช้วิชาชีพช่วยเหลือ รวมถึงความเห็นต่างกรณีสนามบิน สุวรรณภูมิ เส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะเข้าไปทำหน้าที่แสดงความเห็นอย่างระมัดระวัง โดยนำเสนอในเชิงวิชาชีพ เพื่อการรับรู้ของสังคม
สอง สร้างความเท่าเทียมในวิชาชีพ ตรงนี้สำคัญมาก ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าเด็กที่จบสถาปัตยกรรม หรือสถาปนิก ส่วนใหญ่จะจบจากสถาบันเก่าแก่ระดับประเทศ แน่นอนโอกาสที่คนต่างจังหวัด หรือคนชายขอบ จะเข้าไปศึกษาในสถาบันดังกล่าวเป็นเรื่องยาก เพราะต้องยอมรับว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมเรามีอยู่ ไม่มีเรียนพิเศษก็เข้าไม่ได้ นอกจากนี้ก็มีกลุ่มคนไทย หรือประชาชนทั่วไปที่ขึ้นมาถึงระดับหนึ่งอยากมีโอกาสได้เข้าเรียน กรณีที่ไม่ได้เอนทรานซ์ ก็จำเป็นต้องเดินตามความฝันทางอ้อม เช่นเข้าเรียนวิทยาลัยเทคนิค อาชีวะ หรือไปเรียนต่างประเทศ
ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้ ดูเหมือนว่าหลุดออกไปจากวงโคจรสังคมสถาปนิก การที่จะเข้ามาเกาะเกี่ยว หรือแม้แต่การที่จะมาขอใบอนุญาตในวิชาชีพนี้มันต้องมีการยอมรับในเชิงกฎหมาย ในเชิงวิชาชีพ แต่ผมมองว่าคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับความเท่าเทียมกับผู้ที่จบจากมหาวิทยาลัยหลักๆ จึงอยากสร้างโอกาสให้คนกลุ่มนี้พัฒนาเข้ามาเป็นสถาปนิกได้
ต่อคำถามที่ว่าถ้านักการเมืองยิ่งใหญ่ได้เพราะประชาชน สภาสถาปนิกจะใหญ่ได้เพราะใคร คุณสิงห์ชัยตอบทันควันว่า ก็ประชาชนเหมือนกัน… เพราะเราไม่ได้ทำอาชีพกับตำรวจ หรือทหาร เรามีรายได้จากประชาชน ถ้าได้รับการยอมรับมันจะได้หมดเลย เพราะสังคมเรามันเกาะเกี่ยวกันไป เมื่อใดที่ทำให้คนไทยเข้าใจบทบาทสถาปนิก ก็จะช่วยลดปัญหาได้หลายเรื่อง วันนี้คนต่างจังหวัดยังไม่รู้จักสถาปนิก คิดว่าผู้รับเหมาทำได้ทุกอย่าง ปัญหาจึงเกิดตามมามากมาย อาทิปัญหาโรงงาน สิ่งปลูกสร้าง มลภาวะ ทัศนะอุจาด ตึกถล่ม บ้านทรุด ทั้งหมดจะไม่มีปัญหาถ้าอยู่ภายใต้การดูแลของสถาปนิก เพราะคนต้นเรื่องในการดีไซน์อาคาร คือ Architect ที่มาพร้อมกับความรับผิดชอบ
ภาพสุดท้ายที่อยากเห็น และปรัชญาการทำงาน
สองคำถามสุดท้ายของการสัมภาษณ์ครั้งนี้ คือภาพสุดท้ายในฐานะกรรมการสภาสถาปนิก และปรัชญาในการทำงานในฐานะนักการเมืองสถาปนิก ผู้เป็นเจ้าไอเดีย “วัฒนธรรมสร้างชาติ” คุณสิงห์ชัย ตอบคำถามด้วยน้ำเสียงที่นักแน่นว่า
“3 ปีกับการดำรงตำแหน่ง ภาพสภาที่อยากเห็น ก็คือวันที่ผมไปเดินเข้าไปในหน่วยของภาครัฐท้องถิ่นเทศบาล แล้วได้ยิน หรือเห็นเจ้าหน้าที่พูดกันว่า “ต้องเอาสถาปนิกมาทำนี่ทำนั่น จะทำอะไรต้องมีสถาปนิกนะ หรือเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ไหนก็ตาม มีสถาปนิกทำหน้าที่ช่วยกันออกแบบบ้านให้ผู้ประสบภัย ผมคิดอย่างนั้น ถ้าตรงนี้สำเร็จนะคุณได้ทุกอย่าง คุณไม่ต้องไปเพ้อฝันไปอวกาศอะไรหรอก มันไม่ใช่เรื่องของเรา
“สำหรับปรัชญาการทำงานของผมก็เหมือนกับการออกแบบบ้านนั่นแหละ ทำทุกอย่างให้สมดุล เพราะมันไม่มีหรอกความสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทุกคนพูดว่ามีเหตุผล แต่เหตุผลของคุณเป็นเหตุผลโดยรวมหรือเปล่า ผมไม่ได้บ้าประชาธิปไตยท่องเป็นนกแก้วนกขุนทองนะ แต่มองว่าประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่เหมาะสม บนพื้นฐานของความรู้ ในการสร้างการยอมรับ และมีเหตุผลอธิบายได้ พอมาเรื่องประเทศก็เป็นเรื่องของเอกภาพ ถ้าเป็นนักการเมืองแล้วไม่กล้าทำอะไร คุณอย่ามาเป็นดีกว่า แต่หากจะทำก็ต้องยอมรับในสิ่งที่มันจะเกิดขึ้นกับคุณด้วย
ถ้าพูดถึงปัญหา ชั่วชีวิตนี้พูดได้ไม่หมดหรอก แล้วจะเสียเวลาพูดทำไม เอาเวลาตรงนั้นมาถกกันถึงวิธีแก้ปัญหาไม่ดีกว่าหรือ ”คุณสิงห์ชัย ทุ่งทอง กล่าวทิ้งท้าย
ขอบคุณ :
บทสัมภาษณ์ : โชคชัย บุญส่ง
Photographer : รัก ปลัดสิงห์
Photo : www.realist.co.th