Digiqole ad

Policy Watch : เทียบนโยบายแปลง ส.ป.ก. เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” ของรัฐบาล กับนโยบายแปลง ส.ป.ก. เป็น “โฉนด” ของก้าวไกล

 Policy Watch : เทียบนโยบายแปลง ส.ป.ก. เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” ของรัฐบาล กับนโยบายแปลง ส.ป.ก. เป็น “โฉนด” ของก้าวไกล
Social sharing

Digiqole ad
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2566 รัฐบาลได้ออกระเบียบเพื่อแก้ไขระเบียบเดิมของคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (คปก.) 2 ฉบับ ได้แก่ 1) ระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร หรือการตกทอดทางมรดก สิทธิการเช่าหรือการเช่าซื้อ และการจัดทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน (ฉบับที่ 2) และ 2) ระเบียบ คปก. ว่าด้วยการให้เกษตรกรและสถาบันเกษตรกรผู้ได้รับที่ดินจากการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ปฏิบัติเกี่ยวกับการเข้าทำประโยชน์ในที่ดิน (ฉบับที่ 4)
.
ความสำคัญของประกาศทั้ง 2 ฉบับนี้ คือการเริ่มต้นนโยบายเปลี่ยน ส.ป.ก. ให้เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” ซึ่งเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของหลายพรรคการเมือง
.
แม้พรรคก้าวไกลจะไม่ได้เป็นรัฐบาล แต่ที่ผ่านมาเราได้ผลักดันนโยบายแปลง ส.ป.ก. เป็น “โฉนด” ผ่านการเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน” เข้าสู่สภาฯ แล้ว พร้อมกับการทำหน้าที่ฝ่ายค้านเชิงรุก ติดตาม ตรวจสอบ และเสนอแนะการดำเนินนโยบายของรัฐบาล เช่นเดียวกับการเชิญ ส.ป.ก. มาซักถามว่านโยบาย “โฉนดเพื่อการเกษตร” ของรัฐบาลจะออกมาหน้าตาเป็นเช่นไร
.
บัดนี้ จากประกาศของ คปก. ทั้ง 2 ฉบับ ทำให้เราได้เห็นหน้าค่าตาของนโยบายดังกล่าวอย่างชัดเจนแล้ว ซึ่งพรรคก้าวไกลมีข้อสังเกตและข้อทักท้วงต่อนโยบายดังกล่าว และนำมาสู่การแถลงจับตานโยบายในวันนี้ โดย อภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อและเลขาธิการพรรคก้าวไกล
.
จากการแถลงของอภิชาติ สิ่งที่เราเห็นว่าเป็นข้อแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างนโยบายแปลง ส.ป.ก. เป็น “โฉนด” ของพรรคก้าวไกล กับนโยบายแปลง ส.ป.ก. เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” ของรัฐบาล ประกอบด้วย
.
📍1) ปลายทางของนโยบาย
– นโยบายของพรรคก้าวไกล มุ่งหวังที่จะเปลี่ยน ส.ป.ก. ให้เป็น “โฉนด” ซึ่งโฉนดในที่นี้คือโฉนดเอกสารสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
– นโยบายของรัฐบาล ปลายทางจะเป็น “โฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร” ซึ่งเป็นเพียงการยกระดับสิทธิ์ของที่ดิน ส.ป.ก. มิใช่การให้กรรมสิทธิ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน
.
📏 2) ขนาดการถือครอง
– นโยบายของพรรคก้าวไกล กำหนดขนาดการถือครองไม่เกิน 50 ไร่ เว้นแต่เป็นผู้มีชื่อในหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ หรือมีชื่อให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินแปลงหนึ่งหรือหลายแปลงรวมกันไม่เกิน 100 ไร่
– นโยบายของรัฐบาล ให้โฉนดเพื่อการเกษตรแก่เกษตรกรที่ถือครอง ส.ป.ก. และได้ทำประโยชน์มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี โดยกำหนดไว้ว่าผู้มีสิทธิ์ถือครองโฉนดเพื่อการเกษตร สามารถถือได้ 50 ไร่สำหรับทำการเกษตร แต่มีเงื่อนไขว่าต้องปลูกต้นไม้ที่มีมูลค่า ส่วนการถือครองเพื่อการปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ถือได้ไม่เกิน 100 ไร่
.
📝 3) คุณสมบัติผู้ได้รับการออกโฉนดและการพิสูจน์สิทธิ์
– นโยบายของพรรคก้าวไกล ใช้กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ ตรวจสอบข้อมูลและพยานหลักฐานที่พิสูจน์ได้ว่าผู้ขออนุญาตออกโฉนดเป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินนั้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ได้รับอนุญาตจนถึงปัจจุบัน โดย (1) กรณีเป็นผู้มีชื่อในหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ มีหลักฐานการเข้าทำประโยชน์ต่อเนื่องนับแต่ได้รับอนุญาตจนถึงปัจจุบัน โดยไม่เคยมีการแบ่งแยกหรือโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่น เว้นแต่ตกทอดทางมรดก สามารถออกโฉนดให้ได้ทันที (2) กรณีเป็นผู้ที่ไม่มีชื่อในหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ จะต้องพิสูจน์ว่าเป็นผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินไม่น้อยกว่า 10 ปี เป็นผู้มีทรัพย์สินรวมกันไม่เกิน 10 ล้านบาท และมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดเกี่ยวกับการได้ที่ดินนั้นมาให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินนั้น
– นโยบายของรัฐบาล กำหนดว่าผู้ได้รับการออกโฉนดเพื่อการเกษตรต้องถือครองและทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. มาไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่ไม่มีหลักเกณฑ์เงื่อนไขในการพิสูจน์สิทธิ์ เพื่อตรวจสอบผู้ที่ถือครองที่ดินจำนวนมากเกินกว่าที่ประกาศกำหนด
.
📑4) เงื่อนไขการใช้ประโยชน์
– นโยบายของพรรคก้าวไกล ไม่จำกัดการใช้ประโยชน์ว่าต้องเป็นเพื่อการเกษตรเท่านั้น ด้วยความตระหนักว่าที่ดิน ส.ป.ก. หลายพื้นที่แปรสภาพเป็นเมือง เป็นอำเภอ เป็นตลาดไปจำนวนมากแล้ว
– นโยบายของรัฐบาล ให้ปลูกไม้มีค่าในพื้นที่ตามสัดส่วนที่ ส.ป.ก. กำหนดเท่านั้น
.
🤝 5) การถ่ายโอนซื้อขาย
– นโยบายของพรรคก้าวไกล (1) กรณีเป็นผู้มีชื่อในหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ ภายหลังได้รับโฉนดใน 5 ปีแรกจะแบ่งแยกหรือโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่การโอนไปยังธนาคารที่ดิน หรือตกทอดทางมรดก แต่หลังจาก 5 ปีผ่านไป สามารถทำธุรกรรมได้เหมือนกับโฉนดที่ดินทั่วไป (2) กรณีเป็นผู้ไม่มีชื่อในหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ ภายหลังได้รับโฉนด 10 ปีแรกจะแบ่งแยกหรือโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่การโอนไปยังธนาคารที่ดิน หรือตกทอดทางมรดก แต่หลังจาก 10 ปีผ่านไป สามารถทำธุรกรรมได้เหมือนกับโฉนดที่ดินทั่วไป
– นโยบายของรัฐบาล เปลี่ยนมือได้ระหว่าง “เกษตรกร” ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น
.
💵 6) การใช้ค้ำประกันเงินกู้กับสถาบันทางการเงิน
– นโยบายของพรรคก้าวไกล ให้สามารถใช้ค้ำประกันเงินกู้สถาบันทางการเงินได้ทุกแห่ง ในฐานะโฉนดที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเอกชน
– นโยบายของรัฐบาล แม้ระบุว่าจะสามารถนำไปใช้ค้ำประกันกับสถาบันทางการเงินได้ แต่อันที่จริงแล้ว ส.ป.ก. เดิมก็สามารถนำไปเข้ากู้ยืมเงินจาก ธกส. ได้อยู่แล้ว เพียงแต่มูลค่าของการตีราคาให้กับที่ดิน ส.ป.ก. มีมูลค่าต่ำเพราะไม่ใช่กรรมสิทธิ์เอกชน จึงเป็นที่น่ากังวลอยู่ว่าธนาคารเอกชนหรือธนาคารพาณิชย์อื่นที่ไม่ใช่ ธกส. จะยินยอมให้กู้ยืมเงินจริงหรือไม่
.
นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลยังมีข้อสังเกตและความเห็นต่อการดำเนินนโยบายดังกล่าว ประกอบด้วย
.
1) “โฉนดที่ดินเพื่อการเกษตร” ยังคงอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐ ผ่าน ส.ป.ก. ต่างกับ “โฉนดที่ดิน” ที่ออกให้ประชาชนโดยกรมที่ดิน จึงเป็นหลักการเรื่องกรรมสิทธิ์เอกชน มิใช่กรรมสิทธิ์ที่ยังเป็นของรัฐ
.
2) หากนโยบายของรัฐบาลไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นตอในเรื่องปัญหาที่ดินที่ทับซ้อนระหว่างที่ ส.ป.ก. กับที่ป่าไม้และที่อุทยานให้แล้วเสร็จเสียก่อน การออกโฉนดเพื่อการเกษตรก็จะไม่สามารถทำได้ เพราะปัจจุบันรัฐบาลยังทำแผนที่ 1 : 4,000 (one map) ไม่แล้วเสร็จทุกจังหวัด ยังมีปัญหาว่าที่ดินของกรมป่าไม้และที่ดินของรัฐบางหน่วยงานทับซ้อนอยู่กับที่ดิน ส.ป.ก. มีการเรียกคืนใบ ส.ป.ก. ในหลายพื้นที่ เช่นเดียวกับเรื่องของแนวเขตที่ไม่ชัดเจน ดังนั้น รัฐบาลควรแก้ไขปัญหานี้ให้เสร็จสิ้นเสียก่อน แล้วจึงแก้ไขปัญหาในเรื่องอื่นได้
.
3) รัฐบาลยังขาดการนำเสนอข้อมูลการตรวจสอบรายชื่อผู้ถือครองที่ดิน ส.ป.ก. ที่ผิดกฎหมาย และรายงานขนาดการถือครองที่เป็นจริง การตรวจสอบคุณสมบัติและวิธีการดำเนินงานเกี่ยวกับกรณีที่ดินของเกษตรกรที่ตกไปอยู่ในมือของนายทุนจำนวนมากในปัจจุบัน หากรัฐบาลไม่มีกลไกในการพิสูจน์สิทธิ์ ก็จะกลายเป็นว่าระเบียบนี้จะไปเอื้อให้นายทุนแทน
.
🟠 ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลเห็นว่าร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอเกี่ยวกับการเปลี่ยน ส.ป.ก. ให้เป็น “โฉนด” มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่ครอบคลุมพอที่จะอุดช่องโหว่ช่องว่างทั้งสองด้านได้ ด้วยกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ที่มีเงื่อนไขชัดเจน เข้มข้น รวมทั้งจะเป็นการมอบกรรมสิทธิ์ให้กับประชาชน มากกว่าจะเพียงการขยายสิทธิ์ที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนจริง ๆ อย่างที่นโยบายรัฐบาลทำออกมาผ่านประกาศ คปก. ทั้ง 2 ฉบับ
.
🟠 ซึ่งปัจจุบัน ร่างกฎหมายที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยน ส.ป.ก. เป็นโฉนดของพรรคก้าวไกล ได้มีการยื่นต่อสภาฯ ไปเรียบร้อยแล้ว กำลังอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นของประชาชน โดยในส่วนของร่าง พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อประชาชน ทางสำนักกฎหมายของสภาฯ ตีความว่าเป็น พ.ร.บ. ที่เกี่ยวข้องกับการเงิน จึงต้องเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับรองก่อนเข้าสภาฯ
.
🟠 พรรคก้าวไกลคาดหวังว่านายกรัฐมนตรี จะให้ความเห็นชอบเพื่อนำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เพื่อให้มีการปรับปรุงนโยบายของรัฐบาลที่ออกมาแล้วนี้ให้ครอบคลุม รัดกุม อุดช่องว่างช่องโหว่ และตอบโจทย์ของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่การแปลง ส.ป.ก. เป็น “โฉนดเพื่อการเกษตร” ที่ไม่ได้เปลี่ยนกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินแต่อย่างใด และเป็นแค่การเปลี่ยนแปลงชื่อเพียงเล็กน้อย โดยเงื่อนไขยังเหมือนเดิมเกือบทุกอย่าง
.
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post