Digiqole ad

ISMED  ร่วมกับพันธมิตร เร่งยกระดับผู้ประกอบการกลุ่ม Creative Entertainment รองรับกระแส Soft Power ระดับนานาชาติ

 ISMED  ร่วมกับพันธมิตร เร่งยกระดับผู้ประกอบการกลุ่ม Creative Entertainment รองรับกระแส Soft Power ระดับนานาชาติ
Social sharing

Digiqole ad

สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED – Institute for Small and Medium Enterprises Development) โดยนายนราวิทย์ เปาอินทร์ ร่วมกับสมาคมเครือข่ายผู้สร้างสรรค์วิชาชีพสื่อบันเทิงไทย (TECNA – Thailand Entertainment Creators Network Association) โดย นายอรรถพล ชัยทัต และนายเศรษฐา วีระธรรมานนท์ จาก บริษัท พิกเซล เมจิก บางกอก จำกัด ร่วมลงนาม MOU เป็นหน่วยร่วมดำเนินการในโครงการต่างๆร่วมกัน ให้เกิดการบูรณาการทำงาน เร่งยกระดับผู้ประกอบการกลุ่ม Creative Entertainment รองรับกระแส Soft Power ในระดับนานาชาติ

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิดในห้วงเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้รูปแบบการเติบโตของธุรกิจต่างๆ ในอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิง (Entertainment and Media: E&M) ทั่วโลกมีความผันผวน โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคทั่วโลกต่างใช้เวลา ความสนใจ และเงินไปกับสื่อและบันเทิงในรูปแบบดิจิทัลมากขึ้น นอกจากนี้ แนวโน้มในอนาคตของอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงยังจะมุ่งสู่ดิจิทัลมากขึ้น เพื่อดึงดูดผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มีอิสระและทางเลือกในการเสพสื่อและบันเทิงในรูปแบบที่หลากหลายมากกว่าเดิม รวมไปถึงกระแสของเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส (Metaverse) ที่เข้ามาสร้างความฮือฮาให้กับวงการสื่อและบันเทิง อีกด้วย

ทั้งนี้ จากรายงานล่าสุดของ PwC ในเรื่อง Global Entertainment & Media Outlook 2022-2026 ได้ศึกษาและคาดการณ์การใช้จ่ายของผู้บริโภคสื่อและบันเทิงใน 52 ประเทศและพื้นที่ต่างๆทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย พบว่า รายได้ของอุตสาหกรรมสื่อและบันเทิงในปีนี้จะเติบโต 7.3% มาที่ 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (89 ล้านล้านบาท) หลังเห็นการเติบโตสูงถึง 10.4% ในปี 2021 เพราะผู้คนทั่วโลกต่างใช้เวลา ความสนใจ และใช้จ่ายให้กับสื่อและความบันเทิงที่ตนเองสามารถเข้าถึงได้เพิ่มมากขึ้นในช่วงวิกฤตโรคระบาด ขณะที่คาดว่ารายได้ในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย (Compound Annual Growth Rate: CAGR) ที่ 4.6% ต่อปี มีมูลค่าสูงถึง 2.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (104 ล้านล้านบาท) ในปี 2026

ในส่วนของประเทศไทยเอง จากรายงานจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในเรื่องผลการส่งเสริมอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดิทัศน์ หลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการผ่อนปรนให้กองถ่ายภาพยนตร์ โทรทัศน์ โฆษณา ทำงานต่อไปได้ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) เพื่อให้คณะถ่ายทำภาพยนตร์จากต่างประเทศสามารถเดินทางเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ในประเทศไทย

ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 16 มีนาคม 2565) มีทีมงานภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในประเทศไทยทั้งหมด 196 เรื่อง สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 6,384 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีภาพยนตร์ที่มีคณะถ่ายทำเดินทางมาจากต่างประเทศจาก 33 ประเทศ เข้ามาถ่ายทำทั้งหมด 86 เรื่อง สร้างรายได้กว่า 4,225 ล้านบาท

จากประเด็นดังกล่าวข้างต้น สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ ISMED ซึ่งมีภารกิจในการช่วยเหลือสนับสนุนผู้ประกอบการ SME จึงเล็งเห็นศักยภาพของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรม Creative Entertainment ด้วยการร่วมลงนาม MOU กับ สมาคมเครือข่ายผู้สร้างสรรค์วิชาชีพสื่อบันเทิงไทย (TECNA) และบริษัท พิกเซล เมจิก บางกอก จำกัด ด้วยเห็นโอกาสที่จะเร่งยกระดับผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ ให้มีความพร้อมทั้งในด้านทักษะฝีมือและองค์ความรู้ เพื่อสามารถร่วมทำงานกับทีมงานจากต่างประเทศในทุกมิติ รองรับการจ้างงานในกลุ่มอุตสาหกรรม Soft Power ในระดับนานาชาติ ทั้งการส่งออกการบริการไปยังต่างประเทศ และการรับมือกับทีมงานที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย

โดย ISMED, สมาคม TECNA และบริษัท พิกเซล เมจิก บางกอก จำกัด คาดหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับกลุ่มผู้ประกอบการไทยให้รองรับงานได้มากกว่า 500 ตำแหน่ง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างมีนัยสำคัญ

Facebook Comments


Social sharing

Related post