Digiqole ad

“Fake News” ที่มาพร้อมกับการส่งต่อข้อมูลของกลุ่มสูงวัย

 “Fake News” ที่มาพร้อมกับการส่งต่อข้อมูลของกลุ่มสูงวัย
Social sharing

Digiqole ad

ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ซึ่งในปี 2564 นี้ถือเป็นการเข้าสู่ยุคผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ นั่นคือจะมีคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยไปพร้อมๆ กับอายุของกลุ่มผู้สูงอายุแล้ว จึงทำให้การใช้งานโซเชียลมีเดียของผู้สูงอายุสูงจนน่าตกใจกลายเป็นสื่อหลักที่หันมาใช้เทียบเท่ากับกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน

ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโคโรนา 2019 (COVID-19) นั้นกลุ่มที่มักจะติดกับดักข่าวปลอม (Fake News) มากที่สุดคือผู้สูงอายุ เพราะคิดว่าการส่งต่อข้อมูลให้กลุ่มเพื่อนฝูง หรือกลุ่มที่อยู่ในโลกออนไลน์ด้วยกันนั้นเป็นการแสดงความหวังดี ความห่วงใย แม้แต่ความต้องการให้ผู้อื่นเห็นว่าได้ส่งข้อมูลที่ยังไม่มีใครรู้ หรือข้อมูลเชิงลึกก่อนใคร พร้อมแชร์ทุกอย่างที่เป็นเรื่องสะเทือนใจ หรือทัชกับอารมณ์ของเขาโดยขาดการไตร่ตรอง ตรวจสอบว่าจริงหรือไม่

ปัญหาที่เกิดขึ้นกลายเป็นปัญหาที่กำลังสร้างความหนักใจให้กับสังคมเพิ่มขึ้นทีละน้อย ทำให้มีงานวิจัยต่างๆ ออกมาหลายชิ้น ยกตัวอย่างเช่น ผลงานวิจัยที่ทำในโครงการพัฒนาศูนย์ตรวจสอบข้อเท็จจริงของข้อมูลข่าวสารและสร้างเครือข่ายระดับประเทศในการรับมือกับข่าวปลอม ด้วยงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงสำรวจ เก็บแบบสอบถามทั้งในรูปแบบออนไลน์ และออฟไลน์ จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 2,220 คน ทั่วประเทศ กับกลุ่มตัวอย่างทุกช่วงอายุ และมีกลุ่มผู้สูงวัยไทยอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 817 คน (mar 23, 2564 กองทุนพัฒนาสื่อ ปลอดภัยและสร้างสรรค์)

การเปิดรับสื่อ การรู้เท่าทันสื่อข้อมูลด้านสุขภาพ และข่าวปลอมของผู้สูงวัย

จากหลายหน่วยงานที่มีการสำรวจเกี่ยวกับการใช้สื่อของผู้สูงวัย ได้ผลรวมว่าสื่อที่ผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป เปิดรับมากที่สุด ได้แก่ ไลน์ คิดเป็น 64.5% รองลงมาคือ เฟซบุ๊ค 63.9% YouTube 34.9% เว็บไซต์ 34.1% และสื่อออนไลน์อื่น ๆ เช่น ทวิตเตอร์, Tiktok โดยผู้สูงอายุคิดว่า สื่อที่มีข่าวปลอมมากที่สุด ได้แก่ เฟซบุ๊ค 37.8% รองลงมาคือ ไลน์ 19.8% และโทรทัศน์ 11.5%

จะเห็นได้ว่ากลุ่มผู้สูงอายุนั้นใช้แอพพลิเคชั่นไลน์ (Line) กันมากที่สุด เนื่องจากเป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ง่าย แชร์ง่ายกว่าแอพลิเคชั่นอื่น อยู่ในกลุ่มที่เป็นวัยเดียวกัน ชื่นชอบสิ่งเดียวกัน อารมณ์เดียวกัน ยิ่งทำให้การแชร์นั้นส่งผลต่อการกระจายของข่าวปลอมได้มากที่สุด ทั้งนี้ ผู้สูงวัยมักมีการประเมินระดับการรู้เท่าทันข้อมูลด้านสุขภาพ (Health Information Literacy: HIL) ของตนเองอยู่ในระดับต่ำกว่าการประเมินระดับการรู้เท่าทันข้อมูลด้านสุขภาพของคนไทยทุกช่วงวัยโดยเฉลี่ย

 พฤติกรรมของผู้สูงวัยเมื่อพบเห็นข่าวปลอมเกี่ยวกับสุขภาพ

เมื่อพบเห็นข่าวปลอมเกี่ยวกับสุขภาพ พบว่า ผู้สูงอายุ 66.2% แชร์ข่าวปลอมนั้นซ้ำ โดยคิดว่า เป็นการเตือนคนใกล้ตัวที่ได้รับข้อมูลนั้น ในขณะที่ 54.7% เพิกเฉย/ไม่สนใจ/เลื่อนข้ามไป และมีเพียง 24.5% ที่ทำการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง โดย 57.2% ใช้วิธีการสอบถามคนใกล้ชิด 41.2% อ่านความเห็นในโพสต์ข่าว และ 24.0% ค้นหาบทความที่คล้ายคลึงกันในเว็บไซต์

ผู้สูงวัยมากกว่า 70% เชื่อข่าวปลอมเกี่ยวกับสมุนไพรที่ช่วยรักษาโรคมะเร็งและโควิด-19

นอกจากนี้ยังพบว่า ข่าวปลอมต่าง ๆ ที่มีหน่วยงานภาครัฐตรวจสอบและเผยแพร่แล้วว่าเป็นข่าวปลอม หรือเป็นข้อมูลที่ยังไม่มีหลักฐานในการพิสูจน์ได้จริงนั้น ผู้สูงวัยส่วนมากก็ยังคิดว่าเป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการรักษาโรคต่าง ๆ อาทิ หมวดข่าวปลอมที่เกี่ยวกับสรรพคุณของสมุนไพรรักษาโรค เช่น ผู้สูงวัยมากกว่า 70% เชื่อว่า ใบทุเรียนเทศ หนานเฉาเหว่ย ใบอังกาบหนู กัญชา และการดื่มน้ำมะนาวโซดามีสรรพคุณช่วยรักษาโรคมะเร็ง และผู้สูงวัยประมาณ 60% เชื่อว่า น้ำกระเทียมคั้นสด น้ำมันกัญชา น้ำขิง น้ำใบมะละกอปั่น มันเทศญี่ปุ่นต้มน้ำขิง สามารถช่วยรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด–19 ได้ โดยเชื่ออย่างสนิทใจว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง เพราะผู้สูงอายุกลัวการเจ็บป่วย กลัวสุขภาพไม่แข็งแรง กลัวมีชีวิตที่ไม่ยืนยาว กลัวไม่ได้สนุกกับชีวิตในบั้นปลายกับลูกหลาน จึงเป็นเหตุผลของการเชื่อข้อมูลด้านสุขภาพง่ายกว่าวัยอื่นๆ

            ดังนั้นผู้สูงอายุจึงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มของสังคมที่ควรจะต้องได้รับการเรียนรู้เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริง เพราะหากยังละเลยยิ่งจะทำให้กลายเป็นปัญหาลุกลามจนยากจะแก้ไข เพราะสิ่งหนึ่งที่ผู้สูงวัยมีคือความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่ตัวเองได้รับรู้มาคือสิ่งที่ถูกต้องที่สุด ดังนั้นคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดต้องช่วยดูแลและช่วยตรวจสอบหรือแบ่งปันความรู้ให้ผู้สูงวัยเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของของการส่งต่อข่าวปลอมได้ แม้จะไม่ได้ทำให้ข่าวปลอมนั้นหมดไป แต่ก็ยังช่วยให้การส่งต่อข้อมูลผิดๆ ลดลงได้  โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นยิ่งส่งผลให้เกิดความเข้าใจผิด ความกลัว ความตื่นตระหนก หรือความไม่ปลอดภัยในชีวิต  และการที่มีความเข้าใจ มีการรู้เท่าทันสื่อ และทักษะในการตรวจสอบข่าวปลอมเบื้องต้น จะทำให้สามารถผ่านสร้างภูมิคุ้มกันในการรับรู้ข่าวสารในโลกออนไลน์ของเราได้ดีขึ้น

เรื่อง : นาย โชคชัย คุณรังษี  ภาควิชานิเทศศาสตร์ นักศึกษาภาควิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงใหม่

ภาพ : อินเทอร์เน็ต

Facebook Comments


Social sharing

Related post