Digiqole ad

DITPชี้อุตฯอาหารสำเร็จรูปการ์ดไม่ตกเข้มกระบวนการผลิต-ส่งออก

 DITPชี้อุตฯอาหารสำเร็จรูปการ์ดไม่ตกเข้มกระบวนการผลิต-ส่งออก
Social sharing
Digiqole ad

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ชี้ปีนี้ส่งออกอาหารสำเร็จรูปยังขยายตัวได้ 3-5 % ตั้งการ์ดคุมเข้มกระบวนการผลิต-ส่งออกอย่างปลอดภัย สร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าทั่วโลก เดินหน้า“โครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” (Thailand Delivers with Safety) ออกมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อโควิด – 19 ด้านสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป พร้อมร่วมมือควบคุมการผลิตและการส่งออกอย่างเคร่งครัด หวังให้ผู้บริโภคสามารถบริโภคอาหารสำเร็จรูปได้อย่างมั่นใจ

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  ( DITP) เผยถึง ภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปในไตรมาสที่ 1 ของปี 2564 จากข้อมูลของสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป (TFPA) พบว่าสินค้าอาหารสำเร็จรูปมีการส่งออกมูลค่า 47,626 ล้านบาท มีการส่งออกลดลง 1.3% หรือคิดเป็นมูลค่า 1,601 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 0.8 % เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ซึ่งกลยุทธ์การส่งออกอาหารสำเร็จรูปในปีนี้ จะมุ่งให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการในการผลิตสินค้าเป็นที่นิยมในตลาดโลก เช่น Plant Based Food อาหารโปรตีนสูงจากแมลง อาหารที่มีไฟเบอร์สูง
การเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า การพัฒนาสินค้าจาก Commodity Products สู่ High Value Products การสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรม การส่งเสริมและผลักดันนโยบายส่งเสริมการค้า เช่น การเจรจากับคู่ค้าเดิมและคู่ค้าใหม่ เพื่อลดกำแพงทางภาษีและเจรจาเพื่อไกล่เกลี่ยข้อกฎระเบียบต่าง ๆ การส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้สินค้าไทยออกไปยังทั่วโลกเพื่อเพิ่มโอกาสในตลาดใหม่ต่อไป

“วิกฤติโควิด-19 นับว่าส่งผลดีต่อตลาดส่งออกอาหารสำเร็จรูป เนื่องจากผู้บริโภคเกิดการกักตุนสินค้าเพราะเกรงว่าจะเกิดการ Lock Down เห็นได้จากคู่ค้าในบางประเทศมีการเพิ่มคำสั่งซื้อสินค้าอาหารเร็จรูปมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันยังมีผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบคำสั่งซื้อสินค้าลดลง เนื่องจากได้รับปัญหาด้านโลจิสติกส์ โดยบางประเทศที่นำเข้าสินค้ามีการ Lock Down รวมทั้งการ work from home ของเจ้าหน้าที่ด่านและท่าเรือขนถ่ายสินค้า ทำให้เกิดการปัญหาความแออัดและส่งสินค้าไม่ทันตามกำหนด

แต่หากมองทิศทางการส่งออกอาหารสำเร็จรูปในปี 2564 นี้ คาดว่ายังคงขยายตัวได้ 3-5 % ปัจจัยมาจากบางประเทศเศรษฐกิจเริ่มมีการฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่รวดเร็วทำให้ประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ขณะเดียวกันยังคงต้องจับตาบางประเทศที่มีการระบาดและกลายพันธุ์ของไวรัส อาทิ อินเดีย สหภาพยุโรป ซึ่งอาจจะส่งผลต่อกำลังซื้อของประชาชน รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่ไทยเองเรายังคงต้องเผชิญกับโรคโควิด -19 ที่ยังคงระบาดอย่างหนัก

จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างความมั่นใจให้กับคู่ค้า โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้บูรณาการกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการยกระดับกระบวนการผลิต ด้วยการออกมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในกระบวนการผลิตอาหารเพื่อการส่งออกอย่างเข้มงวด เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ให้ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน”

นายสมเด็จ กล่าวต่อว่ามาตรการดังกล่าว มุ่งเน้นให้ผู้ประกอบการและ Supplier ที่เกี่ยวข้องกับการจัดส่งวัตถุดิบจากเรือ หรือท่าเรือ ให้เพิ่มความเข้มข้นในการลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อนมากับวัตถุดิบ Ingredient และภาชนะบรรจุ โรงงานผู้ผลิตต้องมีการควบคุมกระบวนการผลิตที่เข้มงวด ทั้งคุณภาพและความปลอดภัยในการรับวัตถุดิบจากเรือ ท่าเรือ การจัดเก็บในห้องเย็น การแปรรูป การบรรจุ การทำความสะอาดและฆ่าเชื้อภายในตู้คอนเทนเนอร์ การควบคุมสุขอนามัยของพนักงานและสิ่งแวดล้อมในโรงงาน ตั้งแต่สถานที่และอาคารผลิต การเคร่งครัดในการทำความสะอาด และฆ่าเชื้อในอาคารผลิต เครื่องจักร พื้น ผนัง รวมทั้งพื้นที่ผิวจุดเสี่ยงที่มีการสัมผัสร่วมกัน มีมาตรการคัดกรองบุคลากร ก่อนเข้าสถานที่ทำงาน ตลอดจนรอบรมพนักงานให้มีความรู้ในการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

พร้อมกันนี้ ได้เดินหน้า “โครงการประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์สินค้าอาหารไทยปลอดการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” (Thailand Delivers with Safety) โดยคุมเข้มมาตรการป้องกันการปนเปื้อนเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เพื่อให้ผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ ผู้จัดส่งวัตถุดิบ รวมถึงผู้ประกอบการโลจิสติกส์ ปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าทั่วโลก และเป็นการตอกย้ำว่าไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตอาหาร และมีเทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัยมีคุณภาพตามมาตรฐานสากล มีความปลอดภัยทุกขั้นตอน ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบ การเก็บเกี่ยว การขนส่ง มีระบบป้องกันตนเองของพนักงานในโรงงาน การบรรจุ และการขนส่งจนถึงมือผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป (TFPA) พร้อมให้ความร่วมมือกับภาครัฐ โดยมีมาตรการควบคุมการผลิตและการส่งออกอย่างเคร่งครัด ในการคัดกรองพนักงานและผู้ที่เข้าพื้นที่ไลน์ผลิตอย่างเข้มข้น โดยอาหารกระป๋องต้องผ่านการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนระดับสเตอริไลซ์ ทุกกระบวนการเป็นไปตามมาตรฐานสากล GMP และ HACCP เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถบริโภคอาหารสำเร็จรูปได้อย่างมั่นใจ

สำหรับภาพรวมการส่งออกสินค้าอาหารสำเร็จรูปในระหว่าง ปี 2558 – 2563 พบว่ามีการขยายตัวทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออก โดยปริมาณการส่งออกขยายตัวจาก 1,949,759 ตัน ในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 3,069,604 ตันในปี 2563 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 10.2 % ต่อปี ส่วนมูลค่าการส่งออกมีการขยายตัวจาก 154,335 ล้านบาทในปี 2558 เพิ่มเป็น 202,421 ล้านบาท ในปี 2563 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 6.1 % ต่อปี

หากเปรียบเทียบมูลค่าการส่งออกในสกลุเงินดอลลาร์สหรัฐ มีการขยายตัวจาก 46,875 แสนเหรียญสหรัฐ ในปี 2558 เพิ่มเป็น 65,163 แสนเหรียญสหรัฐ ในปี 2563 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ย 7.4% ต่อปี โดยมูลค่าการส่งออกในสกุลเงินบาท มีอัตราการเติบโตต่ำกว่ามูลค่าการส่งออกในสกุลเงินสหรัฐเฉลี่ย 1.3% ต่อปี สะท้อนให้เห็นว่า อัตราแลกเปลี่ยนยังคงเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออก

Facebook Comments

Related post