Digiqole ad

9 ปี พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557

 9 ปี พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557
Social sharing

Digiqole ad

พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ประกาศลงราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม.2557 และให้มีผลบังคับใช้หลังจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 27 ธันวาคม 2557

ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เปิดเผยข้อมูลว่า สมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย  (TSPCA) และองค์กรเครือข่าย ได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557  โดยได้สำรวจความคิดเห็น จากผู้เข้าร่วมสัมมนาเครือข่ายผู้รักสัตว์ครั้งที่ 11 ระหว่างวันที่ 23 – 24 มิ.ย.66 โดยมีผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน เช่น  สมาคมสงเคราะห์สัตว์  ในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย ล้านนา   ด็อกเวลแฟร์ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN)  วุฒิสภา สโมสรลูกเสือสวัสดิภาพสัตว์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปศุสัตว์จังหวัดปราจีนบุรี สำนักนิติการ กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ มูลนิธิเพื่อนช้าง มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ชมรมคนรักช้างป่า ชมรมรักสัตว์ OCD ชมรมปลาทะเลไทย สมาคมเครือข่ายโคเนื้อ จำกัด บ้านรักสัตว์บางพลี กลุ่มรักษ์คลองสาน สมาคมแมวไทยจดทะเบียน FOUR-PAWS International-Thailand) มูลนิธิศักยภาพชุมชน กลุ่มสิทธิและโอกาสสัตว์ โรงเรียนเมืองปราจีนบุรี โรงเรียนบ้านคลองสิบสอง โรงพยาบาลสัตว์เลี้ยงพรีเมียร์ สำนักกฎหมายเพื่อสังคม ส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ (ปราจีน) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช สื่อมวลชนและประชาชนทั่วไป เป็นต้น และมีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) นอกจากนั้น ยังได้มีการระดมสมอง (Brainstorm) จากวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งด้านกฎหมาย การสัตวแพทย์ เพื่อรวบรวมสรุปเป็นแนวทางและข้อเสนอแนะ เพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับสถานการณ์การบังคับใช้กฎหมาย ควรมีการปรับปรุงและพัฒนาเพิ่มเติมหรือไม่อย่างไร เพื่อให้การทำงานด้านการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์มีประสิทธิภาพประสิทธิผลการบังคับใช้กฎหมายสูงสุดต่อไป

นอกจากนั้นยังมีข้อเสนอแนะอื่นๆ เช่น  การให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนตั้งแต่วัยเรียนจนถึงวัยทำงานในทุกๆภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงเกี่ยวกับสัตว์ มนุษย์ และสิ่งแวดล้อม ให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับข้อกฎหมาย การปฏิบัติใช้กฎหมาย ควรมีจัดทำคู่มือภาคประชาชน เพื่อให้รับทราบและตระหนักถึงขอบข่ายของกฎหมายฉบับนี้ สัตว์ที่นำเข้าและที่มีอยู่ในประเทศ          มีหลากหลายชนิด จะช่วยเหลือหรือดูแลให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เวลาไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับบุคคลที่ทารุณสัตว์ มักจะไม่ค่อยได้รับความสะดวก ไม่เข้าใจกฎหมายทำให้การดำเนินคดีไม่เกิดขึ้น ควรมีการอบรมผู้ที่เกี่ยวข้องให้ด้านการบังคับใช้กฎหมาย และพิจารณาบทลงโทษ ให้สอดคล้องกับเจตนาและวิถีทางในการดำรงชีวิตของประชาชน ปลูกฝังการสร้างจิตสำนึกรักสัตว์อย่างรับผิดชอบ ควรใช้ระบบภาษี เข้ามาบริหารจัดการ ควรเพิ่มเติมเกี่ยวกับสัตว์ของกลางที่ถูกตรวจยึด เนื่องจากการกระทำความผิดและรอผลของการตัดสินพิพากษาคดี โดยให้เอกชนที่มีความพร้อมหรืออาสารับไปดูแลเลี้ยงดูจัดสวัสดิภาพได้ตามความเหมาะสม เป็นต้น

สำหรับข้อเสนอแนะอื่นๆ ที่เกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายควบคู่กับมาตรการอื่นทางสังคม เช่น  ปัญหาการทารุณกรรมและจัดสวัสดิภาพสัตว์ นับวันจะทวีความซับซ้อนมากขึ้น ถ้าเป็นไปได้ควรมีหน่วยงานทำงานเฉพาะเรื่องสัตว์โดยตรง ในการให้คำปรึกษา รับข้อร้องเรียน ดำเนินคดี ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ ควรให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม ในการพัฒนาและส่งเสริมกฎหมายลำดับรอง ให้เหมาะสม และมีประสิทธิภาพในการบังคับใช้ ภาครัฐควรส่งเสริมและสนับสนุน ในการจัดสวัสดิภาพสัตว์ชุมชนเพิ่มขึ้น ที่สำคัญควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนรับรู้ข่าวสารที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น และควรมีกรรมการที่มีสัดส่วนจากภาคเอกชนมากขึ้น ในคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ถึงจะขับเคลื่อนคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ โดยปัจจุบันองค์กรภาคเอกชนค่อนข้างจะตื่นตัว ควรจะมีการฝึกอบรม สัมมนาให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้องค์ความรู้ด้านการจัดสวัสดิภาพสัตว์ รวมทั้ง one health สุขภาพหนึ่งเดียว ที่มีทุกภาคส่วนเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เฉพาะสัตวแพทย์ สัตวบาล เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ แต่มีภาคส่วนอื่นๆ เช่น สื่อมวลชน วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัย เป็นต้น ควรจะมีการผลักดันให้จัดตั้งคณะกรรมการในระดับท้องถิ่นอย่างจริงจัง เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น เทศบาล ตำบล อบต. มีความใกล้ชิดกับชุมชน ในพื้นที่ ควรจะมีการกระจายอำนาจให้ อบต. เทศบาล สามารถจัดงบ หรือมีงบในเรื่องสวัสดิภาพสัตว์ การดูแลสัตว์ในพื้นที่ เป็นต้น

ดังนั้น ตลอดระยะเวลาการบังคับใช้พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 ที่ผ่านมา ความคิดเห็นส่วนใหญ่ที่เกี่ยวข้อง เห็นว่า สำหรับตัวบทรายมาตราตามพระราชบัญญัติปัจจุบันนั้น ค่อนข้างครอบคลุม ชัดเจน และปกป้องการทารุณกรรมและการพัฒนาสวัสดิภาพสัตว์ที่ดีแล้ว  แต่ขาดการนำสู่ปฏิบัติบังคับใช้ที่จริงจัง  การเพิ่มเติมหรือขยายองค์ประกอบและการออกกฎหมายลำดับรอง  ก็จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ ในการอำนวยความสะดวกและสร้างความยุติธรรม เกิดดุลยภาพทางกฎหมายและสังคมส่วนรวม ให้สมดั่งเจตนารมณ์ของกฎหมายมากยิ่งขึ้น ต่อไป

 

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post