Digiqole ad

6 สิ่งที่พรรคก้าวไกลอยากให้เด็กทุกคนได้รับก่อนวันเด็กปีหน้า

 6 สิ่งที่พรรคก้าวไกลอยากให้เด็กทุกคนได้รับก่อนวันเด็กปีหน้า
Social sharing

Digiqole ad
วันเด็กปีนี้ พรรคก้าวไกลประเดิมด้วยกิจกรรมการแถลง Policy Watch เรื่องนโยบายการศึกษา “การศึกษาก้าวไกล เด็กไทยก้าวหน้า” ซึ่งครั้งนี้พิเศษกว่าทุกครั้ง เพราะเปิดให้เด็กๆ ที่มาร่วมกิจกรรมวันเด็กที่พรรค ได้ชมเบื้องหลังการแถลงข่าวอย่างใกล้ชิดด้วย
.
เหตุผลที่พรรคก้าวไกลมีการแถลงนโยบายการศึกษาในวันเด็ก เพราะการศึกษาส่งผลกระทบต่อทั้ง “ปัจจุบัน” และ “อนาคต” ของเด็กทุกคน โดยคิดว่าสิ่งที่เด็กต้องการมากที่สุดในวันเด็ก อาจไม่ใช่เพียง “คำขวัญ” ที่ผู้ใหญ่คิดขึ้นมาว่าเขาควรเป็นอย่างไร แต่คือ “คำสัญญา” ว่าผู้ใหญ่จะสร้างอนาคตที่ดีขึ้นให้กับเขาอย่างไร
.
เนื้อหาการแถลง อัดแน่นจาก 3 มุมมองของ 3 สส. คือ พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu โฆษกพรรค ปารมี ไวจงเจริญ สส.บัญชีรายชื่อ และ ภัสริน รามวงศ์ สส.กรุงเทพฯ เขต 7
.
📌[ 6 ข้อเสนอปฏิรูปการศึกษา ]📌
.
พริษฐ์กล่าวว่า พรรคก้าวไกลต้องการเห็นระบบการศึกษาที่ตอบสนองต่อ 3 เป้าหมายหลัก โดยที่ทั้งสามเป้าหมายต่างสัมพันธ์กัน จะบรรลุแค่เป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งไม่ได้
1) การพัฒนาทักษะ-สมรรถนะ
2) ความเสมอภาค
3) ความสุขหรือสุขภาวะทางร่างกายและทางสภาพจิตใจที่ดีของผู้เรียน
.
โดยพรรคก้าวไกลมี 6 ข้อเสนอต่อการปฏิรูปการศึกษาไทย
.
📚1) ควรมีการจัดทำหลักสูตรใหม่ที่เน้นทักษะสมรรถนะ ทำให้เด็กได้ใช้เวลาในการเรียนอย่างคุ้มค่า แปรเวลาเรียนให้เป็นทักษะที่ตอบโจทย์ในปัจจุบันมากขึ้น
.
เนื่องจากระบบการศึกษาไทยอยู่ในสภาวะที่เรียนมากได้น้อย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับแต่ละประเทศ ประเทศไทยมีจำนวนชั่วโมงเรียนอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง แต่ปัจจุบันระบบการเรียนการสอนของไทยไม่มีประสิทธิภาพมากพอในการแปรเวลาเรียนเหล่านั้นให้ออกมาเป็นทักษะที่ตอบโจทย์ สาเหตุหนึ่งก็คือปัญหาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยที่ไม่ได้เน้นหรือวางเป้าหมายในการพัฒนาทักษะสมรรถนะอย่างเพียงพอ โดยที่ยังไม่มีคำยืนยันว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมีการผลักดันหลักสูตรการศึกษาฉบับใหม่ให้สำเร็จภายในวาระ 4 ปี ทั้งจากคำแถลงนโยบายของรัฐบาล คำแถลงนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และในการตอบคำถามในสภาฯเมื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ. งบประมาณในปี 2567 ซึ่งหากไม่มีการจัดทำหลักสูตรใหม่นี้ให้สำเร็จภายในวาระ 4 ปีก็เท่ากับว่าประเทศไทยจะอยู่กับหลักสูตรการศึกษาเดิมเป็นเวลาถึง 20 ปีจากครั้งล่าสุดที่มีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาครั้งใหญ่
.
สำหรับพรรคก้าวไกล หลักสูตรฉบับใหม่ที่เน้นทักษะสมรรถนะควรประกอบด้วย การปรับเป้าหมายและวิธีการสอน (เช่น วิชาประวัติศาสตร์ที่เน้นทักษะการวิเคราะห์ วิชาภาษาอังกฤษที่เน้นทักษะสื่อสาร) การลดชั่วโมงเรียน การบ้าน หรือ การสอบแข่งขันที่หนักจนเกินไป การเพิ่มเสรีภาพในการเรียนรู้ (เช่น ลดวิชาบังคับ เพิ่มวิชาทางเลือก) และการเพิ่มการตรวจสอบโดยประชาชน (เช่น การสร้างแพลตฟอร์มให้นักเรียนสามารถประเมินคุณภาพหนังสือเรียน รวมถึงการเปิดเผยข้อสอบย้อน TCAS หลังพร้อมเกณฑ์การให้คะแนนเพื่อให้มีความโปร่งใสมากขึ้น)
.
🧑‍🏫2) ลดภาระงานครูที่ไม่เกี่ยวกับการสอน เพื่อคืนครูให้ห้องเรียน และให้นักเรียนมีเวลาอยู่กับครูมากขึ้น เพื่อพัฒนาทักษะสมรรถนะที่สำคัญ มีการวิเคราะห์ออกมาว่าประมาณ 40% ของเวลาครูถูกใช้ไปกับงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน เช่น งานธุรการ การนอนเวร รวมถึงการต้องเขียนรายงานผลดำเนินงานตามนโยบายหรือโครงการต่างๆ ที่กระทรวงศึกษาธิการตั้งขึ้นมา
.
🏫3) ป้องกันการตกหล่นออกจากระบบการศึกษา
.
ปัจจุบันการศึกษายังไม่ได้ฟรีจริง มีค่าใช้จ่ายที่ผู้ปกครองทั่วประเทศต้องแบกรับอยู่ในการส่งลูกหลานเข้าสู่การศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เคยวิเคราะห์ไว้ว่ากลุ่มนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน ที่มีความเสี่ยงมากที่สุดที่จะตกหล่นจากระบบการศึกษา ปัจจุบันต้องแบกรับค่าใช้จ่ายแอบแฝงในการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าอุปกรณ์ ค่าชุดต่างๆ ถึงประมาณ 2,000-6,000 บาทต่อปี
.
ปัจจุบันมีสองโครงการที่พยายามเพิ่มเงินอุดหนุนให้กับนักเรียนที่มาจากครอบครัวยากจน คือ (1) ทุนเสมอภาค ซึ่งเป็นโครงการที่ กสศ. คัดกรองและจัดสรรโดยตรง และ (2) โครงการทุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน ที่ กสศ. มาช่วยคัดกรอง โดย สพฐ. เป็นคนจัดสรรงบประมาณให้
.
ในส่วนของทุนเสมอภาค แม้งบประมาณปี 2567 มีการปรับอัตราต่อหัวขึ้นให้ก็จริง แต่เป็นการปรับขึ้นแบบขั้นบันได จาก 3,000 บาทต่อหัวเป็น 4,200 บาทต่อหัว แต่ไม่ได้ขึ้นทั้งหมดทันทีในปี 2567 แต่ใช้เวลา 3 ปีขึ้นเป็นขั้นบันได พรรคก้าวไกลจึงเสนอว่าแทนที่จะขึ้นแบบขั้นบันไดควรเป็นการขึ้นทันทีให้เป็น 4,200 บาท ในส่วนทุนปัจจัยขั้นพื้นฐานฯ พรรคก้าวไกลเสนอว่าควรมีการขยายสองด้าน คือ ขยายให้เด็กยากจนที่ตกสำรวจ 1 ล้านคน และขยายจากปัจจุบันที่ได้แค่เพียงชั้นประถมกับมัธยมต้น ให้เด็กในระดับก่อนประถมและมัธยมปลายได้รับด้วย ซึ่งข้อเสนอสำหรับทั้งหมดนี้จะใช้งบประมาณรวมกันไม่เกิน 3 – 5 พันล้านบาทต่อปี
.
📊4) การลดความเหลื่อมล้ำระหว่างโรงเรียน
.
เนื่องจากปัจจุบันโรงเรียนเกินครึ่งหนึ่งของประเทศเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ที่หลายครั้งขาดแคลนอุปกรณ์และขาดแคลนครู ปัญหาที่เจออยู่ในปัจจุบันเป็นปัญหาครูกระจุกโรงเรียนกระจัดกระจาย แม้สัดส่วนนักเรียนต่อครูในระบบทั้งหมด (16.9 : 1) ดูเหมือนว่าครูในภาพรวมจะเพียงพอที่ แต่ปัญหาคือการกระจายตัวของครูมีปัญหาจนทำให้มีครูไม่ครบทุกระดับชั้น
.
ดังนั้น จึงควรต้องมีการเพิ่มการกระจายตัวของครู เช่น การใช้แรงจูงใจและค่าตอบแทนพิเศษให้ครูในการไปทำงานในพื้นที่ที่อาจจะขาดแคลนครูมากขึ้น รวมถึงการลดความกระจัดกระจายของโรงเรียน โดยการหาทางออกร่วมกันในการบริหารกลุ่มโรงเรียนขนาดเล็ก ปรับการจัดสรรงบประมาณให้มีความเป็นธรรมมากขึ้น แก้ระเบียบให้โรงเรียนแบ่งปันทรัพยากรได้ง่ายขึ้น และ รับประกันค่าเดินทางและบริการรับ-ส่งที่เพียงพอ เป็นต้น
.
🧡5) คุ้มครองสุขภาพกาย-สุขภาพใจ-ความปลอดภัยของนักเรียน
.
ปัจจุบันยังคงมีข่าวเรื่องความไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นในสถานศึกษาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในกรณีโรงเรียนที่แม่ฮ่องสอน ที่มีกลุ่มนักเรียนประท้วงการปฏิบัติหน้าที่ของ ผอ. จากกรณีอาหารกลางวันในโรงเรียนมีปริมาณและคุณภาพให้สอดคล้องกับงบประมาณ โดยมีการตั้งคำถามว่ามีการทุจริตเกิดขึ้นหรือไม่ รวมถึงท่าทีของ ผอ. ที่ตอนแรกมีเจตนาจะฟ้องนักเรียนด้วย พ.ร.บ.คอมฯ อีก
.
ดังนั้น ในส่วนของปัญหาสุขภาพกาย พรรคก้าวไกลเสนอให้-ขยายเงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันให้นักเรียนมัธยม โดยอาจเริ่มต้นจากการขยายให้นักเรียน ม.ต้น ใน โรงเรียนขยายโอกาส สังกัด สพฐ. ทุกแห่ง ซึ่งจะใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท/ปี
.
ส่วนในด้านปัญหาสุขภาพจิต สิ่งที่ทำได้คือการเสริมทักษะให้คุณครูสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ว่านักเรียนที่มีอาการแบบใดมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพจิต เพื่อช่วยคัดกรองให้นำไปสู่การรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ หรือการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงการรักษาโดยผู้เชี่ยวชาญ เช่น การมีคลินิกเยาวชนให้สามารถขอคำปรึกษาเรื่องปัญหาสุขภาพจิตได้โดยไม่ต้องรายงานต่อผู้ปกครองหรือครู เป็นต้น
.
และในส่วนของความปลอดภัย ควรยกระดับกลไกเอาผิดทางวินัยกับครูที่ใช้ความรุนแรงกับนักเรียน ปรับเกณฑ์ประเมินผลงานของผู้บริหารในระดับเขตพื้นที่ให้สอดคล้องกับมาตรการดังกล่า และเพิ่มการรับรู้และประสิทธิภาพของ MoE Safety Center ในการรับมือกับเรื่องร้องเรียน
.
👉6) เพิ่มการมีส่วนร่วมของนักเรียน ทั้งในและนอกสถานศึกษา
.
โดยมาตรการในสถานศึกษาอาจรวมถึงการที่คณะกรรมการสถานศึกษามีตัวแทนนักเรียนให้มาจากการเลือกตั้ง รวมถึงเปิดให้นักเรียนสามารถร่วมประเมินครูหรือโรงเรียนในฐานะผู้ได้รับบริการทางการศึกษาได้
.
สำหรับมาตรการเพิ่มการมีส่วนร่วมนอกโรงเรียน ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่คณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ กำลังศึกษาอยู่ รวมถึงการปฏิรูปสภาเด็กและเยาวชนให้ตอบโจทย์เยาวชนมากขึ้น โดยมีที่มาจากการเลือกตั้งจากเด็กและเยาวชนโดยตรง มีความเป็นอิสระจากรัฐ เพิ่มอำนาจในการผลักดันนโยบาย-เสนอร่างกฎหมายไปที่สภาฯ-ตั้งกระทู้ถามไปที่ฝ่ายบริหาร เป็นต้น
.
📌[ ยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ] 📌
สำหรับพรรคก้าวไกล ในช่วงต้นปีต่อจากนี้ มีอยู่ 3 เรื่องที่เราจะทำในฐานะฝ่ายค้านเชิงรุกเพื่อผลักดันนโยบายการศึกษา นั่นคือการยกร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ขึ้นมา เพื่อวางหลักประกันในการแก้ปัญหาที่พูดมาข้างต้น รวมถึงการใช้กลไกกรรมาธิการ ไม่ว่าจะเป็นกรรมาธิการงบประมาณหรือกรรมาธิการการศึกษา และการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายอื่นที่อาจเกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตของเด็ก เช่น การนำเสนอ พ.ร.บ.ห้ามตีเด็ก เป็นต้น
.
“คำขวัญนายกที่มีข้อความว่า ‘มองโลกกว้าง คิดสร้างสรรค์ เคารพความแตกต่าง ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย’ เป็นเป้าหมายที่ดี แต่จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ เด็กจะ ‘มองโลกกว้าง’ ได้ หากเด็กทุกคนเข้าถึงการศึกษา ได้เรียนหลักสูตรใหม่ที่เท่าทันโลก และมีเวลาพักผ่อนหรือค้นพบตนเองเพียงพอ เด็กจะ ‘คิดสร้างสรรค์’ ได้ หากเด็กได้เรียนหลักสูตรใหม่ที่เน้นทักษะ-สมรรถนะ ครูมีเวลาแลกเปลี่ยนความเห็นกับนักเรียน และเด็กรู้สึกปลอดภัยในโรงเรียน เด็กจะ ‘เคารพความแตกต่าง’ ได้ หากเด็กมีเสรีภาพในการเรียนรู้ในวิชาที่แตกต่างกัน รวมถึงเรียนกับครูและภายใต้กฎโรงเรียนที่โอบรับและเคารพความแตกต่างของนักเรียน เด็กจะ ‘ร่วมกันสร้างประชาธิปไตย’ ได้ หากเด็กมีส่วนร่วมในการออกแบบกติกาในโรงเรียน และมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของประเทศ” พริษฐ์กล่าว
.
📌[ งบศึกษาธิการ 67 เบี้ยหัวแตก-ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ]📌
.
ด้านปารมี แถลงถึงข้อสังเกตต่อกระบวนการจัดสรรงบประมาณในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ รวมถึงกระบวนการทำงานของพรรคก้าวไกลในชั้นกรรมาธิการต่อจากนี้ โดยระบุว่าจากงบประมาณปี 2567 ที่ทำมา ตนพบว่ามีแต่โครงการที่ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาที่ดีต่อทั้งนักเรียนและครู เป็นโครงการเบี้ยหัวแตกและตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ
.
ในงบประมาณปี 2567 กระทรวงศึกษาธิการมีการขอรับงบประมาณกว่า 3 แสนล้านบาท โดยหน่วยงานที่รับงบประมาณไปมากที่สุดของกระทรวงศึกษาธิการคือ สพฐ. ที่ 2.5 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 76% ของงบประมาณกระทรวงศึกษาธิการทั้งหมด โดยให้เหตุผลในการของบเพิ่มว่าเด็กไทยเก่งขึ้นและมีสมรรถนะที่สูงขึ้น ซึ่งตนขอถามว่าเป็นจริงหรือไม่ เพราะสิ่งที่เห็นปรากฏเป็นรูปธรรมต่อสาธารณชน คือคะแนน PISA ที่ลดลง และมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง สวนกระแสกับงบประมาณที่ขอมา
.
และหากลงไปดูในรายละเอียดของการจัดสรรงบประมาณ ก็จะพบว่าเต็มไปด้วยโครงการที่ใช้งบประมาณแบบเดิมๆ บางโครงการเกิดประโยชน์ต่อนักเรียนและครูน้อยมาก ไม่สมกับงบประมาณที่ตั้งไว้สูง และหลายโครงการน่าจะนำไปสู่การทุจริตด้วย
.
ตัวอย่างหนึ่งคืองบประมาณลงทุนค่าครุภัณฑ์ยานพาหนะ เช่น กรณีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา ขอซื้อรถตู้ 67 คันเป็นเงิน 89 ล้านบาท โครงการแบบนี้ผู้ใช้รถไม่ใช่นักเรียนแน่ๆ แล้วยังมีการซื้อกันมาแบบนี้ทุกปี หรือโครงการแผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่มีการตั้งงบประมาณไว้ 104 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมามีการของบประมาณในจำนวนใกล้เคียงกันมาต่อเนื่องเป็นเวลา 10 ปีแล้ว รวมเป็นงบประมาณถึง 900 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก และค่าพาหนะไปแล้วถึง 94 ล้านบาท แปลว่าเหลือเงินจริงๆ ในการลงสู่เด็กเพียง 10 ล้านบาทเท่านั้น
.
“สิ่งที่น่าตลกคือท่านเรียกอบรมความซื่อสัตย์กับนักเรียน ขณะที่โรงเรียนขนาดใหญ่ขนาดกลางหลายแห่งของ สพฐ. มีข้อกล่าวหาว่าเรียกรับเงินส่วนต่างเป็นเปอร์เซ็นต์ ค่าขายหนังสือสื่อการเรียนการสอนจากสำนักพิมพ์และร้านค้าท้องถิ่นเรียกเปอร์เซ็นต์ ค่าอาหารกลางวันจากผู้รับเหมาทำกับข้าวก็ยังเรียกเปอร์เซ็นต์ ค่าก่อสร้างอื่นๆ ที่โรงเรียนจะซื้อจัดจ้างก็เรียกเปอร์เซนต์ แต่แผนงานนี้ท่านใช้ชื่อว่าแผนงานบูรณาการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ แบบนี้ไม่เรียกว่าปากว่าตาขยิบหรือ”
.
ปารมีกล่าวต่อไป ว่าในฐานะกรรมาธิการการศึกษา จะเร่งผลักดัน 2 เรื่องใหญ่ที่เป็นเรื่องเร่งด่วน กล่าวคือ
.
1) การผลักดันการปรับเปลี่ยนหลักสูตรแกนกลางที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2551 ทั้งที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ควรจะต้องนำมาให้นักเรียนได้ศึกษาวิเคราะห์ พัฒนาทักษะใหม่ๆ ซึ่งระบบการศึกษาไทยยังไม่ตอบโจทย์ทักษะสมรรถนะเหล่านี้ได้
.
2) กรณีข้อสอบ TPAT1 และ TGAT3 ซึ่งเป็นข่าวต่อเนื่องมาตั้งแต่ก่อนและหลังปีใหม่ โดยเริ่มที่กรณีข้อสอบ TPAT1 หรือข้อสอบกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท.) ซึ่งพบว่ามีการไปลอกข้อสอบ BMAT จากประเทศอังกฤษมาถึง 11 ข้อ ซึ่งบ่งชี้ถึงจุดบกพร่องของกระบวนการตรวจสอบคุณภาพของตัวข้อสอบ ว่าไม่ได้ผ่านการประเมินจากผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยที่การแก้ปัญหาก็มีแต่เพียงการยกเลิกการไม่คิดคะแนนในข้อสอบฉบับที่หนึ่ง โดยคิดคะแนนจากข้อสอบฉบับที่สองและสามอย่างเดียว ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้สอบอย่างมาก
.
ส่วนกรณีของ TGAT3 ส่วนที่ 1 ปัญหาเกิดขึ้นจากเกณฑ์การให้คะแนนที่มีการปรับเปลี่ยน จากเดิมที่มีการประกาศต่อสาธารณะ ให้แนวทางนักเรียนเลือกตอบแต่ละข้อได้ตัวเลือกเดียว โดยเกณฑ์การให้คะแนนคือ 0.25-1 คะแนน โดยนักเรียนจะได้คะแนนลดหลั่นกันไปตามความถูกต้องของคำตอบ หมายความว่าใน 4 ตัวเลือกของทุกข้อจะต้องมีคะแนน และตามที่ประกาศนี้ไม่ควรมีใครได้ 0 คะแนน แต่ปรากฏว่าพอผลคะแนนออกมามีเด็กได้ 0 หลายคน เท่ากับมีการเปลี่ยนเกณฑ์การให้คะแนนในภายหลังเป็นอีกแบบหนึ่งโดยไม่ประกาศต่อสาธารณะ
.
การเปลี่ยนแปลงเกณฑ์แบบนี้ส่งผลต่ออนาคตของเด็กคนหนึ่ง เพียง 0.1 คะแนน ก็ส่งผลต่อการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยของเด็กได้แล้ว ตนจึงขอเรียกร้องจิตสำนึกความรับผิดชอบ หากการออกเกณฑ์กำหนดในการสอบให้มีมาตรฐานเป็นเรื่องที่เกินกว่าขีดความสามารถของท่านจะทำได้ ท่านก็ควรมีการคืนอำนาจให้กับหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่โดยตรง
.
📌[ เตรียมยื่นกฎหมายห้ามตีเด็ก ยกระดับคุ้มครองสิทธิจากการถูกทำร้าย ]📌
.
ส่วนภัสริน ได้แถลงถึงการเสนอร่างกฎหมายของพรรคก้าวไกล ที่จะยกระดับการคุ้มครองปกป้องสิทธิของเด็กจากการถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยระบุว่าปัจจุบันมาตรการปกป้องสิทธิเด็กยังไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ และทุกวันนี้ปรากฏกรณีเด็กที่ถูกตีถูกทำร้ายมากมาย กรณีที่เกี่ยวกับการทำร้ายร่างกายและจิตใจของเด็กปรากฏขึ้นมากมายทั้งในและต่างประเทศ เช่น กรณีพ่อเลี้ยงทำร้ายเด็กจนเสียชีวิต ที่เป็นข่าวตั้งแต่เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ยังมีกรณีสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูเด็กที่เต็มไปด้วยความรุนแรง และกรณีการการกลั่นแกล้งรังแกกันภายในโรงเรียน ที่นำไปสู่การกราดยิงในโรงเรียนหลายกรณีในต่างประเทศ
.
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ชี้ให้เห็นว่าการตีหรือความรุนแรงส่งผลกระทบต่อสมองส่วนหน้าของเด็ก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเด็กในระยะยาว ทั้งต่อการพัฒนาจิตใจ การพัฒนาทางสมองและอารมณ์ของเด็กด้วย แต่กฎหมายของประเทศไทยรวมไปถึงกฎกระทรวงหลายฉบับ ยังคงอนุญาตให้มีการลงโทษเด็กด้วยความรุนแรงอยู่ ไม่ว่าจะเป็นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2519 มาตรา 1567 วรรค 2 ที่ระบุว่าบิดามารดามีสิทธิ์ที่จะลงโทษบุตรได้ตามสมควรเพื่ออบรมสั่งสอน, พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546 มาตรา 60 ก็ยังระบุว่าให้ลงโทษได้ตามสมควรเพื่อเป็นการอบรมสั่งสอน, กฏกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 2548 ระบุว่าการลงโทษเด็กหากจำเป็นก็ลงโทษได้ตามสมควร
.
ปัญหาอยู่ที่คำว่า “ตามสมควร” ซึ่งเป็นเรื่องที่สุดแท้แล้วแต่จะตีความ เป็นช่องว่างขนาดใหญ่ของกฎหมาย ซึ่งเด็กเองคือผู้ที่ต้องรับการกระทำเหล่านี้โดยตรง ด้วยเหตุนี้ พรรคก้าวไกลจึงเสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือ “พ.ร.บ.ห้ามตีเด็ก” ที่มีการนำร่างยื่นเข้าไปตั้งแต่สภาสมัยที่แล้วโดย ณัฐวุฒิ บัวประทุม และมาในสภาชุดนี้ก็จะมีการยื่นเข้าไปอีกครั้ง
.
ร่างกฎหมายใหม่ที่พรรคก้าวไกลผลักดัน จะเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระ จากเดิมที่ระบุเพียงว่า “ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน” ให้เป็น “ทำโทษบุตรตามสมควรเพื่อว่ากล่าวสั่งสอน แต่ต้องไม่เป็นการกระทำที่ทารุณกรรม หรือทำร้ายร่างกายจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นการเฆี่ยนตี หรือการทำโทษใดอันเป็นการด้อยค่า”
.
การใช้ความรุนแรงต่อเด็กทั้งทางร่างกายและจิตใจไม่ได้เกิดขึ้นแล้วหายไปเหมือนมดกัด บ่อยครั้งภายใน 10-20 ปีสามารถนำไปสู่แผลและปมร้าวในใจที่อยู่กับเด็กตลอดไปทั้งในด้านอารมณ์และความรู้สึก หลายคนถึงขั้นป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ป่วยทางจิต นำไปสู่การฆ่าตัวตายในอนาคต หรือนำไปสู่ความก้าวร้าวในฐานะเกราะป้องกันตัวเองได้
.
ข้อเสนอนี้ จะเป็นการแก้กฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่ประเทศไทยให้คำมั่นสัญญาว่าจะมีการปรับปรุงกฎหมายแต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ จนถึงทุกวันนี้ ปัจจุบันมี 53 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายยกเลิกการตีเด็กไปแล้ว
.
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post