Digiqole ad

เป้าหมายการท่องเที่ยวอันยิ่งใหญ่ ที่ไม่ได้มาพร้อมกับงบประมาณอันใหญ่ยิ่ง?

 เป้าหมายการท่องเที่ยวอันยิ่งใหญ่ ที่ไม่ได้มาพร้อมกับงบประมาณอันใหญ่ยิ่ง?
Social sharing

Digiqole ad
Nataphol Tovichakchaikul – ณัฐพล โตวิจักษณ์ชัยกุล สส.เชียงใหม่ เขต 3 พรรคก้าวไกล อภิปรายถึงการจัดสรรงบประมาณ 2567 ด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลนี้บอกว่าให้ความสำคัญ
.
ณัฐพล กล่าวว่า 4 เดือนที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่ารัฐบาลได้ทำตามที่พูดไว้ “อะไรทำได้ ให้ทำก่อน” “อะไรที่ไม่ต้องใช้งบประมาณให้ทำก่อน” เช่น การขยายเวลาเปิด-ปิดสนามบินเชียงใหม่ 24 ชั่วโมง การรับบท Super Salesman ของนายกฯ และที่เป็นรูปธรรมที่สุด คือนโยบาย Visa Free
.
เป้าหมายของรัฐบาลก็ชัดเจน คือ การสร้างรายได้การท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งเมื่อดูสถิติจะเห็นว่าในปี 2562 ซึ่งถือเป็นจุดพีคของการท่องเที่ยว รายได้จากการท่องเที่ยวแตะ 3 ล้านล้านบาทไปแล้ว ก่อนที่ช่วงโควิด รายได้จะลดฮวบตามสภาพ ต่อมาปี 2566 มีการประเมินไว้แล้วว่ารายได้รวมจากการท่องเที่ยวน่าจะแตะที่ 2.4 ล้านล้านบาท ส่วนเป้าหมายในปี 2567 มี 2 เป้าหมาย เป้าหมายแรก คือ 3 ล้านล้านบาท เป็นเป้าหมายที่ระบุในเอกสารงบประมาณ ส่วนอีกเป้าหมาย คือ 3.5 ล้านล้านบาท เป็นเป้าหมายที่รัฐบาลเพิ่งประกาศเปลี่ยนเมื่อไม่กี่วันก่อน
.
จนถึงตอนนี้ คิดว่ารัฐบาลน่าจะได้เห็นข้อมูลแล้ว ว่ายาแรงที่ให้ไปผ่านนโยบาย Visa Free โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนักท่องเที่ยวจีน ผลไม่เข้าเป้าอย่างที่คิด และรัฐบาลก็น่าจะรู้ตัวแล้วว่าแค่การเปิดให้เข้าประเทศได้ง่ายเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามา เพราะ ปัจจัยลบที่ส่งผลกับการท่องเที่ยวในตอนนี้ มีมากกว่าเมื่อก่อน
.
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เรื่องภาพลักษณ์ที่ไม่ดี เรื่องที่นักท่องเที่ยวมักถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ ยังไม่นับปัจจัยภายนอกประเทศ และจากที่เมื่อวาน นายกฯ แถลงถึงการยกเลิกวีซ่าถาวรระหว่างจีนกับไทย มองแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องความสัมพันธ์อันดีและการกระตุ้นเศรษฐกิจระหว่างกัน
.
แต่หากมองในมุมของการท่องเที่ยว เกรงว่าที่จีนเปิดให้แบบนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะจีนเองก็รุกหนักเรื่องท่องเที่ยวเหมือนกัน ในช่วงเดือนที่ผ่านมา จีนให้ฟรีวีซ่ากับกลุ่มประเทศยุโรปที่เป็นกลุ่มเป้าหมายเดียวกันกับเรา และให้ฟรีวีซ่ากับมาเลเซียด้วย ซึ่งนักท่องเที่ยวมาเลเซียนั้น เป็นที่รู้กันว่ามาเที่ยวไทยมากที่สุดในปีที่ผ่านมา
.
“ถ้ามองในมุมนี้ ผมมองว่าจีนคือคู่แข่งที่จะแย่งรายได้การท่องเที่ยวไปจากเรา และผมคิดว่าการท่องเที่ยวของไทย น่าจะถึงเวลาต้องมูฟออนจากจีนแล้ว”
.
จากทั้งหมดที่กล่าวมา เราย่อมคาดหวังว่าจะได้เห็นงบประมาณด้านการท่องเที่ยวที่มีความหวัง แต่พอเอาเข้าจริง อาจต้องผิดหวัง
.
📌ประเด็นแรกที่ต้องถามรัฐบาล คือ งบการท่องเที่ยวของปี 67 จะสามารถสร้างรายได้ 3 ล้านล้านบาทได้จริงหรือ?
.
ที่ถามเช่นนี้ เพราะหากเอาเป้าหมายรายได้ 3 ล้านล้านบาทเป็นตัวตั้ง แล้วเทียบกับงบประมาณที่จัดไว้ จะเห็นว่าในปี 2562 ที่เรามีรายได้แตะ 3 ล้านล้านบาท ในปีนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวและแผนงานบูรณาการฯ ก็ต่างใช้งบมากกว่าที่รัฐบาลตั้งไว้ในปี 2567 นี้ ซึ่งในปีนี้รัฐบาลตั้งงบไว้น้อยกว่าไม่พอ แต่การท่องเที่ยวไทยกำลังเผชิญกับปัจจัยลบมากกว่าในตอนนั้นด้วย
.
แต่การที่รัฐบาลเพิ่งประกาศเมื่อไม่กี่วันก่อน ว่าจะเพิ่มเป้าเป็น 3.5 ล้านล้านบาท อันนี้ยิ่งต้องตั้งคำถาม เพราะว่า งบประมาณที่ระบุในเอกสารถูกตั้งไว้สำหรับเป้าหมาย 3 ล้านล้านบาท แต่รายได้ที่ต้องการเพิ่มอีก 5 แสนล้านบาทนั้น รัฐบาลจะเอางบตรงไหนมาเพิ่มและรัฐบาลจะทำอย่างไร?
.
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอาจโต้แย้งได้ว่า งบประมาณจะมากหรือน้อยไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่อยู่ที่นโยบายว่าจะใช้เงินก้อนนั้นอย่างไร
.
📌ซึ่งก็นำมาสู่ประเด็นที่สอง ที่จะชี้ให้เห็นว่า งบท่องเที่ยว 2567 แท้จริงแล้วถูกใช้ไปกับอะไร?
.
งบก้อนแรก คือ งบจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ภายในงบก้อนนี้มีโครงการที่ถูกขอมาโดยใช้คำว่า ‘โครงการเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการ’ ซึ่งทุกโครงการรวมกันมีมูลค่ากว่า 9,100 ล้านบาท แต่เมื่อนำทุกรายการมาจำแนกดูแล้ว สิ่งที่พบคือ 70% ของเงินก้อนนี้ ถูกเอาไปทำถนน ไปทำสะพาน ไปทำรางน้ำ ไปติดไฟกิ่งส่องสว่าง และไปซ่อมผิวถนน
.
และเมื่อไปดูงบก้อนที่สองที่ชื่อว่า ‘แผนบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว’ มูลค่า 7,384 ล้านบาท ก็พบอีกเช่นกันว่าเงินจำนวน 1,251 ล้านบาท (หรือราวๆ 17%) ของก้อนนี้ ก็ถูกเอาไปทำถนนอีก
.
เมื่อนำทั้งสองก้อนมารวมกัน จะเห็นภาพชัดเลยว่า ‘งบลงทุนเพื่อการท่องเที่ยว’ ที่ตั้งไว้กว่า 16,000 ล้านบาท แท้จริงแล้ว 47% หรือเกือบครึ่งหนึ่ง คือ การเอาไปทำถนน
.
“เห็นงบทำถนนเยอะขนาดนี้ ผมนึกว่าเรากำลังทำแคมเปญ ‘เที่ยวทั่วไทย ไปได้ต้องมีรถยนต์’
ซึ่งมันคงจะดีกว่านี้ ถ้าเงินจำนวนนี้ถูกแบ่งไปทำขนส่งสาธารณะตามต่างจังหวัดบ้าง จังหวัดรอง เมืองรอง เมืองรองของเมืองรอง จะได้ไม่เป็นรองกับเขาเสียที”
.
และหากประชาชนเคยสงสัย ว่าทำไมแหล่งท่องเที่ยวถึงถูกปล่อยทิ้งร้างให้เสื่อมโทรม ทำไมไม่มีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ นี่คือคำตอบ เพราะ มีเงินแค่ 15% เท่านั้นที่ลงไปกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว
.
เรื่องนี้เรียบง่ายมากๆ ถ้าแหล่งท่องเที่ยวไม่ดี ใครจะอยากไป ดังนั้น จุดหมายปลายทาง กับ การเดินทาง ต้องถูกให้ความสำคัญพอๆ กัน
.
📌ประเด็นต่อมาที่ต้องทวงถาม คือการแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัย เช่น กรณีนักท่องเที่ยวถูกทำร้ายร่างกาย นักท่องเที่ยวถูกล่วงละเมิด และการป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวถูกเอารัดเอาเปรียบ
.
ในเอกสารพบว่ามีการตั้งงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่ทั้งหมด 12 โครงการ งบประมาณรวมอยู่ที่ 449 ล้านบาท หลายโครงการลองอ่านจากชื่อ ก็รู้สึกว่าสมเหตุสมผล แต่ก็มีบางโครงการที่ดูแล้วน่าจะต้องตั้งคำถาม
.
เช่น โครงการยกระดับความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวโดยชุมชน จำนวน 1 โครงการ มูลค่า 21,652,400 บาท และโครงการยกระดับความปลอดภัยในแหล่งท่องเที่ยวสำราญทางน้ำ จำนวน 1 โครงการ มูลค่า 21,652,400 บาท สองโครงการนี้ดูน่าสงสัยว่าคืออะไร ทำไมราคาถึงเท่ากัน
.
📌ประการสุดท้ายที่ต้องการชี้ให้เห็น ซึ่งน่าจะสะท้อนได้ดีที่สุดว่ารัฐบาลกำลังทำสิ่งที่พูดอยู่จริงหรือเปล่า คือพบว่าในงบประมาณกับหลายนโยบายที่รัฐบาลพูดไว้ ไม่สอดคล้องกัน
.
ตัวอย่างแรก การจัดงานสงกรานต์ตลอดเดือน การยกระดับสงกรานต์ให้เป็น Water Festival ตนพยายามหาในเอกสารว่ามีโครงการนี้หรือไม่ ใช้เงินเท่าไร แต่หาอย่างไรก็หาไม่เจอ กลายเป็นว่าไปเจอกิจกรรมสำราญทางน้ำรูปแบบอื่นที่รัฐบาลนี้ไม่ได้พูดไว้
.
อีกตัวอย่าง คือ เรื่องมวยไทย นายกฯ บอกว่าจะยกระดับมวยไทยขึ้นไปอีก เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในส่วนนี้ ซึ่งในเอกสารงบประมาณก็มีอยู่เพียงแค่ 1 โครงการ มีเงินสนับสนุนเพียงแค่ 5 ล้านบาท อีกตัวอย่าง คือ เรื่อง Wellness Tourism ที่เป็นนโยบายของพรรคเพื่อไทย ในงบปีนี้มีการจัดสรรงบลงไปสูงถึง 81 ล้านบาท แต่พอแตกรายละเอียดดูก็พบว่าเป็นค่าโฆษณาล้วนๆ 71 ล้านบาท เหลือเพียงราวๆ 10 ล้านบาท ที่นำไปสนับสนุนผู้ประกอบการ
.
นอกจากนี้ มีอีก 3 ตัวอย่างที่จะแสดงให้เห็นว่า ในงบประมาณฉบับนี้ มีโครงการที่น่าทำอยู่ แต่ก็กลายเป็น 3 โครงการที่ได้รับงบน้อย เช่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกว่า Green-Tourism ที่กำลังเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวต่างชาติ แต่ในงบประมาณปีนี้ พบว่ามีการสนับสนุนเพียงแค่ 6 โครงการ มูลค่ารวมราวๆ 23 ล้านบาทเท่านั้น
.
อีกตัวอย่าง คือ Muslim Friendly Tourism หรือ การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับนักท่องเที่ยวมุสลิม จากตัวเลขปีที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวมาเลเซียมาเที่ยวไทยมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่ง และหลายปีที่ผ่านมาเราก็พยายามจับกลุ่มนักท่องเที่ยวกระเป๋าหนักจากตะวันออกกลาง ในเมื่อกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมเป็นกลุ่มเป้าหมายหนึ่งที่เราต้องการ แต่ในงบประมาณปีนี้ พบเพียงโครงการเดียวที่ชื่อว่า โครงการพัฒนาขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวมุสลิม ที่ได้รับงบประมาณเพียง 2,600,000 บาท เท่านั้น
.
จากแต่ละตัวอย่าง สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่ารัฐบาลเอาจริงกับเรื่องการท่องเที่ยวแค่ไหน แค่นโยบายที่พูดไว้เองก็ยังไม่ปรากฏในงบ และหลายเรื่องที่ควรจะส่งเสริม แต่รัฐบาลกลับไม่ทำ
.
สุดท้ายสรุปได้ว่า งบประมาณท่องเที่ยวที่ปรากฎไม่สอดคล้องกับเป้าหมายรายได้ที่รัฐบาลตั้งไว้ งบประมาณฉบับนี้ไม่ได้ถูกใช้เพื่อการท่องเที่ยวอย่างตรงจุด ไม่ได้มุ่งแก้ปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว และงบประมาณฉบับนี้ ก็ไม่ตรงกับนโยบายที่รัฐบาลพูดว่าจะทำ
.
ยิ่งไปกว่านั้น ก่อนงบประมาณฉบับนี้จะออกมา มีประโยคหนึ่งของท่านนายกฯ ที่พูดไว้เมื่อเดือนก่อน ว่าท่านอยากเปลี่ยนการท่องเที่ยวจาก Quick Win ให้กลายเป็น Permanent Win
.
“แต่ท่านตอบผมได้ไหมครับ ว่าในงบประมาณท่องเที่ยวที่ออกมานี้ มีกี่เรื่อง กี่โครงการ กี่เปอร์เซ็นต์ที่มุ่งสู่เป้าหมาย Quick Win และมีกี่เรื่อง กี่เปอร์เซ็นต์ที่มุ่งสู่เป้าหมาย Permanent Win หากรัฐบาลตอบไม่ได้ ก็เกรงว่าเป้าหมายการท่องเที่ยวที่ท่านตั้งไว้ มันจะเป็นไปไม่ได้ ซึ่งคนที่จะเดือดร้อนที่สุด ก็คือ ผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ พ่อค้าแม่ค้า ที่พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว หลายคนยังเป็นหนี้เป็นสิน ยังไม่สามารถปลดหนี้ได้”
.
“เป้าหมายการท่องเที่ยวอันยิ่งใหญ่ แต่กลับจัดงบออกมาแบบนี้ สิ่งที่ท่านจะให้ประชาชน คงไม่ใช่ Win ที่แปลว่า ชนะ แต่เป็น Wind ที่แปลว่า ลม เหมือนความฝันลมๆแล้งๆ ที่ไม่รู้ว่าจะทำให้เป็นจริงได้อย่างไร”
.
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post