
“เที่ยวและมูคู่กัน” จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร เล่าเรื่องตอนที่ 19 : เที่ยวเมืองมรดกโลกโคราช กราบ “หลวงพ่อคูณ” เทพเจ้าด่านขุดทด (อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 396 วันที่ 8-14 ก.ย.66)


อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 396 วันที่ 8-14 กันยายน 2566
หน้า 31 คอลัมน์ : เที่ยวและมูคู่กัน
เรื่อง/ภาพ : จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร
ตอนที่ 19 : เที่ยวเมืองมรดกโลกโคราช
กราบ “หลวงพ่อคูณ” เทพเจ้าด่านขุดทด
“นครราชสีมา” (Nakhon Ratchasima) เป็นจังหวัดที่ได้รับการรับรองจากองค์การยูเนสโก ให้โคราชจีโอพาร์ค เป็น “จีโอพาร์ค โลกยูเนสโก” (UNESCO Global Geopark) ซึ่งมีความโดดเด่น คือ มีภูมิประเทศแบบ “เควสตา” หรือ “เขารูปอีโต้” และฟอสซิล 3 ยุค (Cuesta & Fossil Land) เชื่อมโยงกับระบบนิเวศป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ว และวิถีชีวิตผู้คนกว่า 4,000 ปี ในพื้นที่ลุ่มน้ำลำตะคอง ครอบคลุม 5 อำเภอของจังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ สีคิ้ว สูงเนิน ขามทะเลสอ อำเภอเมือง และอำเภอเฉลิมพระเกียรติ ซึ่งมีแหล่งท่องเที่ยวหลากหลายกระจายอยู่ในพื้นที่ถึง 39 แหล่ง ผลจากการได้รับเป็นอุทยานธรณีโลกโคราช ทำให้จังหวัดนครราชสีมาเป็น “เมือง 3 มรดกโลกยูเนสโก” (UNESCO Triple Heritage City) โดยมี 3 มรดกยูเนสโก ได้แก่ 1. มรดกโลกทางธรรมชาติ “ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่” 2. พื้นที่สงวนชีวมณฑลโลก “สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช” 3. อุทยานธรณีโลก “โคราชจีโอพาร์ค”
แม้ว่า “จังหวัดนครราชสีมา” (โคราช) จะไม่ใช่เมืองรอง 55 จังหวัด แต่เมื่อได้รับการรับรองจากยูเนสโกให้เป็น ดินแดน 3 มรดกโลก ก็ทำให้นครราชสีมาหรือโคราชถูกจังตามองอีกครั้ง แน่นอนว่า โคราช เป็นประตูสู่ภาคอีสานถือได้ว่าเป็นจังหวัดใหญ่อีกหนึ่งจังหวัดและมีการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจจากการท่องเที่ยวมากมาย เมื่อโคราชได้เป็นเมืองมรดกโลกจึงทำให้มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปมากขึ้น หลายคนรู้จักโคราชเป็นอย่างดีเพราะที่จังหวัดแห่งนี้มีเกจิดัง นั่นคือ “หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ” (พระเทพวิทยาคม) แห่งวัดบ้านไร่ ต.กุดพิมาน อ.ด่านขุดทด ซึ่งท่านได้รับฉายาจากศิษยานุศิษย์ว่า“เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด”
ผมเองเคยไปวัดบ้านไร่ในช่วงเวลาที่หลวงพ่อคูณนั้นยังมีชีวิตอยู่ และแน่นอนคือ “การเคาะหัว” ผมจำได้เลยว่าในช่วงเวลานั้นประชาชนพุทธศาสนิกชนเยอะมาก คับคั่งแออัด หลายคนต้องการให้หลวงพ่อคูณเคาะหัว ท่านยังแข็งแรงในช่วงเวลานั้นและเดินเคาะหัวให้กับทุกคน สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยลืมเลยคือ พุทธศาสนิกชนร่วมทำบุญเวลาหลวงพ่อคูณเดินมาเคาะหัว ท่านจะหยิบธนบัตรที่มีมูลค่าน้อยกว่าไปทุกครั้ง เช่าถ้าเราจะร่วมทำบุญ ธนบัตร ใบ 100 และ 500 บาท ท่านก็จะหยิบใบละ 100 บาทไป
นอกจากนี้ยังมีคำสอนใจของหลวงพ่อคูณ ที่ได้กลายเป็น “อมตะวาจา” มากระทั่งถึงทุกวันนี้ อาทิ
– “อยากให้บ้านเราเจริญนะ ไม่ยากหรอก รักษาศีล 5 ให้บริสุทธิ์ ไม่ให้ขาด อย่าให้ด่างพร้อย”
– “ให้ละชั่ว ทำดีกันเท่านั้นแหละ บุญบาปมีจริงลูกหลานเอ๊ย รักตัวกลัวภัยอย่าทำชั่ว ให้ตั้งอยู่ในเมตตา”
– “มงคลเหมือนเปลือกไม้ หากผ่านเปลือกไปได้ท่านก็จะถึงแก่น ซึ่งการฝ่าเปลือกไม้ไปได้ท่านต้องรู้จักให้ทาน”
– “ใครขอกูก็ให้ ไม่เลือกยากดีมีจน ถ้ามีใจอยู่กับพุทโธ ให้เป็นกลางๆ ไม่สอดส่ายไปไหน นั่นหมายความว่าใจเป็นสมาธิ จะช่วยปกป้องคุ้มครองเราได้ดียิ่ง ยิ่งกว่ามีวัตถุมงคลใดๆ ในโลก”
-โลภ โกรธ หลง มึงอย่าไปหลงงมงายเชียวนะ ถ้ามึงไม่อยู่ในศีลในธรรมมึงก็จะเป็นไปตามกรรมที่มึงสร้างไว้
– “มึงอย่าไปดุไปด่าลูกมัน จะเป็นไปตามปากมึง ให้เรียกมันอีคนดี ไอ้คนดีถ้ามึงด่ามันเลว มันก็จะไปทำเรื่องไม่ดี พ่อแม่เองก็ต้องไม่ทำเรื่องไม่ดีที่จะเป็นแบบอย่างให้กับลูก”
– “อย่ามัวมองคนอื่นว่าเขาไม่ดี แต่เราต้องมองตนเองก่อนว่าดีพอหรือยัง
– “การทำตัวให้เป็นผู้ยิ่งใหญ่นั้นง่าย แต่จะสร้างสมบุญให้มีบารมีนั้นเป็นเรื่องยาก ต้องเป็นผู้ให้ด้วยธรรมอันบริสุทธิ์จริง”
– “ยิ่งเอามันยิ่งอด ยิ่งสละให้หมดมันยิ่งได้”
ปัจจุบันนอกจากจะมีรูปหล่อเหมือนและรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งหลวงพ่อคูณไว้ให้ศิษยานุศิษย์ได้กราบสักการะแล้ว มีสถานที่ที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งถือว่าเป็นแลนด์มาร์คของวัดบ้านไร่คือ “วิหารวิทยาคม” อุทยานธรรมกลางบึงน้ำขนาดใหญ่ ที่สวยงามตื่นตาตื่นใจยิ่งนัก ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่า ที่ก่อสร้างขึ้นตามเจตนารมณ์ของหลวงพ่อคูณ ที่ต้องการจะให้เป็นมหาวิหารแห่งพระไตรปิฎก ทั้งยังเป็นสถานที่รวบรวมพุทธประวัติ พระวินัย และพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ทรงแสดงไว้ทั้งหมด
ทั้งนี้ผมมีโอกาสกลับไปที่นี่อีกครั้ง ยามเย็นที่ไม่มีประชาชนในวัดเลยและใกล้จะปิด ความเงียบเหงาเข้ามาแทนที่ แต่มนเสน่ห์ยังคงมีอยู่ตลอดเวลสาเมื่อเรามองไปที่รูปเหมือนของหลวงพ่อคูณบรรยายกาศภาพความทรงจำเดิม ๆในสมัยวัยเด็กก็กลับมาอีกครั้ง
แต่ในวันนี้วันที่ไม่มีหลวงพ่อคูณมาเดินเคาะหะวพวกเราแล้ว เหลือแต่ความทรงจำ ศึกษาประวัติ คำสอนต่างๆที่หลวงพ่อคูณได้ฝากทิ้งเอาไว้ และถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกับรูปหล่อของหลวงพ่อคูณเพื่อเก็บไว้เป็นความทรงจำที่ดีพร้อมกราบไว้บูชาเพื่อขอบารมีให้เจริญรุ่งเรืองต่อไปในอนาคต
ผมอยากให้ทุกคนไปเที่ยวด้วยความสุข ไปเที่ยวด้วยการศึกษาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ไปก่อนและเชื่อได้เลยว่าท่านจะมีความสุขกับการท่องเที่ยวอย่างแน่นอน….พบกันใหม่ฉบับหน้า สวัสดีครับ !
(ภาพบางส่วน : เพจวัดหลวงพ่อคูณ(วัดบ้านไร่) อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา)
อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 396 วันที่ 8-14 กันยายน 2566
หน้า 31 คอลัมน์ : เที่ยวและมูคู่กัน
เรื่อง/ภาพ : จิรัฏฐวัฒน์ ศิริบุตร
ตอนที่ 19 : เที่ยวเมืองมรดกโลกโคราช
กราบ “หลวงพ่อคูณ” เทพเจ้าด่านขุดทด
https://book.bangkok-today.com/books/vwbs/
(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)