Digiqole ad

รุกแนวทางพัฒนาระบบประกันภัยเกษตร สศก. ลงพื้นที่สำรวจความต้องการระบบประกันภัย ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ประมง และทุเรียน

 รุกแนวทางพัฒนาระบบประกันภัยเกษตร สศก. ลงพื้นที่สำรวจความต้องการระบบประกันภัย  ของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง ประมง และทุเรียน
Social sharing
Digiqole ad

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์    เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติ ได้สร้างความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตรและชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกร ซึ่งรัฐบาลต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการชดเชยให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ จึงได้มีการพัฒนาระบบประกันภัยการเกษตรให้เป็นกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากผลกระทบของภัยพิบัติทางธรรมชาติ และสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพให้แก่เกษตรกร  ดังนั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย สศก. ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือทางวิชาการและการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการประกันภัยการเกษตรร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พัฒนาระบบประกันภัยการเกษตรอย่างยั่งยืน เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการความเสี่ยงและยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รวมถึงการประกันอุบัติเหตุจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรมด้วย

ปัจจุบันรัฐบาล มีการดำเนินงานโครงการประกันภัยการเกษตรสำหรับเกษตรกร จำนวน 2 สินค้า ได้แก่ โครงการประกันภัยข้าวนาปี และโครงการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมีการประกันภัยของภาคเอกชน  ในสินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ เช่น ทุเรียน ลำไย โคเนื้อ โคนม อย่างไรก็ตาม ภัยพิบัติทางธรรมชาติส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ทั้งด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ สศก. โดยสำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร จึงได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติในการผลิตสินค้าเกษตร และความต้องการของเกษตรกรต่อการทำประกันภัยการเกษตร เพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนในการขับเคลื่อนการประกันภัยการเกษตรของประเทศไทย

ด้านพืช จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจสังคมครัวเรือนและประกันภัยการเกษตรของเกษตรกร  ผู้ปลูกมันสำปะหลัง ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี ระหว่างวันที่ 1 – 3 มีนาคม 2566 พบว่า ปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูก     มันสำปะหลัง ในช่วง 3 – 4 ปี ที่ผ่านมา พบปัญหาหลักจากการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลัง เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกชนิดพันธุ์ 89 ซึ่งเป็นชนิดพันธุ์ที่มีน้ำหนักดี ทำให้ได้ผลผลิตมาก แต่ไม่ทนทานต่อโรคใบด่างมันสำปะหลัง การระบาดเกิดได้จาก 2 สาเหตุหลัก ได้แก่ การนำท่อนพันธุ์ที่ติดโรคมาเพาะปลูก และการติดเชื้อจากแมลงพาหะ ได้แก่ แมลงหวี่ขาวยาสูบ ซึ่งพบการระบาดครั้งแรกในพื้นที่อำเภอห้วยกระเจา เมื่อปี 2562 ซึ่งจากข้อมูลในเดือนมกราคม 2566 พบว่า พื้นที่อำเภอบ่อพลอย มีพื้นที่ระบาดโรคใบด่างมันสำปะหลัง 218 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 29 ราย อำเภอห้วยกระเจา        มีพื้นที่ระบาด 3,505 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 105 ราย อำเภอเลาขวัญมีพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังมากที่สุด เนื่องจากพื้นที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกมันสำปะหลัง มีพื้นที่ระบาด 1,612.25 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 214 ราย และอำเภอท่าม่วง พบการระบาดครั้งแรกในปี 2565  มีพื้นที่ระบาด 433.50 ไร่ เกษตรกรได้รับผลกระทบ 38 ราย สำหรับมันสำปะหลังที่ติดโรคช่วงที่มีอายุ 5 เดือนขึ้นไป จะให้ผลผลิตลดลงประมาณร้อยละ 20-50 ของผลผลิตมันสำปะหลังปกติ ในขณะที่การระบาดที่เกิดจากท่อนพันธุ์ติดเชื้อจะไม่ให้ผลผลิต

 

ในด้านความต้องการประกันภัยของเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง พบว่า เกษตรกรมีความสนใจในการประกันภัยมันสำปะหลัง หากเงื่อนไขการรับประกันมีความน่าสนใจ และเหมาะสม ซึ่งหากมีโครงการประกันภัยมันสำปะหลัง ควรทำประกันในชนิดพันธุ์ที่ต้านทานโรคใบด่างมันสำปะหลัง เช่น พันธุ์ระยอง 72 เกษตรศาสตร์ 50 ระยอง 5 และพันธุ์ห้วยบง ในส่วนของการตรวจสอบความเสียหายเพื่อชดเชยค่าสินไหม ควรมีคณะกรรมการประเมินความเสียหายที่ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่เกษตรและผู้นำชุมชน เพิ่มเติมจากการใช้ประกาศเขตการให้ความช่วยหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน          ในเบื้องต้นเกษตรกรมีความสนใจทำประกันภัยโดยเต็มใจจ่ายเบี้ยประกันในอัตราร้อยละ 20 ของค่าเบี้ยประกัน และควรมีการจ่ายค่าชดเชยเมื่อมันสำปะหลังมีความเสียหายจากโรคมากกว่าร้อยละ 50 ของแปลงปลูก

ด้านประมง ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์เรือประมงพื้นบ้าน จากกลุ่มประมงเรือเล็กลูกน้ำเค็มก้นปึก         และวิสาหกิจชุมชนประมงเรือเล็กตากวน – อ่าวประดู่ จังหวัดระยอง ระหว่างวันที่ 18 – 19 เมษายน 2566 พบว่า ปัจจุบันชาวประมงพื้นบ้านยังไม่มีการทำประกันภัยเรือประมงพื้นบ้าน โดยการประกอบอาชีพของชาวประมงกลุ่มประมงเรือเล็กลูกน้ำเค็มก้นปึก มีเรือประมาณ 70 ลำ ส่วนใหญ่เป็นเรือขนาดไม่เกิน 3 ตันกรอส ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตทำการประมงพื้นบ้าน โดยสมาชิกครอบครองเรือเฉลี่ยครัวเรือนละ 1-2 ลำ มีวิธีการจับสัตว์น้ำโดยนิยมออกเรือไปเช้า – กลับเย็น หรือค้างคืนประมาณ 4 – 5 วัน ปกติไม่จ้างแรงงานจับสัตว์น้ำ เครื่องมือทำการประมง ได้แก่ อวนปู อวนครอบหมึก

ลอบปลา ในช่วงมรสุมจะออกเรือ 3-4 ครั้งต่อเดือน หรือไม่ออกเรือเลย ขึ้นกับระดับความแรงของลม และระดับน้ำทะเล สัตว์น้ำที่จับได้ขายแบบสดให้ผู้รับซื้ออาหารทะเลจะได้ราคาดีกว่าการแช่แข็ง ชาวประมง มีการระมัดระวังในการประกอบอาชีพเป็นอย่างดี จะพิจารณาสภาพอากาศ พายุ และติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างสม่ำเสมอ ไม่ออกเรือในช่วงที่คาดว่าจะมีพายุรุนแรง ขณะที่วิสาหกิจชุมชนประมงเรือเล็ก ตากวน-อ่าวประดู่ มีเรือขึ้นทะเบียนจำนวน 65 ลำ ส่วนใหญ่   มีขนาดไม่เกิน 3 ตันกรอส ออกเรือจับสัตว์น้ำแบบไปเช้า – เย็นกลับ โดยใช้อวนปู อวนปลา อวนกุ้ง และลอบหอยหวาน สมาชิกออกเรือทุกวัน ชาวประมง  จะพิจารณาสภาพอากาศ หากไม่รุนแรงจะนิยมออกเรือ เนื่องจากช่วงที่มีคลื่นลม         จะสามารถจับปูได้มากกว่าช่วงที่ทะเลน้ำนิ่ง นอกจากนี้ ยังเลี้ยงหอยแมลงภู่เป็นอาชีพเสริมโดยขายเป็นผลิตภัณฑ์สด       และแปรรูป

สำหรับความต้องการในการประกันภัยเรือประมงพื้นบ้าน ชาวประมงมีความกังวลเรื่องหลักฐานที่จะใช้เคลมประกัน เนื่องจากช่วงที่มีภัยพิบัติพายุพัดเรือจมเสียหาย ชาวประมงต้องรักษาชีวิตให้รอด ไม่สามารถถ่ายภาพเพื่อเป็นหลักฐานในการเคลมประกัน และรูปแบบการประกันต้องครอบคลุมความเสียหายที่ชาวประมงได้รับ เช่น เรือ วิทยุสื่อสาร และอุปกรณ์ต่าง ๆ และสามารถเคลมประกันได้ จึงจะสนใจเข้าร่วมโครงการประกันภัย อย่างไรก็ตาม ชาวประมงพื้นบ้านต้องการให้ภาครัฐให้การสนับสนุนการประกอบอาชีพ เกี่ยวกับอุปกรณ์ทำประมง และตลาดจำหน่ายผลผลิต เช่น         ตลาดหอยแมลงภู่ เป็นต้น เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ให้ชาวประมงพื้นบ้านมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้ติดตามสถานการณ์การผลิตทุเรียน ณ สวนสุวรรณจินดา ในพื้นที่อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2566 โดยเป็นสวนที่มีการทำฟาร์มอัจฉริยะติดตั้งเครื่องวัดความเร็วลม สนับสนุนโดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งวาตภัยและภัยแล้งเป็นภัยธรรมชาติที่สำคัญที่สร้างความเสียหายแก่สวนทุเรียนมากที่สุด การติดตั้งเครื่องวัดความเร็วลมเพื่อลดความสูญเสียของทุเรียนจากวาตภัย ค่าความเร็วลมที่วัดได้เป็นรูปแบบ real time  มีการศึกษาระดับความเร็วลม ช่วงระยะเวลาที่เกิดภัยและผลกระทบ ทำให้สามารถบริหารจัดการได้ทันเวลา เช่น การใช้ไม้ค้ำการโยงผลทุเรียนด้วยเชือก

ในส่วนของความคิดเห็นต่อการทำประกันภัย มีความเห็นว่า ปัจจุบันเกษตรกรยังไม่สนใจการประกันภัยเนื่องจากความถี่ของการประสบปัญหาวาตภัยยังมีน้อย ผลกระทบจะเกิดมากกับบริเวณพื้นที่เป็นแนวลมพายุ และการประกันภัยปัจจุบันยังไม่ครอบคลุมภัยพิบัติที่เกษตรกรได้รับ ทั้งนี้ เครื่องวัดความเร็วลมจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ใช้ในการตรวจสอบความเสียหายจากภัยพิบัติทางธรรมชาติในการประกันภัยได้ต่อไป

 “จากการติดตามสถานการณ์ลงพื้นที่ในครั้งนี้ จะเป็นข้อมูลสำหรับใช้ในการให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนาระบบประกันภัยของประเทศไทยต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การศึกษาสถานการณ์การผลิตทุเรียนโดยการติดตั้งเครื่องวัดความเร็วลม  สศก. มีแผนจะดำเนินการร่วมกับสำนักงาน คปภ. และหน่วยงานที่มีความร่วมมือทางวิชาการ ในการทำสนามทดลองสำหรับพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยทุเรียนโดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Internet of Things (IoT)         และภูมิสารสนเทศในการวัดค่าความเร็วลม เพื่อให้ข้อเสนอแนะในการพัฒนา Weather-Index Insurance ต่อไป ” เลขาธิการ สศก. กล่าว

Facebook Comments

Related post