Digiqole ad

3 โซลูชันเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน

 3 โซลูชันเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้าอย่างยั่งยืน
Social sharing

Digiqole ad

ตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา ผู้บริโภคชาวไทยต่างได้เห็นขบวนรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรุ่นจากผู้ผลิตทั้งในยุโรปและเอเชีย ตบเท้าเข้ารุกตลาดยานยนต์ในประเทศกันอย่างคับคั่ง โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 3 และ 4 ที่เป็นช่วงการจัดมหกรรมยานยนต์ที่ผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก ซึ่งแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าก็สามารถทำยอดขายได้อย่างน่าประทับใจจนทำให้ตลอดปี 2566 ไทยมียอดจดทะเบียนรถไฟฟ้ามากกว่า 70,000 หมื่นคันเลยทีเดียว

 

LiB Consulting บริษัทที่ปรึกษาชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น ได้วิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมและความท้าทายที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์นี้ และแน่นอน ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการรถยนต์เครื่องสันดาป ตลอดจนแนวทางตอบรับต่อเทรนด์ระดับโลกเพื่อการรักษาเสถียรภาพของไทยในฐานะแหล่งผลิตรถยนต์ชั้นนำของอาเซียน และสามารถเติบโตต่อไปได้ในตลาดที่กำลังเปลี่ยนแปลง

 

ปักธงวิสัยทัศน์ใหม่ตอบรับยุคแห่งพลังงานไฟฟ้า

แม้การมาถึงของยุครถไฟฟ้าดูจะเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา แต่ภาครัฐบาลได้เล็งเห็นถึงแนวโน้มดังกล่าวมาก่อนหน้านี้และได้ประกาศ 2 แนวทาง สำหรับกลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์สันดาป เพื่อการรักษาสถานะผู้ผลิตแห่งภูมิภาคในปี 2030  ซึ่งได้แก่ 1) 70@30 Future ICE  และ 2) 30@30 ZEV กล่าวคือ ภายในปี 2030 มีการตั้งเป้าการผลิตรถยนต์ในไทยราว 2,500,000 คัน ซึ่งตามวิสัยทัศน์นี้ ไทยควรปรับสัดส่วนการผลิตรถยนต์สันดาป รวมถึง hybrid (Internal Combustion Engine: ICE) ไว้ที่ 70% คือราว 1,500,000 คัน และอีก 30% หรือกว่า 750,000 คันควรเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% (Zero Emission Vehicle: ZEV)

 

70@30 Future ICE

การพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ ทำให้ภาครัฐประกาศแนวทางการปรับสัดส่วนการผลิต ผ่านแนวทางเชิงปฏิบัติ 2 ด้าน ได้แก่

  • ส่งเสริมการขยายตลาดการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วน REM (Replacement Equipment Manufacturing) ไปยังกลุ่มประเทศที่ยังใช้เครื่องยนต์ ICE: ปัจจุบันรถยนต์ในโลกมีกว่า 2,000 ล้านคันและอายุเฉลี่ยราว 18 ปี ซึ่งยังมีโอกาสสำหรับผู้ผลิตไทยในการส่งออกเพื่อตอบสนองความต้องการชิ้นส่วนทดแทนสำหรับรถยนต์เก่าในต่างประเทศ
  • ส่งเสริมการผลิต Future ICE เพื่อรักษา Economy of Scale ที่แข่งขันได้ในช่วง 5-10 ปี: ปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายส่งเสริม Product Champion เช่น Pick up /Eco Car และกรมสรรพสามิตมีการกำหนดโครงสร้างภาษีสรรพสามิตที่จะบังคับใช้ปี 2569 (ค.ศ. 2025) ซึ่งสะท้อนการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมสู่ยานยนต์

 

30@30 ZEV

เน้นความสำคัญของการสร้างรากฐานและเพื่อมุ่งสู่การเป็นฐานการผลิต ZEV ในตลาดโลกอย่างเต็มตัว ผ่านมาตรการส่งเสริมใช้ยานยนต์ไฟฟ้าทั้งการให้เงินสนับสนุนและการลดภาษี รวมถึงมาตรการอื่น ๆ อาทิ

  • แสวงหาตลาดใหญ่รองรับทั้งการส่งออกและการซื้อภายในประเทศ: ผ่านการกำหนดนโยบายและมาตรการสนับสนุน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างความมั่นใจทั้งสำหรับผู้ประกอบการและผู้บริโภค
  • ส่งเสริมการลงทุนแบบยั่งยืนจากต่างประเทศและดึงดูดผู้ผลิตไทยเข้าสู่อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่: เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคง
  • สร้างความพร้อมเพื่อการแข่งขันใน Next-gen Vehicle: นอกจากรถยนต์พลังเซลล์แบตเตอรี ไทยควรมีวิสัยทัศน์ที่ก้าวหน้าไปอีกขั้นสำหรับยานยนต์พลังงานสะอาดใหม่อื่น ๆ

 

อย่างไรก็ดี LiB Consulting และสภาอุตสาหกรรม ยังได้นำเสนอแนวทางที่ 3 คือการปรับเปลี่ยนสายการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปไปเป็นการผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์เพื่อรองรับธุรกิจอื่น ๆ (Transformation of Auto Parts Suppliers) เพื่อเป็นอีกหนึ่งโซลูชันในการปรับตัวของผู้ประกอบการบางรายที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสายการผลิตให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้ ซึ่ง LiB Consulting เสนอแนะว่าภาครัฐควรส่งเสริมการปรับตัวของผู้ผลิตให้สามารถปรับตัวไปทำธุรกิจอื่น ๆ ได้โดยไม่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ส่วน ได้แก่

  1. ผลักดัน Part Transformation เพื่อลดความเสี่ยงในอนาคตสู่อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ: ผ่านการสนับสนุนอุตสาหกรรมใกล้เคียงเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเปลี่ยนผ่านธุรกิจตัวเองได้ แนวทางการดำเนินงาน: ส่งเสริมอุตสาหกรรมใกล้เคียง เช่น ระบบราง เครื่องมือแพทย์ โดยกำหนดสัดส่วน Local Content เพื่อให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปสามารถแข่งขันกับผู้เล่นเดิมใน Supply Chain ของอุตสาหกรรมอื่น
  2. สนับสนุนการทำธุรกิจใหม่ของผู้ผลิตชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาป: ภาครัฐมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดนโยบายเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ในแวดวงธุรกิจใหม่ แนวทางการดำเนินงาน: ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสินค้าใหม่ที่ผลิตโดยผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เดิม โดยเห็นได้จากกรณีศึกษาของกระทรวงอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ซึ่งให้เงินสนับสนุนการลงทุนในการตั้งธุรกิจใหม่ของผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์เดิม โดยมีการกำหนดเกณฑ์และเงื่อนไขอย่างชัดเจน

 

คาดการณ์ผลสัมฤทธิ์จากแนวทางทั้ง 3 รูปแบบ

หากผู้ประกอบการสามารถดำเนินงานตามแนวทางและวิสัยทัศน์ดังที่กล่าวมา และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเหมาะสม LiB Consulting คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะสามารถรักษาตำแหน่งผู้ผลิตยานยนต์อันดับ 1 ของอาเซียนและทะยานขึ้นมาเป็นอันดับ 10 ของโลกได้ ซึ่งจะสามารถส่งออกรถยนต์ได้กว่า 170 ประเทศทั่วโลก ด้วยส่วนแบ่งตลาด (Industrial GDP Share) ที่ราว 11% ซึ่งจะมีจำนวนซัพพลายเออร์มากกว่า 1,400 ราย และสร้างตำแหน่งงานได้มากกว่า 750,000 ตำแหน่ง

 

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าภาระส่วนใหญ่จะยังคงตกไปอยู่ที่ภาครัฐและกระทรวงต่าง ๆ อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงหน่วยงานและสถาบันต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการกำหนดนโยบายและมาตรการเชิงปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม แต่ในทางกลับกันผู้ประกอบการเองก็ยังคงต้องเป็นฝ่ายปรับตัว เพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมการผลิตในธุรกิจยานยนต์ไทยให้เติบโตและแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็ง และจะสามารถตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน

เรียบเรียงโดย ศรา จงบัญญัติเจริญ กรรมการผู้จัดการบริษัท ลิบ คอนซัลติ้ง

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post