Digiqole ad

20 ปีไฟใต้ ทบทวนต้นทุนที่สังคมไทยเสียไป ถึงเวลารัฐบาลหาวิธีการใหม่สู่การสร้างสันติภาพ ลดงบไม่จำเป็น แบ่งปันอำนาจกับท้องถิ่นมากกว่านี้ ด้วยใจที่เปิดกว้าง-กล้าหาญ ]

 20 ปีไฟใต้ ทบทวนต้นทุนที่สังคมไทยเสียไป ถึงเวลารัฐบาลหาวิธีการใหม่สู่การสร้างสันติภาพ ลดงบไม่จำเป็น แบ่งปันอำนาจกับท้องถิ่นมากกว่านี้ ด้วยใจที่เปิดกว้าง-กล้าหาญ ]
Social sharing

Digiqole ad
Romadon Panjor – รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 2567 เกี่ยวกับงบแก้ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้ โดยกล่าวว่า วันนี้ 4 มกราคม เป็นโอกาสอันดีในการทบทวนบทเรียนการแก้ปัญหาตลอด 2 ทศวรรษ เนื่องจากเป็นวันครบรอบ 20 ปีเหตุการณ์ปล้นปืนค่ายปิเหล็ง จ.นราธิวาส ที่กองกำลังติดอาวุธ ต่อมาทราบว่าคือขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติ (บีอาร์เอ็น) บุกเข้าไปในค่ายทหาร ปล้นปืนไปเกือบ 400 กระบอก ถือเป็นหมุดหมายสำคัญ จุดเริ่มต้นทำให้สังคมไทยให้ความสนใจมากขึ้นเกี่ยวกับสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
.
ความไม่สงบหรือความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นวิกฤติแน่นอน เพราะยืดเยื้อ-ยาวนาน-เรื้อรัง เราต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาแล้ว 74 ครั้ง ในวันที่ 19 มกราคมที่จะถึง รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะต่ออายุอีกเป็นครั้งที่ 75 หรือไม่ และเราประกาศกฎอัยการศึกมาแล้วตั้งแต่ปี 2547
.
วิกฤติที่ยาวนานอย่างนี้ การจัดงบประมาณที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?
.
[ ต้นทุนที่สังคมไทยเสียไปใน #งบดับไฟใต้ ]
.
ในการอภิปรายนโยบายรัฐบาลเมื่อเดือนกันยายน 2566 ตนตั้งประเด็นเรื่องงบดับไฟใต้ ว่าถ้ารัฐบาลนี้จะจริงจัง ใส่ใจ กล้าหาญพอ ต้องแตะงบนี้ เพราะงบดับไฟใต้จะทำให้เราประเมินต้นทุนของสังคมไทยที่ใช้รับมือวิกฤตและนำมาสู่การจัดลำดับความสำคัญของนโยบายได้
.
คำถามของตนคือ ต้นทุนของสังคมไทยในการจัดการวิกฤตไฟใต้ เราสูญเสียอะไรไปบ้าง?
.
เราตอบคำถามนี้ได้หลายหลายแบบ สำหรับตนดูแค่ 2 เรื่อง คือชีวิตคนและงบประมาณ จากข้อมูลของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถิติสะสม 20 ปีจนถึง 31 ธันวาคม 2566 มีจำนวนเหตุการณ์เกิดขึ้น 22,296 ครั้ง คนบาดเจ็บล้มตายกว่า 20,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตรวม 7,547 ราย โดยเห็นได้ชัดว่าตั้งแต่ปี 2556 ที่มีกระบวนการสันติภาพเปิดเผยต่อสาธารณะ สถานการณ์ก็ดีขึ้น
.
ส่วนแนวโน้มงบประมาณดูเหมือนจะสวนทางกัน จะกระเตื้องขึ้นมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับขณะนั้นรัฐบาลมาจากรัฐประหารหรือไม่ งบประมาณโดยรวมใช้ไปแล้ว 5.4 แสนล้านบาท นี่คือต้นทุนที่เราสูญเสียไป
.
ขณะที่ปีงบ 67 มีคำของบประมาณในจังหวัดชายแดนใต้กว่า 25,000 ล้านบาท โดยตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา งบมี 2 ยอด ได้แก่ (1) แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ (2) งบประมาณที่อยู่ในแผนอื่นๆ และระบุอย่างเฉพาะเจาะจงว่าเป็นการใช้เพื่อจังหวัดชายแดนภาคใต้
.
“ที่ผ่านมาเวลาเจ้าหน้าที่ชี้แจง จะชี้แจงแค่แผนงานบูรณาการ แต่ผมต้องการชี้ให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว ต้นทุนของสังคมไทย ภาษีของเราใช้จ่ายเพื่อรับมือกับวิกฤตนี้เยอะกว่านั้น”
.
[ ปรับจากสันติภาพเชิงลบ ไปสู่สันติภาพเชิงบวก ]
.
เมื่อดูว่างบชายแดนใต้อยู่ตรงไหนบ้าง จะพบว่างบบูรณาการชายแดนใต้เป็นเพียง 1 ใน 4 ของยอดรวมเท่านั้น โดยแผนบูรณาการดับไฟใต้ของปี 67 มีตัวชี้วัดหลักคือจำนวนเหตุรุนแรงลดลงร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับปี 2560 และงบเพื่อการพูดคุยสันติสุขมีเพียง 0.29% เท่านั้น ทั้งที่เป็นแนวทางยุทธศาสตร์
.
จึงอยากวิเคราะห์ต่อว่า เป้าหมายดังกล่าวที่ระบุในแผนบูรณาการฯ สำหรับนักวิจัยสันติภาพ เราเรียกสิ่งนี้ว่า ‘สันติภาพเชิงลบ’ (Negative Peace) เป็นสันติภาพที่มีเงื่อนไขว่าต้องลดบางอย่าง คือลดความรุนแรง แต่ในความเห็นของตน แค่นี้ไม่พอ รัฐบาลพลเรือนควรมีความทะเยอทะยานมากกว่านี้ มุ่งมั่นทางการเมืองมากกว่านี้
.
ด้วยการทำให้เกิด ‘สันติภาพเชิงบวก’ (Positive Peace) พิจารณาว่าเงื่อนไขของความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาจากอะไร และต้องเพิ่มบางอย่างเข้าไป เช่น เพิ่มความยุติธรรม เพราะเหตุผลที่ผู้คนต่อต้านหรือก่อกบฏ เป็นเพราะรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม หรือการแบ่งปันปันอำนาจ เช่นการกระจายอำนาจ การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ การปรับปรุงกฎหมาย การปฏิรูปกองทัพ เป็นต้น
.
แต่ดูเหมือนภายใต้การจัดงบประมาณแบบนี้ ยังมองแค่สันติภาพเชิงลบเท่านั้น
.
[ เปลี่ยนตัวชี้วัด – งบไอโอซ่อนอยู่ตรงไหน? ]
.
เมื่อดูงบบูรณาการดับไฟใต้ปีนี้ เพิ่มขึ้น 6.5% ถือว่าไม่เยอะมาก แต่จุดสำคัญอยู่ที่ตัวชี้วัดของการแก้ไขปัญหา เพราะก่อนหน้านี้ ตัวชี้วัดคืองบประมาณด้านความมั่นคงลดลงร้อยละ 10 ต่อปี ซึ่งตนเห็นว่าตัวชี้วัดที่ดีมาก นั่นเพราะข้อกล่าวหาที่ผ่านมา คือ ‘ถ้าสงบ งบจะไม่มา’ ความไม่สงบเกิดขึ้นเพราะมีแรงจูงใจในการดึงงบ ถ้าสภาพปัญหาลดลง งบประมาณก็จะลดลงด้วย
.
ปัญหาก็คือ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ในรัฐบาลประยุทธ์ มีการปรับตัวชี้วัดนี้ ให้ตัวชี้วัดด้านงบประมาณหายไป เปลี่ยนเป็น ‘ดัชนีความสงบสุขภาคใต้’ ซึ่งไม่รู้ว่ามีการประเมินเรื่องงบประมาณประกอบไปด้วยหรือไม่ ด้วยเหตุนี้การจัดงบประมาณชายแดนใต้ในรัฐบาลชุดนี้ จึงต้องล้อตามกรอบที่รัฐบาลประยุทธ์วางไว้
.
“จากเดิมเราต้องลดงบประมาณเพื่อชี้ว่าเราแก้ปัญหาได้ แต่กลายเป็นตอนนี้ ไม่ว่าจะสงบหรือไม่สงบ งบก็ต้องมาหรือไม่”
.
อย่างไรก็ตาม ยังพอมีข่าวดี คือในระยะสองของยุทธศาสตร์ชาติ 2566-2570 โครงการส่งเสริมและเผยแพร่ความเห็นที่ถูกต้องเพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหา หรือที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นโครงการส่งเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อสันติสุขในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ซึ่งมีตัวชี้วัดหนึ่งที่น่าตกใจ คือการเปลี่ยนความคิดเด็กอายุ 1-5 ขวบ ได้ถูกตัดออกไปแล้ว หลังจากก่อนหน้านี้ มีงบอยู่พันกว่าล้าน ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในสภาฯ ว่าเป็นงบล้างสมอง มีตัวชี้วัดหนึ่งที่น่าตกใจ คือการเปลี่ยนความคิดเด็กอายุ 1-5 ขวบ
.
และอีกเรื่อง ไม่แน่ใจว่าเป็นข่าวดีหรือไม่ แต่ไม่ปรากฏในรายการงบ คืองบเพื่อสนับสนุนปฏิบัติการข่าวสาร (ไอโอ) แต่จากประสบการณ์ของตน พบว่างานไอโอยังคงอยู่ ตนโดนโจมตีโดยเฉพาะตั้งแต่หลังเสนอกฎหมายยุบ กอ.รมน. เข้าสภา คงต้องฝากกรรมาธิการงบประมาณ ไม่ว่าจะอยู่พรรคใด ช่วยดูว่าตอนนี้งบไอโอซ่อนอยู่ตรงไหน รวมถึงงบฟ้องปิดปากที่หาไม่เจอเช่นกัน ต้องขุดค้นต่อ เพราะเป็นเรื่องสำคัญต่อทิศทางหรือบรรยากาศของการสร้างสันติภาพ เมื่อใดที่ประชาชนถูกปิดปาก ไม่สามารถส่งเสียงได้ กระบวนการสันติภาพที่ภาครัฐกำลังดำเนินอยู่ ก็ไม่มีความหมาย
.
ส่วนงบของการพูดคุยเพื่อสันติสุข มีอยู่ประมาณ 20 ล้านบาท แบ่งเป็น 10.1 ล้านบาท ของ สมช. และอีก 9.3 ล้านบาทของ กอ.รมน. ซึ่งหน่วยงานนี้ก็เหมือนเป็นไบโพลาร์ ด้านหนึ่งอยากพูดคุยกับคน ด้านหนึ่งก็อยากปิดปากคน เลยไม่แน่ใจว่าสรุปทิศทางสันติภาพของรัฐบาลชุดนี้จะเอาอย่างไรกันแน่
.
ขณะที่งบนอกแผนบูรณาการฯ นั้น มีงบก้อนใหญ่ที่น่าสนใจอยู่ที่ กอ.รมน. คืองบการกำลังพลและการดำเนินงาน วงเงิน 3,535 ล้านบาท ไม่รู้ใช้ทำอะไร จากการตรวจสอบพบว่าน่าจะเป็นงบประมาณที่หลายคนรู้จักจากกรณี ‘บัญชีผี’ ที่ถูกจับโป๊ะเมื่อปี 2566 จากกรณีสิบตำรวจโทหญิงที่ชื่ออยู่ที่ กอ.รมน. ภาค 4 ส่วนหน้า แต่ตัวกลับอยู่ที่ราชบุรี
.
“คำถามคือ นี่คืองบประมาณที่หล่อเลี้ยงกำลังพล ที่เอาเข้าจริงไม่ได้ทำงานอยู่ในพื้นที่ใช่หรือไม่ ต้องฝาก กอ.รมน. ชี้แจงต่อกรรมาธิการว่างบกว่า 3,000 ล้านบาทนี้ มีผีอยู่กี่ตัว มีคนทำงานจริงอยู่กี่คนกันแน่”
.
[ งบ กอ.รมน. มหาศาลอยู่ที่ชายแดนใต้ ถ้าสันติภาพเกิดขึ้น หน่วยงานนี้จะเป็นยังไง ]
.
เมื่อดูภาพรวมของงบ กอ.รมน. 7,545 ล้านบาท ทำให้ กอ.รมน. ยังเป็นหน่วยที่ขอรับงบประมาณมากที่สุดในหน่วยงานภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรี และที่สำคัญคือ 3 ใน 4 ของงบ กอ.รมน. อยู่ที่ปัญหาชายแดนใต้
.
ด้วยสัดส่วนและภาวะพึ่งพางบประมาณเช่นนี้ คือ 3 ใน 4 ใช้ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนที่เหลือ 1 ใน 4 ใช้งานทั่วประเทศ คำถามคือ กอ.รมน. จะอยู่ต่อไปได้อย่างไรหากสันติภาพบังเกิดในชายแดนใต้
.
“นี่เป็นคำถามใหญ่ เพราะ กอ.รมน. เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อรับมือกับภัยคุกคามด้านความมั่นคง ด้วยเหตุนี้ใช่หรือไม่ จึงจำเป็นต้องมีภัยคุกคามด้านความมั่นคง เพื่อให้องค์กรนี้ดำรงอยู่”
.
“และถ้าการแก้ไขปัญหากำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไปสู่การสร้างสันติภาพ กอ.รมน. ก็ต้องออกมาสกัดขัดขวางเพื่อไม่ให้เกิดความคืบหน้า ไม่ให้การหาทางออกทางการเมืองเป็นไปได้ ใช่หรือไม่”
.
นอกจากนี้ ยังมีงบค่าตอบแทนพิเศษสำหรับผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 52 หน่วยงาน วงเงิน 1,527 ล้านบาท เป็นงบนอกแผนบูรณาการ เป็นไปได้หรือไม่ที่ในอนาคต เราจะผ่องถ่ายงบส่วนนี้ให้คนในพื้นที่ได้จัดการตัวเอง
.
[ ข้อเสนอถึงรัฐบาล : ฟื้นคดีตากใบ – ตัดงบ กอ.รมน. ]
.
ทศวรรษที่สองของไฟใต้ ตนพยายามทำความเข้าใจจุดยืนมุมมองของนายกฯ และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เชื่อว่าถ้าท่านให้ความใส่ใจ ความกล้าหาญมากพอ กล้าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับกิจการหรือพรมแดนที่เคยครอบครองโดยหน่วยงานความมั่นคงโดย กอ.รมน. เราอาจได้เห็นอะไรที่ดีกว่านี้
.
ข้อเสนอของตนคือ
(1) เนื่องจากคำแถลงของนายกรัฐมนตรีในช่วงแถลงนโยบายเน้นย้ำเรื่องการสร้างนิติธรรมที่เข้มแข็งนั้นเป็นการลงทุนที่ใช้งบประมาณน้อย แต่มีประสิทธิภาพ เป็นไปได้หรือไม่ ภายใต้เงื่อนไขงบประมาณแบบนี้ รัฐบาลควรฟื้นคดีสำคัญที่เป็นปมมาตลอด 20 ปีคือคดีตากใบ ซึ่งกำลังจะหมดอายุภายใน 10 เดือนข้างหน้า วันก่อนตำรวจชี้แจงว่าหาสำนวนคดีไม่เจอ รัฐบาลริเริ่มเรื่องนี้ได้หรือไม่ ถ้าตำรวจหวังพึ่งไม่ได้ ก็ต้องพึ่งดีเอสไอ งานนี้ต้องเป็นคดีพิเศษ รวมถึงยุติการฟ้องปิดปากที่ กอ.รมน.กำลังดำเนินการอยู่ และสุดท้ายคือการยกเลิกกฎหมายพิเศษอย่างจริงจัง
.
(2) ทบทวนปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติและแผนที่เกี่ยวข้อง ปรับทิศทางใหม่ของการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ เน้นไปที่การสถาปนาความยุติธรรม เปิดพื้นที่ทางการเมือง ให้น้ำหนักกับการพูดคุยเจรจาสันติภาพ ที่ไปไกลกว่าสันติภาพเชิงลบ จะเป็นหลักประกันที่ให้ความปลอดภัยกับทุกฝ่ายในระยะยาว
.
(3) ตัดลดงบประมาณของ กอ.รมน. อย่างจริงจัง ทั้งงบประมาณในภารกิจที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น เพราะความไม่ถนัดของ กอ.รมน. แต่เข้าไปยุ่งทุกเรื่อง อาจจะสร้างปัญหา การตัดลดงบประมาณ จะช่วยส่งสัญญาณที่ดีในการสถาปนาทิศทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ สร้างบรรยากาศให้คนรู้สึกว่าอำนาจรัฐมีความชอบธรรม ไม่ใช่ต้องถูกคุกคามอยู่ตลอดเวลา
.
โดยสรุป ในวาระ 20 ปีความรุนแรงที่ต่อเนื่องในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงเวลาที่รัฐต้องตัดลดงบประมาณที่ไม่จำเป็น หาวิธีการใหม่ แบ่งปันอำนาจกับท้องถิ่นให้มากกว่านี้
.
“ช่วงนี้ในพื้นที่กำลังอยู่ในช่วงฟื้นฟูจากภัยพิบัติ คนในพื้นที่ต้องรับมือกันตามสภาพ ผมเห็นงบประมาณหลายตัวก็นึกเสียดาย…”
.
“ถ้าเราเติมงบประมาณให้ท้องถิ่นรับมือกับภัยพิบัติ
ให้เขาจัดการชีวิตของตัวเองได้
มีความภาคภูมิใจในตัวตนและประวัติศาสตร์ของพวกเขาเอง
งบประมาณจำนวนมากที่จัดไว้ในวันนี้ จะไม่จำเป็น
เราจะใช้งบน้อยกว่านี้ได้”
.
“เพียงแต่เราต้องใจกว้าง เปิดกว้างกว่านี้
ทำเรื่องนี้ด้วยความใส่ใจและกล้าหาญมากกว่านี้”
.
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post