Digiqole ad

10 ข้อกังวล ผังใหม่กรุงเทพฯ เมืองเหลื่อมล้ำ กระจุกความเจริญ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมกำหนด?

 10 ข้อกังวล ผังใหม่กรุงเทพฯ เมืองเหลื่อมล้ำ กระจุกความเจริญ ประชาชนไม่มีส่วนร่วมกำหนด?
Social sharing

Digiqole ad
ร่างผังเมืองกรุงเทพฯ 2568 (ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4) ที่กำลังถูกพูดถึงขณะนี้ มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงผังเมือง กทม. ในรอบกว่า 10 ปี และจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยใน กทม. และทิศทางการพัฒนาเมืองในอนาคต
.
ปัจจุบัน ร่างฯ อยู่ในขั้นตอนรับฟังความเห็นของประชาชน จนถึงวันที่ 22 มกราคม 2567
.
พรรคก้าวไกล โดยทีม สส.กทม. และ ส.ก. ติดตามเรื่องนี้อย่างแข็งขัน แถลงข่าวสะท้อนข้อกังวลที่พบในผังใหม่ และล่าสุดได้เข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นผังเมือง กทม. ครั้งใหญ่ เมื่อวันเสาร์ที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา
.
📍หนึ่งในนั้นคือ ศุภณัฐ มีนชัยนันท์ – Suphanat Minchaiynunt สส.กรุงเทพฯ เขตบางเขน-จตุจักร-หลักสี่ ไล่เรียงข้อสังเกตและความกังวลดังนี้
.
⁉️ ข้อเสนอที่ 1 ในการรับฟังความคิดเห็นเมื่อ 6 มกราคมที่ผ่านมา หากพี่น้องประชาชนไม่ได้เข้าร่วมหรือไม่ได้แสดงความคิดเห็นทางหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษร จะไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้อีก ขณะเดียวกัน ร่างผังเมืองที่มีการนำเสนอในปัจจุบัน ไม่ใช่ฉบับสมบูรณ์ จึงต้องร่วมกันสงวนสิทธิ์เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นในรอบถัดไป
.
⁉️ ข้อเสนอที่ 2 การกำหนดสีผังเมืองโดยไม่มีคอนเซ็ปต์ ซึ่งการเปลี่ยนผังเมืองของ กทม. ครั้งนี้ เป็นเพียงการอัปเดตโซนนิ่ง คือการเพิ่มความเข้มข้นของการใช้ประโยชน์ของที่ดิน โดยส่วนใหญ่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงตามแนวรถไฟฟ้าและการใช้ประโยชน์ที่ดินในปัจจุบัน
.
ไม่ใช่การวางผังเมืองเพื่อชี้นำความเจริญหรือกำหนดอนาคตของเมือง แต่เป็นการวางผังเมืองหลังจากที่เมืองได้เจริญเติบโตไปก่อน แล้วค่อยปรับผังเมืองตามการเจริญเติบโตที่ไร้ทิศทางของเมือง
.
⁉️ ข้อเสนอที่ 3 การเปลี่ยนแปลงผังเมืองโซนสีเขียว ซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและพื้นที่เกษตรกรรม ในฝั่งตะวันตก เช่น เขตทวีวัฒนา เขตตลิ่งชัน ที่เคยถูกวางไว้ว่าเป็นพื้นที่รับน้ำ จะมีการเปลี่ยนแปลง มีการปรับการใช้ประโยชน์ของที่ดินอย่างก้าวกระโดดกว่าในหลายพื้นที่ ขณะที่ในส่วนของฝั่งตะวันออกจะมีการปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่ยังคงไว้เป็นพื้นที่เกษตรกรรม
.
⁉️ ข้อสังเกตที่ 4 คือการไม่กำหนดยุทธศาสตร์ระดับจังหวัด กำหนดการเมืองกรุงเทพฯ ไม่ได้มีการวางแผนร่วมกันระหว่าง กทม. กับปริมณฑลอย่างมียุทธศาสตร์ เช่น ช่วงรอยต่อระหว่างกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ ทำให้การพัฒนาไม่มีความต่อเนื่อง ทั้งที่พื้นที่ติดต่อกัน แต่กลับเจริญไม่เท่ากัน
.
⁉️ ข้อสังเกตที่ 5 เรื่อง FAR Bonus หรือสิทธิพิเศษในการใช้ประโยชน์จากที่ดินเพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผังเมืองกำหนด ร่างผังเมืองปัจจุบันมีการกำหนดมาตรการจูงใจให้เอกชนในการแลกกับ FAR Bonus เพิ่มในรูปแบบต่างๆ เช่น การทำบ่อหน่วงน้ำเป็นพื้นที่รับน้ำ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การเพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย (Affordable Home) หรือการทำทางเชื่อมถนนสาธารณะ หรือการทำพื้นที่สำหรับเป็น Hawker Center เพิ่มพื้นที่สำหรับหาบเร่แผงลอยเพื่อแลกกับ FAR Bonus ที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้สิทธิในการสร้างอาคารที่ใหญ่ขึ้นสูงขึ้นหนาแน่นขึ้นได้ แต่ไม่ได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์หรือผลประโยชน์ที่กรุงเทพฯ จะได้รับอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งพรรคก้าวไกลมองว่า ควรกำหนด FAR เฉพาะในแต่ละพื้นที่ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา
.
⁉️ ข้อสังเกตที่ 6 ปัญหาความไม่สอดคล้องของการคมนาคมระดับท้องถิ่น ระดับชาติ และผังเมืองกรุงเทพ การตัดถนนใหม่ ไม่ได้สอดคล้องกับแนวทางคมนาคมโดยรวมของภาครัฐ เนื่องจาก กทม. ไม่ได้เป็นผู้ควบคุมระบบขนส่งมวลชนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
.
เช่น กรณีของรถไฟฟ้า รถเมล์ กทม.ไม่ได้เป็นเจ้าของโดยตรง หรือกรณีของทางด่วน ถนน สะพานโครงการขนาดใหญ่ กทม. ก็ไม่ได้เป็นผู้สร้างด้วยเช่นกัน แต่สิ่งก่อสร้างอยู่ภายใต้กระทรวงคมนาคม อีกทั้งผังเมืองของ กทม. ก็ไม่ได้ส่งเสริมการวางผังระบบตาราง (Grid Pattern System) ที่สร้างเพื่อเชื่อมซอย แก้ปัญหารถติดอย่างจริงจัง
.
⁉️ ข้อสังเกตที่ 7 เรื่องอภิสิทธิ์ที่ดินทหาร ซึ่งเป็นผังสีขาว โดยในร่างผังเมืองฉบับนี้ยังคงไว้ซึ่งความเหลื่อมล้ำ ไม่มีข้อกำหนดในการใช้ที่ดินสำหรับหน่วยทหาร ยกตัวอย่างเช่น การใช้พื้นที่ผังสีขาวในการสร้างอาคารที่พักอาศัยให้แก่เหล่านายพล หรือเป็นบ้านพักของทหารชั้นสัญญาบัตร ซึ่งหากเอกชนต้องการพัฒนาพื้นที่ของตนเองกลับต้องเจอกับเงื่อนไขยุ่งยาก ขณะที่พื้นที่ทหารไม่มีข้อบังคับการใช้ที่ดินใด ๆ
.
⁉️ ข้อสังเกตที่ 8 การกำหนดพื้นที่สีแดงที่ไม่มีหลักการ ร่างฉบับปัจจุบันมีการกำหนดพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่สำหรับการทำพาณิชย์ กระจายตัวอยู่ตามที่ดินของเหล่านายทุน และบางพื้นที่ผังสีแดงไม่สอดคล้องกับผังการพัฒนา sub-cbd หรือพื้นที่เศรษฐกิจขนาดย่อยกระจายตามพื้นที่ รวมถึงไม่มีหลักการและเหตุผลที่สามารถอธิบายถึงผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาผังเมืองว่าเหตุใดในบางพื้นที่ถึงกำหนดให้กลายเป็นพื้นที่สีแดงได้
.
⁉️ ข้อสังเกตที่ 9 ผังที่โล่ง ในการจัดทำร่างผังเมืองปัจจุบัน มีการจัดให้ผังที่โล่งและฝั่งสีเขียวของกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ แต่ในร่างผังเมืองปัจจุบันได้นับรวมกับพื้นที่ของเอกชน เช่นสนามกอล์ฟ เข้าไปด้วย ซึ่งขัดแย้งต่อเงื่อนไขของการเป็นที่ดินเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด
.
⁉️ ข้อสังเกตที่ 10 ร่างผังเมืองสะท้อนสภาพปัญหาของกรุงเทพฯ ได้ชัดเจน คือเรื่องของการกระจุกความเจริญ และไม่ได้ลดความแออัดในกรุงเทพฯ ชั้นใน
– ไม่มีการกระจายความเจริญโดยมีแผนรองรับอย่างเป็นรูปธรรม ทำให้กรุงเทพฯ โตเฉพาะกรุงเทพฯ ชั้นใน เต็มไปด้วยการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ นำมาซึ่งความแออัดและปัญหารถติดเพิ่มขึ้นไปอีก
– ส่วนกรุงเทพฯ ตะวันออก และกรุงเทพฯ ตะวันตก กลับยังไม่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
.
จนถึงวันนี้ ข้อกังวลต่างๆ ยังรอคำชี้แจงอย่างเป็นทางการจากผู้รับผิดชอบ นั่นคือสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร ที่วางและจัดทำร่างผังเมืองโดยได้รับความเห็นชอบจาก “คณะกรรมการผังเมืองจังหวัด” ซึ่งแทบทั้งหมดเป็นข้าราชการประจำ
.
สำหรับ กทม. คณะกรรมการที่ว่ามีองค์ประกอบ เช่น ปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลฯ ผู้แทนกรมที่ดิน ผู้แทนกรมธนารักษ์ ผู้แทนกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมฯ ผู้แทนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการผังเมือง ผู้ทรงคุณวุฒิทางการผังเมือง เป็นต้น
.
.
📍ด้าน ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ – Nuttapong Premphunsawad สส.กรุงเทพฯ เขตประเวศ-สะพานสูง กล่าวว่า วันที่ 22 มกราคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของขั้นตอนรับฟังความเห็น สส. และ ส.ก. ของพรรคก้าวไกล จะรวบรวมข้อคิดเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับผังเมืองกรุงเทพฯ เพื่อนำเสนอเป็นลายลักษณ์อักษรต่อไปยังสำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กทม. เพื่อให้ผังเมืองฉบับนี้สอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชน
.
.
ขณะที่ พริษฐ์ วัชรสินธุ – ไอติม – Parit Wacharasindhu สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ลงพื้นที่สังเกตการณ์กิจกรรมรับฟังความเห็นเมื่อวันที่ 6 มกราคม สะท้อนปัญหาของ “กระบวนการ” เช่น:
.
– จากการพูดคุยกับประชาชน สัมผัสได้ว่าส่วนใหญ่เดินทางมาเพราะมีคำถามหรือข้อทักท้วงแบบเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับพื้นที่ที่ตนเองโดนกระทบจากร่างผังเมืองใหม่
.
– แม้จะมีการจัดเวทีรับฟังความเห็นย่อยใน 6 พื้นที่ก่อนหน้านี้ แต่ในกิจกรรมการประชุมใหญ่กลับไม่มีการแสดงผลการรวบรวมหรือประมวลความเห็นของประชาชนจากเวทีดังกล่าวมาประกอบการพิจารณา
.
– ฟอร์มหรือหนังสือแสดงความคิดเห็น ถูกออกแบบและเขียนด้วยภาษาวิชาการที่ไม่ง่ายนักสำหรับประชาชนในการทำความเข้าใจว่าต้องกรอกส่วนไหน-อย่างไร ยังไม่นับว่าประชาชนที่ไม่แสดงความเห็นอย่างเป็นทางการก่อนวันที่ 22 มกราคม จะสูญเสียสิทธิทันทีในการแสดงความเห็นหรือยื่นคำร้องขอแก้ไขข้อกำหนดของผังเมืองที่คณะกรรมการผังเมืองให้ความเห็นชอบหลังจากนี้
.
– ข้อมูลที่ถูกประชาสัมพันธ์กับประชาชนก่อนหน้านี้ ยังขาดการจัดทำข้อมูลในรูปแบบที่ทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายที่สุดถึงความสำคัญของผังเมือง รวมถึงเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ของเขา (เช่น การจัดทำภาพ ก่อน vs. หลัง หรือข้อสังเกตที่เจาะจงเป็นรายเขตหรือพื้นที่)
.
หลังจากนี้ พริษฐ์จะหารือกับสมาชิกใน กมธ. และ สส. กทม. จากพรรคก้าวไกล เพื่อใช้กลไกของ กมธ. ในการแก้ไขปัญหา เช่น ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะให้ กทม. ขยายระยะเวลาแสดงความเห็น หารือกับ กทม. และประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เพื่อหาข้อสรุปแก้ไขกรณีปัญหาต่างๆ ที่ประชาชนออกมาทักท้วง ขณะที่สภากรุงเทพมหานคร จะมีการตั้งกรรมการวิสามัญศึกษาปัญหาผังเมืองด้วย
.
.
ผังเมืองคือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาเมือง การกระจายความเจริญ และการลดความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นหากผังเมือง กทม. เดินหน้าโดยไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของประชาชน ก็ไม่ต่างจากการติดกระดุมผิดตั้งแต่เม็ดแรก เป็นการยากที่ปัญหาเรื้อรังอื่นๆ ของเมืองจะถูกแก้ไขได้สำเร็จ
.
ภายใต้ผังเมืองแบบนี้ ความหวังที่กรุงเทพฯ จะเป็น “เมืองน่าอยู่ของประชาชนทุกคน” คงไม่อาจเป็นจริง
.
ดูร่างผังเมืองฉบับใหม่ได้ที่ https://cpudapp.bangkok.go.th/cityplandraft4
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post