Digiqole ad

‘โตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์’ผนึกพันธมิตร จัดแข่งขันพัฒนาซอฟต์แวร์ขับเคลื่อนรถยนต์ไร้คนขับผ่าน Virtual Simulation

 ‘โตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์’ผนึกพันธมิตร จัดแข่งขันพัฒนาซอฟต์แวร์ขับเคลื่อนรถยนต์ไร้คนขับผ่าน Virtual Simulation
Social sharing
Digiqole ad

หวังสร้างบุคลากรในอุตสาหกรรมยานยนต์

  • โตโยต้า ทูโช น็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์โตโยต้า ทูโช เด็นโซ่ อิเล็คทรอนิกส์ จับมือทีซา และม.เกษตรฯ จัดเวทีแข่งเขียนซอฟต์แวร์รถยนต์ไร้คนขับ “CARLA Contest 2023”
  • CARLA เป็นซอฟต์แวร์โอเพ่นซอร์ส ด้านการจำลองการขับขี่อัตโนมัติที่รองรับชุดเซ็นเซอร์ได้อย่างหลากหลาย และรองรับต่อสภาพแวดล้อมในการพัฒนาโปรแกรม การฝึกอบรม และการตรวจสอบ
  • โครงการแข่งขันในครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อยกระดับศักยภาพของนักศึกษา ดึงศักยภาพนักศึกษาจุดประกายความฝันให้เป็นดาวเด่นนักพัฒนารุ่นใหม่ ตอบรับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์  

บริษัทโตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด (NETH) และบริษัท โตโยต้า ทูโช เด็นโซ่ อิเล็คทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (TDET) ผู้พัฒนาและจัดจำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ติดตั้งในรถยนต์ ตลอดจนพัฒนาซอฟต์แวร์สมองกลฝังตัวในรถยนต์ เล็งเห็นถึงความสำคัญต่อการพัฒนาบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ของประเทศไทย จึงได้จัดการแข่งขันพัฒนาซอฟต์แวร์จำลองการขับเคลื่อนรถยนต์ไร้คนขับ ผ่าน Virtual Simulation ภายใต้ชื่องาน CARLA Contest 2023 : New Generation Developer for Next Generation Automotive Technology โดยร่วมมือกับสมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ การจัดแข่งขันในครั้งนี้นับเป็นการจัดแข่งขันสำหรับกลุ่มมหาวิทยาลัยเป็นครั้งที่ 3 และนับเป็นครั้งแรกสำหรับการจัดแข่งขันด้าน Virtual Simulation 

นายยาซูชิ ทาคาบายาชิ ประธานและซีอีโอ บริษัท โตโยต้า ทูโช เน็กซ์ตี อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และบริษัทโตโยต้า ทูโช เด็นโซ่ อิเล็คทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก กำลังตื่นตัวกับการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ หรือ Autonomous Driving และกำลังเป็นแนวโน้มที่มีการเติบโตอย่างมาก โดยมีรายงานจาก marketsandmarkets.com ระบุว่า มูลค่าตลาดพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านรถยนต์ไร้คนขับจะมีการเติบโตเฉลี่ยปีละราว 13% นับจากปี 2022-2027 ซึ่งในปี 2022 มีมูลค่า 21.7 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 7.5 แสนล้านบาท และมีการคาดการณ์ว่าในปี 2027 จะมูลค่าสูงถึง 40.1 พันล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 1.4 ล้านล้านบาท

ประเด็นสำคัญคือ ทุกฝ่ายต่างตระหนักถึงความปลอดภัย ซึ่งการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับจะต้องมีระบบการควบคุมที่ดียิ่ง ทั้งเรื่องการเบรกฉุกเฉินอัตโนมัติ การขับเคลื่อนให้อยู่ในเลน การหลบหลีกสิ่งกีดขวาง เป็นต้น ซึ่ง CARLA Contest 2023 มีการให้ความสำคัญกับประเด็นดังกล่าวนายทาคาบายาชิ กล่าวเพิ่มเติม

การแข่งขัน CARLA Contest 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-12 มีนาคม 2566 นี้ โดยทาง NETH-TDET ได้ให้การสนับสนุนด้านการฝึกอบรม และการพัฒนาซอฟต์แวร์ด้านยานยนต์ไร้คนขับ โดยใช้ซอฟต์แวร์ CARLA ซึ่งประมวลผลบนระบบคลาวด์ ตลอดจนเงินรางวัลสำหรับทีมที่ชนะการแข่งขันจำนวน 4 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 รองชนะเลิศอันดับ 2 และรางวัลพิเศษสำหรับทีมที่มีคะแนนควบคุมการขับขี่ได้อย่างปลอดภัยมากที่สุด 

บริษัทหวังว่ากิจกรรมดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรซอฟต์แวร์ไทยด้านยานยนต์ไร้คนขับให้ก้าวไปสู่เวทีระดับสากลต่อไปในอนาคต ซึ่งแนวโน้มเทคโนโลยีด้านยานยนต์ที่สำคัญ เช่น เทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับหรือ Autonomous Driving เป็นแนวโน้มที่มาแรงและจะยังคงต้องการการพัฒนาอย่างต่อเนื่องนายทาคาบายาชิ กล่าว 

เทคโนโลยีที่สำคัญถัดมา คือ Digital Twin หรือ แบบจำลองเสมือนในโลกดิจิทัล หรือเปรียบเป็นคู่แฝดดิจิทัล คือ การจำลองวัตถุที่อยู่ในโลกให้ออกมาในรูปแบบเสมือน (Virtual)  ทำให้เห็นกระบวนการทำงานหรือระบบต่างๆ ของวัตถุในโลกจริง ได้หลายมิติมากยิ่งขึ้น  สามารถแสดงข้อมูลเชิงลึกในส่วนของพฤติกรรมทางกายภาพของรถยนต์ อีกทั้งยังสามารถแจ้งเตือนประสิทธิภาพของชิ้นส่วนต่างๆ ได้ด้วย เป็นเทคโนโลยีสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ และเทคโนโลยีด้าน Virtual Simulation ซอฟต์แวร์จำลองการขับเคลื่อนยานยนต์อัตโนมัติ ที่ตอบโจทย์แนวโน้มยานยนต์ไร้คนขับได้เป็นอย่างดี โดยการแข่งขันในครั้งนี้ ทาง NETH-TDET ได้จัดฝึกอบรมเทคโนโลยีทั้งสามด้านให้กับนักศึกษาที่เข้าร่วมแข่งขัน โดย Virtual Simulation ที่นำมาให้ทางนักศึกษาเรียนรู้ในครั้งนี้ คือ CARLA ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไร้คนขับต้องการองค์ความรู้ในเทคโนโลยีทั้งสามด้านที่กล่าวมา รวมถึงเทคโนโลยีอื่นๆ 

ผศ.ดร.ศุภชัย วรพจน์พิศุทธิ์ อุปนายกสมาคมสมองกลฝังตัวไทย (TESA: Thai Embedded Systems Association) กล่าวว่า ความร่วมมือในการจัดงานครั้งนี้ นับว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ได้รับการตอบรับจากมหาวิทยาลัยจำนวนมาก มีนักศึกษาสมัครเข้าร่วมการแข่งขัน 24 ทีม รวมทั้งสิ้น 77 คน โดยนักศึกษาต่างมีพื้นฐานด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเวทีนี้เป็นการสร้างความท้าทายของ New Generation Developer ที่จะก้าวตามแนวโน้มซอฟต์แวร์ด้าน Autonomous Driving และแนวโน้มเทคโนโลยีอุบัตใหม่ (Emerging Technology) แขนงที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนยานยนต์ไร้คนขับ

TESA เชื่อว่า แนวโน้มด้าน Autonomous Driving จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทยนับจากนี้ แม้ปัจจุบันจะเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ในอุตสาหกรรมฮาร์ดแวร์และอุปกรณ์อัจฉริยะของประเทศไทย ที่มีมูลค่ากว่า 3.8 แสนล้านบาทในปี 2564 มีอัตราการเติบโตสูงถึงราว 20% (ข้อมูลจาก depa: https://shorturl.asia/a9Ofb) โดยในส่วนของอุปกรณ์อัจฉริยะหรือ IoT มีสมองกลฝังตัวเป็นองค์ประกอบสำคัญอยู่ในนั้น จึงเชื่อมั่นว่า Autonomous Driving จะเป็นส่วนหนึ่งในการเติบโตของอุตสาหกรรมฯ ต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ และจะมีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นไป 

ผศ. ดร. วีรวุฒิ กนกบรรณกร รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัย มีความภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรมการแข่งขัน CARLA Contest 2023 เป็นการจุดประกายด้านการสร้างนวัตกรรมและดึงศักยภาพของนักศึกษาออกมาให้ชัดเจน เพื่อนำไปสู่การผลักดันและต่อยอดความรู้ อันจะเป็นผลลัพธ์ในการผลิตบุคลากรให้แก่อุตสาหกรรมยานยนต์

ความร่วมมือในครั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ให้การสนับสนุนด้านโครงสร้างพื้นฐานไอทีความเร็วสูงสำหรับการแข่งขันซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก เพราะต้องรองรับการประมวลผลจากทีมที่เข้าแข่งขันทั้งหมด 24 ทีม ตลอดจนสถานที่ และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ 

สำหรับผลการแข่งขัน ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ คือ ทีม UP Autonomous 01 จากมหาวิทยาลัยพะเยา ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท ทีมรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ ทีม The Triangle จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเงินรางวัล 25,000 บาท และทีมที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ ทีม Tearsky จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ได้รับเงินรางวัล 10,000 บาทและทีมที่ได้รับรางวัลพิเศษ คือ ทีม UP Autonomous 01 อีกเช่นกันได้รับเงินรางวัล 10,000 บาท

ทั้งนี้ รูปแบบการแข่งขันใช้คะแนนเป็นเกณฑ์การตัดสิน ซึ่งซอฟต์แวร์ของ CARLA มีรายงานผลการจำลองการขับเคลื่อนรถยนต์ไร้คนขับ ในด้านต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น ด้านเวลา การออกนอกเส้นทาง การหลบหลีก การชนสิ่งกีดขวาง เป็นต้น และสามารถคำนวณคะแนนออกมาได้อัตโนมัติ โดยทีมที่ทำเวลาได้ดีที่สุดและขับขี่ได้อย่างปลอดภัยที่สุดจะเป็นทีมที่ชนะ 

สุดท้ายนี้ NETH-TDET-TESA-KU จะยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรไทยต่อไป โดยหวังว่าจะเติมเต็มศักยภาพให้อุตสาหกรรมการขับเคลื่อนยานยนต์ไร้คนขับมีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และพร้อมที่จะก้าวสู่เวทีสากลในอนาคต

Facebook Comments

Related post