Digiqole ad

“แป้ง-มณิษษา มณีรัตน์ “ แปลงภาพลึกในใจสู่พลังบวกเป็นบทเรียนสอนสังคม

 “แป้ง-มณิษษา   มณีรัตน์ “ แปลงภาพลึกในใจสู่พลังบวกเป็นบทเรียนสอนสังคม
Social sharing

Digiqole ad

ท่ามกลางสังคมไทยในปัจจุบัน  มีหลากหลายปัจจัยเหลือเกินที่กระตุ้นทำให้คนไทยกลายเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้น  ปัญหาเศรษฐกิจ  ความไม่เข้าใจในครอบครัว  ก่อให้ผู้คนกลายเป็นโรคซึมเศร้ากันมากขึ้นในปี พ.ศ.2560 ทั้งโลกมีผู้ป่วยซึมเศร้าราว  322 ล้านคน เฉพาะประเทศไทยน่าจะมีประมาณ 2.9 ล้านคนหรือประมาณ 4.4% ของประชากรไทยทั้งประเทศ  แม้ตัวเลขของ WHO จะแตกต่างจากกรมสุขภาพจิตที่ประมาณการว่าผู้ป่วยซึมเศร้าในไทยน่าจะมีอยู่ราว 1.5 ล้านคนก็ตาม  แต่ข้อมูลจากทั้งสองแหล่งก็ไปในทิศทางเดียวกัน นั่นคือมีคนไทยป่วยซึมเศร้าใน ‘หลักล้านคน’  และในแต่ละปีสถิติก็สูงขึ้นเป็นลำดับ

ซึ่งโรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้หลายวิธี ทั้งพูดคุย รับฟัง  ให้คำปรึกษา ทำจิตบำบัด ไปจนถึงให้กินยา หลายคนอาการดีขึ้นจนสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข มีผู้ป่วยซึมเศร้าเข้ารับการรักษายัง ‘ไม่ถึงครึ่ง’ ทำให้การหาแนวทางที่จะช่วยกันประคองให้คนกลุ่มนี้ได้มีแนวคิดมุมมองใหม่ๆ  เพื่อเบี่ยงเบนต่อสิ่งเร้าที่เกิดขึ้น และหนึ่งในคนที่เป็นโรคนี้แต่กล้าที่จะใช้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับตนเอง  มาถ่ายทอดเป็นเรื่องราวที่น่าสนใจสอดแทรกข้อความให้เป็นข้อคิด…คนนั้นคือ” แป้ง-มณิษษา   มณีรัตน์ “หลายคนคงพอคุ้นกับนักเขียนที่ชื่อ”แมนดี้”แต่ปัจจุบันนามปากกาคือ” Queen B ใน APP LINEWEBTOON  และอีกหลายนามปากกาที่ได้เขียนนวนิยายวัยรุ่นในสำนักพิมพ์แจ่มใส

 

น้องแป้งเริ่มต้นเล่าให้ฟังว่าเธอรู้ตัวว่าเป็นศิลปินตั้งแต่ยังเด็ก  ชอบวิชาศิลปะมาก  แล้วได้รางวัลเขียนเรียงความภาษาไทยทุกครั้งที่โรงเรียนส่งไปประกวด  เท่าที่ทำความได้การเขียนเป็นสิ่งที่เธอทำได้ดีเสมอ เพราะคะแนนวิชาเกี่ยวกับเชิงสังคมหรือภาษาจะทำได้ดีเช่นกัน   แต่ในตอนนั้นเธอไม่เข้าใจหรอกว่าสิ่งเหล่านั้นมันวัดผลอะไรกับการใช้ชีวิตในอนาคตได้บ้าง   รู้แต่ว่าพ่อกับแม่ก็ไม่ได้ดีใจอะไรกับเธอ   เลยคิดว่ามันไม่สำคัญ  ตอนวัยเด็กๆชอบดูการ์ตูนญี่ปุ่นแล้วชอบเขียน Fiction ลงเว็บบอร์ดต่างๆ  ซึ่งมีคนเข้ามาอ่านจำนวนมาก ทำให้เธอสนุกมาก  ตอนนั้นก็ทำไปเหมือนเป็นงานอดิเรกเพราะหน้าที่หลักของเธอคือเรียน ส่วนคุณแม่ก็จะดึงสายอินเทอร์เน็ตออกเสมอเมื่อรู้ว่าหนูเล่นคอมพิวเตอร์มาก

เธอรู้ได้อย่างเดียวในตอนนั้นว่าแม่ไม่ชอบสิ่งที่ทำอยู่  ส่วนคุณพ่อก็ยุ่งกับการทำงานจึงไม่ค่อยได้มาดูแลใส่ใจความรู้สึกมากนัก   เธอจึงมีเพียง Blog เล็กๆ ออนไลน์ที่เขียนระบายความรู้สึกของตัวเองอยู่คนเดียวเกี่ยวกับความโดดเดี่ยวและน้อยใจในความรักของพ่อแม่  นั่นคงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้จักการเขียนงานยาวๆ

จนเมื่ออายุ 20 ปีเธอเล่าว่าโดนวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า  ซึ่งในสมัยนั้นยังไม่มีใครรู้จักโรคนี้เลย ทุกคนยังคิดว่าโรคจากจิตเวชยังเป็นโรคบ้าอยู่  เธอไม่สามารถไปเรียนได้ในบางครั้งเพราะรู้สึกเศร้ามาก  บางวิชาก็ต้องเลื่อนสอบไป  ตอนแรกเธอถึงกับแอบพ่อแอบแม่ไปพบหมอ  เพราะไม่อยากทำให้พ่อแม่ผิดหวังในตัวเธอ เพราะทั้งสองคนมีความคาดหวังกับตัวเธอมาก
พ่อแม่อยากให้เป็นในสิ่งที่เขาต้องการ ซึ่งเธอเองก็ได้ทำให้ทุกอย่าง เรียนอะไรที่พ่อแม่อยากให้เรียน ไม่ขัดข้อง ขอเพียงให้พ่อแม่รักเธอก็พอแล้ว

ช่วงปิดเทอมในตอนนั้นเธอพยายามหลีกเลี่ยงความเศร้าด้วยการเขียน   ด้วยการคิดเรื่องอะไรอื่นๆ เข้ามาในหัวเพื่อหลีกหนีความจริง  แล้วตอนนั้นยุคสิ่งพิมพ์กำลังบูมมากๆ ในไทย โชคดีที่เธอใช้เวลาอย่างมากไปกับการอ่านหนังสือมากมายในห้องสมุด  แล้วก็ได้ภาษาอังกฤษจนได้ไปจบมัธยมปลายที่สหรัฐอเมริกา  เธอเลยเอาสิ่งเหล่านั้นมารวบรวมและลองเขียนเป็นเรื่องแต่งขึ้นมาสักเรื่อง

และมันก็ทำให้เธอได้รับรางวัลแรกเกี่ยวกับงานเขียนในชีวิตชื่อโครงการ “นักเขียนน่ารักโดย Dek-d.com/ สำนักพิมพ์ แนตตี้ ของเครือบรรลือสาส์น” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่1 สาขาแฟนตาซี ได้มีหนังสือตีพิมพ์เรื่องแรกในชีวิตชื่อเรื่อง ‘The Memento ความทรงจำ ณ ขณะรัก’ หลังจากนั้นก็ได้รับรางวัลที่ 1 กับสำนักพิมพ์แจ่มใส กับ‘โครงงานนักอ่านปั้นนักเขียน x Yenta4.com’ ในปี 2010 ได้รับ 2 รางวัลเลย แล้วก็ได้รับคัดเลือกจาก SCG ให้ไปอบรมงานเขียนด้วย คัดจาก 20 ใน 3,000 คน

“ตอนนั้นก็หายเศร้าไปได้บ้างแต่ที่บ้านก็ไม่เคยยินดีกับสิ่งที่แป้งทำเลย  ได้เงินเรื่องแรก 200,000 บาทพ่อก็ยังบอกให้หยุดเลย  จากนั้นแป้งเรียนจบเป็นช่วงที่คุณพ่อกำลังจะเกษียณอายุพอดี คุณแม่อยากให้ไปเรียนต่อโททั้งๆ ที่แป้งเองก็ยังประคองโรคซึมเศร้าอยู่  แต่ก็ไปเพราะอยากเป็นเด็กดีของพ่อแม่ เลยต้องทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่แป้งรักแล้วไปเรียนต่อ  แต่ก็ทำมันไม่สำเร็จเพราะป่วยมากมันเศร้าไปหมด  แป้งเลยต้องตัดสินใจกลับมาที่เมืองไทย  เพื่อมารักษาโรค  เพราะรู้ว่าถ้าอยู่คนเดียวต่อไปแป้งไม่ไหวแน่ๆ เลยตัดสินใจหยุดพักเพื่อไปต่อ…แต่ในตอนนั้นแป้งก็ทำอะไรไม่ได้มากมาย เลยกลับมาเขียนงานอีกครั้ง  แต่ไม่ได้เขียนเรื่องแต่ง  แป้งตัดสินใจตีแผ่เรื่องราวของตัวเองให้คนอื่นๆ รู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้า เป็นพ็อคเก็ตบุ๊คออกมาเล่มหนึ่งชื่อ ‘Depression Diary #มันไม่ได้เศร้าอย่างที่คิดหรอกนะ’

ซึ่งปรากฏว่าก็มียอดขายจนเป็น Best Seller ทำให้คุณพ่อคุณแม่ยอมรับงานเขียนขึ้นมาบ้าง  แต่ก็ยังไม่อยากสนับสนุนให้เป็นอาชีพหลักอยู่ดีเพราะคุณแม่ก็มีสายงานประกันชีวิตที่อยากให้รับช่วงต่อ คุณพ่อก็อยากให้ทำธุรกิจ แต่มันติดตรงนี้แป้งไม่ชอบและไม่มีความสุขกับสิ่งเหล่านั้นเลย “

เธอเล่าต่อไปว่าหลังจากย้ายกลับมาจากซานฟรานซิสโก  สหรัฐอเมริกา ก็มาทำงานเขียนคอนเทนต์การตลาดทั่วไป ทำเบื้องหลังบ้าง เขียนสคริปต์  แปลเกมส์ แปลหนัง เธอไม่เคยห่างจากสายงานนี้เลย เรียกได้ว่าเขียนได้เกือบทุกอย่างที่ต้องเขียน  จนกระทั่งรู้สึกคิดถึงวันเก่าๆ ที่เธอได้มีความสุขกับการสร้างสรรค์ผลงานตัวเองขึ้นมา  จึงตัดสินใจที่จะนับหนึ่งอีกครั้งหลังจากที่พักมาแล้ว เพื่อมาสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นของตัวเอง  แต่เวลาผ่านไป 7 ปี…เธอคิดว่า ทุกคนก็คงลืม  “ Queen B “ไปแล้ว  เธอจึงต้องมานับหนึ่งใหม่บวกกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป การตลาดออฟไลน์สิ่งพิมพ์ซบเซาลง  เลยต้องหันมาหา Platform Online ซึ่งก็ได้มารู้จักกับ APP LINEWEBTOON  ที่กำลังเป็นเทรนด์ใหม่ของเด็กวัยรุ่น  เธอจึงตัดสินใจลองลงมืออีกครั้ง

เธอสะท้อนต่อว่าการ Translate จากคำมาเป็นภาพนั้นยากมาก  เหมือนกับเราต้องเป็นผู้กำกับทุกอย่าง มุมกล้อง เสื้อผ้าตัวละคร ซีน ฉาก ที่ต้องรู้สึกเหมือนว่เอาตัวเราไปอยู่ตรงนั้น ซึ่งแตกต่างกับการที่เขียนนิยายแล้วก็ต้องร่วมงานกับนักวาดเป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับเธอ  โปรเจ็กต์นี้ใช้ชื่อเรื่องว่า ‘RAIN วันที่ฝนเผาใจ’https://www.webtoons.com/th/romance/rain/list?title_no=2373   ซึ่งแป้งบอกว่างานนี้เธอก็เขียนมาจากเค้าโครงเรื่องจริงของชีวิต  หลังจากที่กลับมากรุงเทพฯ  และผิดหวังมาจากชีวิตที่ซานฟรานซิสโก  แล้วก็เจอมรสุมชีวิตมากมาย  จึงได้ Concept เรื่องฝนขึ้นมา…ที่หมายถึง ฤดูฝน เพราะเป็นฤดูแห่งความหุนหันพลันแล่น  เฉอะแฉะเหนอะหนะ น่ารำคาญ รถติด ไข้หวัด สิ่งที่กวนใจมากมายอยู่ในฤดูนี้ก็เหมือนกับช่วงเวลาในชีวิตของคน

เรื่องราวที่เขียนขึ้นเป็นเรื่องรัก เล่าผ่านชีวิตตัวละคร “ซอล” ที่มีชีวิตคล้ายๆ เธอมีครอบครัวที่เข้มงวดกดดัน  แต่สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตลำพังแล้วก็ได้มาพบกับผู้ชายสามคนที่จะสร้าง impact ในชีวิตเธอต่างๆ กันไป  คนแรกเป็นเพื่อนสมัยเด็กที่เป็นรักแรกได้นำความทรงจำที่ดีที่สุดกลับคืนมา   คนที่สองคือชายในฝันที่ดูแลเทคแคร์ดีทุกอย่าง  และคนสุดท้ายคือเจ้านายหนุ่มรูปหล่อที่เอาแต่แกล้งให้เธอรำคาญจนเธออดคิดถึงแต่เขาไม่ได้เลย  นอกจากในแง่ของความเป็นเรื่องรัก เรื่องนี้แป้งบอกว่ายังได้สอดแทรกความสัมพันธ์ของครอบครัว ความหวังของพ่อแม่ในวาทกรรมเดิมๆ ที่มีต่อลูก   ความรักที่ต้องมีเงื่อนไขให้เป็นได้ในสิ่งที่ต้องการเพื่อที่จะได้รับความรักนั้น ทั้งๆ ที่จริงๆ เด็กๆ ควรได้รับการสนับสนุนให้เติบโตและเบ่งบานมาเป็นในสิ่งที่เขาต้องการ การที่พ่อแม่เลี้ยงดูแบบนี้ก่อเกิดแผลในใจให้ลูกอย่างไรบ้าง แล้วส่งผลกระทบเกี่ยวกับการเลือกคู่ครองอย่างไรบ้าง

“แป้งไม่อยากเขียนเรื่องชิงรักหักสวาทตบจูบ Repeat ความล้าหลังของวงการวรรณกรรมเมืองไทย  ตั้งใจจะเป็นคลื่นลูกใหม่ที่เขียนเรื่องราวสะท้อนสังคม  หลังจากที่คนอ่าน อ่านจบก็มีอะไรให้คิดตามไม่ใช่จบไปแล้วก็ได้แค่ความสุขหรือความสะใจกลับไป  มันเป็นวิสัยทัศน์ของแป้งตั้งแต่คิดจะมาทำงานสายนี้ค่ะ   แป้งอยากรับผิดชอบสังคมและถ่ายทอดสิ่งที่ดีกว่าให้กับคนที่ได้อ่านงานของเรา  ในตัวเรื่องแม้ว่านางเอกจะเจออุปสรรคมากมาย  แต่ถ้าเรามีความหวังและความพยายาม เราจะต้องได้เห็นสายรุ้งที่ขึ้นหลังฟ้าหลังฝนแน่นอนก็เหมือนกับชีวิตแป้งในตอนนี้เช่นกันค่ะ หวังว่าแป้งจะได้เห็นฟ้าหลังฝนเร็วๆ “

 

น้องแป้งก่อนจะจบการสนทนาเธอบอกว่าอีกอย่างที่อยากจะฝากสื่อ… คือตอนนี้เธอได้เข้าไปทำความรู้จักกับ PAGE หนึ่งใน เฟสบุค ชื่อเพจ PAUSE หยุดเพื่อไปต่อ  ซึ่งมันตรงกับชีวิตแป้งดี แป้งคิดว่าทุกคนในตอนนี้กำลังไขว่คว้าอะไรก็ไม่รู้  บางคนไม่รู้จักหยุดพักเลยแล้วก็สูญเสียตัวตนไปกับความเหนื่อยล้ากับการทำงาน  ไขว่คว้าความฝัน  แล้ววันหนึ่งมันก็มอดไป PAUSE หยุดพักเพื่อไปต่อ  เป็นโครงการ Non-Profit ที่ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มบุคคลที่มีความบกพร่องทางจิตหรือผู้ป่วยจิตเวชนั่นเอง  เธอได้ไปพูดคุยและทำความรู้จักกับกลุ่มนี้แล้วก็อาสามาเป็นทีมงานหลัก  เพื่อช่วยกันสร้าง Awareness และสนับสนุนผู้ป่วยหลายๆ คนที่ยังไม่กล้าเข้ารับการรักษาหรือไม่กล้าเปิดใจในโรคที่ตัวเองเป็น  โดยจะมีการเปิดช่อง Youtube Podcast ทำแชนแนลออนไลน์ต่างๆ รวมไปถึงช่วยกันเขียนคอนเทนต์  เพื่อให้คนเข้าใจและเข้าถึงความรู้สึกของคนป่วยมากขึ้นและสนับสนุนให้คนรู้จักหยุดพัก  เพื่อกลับมารักและใส่ใจตัวเองอีกครั้ง

บทสัมภาษณ์ของเด็กสาวคนหนึ่งที่กล้าที่จะนำเรื่องราวชีวิตออกมาตีแผ่  หวังเพื่อที่จะช่วยคนที่เป็นโรคซึมเศร้าเหมือนเธอได้กลับมามีความหวังในชีวิตอีกครั้ง   พวกเราก็ควรที่จะช่วยสนับสนุนงานของเธอเพื่อให้เธอได้ทำในสิ่งที่เธอฝัน  สิ่งที่เธอรัก  เพื่อวันข้างหน้าสิ่งที่เด็กๆเหล่านี้ทำจะช่วยให้สังคมไทยเราดีขึ้น ครอบครัวพ่อ แม่ ลูกได้มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน เกิดความรักสมานสามัคคีกันขึ้น  สังคมไทยก็น่าที่จะมีความสุขกันมากขึ้นเช่นกัน

Facebook Comments


Social sharing

Related post