Digiqole ad

เอสซีจี เซรามิกส์ โชว์กำไร 584 ล้านบาท เดินหน้าลุยสินค้าสุขอนามัย-ไลฟ์สไตล์

 เอสซีจี เซรามิกส์ โชว์กำไร 584 ล้านบาท เดินหน้าลุยสินค้าสุขอนามัย-ไลฟ์สไตล์
Social sharing
Digiqole ad

เอสซีจี เซรามิกส์ แถลงผลประกอบการปี 2564 ยอดขายโต กำไรเพิ่ม เชื่อตลาดเซรามิกฟื้นตัว มุ่งเป็นผู้นำชูสินค้าตอบโจทย์เมกะเทรนด์ทั้งสุขอนามัยและไลฟ์สไตล์ ปรับกลยุทธ์เตรียมรับมือพลังงานก๊าซธรรมชาติพุ่ง

ผลประกอบการปี 2564 เอสซีจี เซรามิกส์ มีรายได้จากการขาย 11,194 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10 โดยมีกำไรเพิ่มขึ้นร้อยละ 39 จากยอดขายในประเทศและการส่งออกเพิ่มขึ้น คาดเศรษฐกิจปีนี้เติบโต เตรียมปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและเทคโนโลยีรับมือราคาพลังงาน พร้อมชู “Dream Space” สร้างแบรนด์ขึ้นเป็นผู้นำด้านสุขอนามัยบวกไลฟ์สไตล์ เชื่อผู้บริโภคยังต้องการสินค้าที่ตอบโจทย์หลากหลายแม้ว่าจะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามแนวทางวิถีใหม่

นายนำพล มลิชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เซรามิกส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายกระเบื้องภายใต้แบรนด์ “คอตโต้” (COTTO) โสสุโก้ (SOSUCO) และ คัมพานา (CAMPANA) เปิดเผยงบการเงินรวมก่อนตรวจสอบของ COTTO ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการขาย 2,741 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ลดลง ร้อยละ 3 จากไตรมาสก่อน โดยมีผลกำไร 57 ล้านบาท ลดลง ร้อยละ 31 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ ลดลง ร้อยละ 65 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้มีการควบคุมค่าใช้จ่ายด้านการบริหารและการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตควบคู่กันมาโดยตลอด

สำหรับผลประกอบการปี 2564 บริษัทฯ มีรายได้จากการขายรวม 11,194 ล้านบาท เพิ่มขึ้น จากปี 2563 ร้อยละ 10 โดยมีกำไรสุทธิรวม 584 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 164 ล้านบาท เป็นผลจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นและจากการขายที่ดินในนิคมอุตสาหกรรมหนองแค

นายนำพล เปิดเผยว่า “การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและสถานการณ์ตลาดกระเบื้องเซรามิกในปี 2564 เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างภาคเอกชนได้รับผลกระทบอย่างมาก แต่ก็ถือว่าปีที่ผ่านมานั้นเป็นปีที่ทุกภาคส่วนได้เรียนรู้และมีความพร้อมในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ มากขึ้น เริ่มคุ้นชินกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้สามารถวางแผนเพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที ในส่วนของความต้องการสินค้ากระเบื้องเซรามิคในประเทศยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนหน้านั้น เช่นเดียวกับสถานการณ์การแข่งขันที่ยังคงรุนแรงทั้งจากผู้ผลิตในประเทศเองและจากสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ และในปี 2565 นี้ ปัจจัยที่ต้องนำมาพิจารณาเพิ่มเติม คือ เรื่องราคาพลังงานที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลกระทบกับธุรกิจเซรามิค

ในปี 2565 นี้ คาดว่าความต้องการใช้สินค้ากระเบื้องเซรามิกโดยรวมจะยังคงใกล้เคียงกับปีที่แล้ว เนื่องจากเศรษฐกิจโดยรวมน่าจะเติบโตและมีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาครัฐ แต่ทั้งนี้ ยังคงมีความไม่แน่นอนอยู่บ้างในเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ รวมถึงปัญหาหนี้ภาครัฐบาลและหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่น่าจับตามองอย่างใกล้ชิด คือ ราคาพลังงาน ราคาน้ำมัน และราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามอัตราเงินเฟ้อ เหล่านี้อาจจะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความผันผวนจากปัจจัยภายนอกและการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่รุนแรงต่อเนื่อง คาดว่าบริษัท ฯ จะยังคงรักษาความสามารถในการแข่งขันผ่านกลยุทธ์ต่าง ๆ ได้ โดยเน้นการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรเพื่อบรรเทาผลกระทบจากต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น และควบคุมปริมาณสินค้าคงคลังให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ด้วยการปรับสัดส่วนการขายสินค้าไปยังตลาดที่ได้รับผลกระทบน้อยทั้งในและต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการปรับระดับการผลิตและการนำเข้าสินค้าให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการ”นายนำพลกล่าวและเพิ่มเติมว่า

“นอกจากนี้ บริษัท ฯ ยังมุ่งเน้นการสร้างแบรนด์ควบคู่ไปกับการพัฒนาสินค้าและบริการให้ตรงต่อความต้องการและพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างฉับพลันจากสถานการณ์โควิด-19 และส่วนหนึ่งจากภาวะโลกร้อน ซึ่งผู้บริโภคมีความต้องการและมีความพยายามที่จะสร้างพื้นที่ใหม่ในบ้าน หรือ Dream Space เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์และการใช้งานที่แตกต่างหลากหลายของสมาชิกภายในบ้าน ภายใต้วิถี New Normal

ในยุคสถานการณ์โควิด ฝุ่น PM 2.5 เชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียสร้างความกังวลให้กับผู้บริโภค ทำให้ต้องการที่อยู่อาศัยหรือต่อเติมและปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เป็นมากกว่า “บ้าน” ในแบบเดิม คือ มีทั้งความปลอดภัย สุขอนามัย เอื้อต่อการสร้างเสริมสุขภาพที่ดี สะดวกสบาย ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมาเราได้นำเสนอสินค้าและบริการโดยชูจุดเด่นตามเมกะเทรนด์เรื่องการรักษาสุขภาพและสุขอนามัย ตอบโจทย์ตามความต้องการของผู้บริโภคยุค New Normal และตอบสนองความต้องการต่อเติมและปรับปรุงที่อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็น กระเบื้อง Hygienic Tile หรือกระเบื้องยับยั้งแบคทีเรียจาก COTTO กระเบื้อง AIR ION หรือกระเบื้องฟอกอากาศสามารถดักจับฝุ่น PM2.5 ได้ถึง 89 % แผ่นปูพื้น LT แบบ Smart Flexible by COTTO ซึ่งเป็นวัสดุปูพื้นที่มีดีไซน์สวยงาม ติดตั้งง่าย รวดเร็ว และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงบริการติดตั้ง ภายใต้ชื่อ C’TIS (Certified Tile Installation Service)

ล่าสุด เราพบว่า แม้จะต้องเปลี่ยนพฤติกรรมไปตามแนวทางวิถีใหม่ แต่ผู้บริโภคก็ยังคงต้องการพื้นที่ที่จะตอบสนองไลฟ์สไตล์และการใช้งานที่แตกต่างหลากหลายของสมาชิกภายในบ้านด้วย จึงเป็นที่มาของแนวคิดเรื่อง Dream Space พื้นที่ที่จะเติมพลังให้กับสมาชิกทุกคนที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับบ้านเป็นส่วนใหญ่ในเวลานี้ โดยเป็นพื้นที่ที่ให้ความรู้สึกอุ่นใจปลอดภัย เรียบง่าย แต่ครบคุณค่า (HEALTH & COMFY) มีรูปแบบดีไซน์ที่มีความเป็นตัวของตัวเอง มีสีสันเฉพาะตัว มีเอกลักษณ์ (MOOD LIFTING) ภายใต้การออกแบบที่เน้นความหลากหลายปรับเปลี่ยนได้ (CREATIVE LIVING) เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ในแต่ละกิจกรรมมากที่สุด” นายนำพล กล่าว

นอกจากความพยายามในการมุ่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคให้ดีที่สุดแล้ว ในปีนี้ บริษัท ฯ ยังคงมุ่งสร้างการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวผ่านกลยุทธ์หลักต่าง ๆ ทั้งการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าบริษัท ร่วมกับผู้แทนจำหน่าย ร้านค้า Modern trade และการขยายสาขาของธุรกิจร้านค้าปลีกกระเบื้องเซรามิก หรือ “คลังเซรามิค” ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง การเร่งพัฒนาเครือข่ายการจัดจำหน่ายในประเทศเพื่อนบ้าน ขยายช่องทางการขายในรูปแบบใหม่ทั้งออฟไลน์ออนไลน์ และเพิ่มความครอบคลุมพื้นที่ให้มากขึ้น ตลอดจนการขยายธุรกิจด้านพลังงานอย่างต่อเนื่อง และยกระดับการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมหนองแคสู่เมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศระดับ Eco-World Class ที่สำคัญ คือ มองหาโอกาสใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต เพื่อเตรียมรับมือกับต้นทุนวัตถุดิบและต้นทุนพลังงานที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขันและคงความเป็นผู้นำในธุรกิจเซรามิค นายนำพล กล่าวสรุป

Facebook Comments

Related post