Digiqole ad

เอลนีโญและภัยแล้ง: วนลูป ว้าวุ่น

 เอลนีโญและภัยแล้ง: วนลูป ว้าวุ่น
Social sharing

Digiqole ad
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรในรอบสองวันที่ผ่านมา (20 – 21 ก.ย.) มีการอภิปรายญัตติสำคัญที่เสนอขึ้นโดย สส. จากทุกพรรคการเมือง นั่นคือการให้ตั้งคณะกรรมาธิการติดตามสถานการณ์เอลนีโญ ซึ่งหลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าเริ่มต้นขึ้นแล้ว และจะส่งผลให้เกิดความแห้งแล้งอย่างหนักในประเทศไทย ในปีหน้า
.
ด้วยการบริหารจัดการทรัพยากรที่ยังขาดประสิทธิภาพ ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เผชิญภัยแล้งสลับน้ำท่วมแบบวนลูป ยิ่งเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปรากฏการณ์เอลนีโญ ปัญหาก็จะยิ่งหนักหน่วงกว่าเดิม
.
ตลอดสองวันที่ผ่านมา สส. ทุกพรรคการเมือง พูดถึงผลกระทบในทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาคการเกษตร สำหรับ สส. พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายพร้อมข้อเสนอให้รัฐบาลพิจารณา เพื่อเตรียมรับมือวิกฤติที่กำลังเคลื่อนใกล้เข้ามา
.
คำถามตั้งต้นที่สำคัญที่สุด คือรัฐบาลได้เตรียมการรับมือปัญหานี้มากเพียงใด และเป็นการเตรียมการอย่างถูกวิธีหรือไม่?
.
.
💧[ เตรียมเก็บน้ำสำหรับปีหน้า ]💧
.
คำถามเดียวกันนี้ เป็นประเด็นตั้งต้นจาก เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ ที่เปิดคำอภิปรายด้วยการชื่นชมนายกรัฐมนตรี ที่แสดงความใส่ใจต่อปัญหาภัยแล้ง โดยการลงพื้นที่ภาคเหนือทันทีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
.
แต่สิ่งที่เลาฟั้งกังวล คือกรณีที่หน่วยงานรัฐ ได้ชงข้อเสนอต่อนายกฯ ระหว่างการลงพื้นที่ โดยกรมชลประทาน ได้เสนอโครงการผันน้ำยมลงเขื่อนภูมิพล โดยอ้างว่าจะสามารถผันน้ำลงได้ปีละ 1.8 พันล้านลูกบาศก์เมตร
.
ที่ผ่านมามีความพยายามผลักดัน 3 โครงการ ท่ามกลางการคัดค้านของภาคประชาสังคม เนื่องจากไม่ตอบโจทย์ ไม่คุ้มทุน และส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นข้อเสนอที่ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ
.
จากการศึกษาข้อมูลของกรมชลประทาน ประเทศไทยมีพื้นที่ลุ่มน้ำ 25 ลุ่มน้ำหลัก 24 ลุ่มน้ำสาขา ปริมาณน้ำท่าทั่วประเทศเฉลี่ยปีละ 2 แสนล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณความต้องการใช้น้ำทั้งประเทศเฉลี่ยปีละ 1.4 แสนล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 71% แต่ระบบชลประทานของประเทศไทยกลับมีศักยภาพในการจัดเก็บเพียง 7.5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร หรือเพียง 36% ของปริมาณน้ำทั้งหมด
.
ขณะเดียวกัน จากข้อมูลภาคส่วนที่ใช้น้ำในประเทศไทย จะพบว่ามีความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรมากที่สุด 1.1 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็น 77% แต่จากข้อมูลพื้นที่ชลประทานของประเทศไทย พบว่าพื้นที่เกษตรกรรมที่อยู่ในเขตชลประทานมีเพียง 33 ล้านไร่ หรือ 22% ที่เหลืออีก 78% อยู่นอกพื้นที่ชลประทาน
.
นั่นทำให้การกักเก็บน้ำในหน้าน้ำหลาก เป็นโจทย์ใหญ่เสมอมาของการจัดการน้ำในประเทศไทย และยิ่งจะมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อปรากฏการณ์เอลนีโญรุนแรงในปีหน้า
.
เลาฟั้งเอง ได้อภิปรายต่อไปว่าสาเหตุที่น้ำเพื่อการเกษตรไม่เพียงพอ และการทำโครงการเกี่ยวกับน้ำล่าช้า ไม่ตอบโจทย์ปัญหาสักที ก็เนื่องจากรัฐเน้นทำแต่โครงการขนาดใหญ่ที่ลงทุนสูง ที่เมื่อโครงการเหล่านี้ไปลงที่ไหนก็มักมีผู้ได้รับผลกระทบจำนวนมาก ขณะที่โครงการเกี่ยวกับน้ำสำหรับเกษตรกรในพื้นที่ห่างไกล มักไม่ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้าง เนื่องด้วยอยู่ในเขตป่า หรือไม่มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นดำเนินการได้จริง และมีการละเลยต่อการจัดการน้ำต้นทุนที่มีอยู่แล้วในพื้นที่
.
“ดังนั้น เมื่อมีวิกฤติเอลนีโญ เป็นที่น่าเชื่อได้ว่าปัญหาน้ำจะวิกฤติมากกว่านี้หากไม่มีการจัดการที่ดีพอ และการบริหารจัดการน้ำในวิกฤติเอลนีโญ จะต้องไม่นำไปเป็นข้ออ้างในการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ของใครบางคนที่ไม่สามารถตอบโจทย์ได้”
.
.
⚙️[ ใหญ่หรือเล็ก? ]⚙️
.
เมื่อโจทย์สำคัญคือการกักเก็บน้ำ คำถามที่ตามมาคือระบบอะไรดีที่ควรใช้ในการกักเก็บน้ำ เลาฟั้งกล่าวไปข้างต้นแล้ว ว่าโครงการขนาดใหญ่อาจไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป ด้วยความล่าช้าและผลกระทบที่ตามมา อาจทำให้ได้ไม่คุ้มเสีย
.
นี่คือประเด็นเดียวกัน ที่ศนิวาร บัวบาน สส.บัญชีรายชื่อ ได้อภิปรายต่อเนื่อง โดยระบุว่านอกจากการจัดทำโครงการขนาดใหญ่แล้ว สิ่งที่รัฐบาลทุกรัฐบาลทำได้ มีเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเป็นครั้งๆ ไป
.
นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างและนโยบายของรัฐที่เป็นมาอย่างยาวนาน ไม่เคยมีการรีวิวหรือปรับปรุงให้ทันสมัย กล่าวคือประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ และยังมีแผนจากหลากหลายหน่วยงาน ที่เป็นการรวมอำนาจสู่ศูนย์กลาง ทำให้รับมือปัญหาได้ไม่ทันท่วงที และไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ
.
แต่ด้วยทุกอย่างที่มี ประเทศไทยก็ยังไม่เคยสามารถกักเก็บน้ำได้เพียงพอต่อการใช้งาน นั่นเพราะทั้งหมดเป็นแผนแบบกว้าง ทั้งที่จริงควรมีการวิเคราะห์สถานการณ์ การประเมินความเสี่ยง และความเปราะบางด้านภูมิอากาศ มาประกอบใช้ในการกำหนดแผนด้วย
.
แต่ที่สำคัญก็คือปัญหาในเชิงนโยบายว่าด้วยโครงสร้างการจัดเก็บน้ำ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องถูกทบทวนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่อาจเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เพราะด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทำให้ไม่อาจคาดเดาได้ว่าฝนจะตกเหนือโครงสร้างขนาดใหญ่อย่างเขื่อนได้อย่างที่ผ่านมา
.
ดังนั้น ทางเลือกที่ควรนำมาพิจารณามากกว่า คือการพัฒนาแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กที่กระจายไปครอบคลุมทุกพื้นที่ แต่นี่ก็ยังมีปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการสร้างฝายในลำธาร หลายที่ยังมีการใช้วิธีที่ผิด เช่น การใช้กระสอบทรายที่อาจก่อให้เกิดไมโครพลาสติกลงไปในแหล่งน้ำในระยะยาวได้ และอยู่ในพื้นที่ที่ไม่ควรอยู่
.
การสร้างฝายที่ถูกต้องควรอยู่ถูกพื้นที่ เช่น ในพื้นที่เสื่อมโทรมหรือพื้นที่การเกษตรเท่านั้น และวัสดุที่ใช้ควรเป็นวัสดุธรรมชาติ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับการสร้างระบบน้ำใต้ดิน ที่มีการสร้างผิดวิธีมาโดยตลอด เช่น การใช้ยางรถยนต์ และขวดพลาสติก ก็อาจส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนในระบบน้ำบาดาลได้
.
ดังนั้น นอกจากการพิจารณาถึงโครงสร้างขนาดเล็กที่ควรกระจายไปในทุกพื้นที่ให้มากขึ้นแล้ว ศนิวารกำลังเน้นย้ำให้เราเห็น ว่าต่อให้เป็นโครงสร้างขนาดเล็ก ก็ควรจะต้องทำให้ถูกวิธีด้วย
.
.
🌏[ โลกรวน ว้าวุ่นทั้งคนทั้งสัตว์ ]🌏
.
ไม่ใช่แค่น้ำเท่านั้นที่จะน้อยลง ปรากฏการณ์เอลนีโญ ยังส่งผลกระทบไปถึงสิ่งแวดล้อมในด้านอื่นๆ ซึ่งจะตอกย้ำซ้ำเติมปัญหาของทั้งคนและสัตว์ที่มีอยู่ไปพร้อมๆ กัน
.
นั่นคือประเด็นที่ นิติพล ผิวเหมาะ สส.บัญชีรายชื่อ ได้อภิปรายถึงปัญหาที่ไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ผลกระทบของมันสามารถเดินทางมาถึงประเทศได้ในชั่วข้ามคืน นั่นคือปัญหาไฟป่าในประเทศอินโดนีเซีย
.
สำหรับประเทศในโซนเอเชีย ประชากรวัยสำคัญต้องเสียชีวิตไปราว 1.1 แสนคน เจ็บป่วยอีกราว 7.5 หมื่นคน จากปัญหาระบบทางเดินหายใจที่เกิดขึ้นจากไฟป่าในประเทศอินโดนีเซีย
.
สำนักอุตุนิยมวิทยา สภาพอากาศวิทยา และธรณีฟิสิกส์ของประเทศอินโดนีเซีย มีการแจ้งเตือนแล้วว่า 63% ของประเทศอินโดนีเซียมีแนวโน้มจะเกิดความแล้ง และภัยแล้งจะรุนแรงมากกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งนั่นหมายถึงไฟป่าจะมีความรุนแรงขึ้นด้วย
.
ไฟป่าในอินโดนีเซีย สามารถเดินทางข้ามประเทศได้โดยใช้เวลาไม่นาน ตอนเช้าเกิดไฟป่าขึ้นที่อินโดนีเซีย เดินทางผ่านเข้าสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน ตกเย็นถึงค่ำก็เดินมาถึงภาคใต้ของไทยแล้ว
.
และนั่นหมายความว่าประเทศไทยกำลังจะต้องเผชิญปัญหาฝุ่นควันและ pm2.5 ที่รุนแรงขึ้นจากทั้งไฟป่าอินโดนีเซีย และการเผาในภาคเกษตรตามรอบปีที่เกิดขึ้นเป็นประจำด้วย
.
นิติพลยังอภิปรายให้เห็นว่าในปี 2563 ยังมีปรากฏการณ์ที่สำคัญอีกเหตุการณ์หนึ่งสืบเนื่องจากเอลนีโญ นั่นคือ Indian Ocean Diphole (IOD) หรือการเปลี่ยนอุณหภูมิบริเวณผิวน้ำสลับขั้วกันระหว่างร้อนกับเย็น ในมหาสมุทรอินเดีย ที่ส่งผลให้ในบริเวณที่ควรมีฝนตกกลับแล้ง บริเวณที่ไม่ควรมีฝนตกกลับมีฝนตกมากกว่าปกติ
.
นั่นแปลว่าความแปรปรวนของสภาพอากาศจะสามารถหนักหน่วงไปมากกว่านั้นได้อีก โดยผลกระทบไม่ได้เกิดขึ้นกับคนเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับสัตว์ด้วย โดยเฉพาะช้าง ที่มีอยู่กว่า 7 พันตัวในประเทศไทย
.
โดยในส่วนของช้างป่า เมื่อแหล่งน้ำในป่าแห้งแล้งลง ช้างป่าก็จะออกหากินนอกป่ามากขึ้น ขณะที่ช้างบ้านในภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ก็จะได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนน้ำเช่นกัน
.
.
📌[ ญัตติภัยแล้ง ไม่ใช่ครั้งแรก แต่หวังว่าจะเป็นครั้งสุดท้าย ]📌
.
ย้อนกลับไปที่การอภิปรายของศนิวาร เธอระบุว่าที่ผ่านมา สภาผู้แทนราษฎรของประเทศไทย ได้เคยมีการตั้งญัตติอภิปรายปัญหาที่เกี่ยวกับภัยแล้งรวมทั้งหมด 87 ญัตติ ตั้งแต่ปี 2535 มาจนถึงปัจจุบัน แผนบริหารการจัดการน้ำก็มีมากมาย แต่พื้นที่แล้งซ้ำซากก็ยังคงแล้งซ้ำซากอยู่แบบนั้นเรื่อยมา
.
โดยที่เอลนีโญ เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ทำให้ปัญหาภัยแล้งรุนแรงขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าแม้ไม่มีเอลนีโญ ประเทศไทยจะไม่แล้ง
.
เอลนีโญอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้ประเทศไทย รัฐบาลไทย และทุกฝักฝ่ายทางการเมืองหันมาตื่นตระหนกต่อปัญหาภัยแล้งมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าต่อให้ไม่มีเอลนีโญ แล้วจะไม่มีคนตั้งญัตติเกี่ยวกับภัยแล้งอีก เพราะตราบใดที่การจัดการทุกอย่างยังเป็นแบบนี้ ในอนาคตก็จะมีคนตั้งญัตตินี้อีกเรื่อยๆ
.
นอกเสียจากว่าการแก้ปัญหาภัยแล้ง จะมีแนวทางที่เดินหน้ามุ่งเน้นไปที่โครงสร้างทั้งระบบ ไม่ใช่การแก้เป็นครั้งๆ ไป หรือเน้นแต่โครงสร้างขนาดใหญ่แบบที่เคยชินกันมา
.
เพราะถ้ายังมุ่งเน้นไปในทิศทางนั้น ปัญหาเอลนีโญที่จะเกิดขึ้นรุนแรงในปีหน้า ก็จะไม่ได้รับการแก้ไข เพราะกว่าเขื่อนหรือโครงการขนาดใหญ่อะไรก็ตามจะสร้างเสร็จ เอลนีโญรอบที่จะถึงก็จะผ่านไปแล้ว และก็ยังไม่มีใครยืนยันได้ว่ามันจะแก้ปัญหาได้จริงในระยะยาว
.
จากตัวเลขที่เราเห็นๆ กันอยู่ ว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการกักเก็บน้ำได้เพียง 36% ส่วนพื้นที่ครอบคลุมชลประทานมีเพียง 22% มันก็พอชี้ให้เห็นแนวโน้มแล้ว ว่าทุกอย่างที่เกี่ยวกับการจัดเก็บน้ำในประเทศไทย กำลังถูกรวมศูนย์อยู่ในไม่กี่พื้นที่
.
และหนทางที่ถูกต้องก็คือการต้องเพิ่มตัวเลขทั้งสองตัวนี้ ให้กระจายไปทั่วทุกพื้นที่ เน้นเล็ก เน้นเร็ว และกระจายไปทั่วทุกพื้นที่
.
แน่นอนว่าเอลนีโญที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าและในอนาคตต่อๆ ไป จะยังคงเป็นปัญหาสร้างผลกระทบอยู่ไม่มากก็น้อย แต่ถ้าเรามีโครงสร้างที่ดีรองรับสำหรับอนาคต ปัญหาก็จะบรรเทา ให้เราไม่ต้องมานั่งเครียด ร้อนรน และว้าวุ่นกันแบบนี้
.
ก็ได้แต่หวังว่าญัตติภัยแล้งและเอลนีโญครั้งนี้ จะเป็นครั้งสุดท้าย ด้วยการแก้ไขปัญหาในระยะยาวที่ดี ได้ผล และมีประสิทธิภาพ ที่จะเกิดขึ้นจากข้อเสนอของคณะกรรมาธิการที่มีการตั้งขึ้นมาในครั้งนี้ และนำไปปฏิบัติอย่างจริงจังโดยรัฐบาลต่อไป
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post