Digiqole ad

เริ่มขนย้ายกากแคดเมียมกลับ จ.ตากพรุ่งนี้ แต่สภาพโรงพักคอยยังไม่พร้อม

 เริ่มขนย้ายกากแคดเมียมกลับ จ.ตากพรุ่งนี้ แต่สภาพโรงพักคอยยังไม่พร้อม
Social sharing

Digiqole ad
พรุ่งนี้แล้ว! (29 เม.ย.) ที่ภาครัฐจะเริ่มทยอยขนย้าย “กากแคดเมียม” ซึ่งถูกลักลอบขนออกมาจากบ่อกักเก็บถาวรที่จังหวัดตาก และพบกระจายอยู่ในโกดังทั้งที่จังหวัดสมุทรสาคร ชลบุรี และเขตบางซื่อ กรุงเทพฯ กลับมายังจุดต้นทาง
.
แต่เนื่องจากบ่อกักเก็บถาวรได้รับความเสียหายจากการลักลอบขุด และอยู่ระหว่างการซ่อมแซม การขนย้ายในวันพรุ่งนี้จะนำกากแคดเมียมมาพักไว้ที่ “โรงพักคอย” ก่อน แล้วค่อยนำไปฝังในบ่อกักเก็บอีกรอบหนึ่ง
วันนี้ คริษฐ์ ปานเนียม-Karit pannaim สส.ตาก เขต 1 พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย สุรพล วงศ์สุขพิศาล รองผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตาก เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตาก เจ้าหน้าที่ตำรวจสอบสวนกลาง และตัวแทนประชาชนในพื้นที่ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงพักคอยดังกล่าวที่ตำบลหนองบัวใต้ อำเภอเมืองฯ จังหวัดตาก
.
คริษฐ์กล่าวว่า เดิมทีภาครัฐวางกำหนดการขนย้ายกากแคดเมียมกลับมายังจังหวัดตากในวันอังคารที่ 7 พ.ค. แต่อยู่ดี ๆ ก็รีบรวดรัดมาเริ่มขนย้ายในวันพรุ่งนี้ โดยแจ้งประชาชนช่วงเย็นวันเสาร์ที่ผ่านมา หรือแค่ 2 วันล่วงหน้า นี่คือกระบวนการทำงานของรัฐราชการไทยแบบลวก ๆ ไม่รอบคอบ และไม่ใส่ใจประชาชนหรือไม่ 😔
ทั้งนี้ หลังจากได้ลงพื้นที่สำรวจโรงพักคอย ตนพบจุดบกพร่องและมีข้อกังวลใน 5 ประเด็น คือ
.
1) เดิมทีภาครัฐยืนยันกับประชาชนในพื้นที่ว่าจะเปลี่ยนจากการปูพื้นรองกากแคดเมียมด้วยแผ่นดินเหนียวสังเคราะห์ (GCL) มาเป็นการเทพื้นคอนกรีต แต่วันนี้กลับมีมติว่าจะปูด้วยแผ่นดินเหนียวสังเคราะห์เช่นเดิม และที่สำคัญกว่านั้น การวางแผ่นดินเหนียวสังเคราะห์จะต้องติดตั้งบนดินที่บดอัดแล้ว ไม่มีกรวดหรือหินขนาดใหญ่กว่า 3 เซนติเมตร แต่สิ่งที่ตนพบวันนี้คือไม่มีการบดอัดดินแต่อย่างใด เป็นเพียงการใช้ดินลูกรังมาเทเกลี่ยแล้วปูแผ่นดินเหนียวสังเคราะห์ทับ
.
“ผมลองเปิดแผ่นดินเหนียวสังเคราะห์เองกับมือ เปิดปุ๊บเจอปั๊บ หินก้อนเท่ากำปั้น แล้วแบบนี้จะไว้ใจกันได้อย่างไร ทุกสิ่งทุกอย่างเร่งรีบไปหมดโดยไม่มีการเตรียมความพร้อมแบบ 100% แน่นอนว่าเมื่อเราทักท้วง เขาก็ขอแก้ไข และบอกว่าจะรีบดำเนินการ โดยพรุ่งนี้จะรีบจัดรถบดอัดเข้ามาดำเนินการให้”
2) ด้านมาตรฐานของแผ่นดินเหนียวสังเคราะห์ ตนได้สอบถามภาครัฐและเจ้าของโรงงานไปแล้วว่ามีความหนาเท่าใด มีคุณสมบัติทางวิศวกรรมที่ถูกต้องและสามารถป้องกันการรั่วไหลของกากแคดเมียมได้จริงหรือไม่ แต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ทราบเพียงว่าเทียบเท่ากับดินเหนียวสูง 60 เซนติเมตร ซึ่งนี่คือสาเหตุที่ประชาชนในพื้นที่เรียกร้องให้ทำพื้นคอนกรีต เพราะไม่รู้ว่าจะต้องจัดเก็บกากแคดเมียมไว้ที่โรงพักคอยแห่งนี้นานแค่ไหน และแผ่นดินเหนียวสังเคราะห์จะรองรับได้นานเพียงใด
.
3) เดิมภาครัฐยืนยันว่าจะขนย้ายกากแคดเมียมเข้ามายังโรงพักคอยนี้โดยตรง โดยจะใช้ตู้คอนเทนเนอร์ขนมาและยกวางทั้งตู้ ไม่ต้องย้ายถ่ายเทหลายขั้นตอน แต่วันนี้ได้รับคำตอบว่าจะมีการจัดพักไว้บนลานที่ห่างจากจุดโรงพักคอย 200-300 เมตร แล้วจะทำการยกด้วยรถแบ็กโฮใส่รถบรรทุกเคลื่อนย้ายต่อมายังอาคาร คำถามคือ ระหว่างการขนถ่ายมีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนอย่างไร ซึ่งตนได้รับคำตอบเพียงว่า “ปลอดภัยแน่นอน” โดยไม่มีการอธิบายเพิ่มเติม
4) การเตรียมความพร้อมในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น หากถุงฉีกขาดระหว่างการขนย้าย เกิดอุบัติเหตุระหว่างการขนส่ง เกิดฝุ่นผง รวมถึงหากเกิดฝนตกทั้งระหว่างการขนย้ายและภายในโรงพักคอยที่ดูเหมือนหลังคาจะมีรูรั่วอยู่หลายจุด จะทำอย่างไร ซึ่งในส่วนนี้ตนยังไม่ได้รับคำตอบใด ๆ
.
5) ควรมีการตรวจสอบคุณสมบัติของกากแคดเมียมในการปรับเสถียร (Stabilization) ว่ายังคงสภาพเหมือนเดิมหรือไม่ โดยควรตรวจสอบทั้งก่อนการขนย้ายและก่อนการนำฝังลงบ่อ ในส่วนนี้ตนถามภาครัฐไปแล้วว่าได้วางแผนไว้หรือไม่ แต่ไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนใด ๆ ตอบเพียงว่าน่าจะมีการตรวจสอบก่อนปิดบ่อ
.
คริษฐ์กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเข้าใจดีว่าภาครัฐต้องการเร่งรัดให้กระบวนการขนย้ายกากแคดเมียมสำเร็จไปโดยเร็ว แต่ก็ไม่ควรทำแบบปัดภาระให้พ้นตัว ขาดความรอบคอบและรัดกุม เพราะอาจจะนำมาซึ่งความเสียหายที่ยากเกินควบคุม และสุดท้ายผลกระทบก็จะตกอยู่กับประชาชน ดังนั้น ภาครัฐควรกลับมาทบทวนแผนการขนย้ายให้มีความรัดกุม ปรับสภาพโรงพักคอยและบ่อฝังกลบให้สมบูรณ์ และเปิดให้ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย
“สิ่งที่รับปากกับพี่น้องประชาชนไว้ท่านลืมไปหมดแล้วหรือ ว่าทุกขั้นตอนจะมีประชาชนรับทราบและมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ วันนี้พวกเขาถูกผลักออกจากสมการอีกครั้ง อย่าให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกเลย วางแผนให้รัดกุมแล้วฟังประชาชนบ้างเถอะครับ”
.
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post