Digiqole ad

เมื่อผู้หญิงอยากเป็น “ยักษ์”

 เมื่อผู้หญิงอยากเป็น “ยักษ์”
Social sharing

Digiqole ad

                  “เป็นผู้หญิงสวยๆ ทำไมไปเป็นยักษ์ ? ” เป็นคำถามที่ 2 พี่น้อง ตระกูลน้อยปุก ต้องตอบเพื่อนๆ ญาติๆ มาตลอด 10 กว่าปีของการเล่นโขน  แป้ง สุปรีย์วรรณ น้อยปุก พี่สาวและ  ป๊อบ ถกนวรรณ น้อยปุก  ผู้เป็นน้อง ทั้งคู่เข้าสู่วงการโขน นาฏศิลป์ชั้นสูงที่เก่าแก่ของไทยตั้งแต่เด็กๆ ถึงจะเป็นหญิงบอบบาง สูงโปร่ง แต่ทั้งคู่กลับเลือกฝึกเป็นโขน “ยักษ์”  โดยป๊อบ ถกนวรรณ น้องเล็กของตระกูลนี้ เปิดวิถีการเป็นยักษ์ ของเธอว่า

 

                     “จุดเริ่มต้นของโขนคือ หนูเริ่มเรียนละคร เรียนรำ มาตั้งแต่อายุ 7-8 ขวบ เวลาซ้อมก็จะซ้อมพร้อมกันกับเพื่อนที่เรียนโขนด้วย เด็กผู้ชายเขาก็จะเล่นโขน  ซ้อมกันอย่างสนุกสนาน   ในใจเรารู้สึกอย่างเล่นบ้าง หนูชอบบุคลิกของยักษ์ที่ชัดเจน เป็นยักษ์แล้วสง่างาม ดุดัน  ออกท่าทางท้าทายสนุกกว่าที่หนูซ้อมรำ   พอตอนอายุ 17 มีรุ่นพี่แนะนำว่าถ้าอยากเรียนโขนก็ลองมาเรียนที่สถาบันคึกฤทธิ์ดูซิ ก็เลยมาลองสมัคร ครั้งแรกเลย ครูถามว่าอยากเป็นอะไร ก็มี พระ นาง ลิง ยักษ์ หนูก็บอกครูอยากเป็น ยักษ์ค่ะ ครูก็มองลอดแว่นแล้วก็บอกว่า  ไป ไปเป็น….ยักษ์  หนูเลยเป็นโขนยักษ์ผู้หญิงคนแรกๆ ของสถาบันค่ะ” (เธอพูดพร้อมเปิดรอยยิ้มที่สว่างสดใส)

                        ด้าน แป้ง สุปรีย์วรรณ น้อยปุก ผู้เป็นพี่เล่าถึงการเข้ามาของเธอว่า  “ ตัวแป้งเริ่มเล่นโขนจริงจังตอนอายุ 19 ปีค่ะ ตอนแรกแป้งเห็นน้องสาวเล่น กลับบ้านก็ฝึกโขนไม่ยอมทำอย่างอื่น  เฮ้ยเราก็ดูว่าเท่ดี  ก็เลยอยากลองมาเรียนดูบ้างค่ะ  ปรากฎว่าเรียนแล้วชอบมาก ก็เลยมุ่งมาเป็นตัวยักษ์ เพราะด้วยสรีระแป้งเองเป็นคนสูงด้วยคงเป็นลิงไม่ได้  เริ่มต้นเรียนช่วงแรกๆ ก็มีแว๊บๆ ไปเห็นตัวนางเขารำสวย ก็อยากกลับไปเล่นเป็นตัวนางเหมือนกัน(หัวเราะ) แต่พอเรียนไปเรื่อยๆ ท่ามันก็เปลี่ยนแล้วค่ะ จะกลับไปเป็นนางก็ดูไม่สวย แล้วเป็นยักษ์ก็สนุกกว่าเลยเล่นเป็นยักษ์มาตลอด  มีคนถามเยอะเหมือนกันค่ะว่าทำไมเป็นผู้หญิงถึงมาเล่นเป็นยักษ์  แป้งคิดว่าในบรรดาตัวละคร โขนยักษ์มีความเท่ มีเสน่ห์ความสวยหลากหลายกว่าตัวละครอื่นๆมาก เพียงความแข็งแรงของยักษ์ดูเหมาะกับผู้ชายมากกว่า  แต่ผู้หญิงก็ทำได้ไม่แพ้ผู้ชาย ถึงแม้ว่าสรีระร่างกายของเราอาจจะสู้ผู้ชายไม่ได้ แต่เคล็ดลับคือเราต้องฝึกให้หนักกว่าผู้ชาย ยิ่งส่วนตัวแป้งชอบยักษ์อินทรชิตค่ะ  เขาเป็นยักษ์วัยรุ่นเกเร มีพละกำลังเยอะท่าทางของเขาก็จะออกแนวดุดัน มีความคล่องแคล้วรวดเร็ว กระฉับกระเฉง แป้งต้องฝีกให้ตัวเองเคลื่อนไหวได้รวดเร็วกว่ายักษ์ตนอื่นๆ ค่ะ

ความยากของการฝึกหัดโขนยักษ์ที่เป็นผู้หญิงคือ เรื่องพละกำลังและสรีระที่แตกต่างจากโขนชาย  ต้องเน้นฝึกกำลังขาและแขนให้มากกว่าผู้ชาย เพื่อแสดงฉากสำคัญๆ ได้อย่าง ท่าการขึ้นลอย ที่ยักษ์หญิงต้องเป็นฐานรับลอยจากตัวแสดงลิงที่เป็นผู้ชาย  ทำให้โขนหญิงที่เป็นยักษ์ต้องผ่านด่านฝึกโหดมากมาย เหมือนที่ ป๊อบ ถกนวรรณ คุยให้ฟัง

ครูจะฝึกทุกอย่างเหมือนผู้ชายเลยค่ะ แรกๆ เจ็บมาก หนูมีร้องบ้างเวลาครูดัดขาดัดแขน ด้วยความที่ต้องยืดร่างกาย กลับบ้านก็ปวดระบมทั้งตัว คือทุกอย่างมันต้องไม่เป็นปกติ มือต้องมีความอ่อนช้อย แขนต้องตึงตรงกับไหล่ ต้องเกร็งกล้ามเนื้อ เริ่มแรกครูจะฝึกด้วยการเต้นเสา (เป็นการเต้นยกเท้าขึ้นลงสลับกัน ในลักษณะย่อ แบะเหลี่ยมขา สมัยโบราณการฝึกท่านี้ พระ นาง ยักษ์ ลิง จะต้องมาหัดเต้นรวมกัน โดยเต้นเกาะสะเอวต่อกันเป็นแถว หัวแถวจะทาบฝ่ามือทั้งสองลงที่เสาของศาลาฝึก) ที่ถือว่าเป็นหัวใจของการเรียนโขนเลย ต่อด้วยท่าตบเข่า ถองสะเอว(นั่งพับเพียบใช้ข้อศอกขวากระทุ้งที่สะเอวด้านขวา เอียงศีรษะไปทางซ้าย สลับมากระทุ้งข้อศอกซ้ายที่สะเอวซ้าย เอียงศีรษะไปทางขวา) ถีบเหลี่ยม (การดัดส่วนขาให้ได้เหลี่ยม ได้ฉากและมั่นคง)  เราก็ต้องมาใส่ความแข็งแรงด้วยการขยันซ้อมมากกว่าผู้ชาย นอกจากท่ารำ หนูก็พยายามศึกษาว่ายักษ์ควรจะเป็นอย่างไร เวลาทำการแสดงโขนครูจะสอนให้เราเข้าถึงตัวละครที่เราได้รับ  โดยส่วนตัวหนูเป็นคนที่ชอบทศกัณฑ์ เป็นยักษ์สง่างาม ดุดัน แต่เวลามีความรักเขาก็จะขี้เล่น ขี้งอน ค่อนข้างมีอารมณ์หลากหลายค่ะ ความยากคือ เวลาเล่นพี่ๆคนดูจะไม่เห็นหน้าตาหนูเพราะสวมหัวโขนอยู่ แต่ก็ต้องสื่ออารมณ์ของยักษ์ตนนี้ผ่านทางนิ้วมือ แขน ขา ออกมาให้ได้ ความภูมิใจที่สุดของการเป็นโขนยักษ์คือ หนูได้มีโอกาสต่อท่าฉุยฉายทศกัณฑ์ลงสวน กับครูต้อย จตุพร รัตนวราหะ ศิลปินแห่งชาติ ฉากทศกัณฑ์เกี้ยวนางสีดาใช้เวลาในการต่อท่ากับครูอยู่หลายปี ตอนนั้นครูต้อยยังสามารถถ่ายทอดท่ารำให้ได้ด้วยตัวเอง อันนี้คือเป็นที่สุดในชีวิตของโขนผู้หญิงแล้วค่ะ ซึ่งก็จะมีแค่ป๊อบ กับ พี่แป้ง(พี่สาว) ที่ได้ต่อท่ากับครูต้อยโดยตรงค่ะ

ส่วนอนาคตความเป็น “ยักษ์” ในตัวของ 2 สาววางไว้อย่างไร

แป้งคงไม่เลิกเป็นยักษ์ไปตลอดชีวิต(ยิ้มอย่างภูมิใจ)” แป้ง สุปรีย์วรรณตอบอย่างมั่นใจ “จะเล่นต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าร่างกายของแป้งจะไม่ไหว โขนหญิงที่เป็นยักษ์เมื่อก่อนมีน้อยคะเดี๋ยวนี้ยังดูมีตัวเยอะขึ้น เพราะเด็กรุ่นใหม่เขาให้ความสนใจโขนกันมากขึ้นค่ะ เดี๋ยวนี้เราสามารถรับชมทางสื่อโซเชี่ยลได้แล้วไม่เหมือนสมัยก่อนที่ต้องรอรับชมจากในโรงละครอย่างเดียวเท่านั้น เป็นอีกทางเลือกที่เด็กๆ จะหาข้อมูล ศึกษา แล้วมาเรียนอย่างจริงจังได้นะคะ”

ส่วน ป๊อบ ถกนวรรณ พูดถีงอนาคตการเล่นโขนยักษ์ของเธอว่า

“ พี่แป้งกับหนูโชคดีที่มีคุณพ่อคุณแม่สนับสนุนเต็มที่ แต่พอเราเริ่มโตขึ้นทางบ้านก็เริ่มเป็นห่วงเรื่องสุขภาพเพราะเราทั้งคู่ทำงานไปด้วยเล่นโขนไปด้วย แต่หนูรู้สึกว่าถ้าหนูไม่ได้เล่นโขนสุขภาพหนูอาจจะแย่กว่านี้ อาทิตย์นึงเรียนโขน 3 ชั่วโมง ตั้งแต่ 09.00-12.00 น . หนูเต้นจนเหงื่อไหล ถือว่าเป็นการออกกำลังกายไปในตัว ทุกๆ ครั้งที่มาเรียนที่สถาบันคึกฤทธิ์ หนูมีแต่ความสุขมากๆ ได้มาเจอเพื่อน เจอครู เหมือนเรามาเปลี่ยนบรรยากาศ มันรักและผูกพันธ์กันมากๆค่ะ หนักแค่ไหนก็แทบไม่มีเวลาท้อเลยค่ะ มันจะมีแต่ความสนุกที่เราได้ทำในสิ่งที่เรารักและเราหลงใหล โขนกลายเป็นชีวิตของหนูไปแล้ว ถ้าทางสถาบันคึกฤทธิ์ยังเปิดโอกาสให้เรียนหนูก็เรียนไปเรื่อยๆค่ะ จะเป็นยักษ์ไปจนกว่าร่างกายจะไม่ไหว หนูเคยคิดเอาไว้ว่าถ้ามีลูกก็จะพาลูกมาเรียนที่นี่ อยากให้เขาลองศึกษาตรงนี้ดูค่ะ

สำหรับผู้ที่สนใจจะเป็น ยักษ์ ลิง พระ-นาง หรือ ขับร้อง หรือ เล่นดนตรีไทย โดยมีอายุตั้งแต่ 7-25 ปี สามารถติดตามข่าวสารการเรียน การสอนของศูนย์ศิลปะการแสดง สถาบันคึกฤทธิ์ ผ่านช่องทาง Facebook: @kukritinstitute   Tiktok: kipac.kukrit.2454@gmail.com  IG: @kukritinstitute

Facebook Comments


Social sharing

Related post