Digiqole ad

เบื้องลึกปมประกันเจอ จ่าย จบ ใครกันแน่ที่ลอยแพประชาชน

 เบื้องลึกปมประกันเจอ จ่าย จบ ใครกันแน่ที่ลอยแพประชาชน
Social sharing
Digiqole ad

สมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดมุมมองเบื้องลึกปมปัญหาประกันภัยโควิด-19 “เจอจ่ายจบ” ใครกันที่ลอยแพประชาชน

วันที่ 18 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แฟนเพจเฟซบุ๊กสมาคมประกันวินาศภัยไทย โพสต์ว่า จากกรณีที่บอร์ดสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้มีมติเป็นเอกฉันท์ยื่นอุทธรณ์ขอให้บอร์ด คปภ. พิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 และต่อมาได้มีข้อมูลปรากฏต่อสื่อสาธารณะที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง สมาคมประกันวินาศภัยไทยจึงขอนำเสนอมุมมองและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมอย่างรอบด้าน รวมทั้งวิเคราะห์ผลกระทบที่เกิดขึ้นและที่จะตามมาในอนาคตอันใกล้ ทั้งต่อประชาชนและธุรกิจประกันวินาศภัย ดังต่อไปนี้

Q: เงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ ทำให้เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่

– เงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ ถือเป็นเงื่อนไขที่เป็นสากลและปรากฏอยู่ในกรมธรรม์ประกันภัยที่ใช้อยู่ทั่วโลก รวมถึงกรมธรรม์ประกันภัยที่ขายในประเทศไทยกว่า 70 ล้านฉบับ

– ข้อความที่ปรากฏในกรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับที่บริษัทประกันภัยจะออกขายให้กับผู้เอาประกันภัยนั้น จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงาน คปภ. ก่อนที่จะออกขายเสมอ

– กรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ได้รับการอนุมัติจากสำนักงาน คปภ. ก่อนออกขายเช่นกัน และเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัท ก็เป็นส่วนหนึ่งของข้อความที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงาน คปภ. ก่อนออกขายด้วยตั้งแต่ต้น

– การตีความว่าการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ของบริษัทประกันภัย ทำให้เป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้เอาประกันภัยหรือไม่ จะต้องพิจารณาถึงความสมเหตุสมผลในการใช้สิทธิบอกเลิกดังกล่าว ไม่ใช่ตีความว่าการมีเงื่อนไขดังกล่าวถือเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรม

– หากเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมจริง ทำไมสำนักงาน คปภ. จึงอนุมัติให้มีเงื่อนไขดังกล่าวในกรมธรรม์ประกันภัยทุกฉบับที่ขายในประเทศไทย

– การพิจารณาว่าสัญญาใดเป็นสัญญาที่ไม่เป็นธรรมนั้น ไม่ได้อยู่ในอำนาจของสำนักงาน คปภ. หากแต่เป็นอำนาจของศาลในการพิจารณาตัดสิน

Q: การยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 จะทำให้ประชาชน

การยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 คือการคืน “สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์” กลับมาในกรมธรรม์ตามหลักการประกอบธุรกิจประกันภัยที่เป็นสากล

– “การมีสิทธิบอกเลิก” และ “การใช้สิทธิบอกเลิก” ถึงแม้จะเกี่ยวข้องกันแต่ไม่ใช่เรื่องเดียวกัน และบริษัทประกันภัยไม่สามารถใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ได้ตามอำเภอใจ

– การบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยลูกค้าจำนวนมากถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและมีความอ่อนไหวสูงมาก ทุกบริษัทจึงจำเป็นต้องพิจารณาเหตุปัจจัยรอบด้านอย่างรอบคอบที่สุด

– การขอให้ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ไม่ได้หมายความว่าบริษัทประกันภัยทุกบริษัทต้องการที่จะบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยและลอยแพประชาชนที่ทำประกันภัย COVID-19 กว่า 10 ล้านคนตามที่ปรากฏเป็นข่าว

– การขอให้ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ก็เพียงเพื่อให้สำนักงาน คปภ. กลับมาปฏิบัติตามหลักการที่ถูกต้องในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยเท่านั้น

– สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ตรวจสอบแล้วและทราบว่าบริษัทประกันภัยส่วนใหญ่จะไม่บอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัย COVID-19 ภายหลังการยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 แต่อย่างใด

– การให้ข้อมูลต่อสื่อสาธารณะว่า หากมีการยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 แล้ว บริษัทประกันภัยจะใช้เป็นข้ออ้างในการยกเลิกประกันภัยแบบเหมาเข่งและผู้เอาประกันภัยกว่า 10 ล้านคนจะถูกลอยแพแน่นอน จึงไม่เป็นความจริง

– การให้ข่าวดังกล่าวได้สร้างความสับสนและเข้าใจผิดให้กับประชาชน รวมถึงเป็นการทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบประกันภัยไทยอย่างรุนแรง

Q: เอเชียประกันภัยและเดอะ วัน ประกันภัย ต้องปิดกิจการเนื่องจากการไม่ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ใช่หรือไม่

– การไม่ยอมยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 คือการที่สำนักงาน คปภ. ไม่อนุญาตให้เอเชียประกันภัย และเดอะ วัน ประกันภัย บอกเลิกกรมกรรม์ประกันภัย COVID-19

– เหตุดังกล่าวส่งผลให้ทั้ง 2 บริษัท มีความรับผิดชอบต่อเคลมที่ไม่จำกัดจำนวน ทั้งในส่วนของเคลมที่เกิดขึ้นแล้วและที่จะเกิดในอนาคตในจำนวนที่สูงมาก ส่งผลทำให้ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนรายใหม่ตัดสินใจไม่เพิ่มทุน

– การไม่สามารถดำเนินการเพิ่มทุนจนสำเร็จ เป็นเหตุให้ทั้ง 2 บริษัทต้องถูกสำนักงาน คปภ. เพิกถอนใบอนุญาตในที่สุด

– ภายหลังจากการเพิกถอนใบอนุญาต สำนักงาน คปภ. เป็นผู้อนุญาตให้กองทุนประกันวินาศภัยบอกเลิกกรมกรรม์ประกันภัย COVID-19 และกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอื่น ๆ ทุกฉบับ และคืนเบี้ยประกันภัยเพียงบางส่วนให้กับลูกค้า โดยไม่มีการเยียวยาผู้เอาประกันภัยแต่อย่างใด

– หากสำนักงาน คปภ. ยินยอมยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ตามคำร้องขอของบริษัทประกันภัยตั้งแต่ต้น ก็จะทำให้ทั้ง 2 บริษัทสามารถเพิ่มทุนและดำเนินธุรกิจต่อไปได้

– หากทั้ง 2 บริษัทสามารถที่จะประกอบธุรกิจต่อไปได้ ลูกค้าของทั้ง 2 บริษัทที่มีเคลมเกิดขึ้นแล้ว ก็จะได้รับการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอย่างครบถ้วน ในขณะที่ลูกค้าที่ยังไม่มีเคลม ก็จะได้รับการชดใช้เบี้ยประกันภัยคืนเต็มจำนวนหรือได้รับการเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์ประกันภัย ตามมาตรการเยียวยาประชาชนที่สมาคมฯ และบริษัทประกันภัยได้เสนอต่อสำนักงาน คปภ. ตั้งแต่วันที่ 28 ตุลาคม 2564 แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากสำนักงาน คปภ.

Q: ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนจากการเพิกถอนใบอนุญาตของเอเชียประกันภัยและเดอะ วัน ประกันภัย มีความรุนแรงเพียงใด

– การปิดกิจการของทั้ง 2 บริษัท ได้ก่อให้เกิดความเสียหายและส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ต่อประชาชนผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยและผู้ที่เกี่ยวข้อง ดังต่อไปนี้

1.ประชาชนผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยของทั้ง 2 บริษัทจำนวนกว่า 4 ล้านกรมธรรม์ ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโดยกองทุนประกันวินาศภัย และได้รับเบี้ยประกันภัยคืนเพียงบางส่วนตามระยะเวลาความคุ้มครองที่เหลืออยู่เท่านั้น ซึ่งทำให้ผู้เอาประกันภัยได้รับคืนเบี้ยประกันภัยน้อยกว่าที่บริษัทประกันภัยเคยเสนอให้

2.ประชาชนผู้เอาประกันภัยมีภาระในการหาบริษัทประกันภัยแห่งใหม่มารองรับความเสี่ยงของตนเอง ซึ่งสมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ประสานขอความร่วมมือจากบริษัทประกันภัยให้ช่วยรับโอนกรมธรรม์ประกันภัยของทั้ง 2 บริษัท เพื่อเป็นการช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเดือดร้อน

3.ประชาชนหลายหมื่นคนที่มีเคลมกับเอเชียประกันภัย จำนวนประมาณ 1,800 ล้านบาทและเดอะ วัน ประกันภัย จำนวนประมาณ 2,800 ล้านบาท ต้องยื่นเรื่องขอรับค่าสินไหมทดแทนจากกองทุนประกันวินาศภัยพร้อมจัดเตรียมเอกสารหลักฐานใหม่ทั้งหมด และยังไม่มีความแน่นอนว่าจะได้รับค่าสินไหมทดแทนเมื่อใด

4.ประชาชนผู้เอาประกันภัยของทั้ง 2 บริษัทที่มีเคลมเกินกว่า 1 ล้านบาท ไม่สามารถใช้สิทธิ์เรียกร้องเงินจากกองทุนประกันวินาศภัยได้

5.พนักงานของทั้ง 2 บริษัทถูกเลิกจ้างและไม่ได้รับเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานเกือบ 1,000 คน

6.โรงพยาบาล อู่ซ่อมรถ ร้านอะไหล่ และคู่สัญญาอื่น ๆ ไม่สามารถใช้สิทธิ์ขอรับการชำระหนี้จากกองทุนประกันวินาศภัยได้เป็นจำนวนมาก

7.กองทุนประกันวินาศภัยต้องรับภาระในการพิจารณาเอกสารต่าง ๆ จำนวนหลายล้านเรื่อง ซึ่งต้องใช้เวลาในการปฏิบัติงานเป็นเวลานาน และจะส่งผลให้การชำระหนี้ให้กับประชาชนต้องล่าช้าออกไปอีกหลายปี

8.ฐานะการเงินของกองทุนประกันวินาศภัยในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้กับเจ้าหนี้ทั้งหมดได้ ซึ่งตราบจนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถหาแนวทางในการจัดหาเงินทุนเพื่อมาชำระหนี้ดังกล่าว

จะเห็นได้ว่า การปิดกิจการของบริษัท เอเชียประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เดอะ วัน ประกันภัย จำกัด (มหาชน) เนื่องมาจากการไม่ยกเลิกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ทำให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยจำนวนมากได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสมาคมประกันวินาศภัยไทยมีความเห็นว่า เช่นนี้ นับว่าเป็นการลอยแพประชาชนผู้เอาประกันภัยที่ซื้อประกันภัย COVID-19 และประกันภัยประเภทอื่น ๆ อย่างแท้จริง

 

Facebook Comments

Related post