Digiqole ad

เดินหน้าฟ้องอาญา ”ผู้บริหาร IFEC“ จ่ายเงินมัดจำ 100 ล้านบาทแล้วทิ้งโครงการ

 เดินหน้าฟ้องอาญา ”ผู้บริหาร IFEC“ จ่ายเงินมัดจำ 100 ล้านบาทแล้วทิ้งโครงการ
Social sharing
Digiqole ad

นายจรัส สุขแก้ว ผู้ถือหุ้นบริษัทอินเตอร์ ฟาร์อีสท์ แคป เมเนจเมนท์ ICAP บริษัทลูกของบริษัท IFEC ที่อื้อฉาว เปิดเผยว่า วันนี้บริษัท ICAP ได้ฟ้องดำเนินคดีกับนายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์และพวก ที่ศาลอาญาเป็นคดีเลขที่ อ.1277/2565 โดยฟ้องในกรรมการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ พร้อมทั้งเรียกเงินค่าเสียหายคืนให้กับบริษัท ICAP จำนวน 123.8 ล้านบาท

จากกรณีที่นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ และพวก ที่เป็นคณะกรรมการบริษัท ICAP ในปี 2559 ได้ร่วมกันทำบันทึกข้อตกลงกับบริษัทไฟเบอร์วันจำกัดและบริษัทดิจิตอลคอร์ปอเรชั่นจำกัด ในวันที่ 7 เมษายน 2559 ว่า บริษัท ICAP สนใจที่จะลงทุนในบริษัททั้งสองโดยจะเข้าซื้อหุ้นเป็นสัดส่วน 70% ของหุ้นทั้งหมด บริษัท ICAP มีความประสงค์ที่จะศึกษาและตรวจสอบสถานะของบริษัททั้งสองโดยจะทำการศึกษาโครงการ ก่อนที่จะทำสัญญาซื้อขายหุ้นดังกล่าวในราคา 400 ล้านบาท

บริษัท ICAP ได้ชำระเงินมัดจำเพื่อเข้าตรวจสอบโครงการจำนวน 50 ล้านบาทไปตามบันทึกข้อตกลงตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2559 โดยในวันที่จ่ายเงินมัดจำ บริษัท ไฟเบอร์วันจำกัด จะต้องส่งมอบใบหุ้นจำนวน 100% มูลค่า 50 ล้านบาท ของบริษัทดิจิตอลคอร์ปอเรชั่นจำกัด ให้เป็นหลักประกันพร้อมบันทึกหลังใบหุ้นระบุโอนหุ้นทั้งหมดให้กับบริษัท ICAP เพื่อเป็นหลักประกันและชำระเงินมัดจำเพิ่มเติมให้อีก 50 ล้านบาทในวันที่ 15 พฤษภาคม 2559

ต่อมาบริษัท ICAP ตรวจสอบพบว่าเงินมัดจำ 100 ล้านบาท ที่นายสิทธิชัยและพวกจ่ายให้กับบริษัทไฟเบอร์วันจำกัดและพวกไม่มีการดำเนินการใดต่อ และหุ้นที่วางไว้เป็นหลักประกันมูลค่า 50 ล้านบาทหายไปไม่อยู่ในความครอบครองของบริษัท ICAP จึงได้ฟ้องนายสิทธิชัยและพวกเป็นคดีอาญาฐานกรรมการกระทำความผิดพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ พร้อมทั้งเรียกเงินที่เสียหายไปคืน

กรณีวางเงินมัดจำจำนวนมากและทิ้งโครงการนั้น ผู้ถือหุ้นของบริษัท IFEC ได้ตรวจพบจากรายงานของผู้สอบบัญชีบริษัท IFEC ปี 2564 ที่ระบุว่า คณะกรรมการบริษัท IFEC ชุดปี 2558 ถึง 2559 ได้มีการกระทำความเสียหายโดยจ่ายเงินมัดจำเพื่อศึกษาโครงการลงทุน 8 โครงการเช่นจะลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่น แล้วอนุมัติให้บริษัทลูกเข้าร่วมลงทุนหรือเข้าซื้อหุ้นพร้อมกับวางเงินมัดจำสร้างความเสียหายรวมกันมากกว่า 600 ล้านบาท โดยหลังจากที่จ่ายเงินมัดจำแล้ว บริษัทก็ไม่ดำเนินโครงการต่อ ละทิ้งโครงการและไม่เรียกเงินมัดจำคืน นอกจากนี้กรรมการบริษัทยังอนุมัติให้จ่ายเงินซื้ออุปกรณ์ที่ต้องใช้ในการร่วมทุนในแต่ละโครงการเป็นจำนวนเงินสูงถึงเกือบ 400 ล้านบาทโดยผู้สอบบัญชีตรวจพบว่าไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าว อยู่ในความครอบครองของบริษัท

การวางเงินมัดจำแล้วทิ้ง และจ่ายเงินซื้ออุปกรณ์สำหรับโครงการลงทุนแต่ไม่มีสินค้าที่ซื้อให้ตรวจนับ เป็นวิธีการถ่ายเทเงินของบริษัทมหาชนไปเป็นประโยชน์ส่วนตัวของผู้บริหาร เป็นสาเหตุหลักที่สร้างความล่มสลายให้กับบริษัท IFEC

นายจรัสเรียกร้องขอให้สำนักงาน กลต. รีบเข้ามาสอบสวนเพื่อกล่าวโทษผู้กระทำความผิดในกรณีวางเงินมัดจำแล้วทิ้งโครงการ เพราะนายชัยยุทธ อังศุวิทยา ผู้สอบบัญชี ได้ตรวจพบความเสียหายมากกว่า 1 พันล้านบาทแล้ว เกรงว่าหากสำนักงาน กลต. ไม่รีบดำเนินการจะทำให้ตัวการผู้สร้างความเสียหายให้กับบริษัท IFEC โยกย้ายทรัพย์สินไปให้คนใกล้ชิดอันจะทำให้บริษัทไม่สามารถเรียกร้องความเสียหายคืนมาชดเชยให้กับผู้ถือหุ้นมากกว่า 30,000รายได้ในที่สุด

นายสิทธิชัย พรทรัพย์อนันต์ เคยถูกสำนักงาน กลต. กล่าวโทษไปแล้ว 2 คดี คือ กล่าวโทษและดำเนินคดีนายสิทธิชัย กรณีทุจริตจากการซื้อที่ดินและอาคารสำนักงานเจ็ดชั้นเพื่อเป็นสำนักงานแห่งใหม่โดยมีเงินจำนวน 20 ล้านบาทถูกนำไปใช้เพื่อประโยชน์ของนายสิทธิชัย พฤติกรรมดังกล่าวจึงเป็นการแสวงหาประโยชน์มิควรได้โดยชอบด้วยกฏหมายเพื่อตนเอง และสำนักงาน กลต. กล่าวโทษและดำเนินคดีนายสิทธิชัย กรณี ทำให้สภาพการซื้อขายหุ้นบริษัท เธียรสุรัตน์ จำกัด ( มหาชน ) ผิดไปจากความเป็นจริง ปัจจุบันนายสิทธิชัยยังคงมีข่าวว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังบริษัทในตลาดหลักทรัพย์หลายบริษัทที่มีนักลงทุนสนใจราคาหุ้นที่เคลื่อนไหว

Facebook Comments

Related post