Digiqole ad

เก้าอี้ที่ครองบนกองศพ

 เก้าอี้ที่ครองบนกองศพ
Social sharing

Digiqole ad

เหมือนจะสอดรับกับสถานการณ์โลกที่ยอดติดเชื้อโควิด-19 ทุกประเทศสะสมทะลุ 200 ล้านคนไปแล้ว  ขณะที่ยอดติดเชื้อใหม่รายวันของไทย ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2564 ได้ไต่ทะลุระดับ 20,000 คนแล้วเช่นกัน ภายใต้การดูแลแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ควบเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวง กลาโหม และผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)

ก่อนหน้านี้องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนว่า  โลกกำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นระลอกใหม่ของโรคโควิด-19 อันเนื่องมาจากการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์เดลตาที่กลายเป็นสายพันธุ์หลักในการแพร่ระบาดทั่วโลก โดยพบผู้ติดเชื้อแล้วใน 132 ประเทศทั่วโลก  และช่วง1เดือนเศษที่ผ่านมา ภูมิภาคส่วนใหญ่ของโลกมีอัตราการติดเชื้อโควิด-19เพิ่มสูงขึ้นกว่า 80%

เหตุผลต้องล็อคดาวน์-ล็อคยาว   

สำหรับประเทศไทย ยอดรายงานผู้ติดเชื้อ 20,000 คน/วัน และยอดผู้เสียชีวิตเกือบ 200 คน/วัน เป็นไปตามคาดการณ์  เป็นไปตามแบบจำลองที่กระทรวงสาธารณสุขเพิ่งจะเอ่ยปากบอกประชาชนเมื่อไม่กี่วันก่อน  ว่า  จากนี้ไปยังมีแนวโน้มจะขยับเพดานขึ้นเรื่อยๆจนผู้ติดเชื้ออาจจะแตะเส้น 40,000 คน/วัน  และผู้เสียชีวิตอาจจะถึง 500 คน/วัน  หากไม่มีมาตรการเข้มข้นในการล็อคดาวน์

นั่นคือเหตุผลที่ศบค.ต้องใช้ยาแรงขยายมาตรการล็อคดาวน์ยาวตั้งแต่วันที่ 3-31 สิงหาคม 2564  ต้องเพิ่มพื้นที่สีแดงเข้มเป็น 29 จังหวัด เพื่อควบคุมสูงสุดและเข้มงวด  พร้อมปรับพื้นที่สีแดง 37 จังหวัด  พื้นที่สีส้ม 11 จังหวัด โดยไม่เหลือพื้นที่สีเหลืองและเขียวให้หายใจ

เป็นการยอมรับของรัฐบาลว่าสถานการณ์แพร่ระบาดโรคโควิด-19 มาถึงขั้นวิกฤติ  จากที่รัฐบาลเคยบอกว่า “เอาอยู่”  มาถึงขั้นที่ต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพในการใช้ชีวิตและการทำมาหากินในวงกว้าง  หรืออีกนัยหนึ่งเหมือนจะบอกว่ารัฐบาลชุดนี้จะอยู่กับความเจ็บป่วยและความตายของประชาชนไปอีกยาวนาน

จากชัยชนะสู่ความพ่ายแพ้

ในปี 2563 ตอนเพิ่งเริ่มระบาดในไทย  รัฐบาลเล่นใหญ่เกินเหตุสั่งล็อคทั้งประเทศเพื่อคุมโควิดแล้วประกาศว่าเป็นชัยชนะอันงดงาม  แต่สิ่งที่ต้องแลกกับตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็น 0 ที่ทั่วโลกชื่นชมยกย่องก็คือ  การพังทลายของระบบเศรษฐกิจที่อ่อนแออยู่แล้วยังติดลบลงไปอีก

เข้าปี2564 ที่เกิดระบาดรอบที่ 3 แทนที่จะใช้มาตรการแข็งกลับทำตรงข้าม  รัฐบาลประเมินสถานการณ์ผิดและทำพลาดซ้ำซาก  การเมืองเข้าแทรกมีอิทธิพลเหนือระบบสาธารณสุขจนพังพินาศ  เกิดความบกพร่องอย่างไม่น่าให้อภัยเพราะนักการเมืองทำตัวรู้ดีกว่าแพทย์มืออาชีพ  มีการใช้เหตุผลทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และผลประโยชน์ทางการค้าอยู่เหนือกว่าความมั่นคงทางด้านสาธารณสุข   จนตอนนี้รัฐบาลพูดอะไรแทบไม่มีใครเชื่อ

สถานการณ์ระบาดระลอก 3 ที่ถูกลากยาวจนระเบิดเป็นระลอก 4 ให้ต้องล็อคดาวน์แบบยืดเยื้อ  ทำให้ประชาชนเริ่มหมดความอดทนกับรัฐบาลชุดปัจจุบัน  หมดหวังกับผู้นำที่ครองอำนาจมา 7 ปีแต่พาประเทศให้หลงทิศผิดทาง  ผิดหวังกับนักการเมืองที่เข้ามาบิดเบือนระบบสาธารณสุขจนเกิดเหตุการณ์โรงพยาบาลปฏิเสธผู้ป่วย  และรับไม่ได้กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครที่ปล่อยให้คนตายริมถนน  ปล่อยให้ผู้สูงอายุตายคาบ้านทุกวันทั้งๆที่เป็นมหานครของโลก

สั่งการแต่งานไม่เดิน

วันนี้คนไทยเข้าใจดีว่าปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้นมีผู้ป่วยผู้เสียชีวิตเยอะก็เพราะยังขาดแคลนวัคซีน  และที่ขาดแคลนก็เพราะรัฐบาลวางแผนจัดซื้อจัดหาผิดพลาดตั้งแต่ต้น  โดยผู้รับผิดชอบหลักมีอยู่ 3 คนคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  และพล.ต.อ.อัศวิน ชวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

เมื่อต้นเดือนกรกฎาคมนายอนุทินเป็นประธานเปิดโรงพยาบาลบุษราคัมเฟส 3 ที่เมืองทองธานี ซึ่งมีจำนวนถึง 4,000 เตียงเพื่อเร่งช่วยเหลือผู้ป่วยในกรุงเทพและปริมณฑล  พร้อมกับตีภาพออกข่าวว่า “ต่อไปจะไม่ให้มีผู้ป่วยตกค้าง หรือเสียชีวิตที่บ้านเพิ่มอีก”

ถัดมาอีก 3 วันมีการเผยแพร่ข่าวนายอนุทินประชุมผู้บริหารระดับสูงกระทรวงสาธารณสุข  ว่าได้สั่งการให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.)  กรมควบคุมโรค  กรมการแพทย์ ประสานเครือข่ายกู้ชีพ-กู้ภัย จัดทีมออกปฏิบัติการเชิงรุก ลาดตระเวนออกค้นหาผู้ติดเชื้อที่รอเตียงที่บ้านในพื้นที่กทม. เพื่อรับตัวเข้าสู่ระบบรักษา  มีทีมติดตามอาการป่วยหรือนำส่งต่อโรงพยาบาลสนาม  ส่วนกลุ่มเปราะบาง กลุ่มผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว  มีโรงพยาบาลบุษราคัมรองรับ เพื่อแก้ปัญหาการรอเตียงตามบ้าน

วันที่ 22 กรกฎาคม หลังปรากฏข่าวคนป่วยโควิดนอนตายริมถนน 4 รายกลางกทม. พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.สั่งการว่าต้องไม่ให้มีภาพประชาชนนอนเสียชีวิตริมถนนอีก  ให้กทม. กับทุกหน่วยที่รับผิดชอบต้องช่วยกันทำงานเชิงรุก ต้องบูรณาการ ต้องไม่โทษกันอีก ต้องนำผู้ป่วยออกจากบ้านไปยังศูนย์พักคอย เร่งจัดหาเตียง ส่งโรงพยาบาลสนาม หรือนำส่งโรงพยาบาล

รุ่งขึ้น 23 กรกฎาคม พล.ต.อ.อัศวิน ผู้ว่าฯกทม. รีบประกาศจัดตั้งทีมป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุกในชุมชน หรือ CCRT จำนวน 166 ทีม ทำหน้าที่ลงพื้นที่ในชุมชนต่างๆ ตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ฉีดวัคซีน ให้ยารักษาอาการเบื้องต้น รวมถึงการให้ความรู้และคำแนะนำในการป้องกันตนเองจากเชื้อโควิด-19

แต่ผลงานหลังคำประกาศหลังคำสั่งการของท่านทั้งหลายคือวันที่ 29 กรกฎาคม ตายคาบ้านวันเดียว 21 ราย  วันที่ 30 กรกฎาคม ตายคาบ้าน 9 ราย  วันที่31 กรกฎาคม ตายคาบ้านอีก 12 ราย  โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานคร

ปล่อยคนแก่ตายคาบ้าน

เพราะมียอดผู้ป่วยที่ยังรักษาตัวอยู่ในระบบสูงถึงกว่า 2 แสนคน ขณะที่มีผู้ป่วยใหม่อีกวันละกว่า 1 หมื่นคน จึงเกิดสภาพ “เตียงเต็ม” จนต้องเปิดโรงพยาบาลสนามตามศูนย์ประชุม  อาคารสนามบิน  โกดัง  เพื่อรองรับผู้ป่วย   พร้อมๆกับเริ่มใช้นโยบายกักตัวที่บ้านสำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ  แต่ข่าวผู้ป่วย “ตายคาบ้าน”ก็ยังปรากฏทุกวัน  โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ป่วยนอนรอเตียงอยู่ที่บ้านจนกลายเป็นนอนรอความตายเพราะระบบติดตามดูแลของรัฐไปไม่ถึง

ศบค.รู้ดีมาตลอดว่าผู้ติดเชื้อที่เสียชีวิตส่วนใหญ่คือผู้สูงอายุจึงเร่งรณรงค์ฉีดวัคซีนแก่ผู้สูงอายุ  แต่กลับปล่อยปละละเลยผู้ป่วยสูงอายุที่นอนป่วยอยู่ตามบ้าน  ซึ่งข้อเท็จจริงคือผู้สูงอายุในเขตกทม.ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์ ตึกแถว  หรือคอนโดมิเนียมนั้น  ยามปกติอาจจะสามารถดูแลตนเองได้  แต่ในยามป่วยไข้ที่ติดเชื้อร้ายแรงอย่างโควิด-19 หากขาดการดูแลใกล้ชิดย่อมมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิต

เรื่องจริงที่ประจานความล้มเหลวของรัฐคือในบ้านหลังเดียวกัน 3 พี่น้องติดโควิด คนหนึ่งนอนตายหน้าห้องน้ำ  อีกคนนั่งตายคาชักโครก  อีกคนนอนหายใจรวยรินบนเก้าอี้  นี่คือระบบสาธารณสุขไทยยามนี้ที่มีแต่ผู้ใหญ่นั่งสั่งการเหมือนสั่งขี้มูกที่หัวโต๊ะ  เน้นสร้างภาพเอาหน้าออกทีวี  แต่ไม่เคยลงพื้นที่ติดตามงานภาคสนามว่าบรรลุเป้าหมายแค่ไหน

บทเรียนจากนานาประเทศ  

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค.แถลงเมื่อ 2 สิงหาคม 2564 ในวันที่มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 5,168 รายว่า  หากดูอัตราการป่วยต่อประชากร 1 ล้านคน และอัตราการเสียชีวิตต่อประชากร 1 ล้านคน ของไทยยังถือว่าน้อยกว่าประเทศต่างๆ ทั้งสหรัฐอเมริกา อังกฤษ อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย

ที่ผู้ช่วยโฆษกศบค.พูดนั้นไม่ผิด  แต่ถ้าถอดหัวโขนมามองในมุมของประชาชนที่กำลังยากลำบาก  ไม่รู้ว่าถ้าติดเชื้อโควิดแล้วจะตายวันตายพรุ่ง  จะตายริมถนนหรือตายคาบ้าน  พญ.อภิสมัยอาจจะไม่สบายใจเหมือนกับประชาชนเกี่ยวกับการทำงานของศบค.และรัฐบาลไทย  ว่าทำไมจึงขาดประสิทธิภาพ  ทำไมประกาศภาวะฉุกเฉินมาสองปีแล้วคนในประเทศยังติดเชื้อเพิ่มยังตายเพิ่มทุกวัน

ดูอย่างสหรัฐอเมริกา สมัยโดนัลด์ ทรัมป์ ไม่สนโควิด  คิดแต่จะเล่นงานจีนโจมตีว่าเป็นต้นตอการแพร่ระบาดถึงขนาดเรียก “ไวรัสจีน” ไม่เตรียมรับสถานการณ์จนเกิดการแพร่ระบาดในประเทศ  พอเปลี่ยนผู้นำเป็นโจ ไบเดน รีบจัดหาวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ  แม้วันนี้ยังพบผู้ติดเชื้อรายวันในระดับ 5 หมื่นคน  แต่การเสียชีวิตลดลงเหลือวันละ 200 คน

พญ.อภิสมัย น่าจะกล่าวถึง สาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีประชากรมากที่สุดในโลก 1,400 ล้านคน ว่าทำไมจึงสยบไวรัสได้อย่างรวดเร็ว มียอดผู้ติดเชื้อสะสมประมาณ 93,000 ราย  เสียชีวิตสะสม 4,636 รายน้อยกว่าไทย  ช่วงหลังมีรายงานติดเชื้อใหม่วันละไม่ถึงร้อย  และยังสั่งเข้มงวดกวดขันสูงสุดในการตรวจหาเชื้อ  ไวรัส  มีคำสั่งปิดเมืองและกักกันโรค

หรือน่าจะพูดถึงประเทศอินเดียที่มีประชากร 1,300 ล้านคน ส่วนใหญ่ยากจน ระบบสาธารณสุขไม่ดี  เคยติดเชื้อสูงวันละกว่า 400,000 ราย  เคยมีปัญหาถังออกซิเจนไม่พอ  ตายมากวันละ 6,000 คน ยอดเสียชีวิตสะสมกว่า 4 แสนคน จนเกิดภาพเผาศพบนพื้นถนน ริมแม่น้ำ  ศพถูกทิ้งลอยเกลื่อนแม่น้ำคงคา  เหมือนนรกบนดิน   แต่ทำไมรัฐบาลอินเดียสามารถใช้เวลาเพียง 2 เดือนลดจำนวนผู้ติดเชื้อลงได้อย่างรวดเร็วเหลือวันละ 30,000 ราย  เสียชีวิตวันละ 400 ราย

ฝากท่านผู้ช่วยโฆษกศบค.ถามพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการศบค.ด้วยว่า  ท่านมีความสุขดีหรือไม่บนเก้าอี้ที่นั่งอยู่ทุกวันนี้  เพราะใต้เก้าอี้คือกองศพผู้เสียชีวิตกว่าครึ่งหมื่นที่เป็นผลงานของท่านล้วนๆเลยนะ

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post