Digiqole ad

“อาชญากามออนไลน์” เรื่องเซ็กซ์ท่วมหัวเอาตัวให้รอด

 “อาชญากามออนไลน์” เรื่องเซ็กซ์ท่วมหัวเอาตัวให้รอด
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ฉบับที่ 418 วันที่  9-15 กุมภาพันธ์ 2567

หน้า 2-3 สกู๊ปปก

“อาชญากามออนไลน์”

เรื่องเซ็กซ์ท่วมหัวเอาตัวให้รอด 

            ต้อนรับเดือนแห่งความรัก 14 กุมภาพันธ์  “วันวาเลนไลน์” กับสกู๊ปพิเศษสไตล์ “บางกอกทูเดย์”  อาจไม่ใช้เรื่องราวความรักในรูปแบบใด ๆ โดยตรง แต่เป็นเรื่องของการ “ถูกคุมคามทางเพศออนไลน์” เพราะเรากำลังอยู่ในโลก “ยุคโซเชี่ยลมีเดีย” หรือ “ยุคดิจิทัล” ที่มีการติดต่อสื่อสารเข้าถึงตัวรวดเร็วยิ่งกว่าสายฟ้าแลบ กลายเป็นคดี “อาชญากาม” เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งไม่เพียงเกิดขึ้นแค่ในเมืองไทยเท่านั้น หากยังลุกลามไปทั่วโลก ไม่ต่างจากเชื้อไวรัส

ปฐมบทการคุกคามทางเพศออนไลน์

“การคุกคามทางเพศออนไลน์” ภาษาอังกฤษจะใช้คำว่า Online Sexual Harassment หรือ Cyber Sexual Harassment คือ การกระทำใด ๆ ในช่องทางการสื่อสารดิจิทัลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศที่ทำต่อคนอื่นที่เขารับรู้ได้ว่า ละเมิด ไม่ต้องการ ไม่ยินยอม ไม่พร้อม หรือแม้แต่ยินยอมในชั่วขณะนั้น ในสถานการณ์นั้น แต่หากส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้ถูกกระทำถือว่าเป็นการคุกคามทางเพศได้เช่นกัน

              ผศ.รณภูมิ สามัคคีคารมย์ รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและสื่อสารองค์กร คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในโลกออนไลน์เราจะไม่รู้ว่าใครเป็นใครบ้าง เพราะฉะนั้นการคุกคามทางเพศจะเกิดขึ้นได้ง่าย และหลายคนจะคิดว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาปกติที่เขาคอมเมนต์กัน เขาสื่อสารกัน แต่จริง ๆ ไม่ใช่ เพราะว่าผลกระทบมันจะมากกว่าการคุกคามทั่วไป เพราะว่าเนื่องจากเราไม่เห็นตัวผู้กระทำแล้วเราสื่อสารผ่านภาพ เสียง การพิมพ์ตัวหนังสือ ฉะนั้นผู้ถูกกระทำจะรู้สึกทุกข์ทรมานมาก ไม่รู้จะขอความช่วยเหลือจากใคร ไม่สามารถที่จะหยุดการกระทำเหล่านั้นได้ในทันทีทันใด และไม่รู้ว่าจะจัดการอย่างไร

            “การคุกคามทางเพศออนไลน์มีหลายรูปแบบ 1. รูปแบบของตัวอักษร เช่น พิมพ์คอมเมนต์สื่อสารโดยตรงกับเราว่า ขอจุดจุดจุดหน่อย อยากกอด อันนั้นใหญ่ อันนั้นเล็ก อันนั้นเท่าไข่ดาว เป็นต้น หรือแม้กระทั่งตอนนี้เราจะเห็นในห้องสื่อสารออนไลน์หลายห้องที่เหมือนเป็นการหยอกล้อ เช่น ขอ S สิงคโปร์ H หน่อย ก็คือของ Sexual Harassment หน่อย อยากจะท้องลูกแฝดด้วยอะไรอย่างนี้ครับ 2. รูปแบบการใช้สัญลักษณ์ หรือ Emoji เช่น เอา Emoji รูปหน้ายิ้มรูปดวงใจไปแปะที่อวัยวะบางส่วนของผู้ถูกกระทำ เช่น หน้าอก อวัยวะเพศ หรือว่าขนตรงนั้นตรงนี้ เป็นต้น 3. รูปแบบการสื่อสารตรงไปที่ผู้รับสารหรือผ่านอีเมล เช่น ส่งสื่อโป๊โดยที่เขาไม่ได้ต้องการ ชวนไปมีเพศสัมพันธ์ หรืออ้างอิงไปบุคคลที่สามในการว่าให้บุคคลที่สามเสียหายในเรื่องเพศ และที่สำคัญมีงานวิจัยจำนวนมากที่พบว่า การคุกคามทางเพศออนไลน์กับการคุกคามทางเพศในโลกจริงมีจุดที่จะเชื่อมกัน เช่น การคุกคามทางเพศเกิดขึ้นในพื้นที่จริงก่อนในห้อง บนเตียง หรือในสถานที่ต่าง ๆ หลังจากนั้นเอาไปเผยแพร่ในสาธารณะในโลกออนไลน์ นี่ก็คือจุดที่เชื่อมกัน หรือบางกรณีเกิดในโลกออนไลน์ก่อน จากนั้นก็กลับไปเกิดในโลกจริงอีก นี่ก็เป็นลักษณะที่อยากจะชวนให้ทุกคนได้รู้และระมัดระวังไว้”

             ผศ.รณภูมิ แนะนำว่า เมื่อเราถูกคุกคามทางเพศออนไลน์ 1. ต้องตั้งสติ แล้วพิจารณาดูว่าสิ่งที่เขาสื่อสารอยู่นี้เรารู้สึกสะดวกสบายใจหรือไม่ หรือว่ามันเป็นการคุกคามเราหรือไม่ 2. เราจะต้องทำการหยุดการสื่อสารนั้นทันที พยายามอย่าไปตอบโต้หรือถ้าจำเป็นต้องตอบโต้ก็ต้องบอกให้ผู้กระทำซึ่งจะมีคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ ทั้งที่เรารู้จักหรือไม่รู้จัก หรือที่เราเรียกว่า Avatar มาก็ต้องบอกผู้กระทำเลยว่าสิ่งนั้นมันเป็นสิ่งที่คุกคามเรา 3. เก็บข้อมูลหลักฐานทั้งหมด ถ้าเราตัดสินใจแล้วว่าเราไม่อยากให้เขากระทำต่อคนอื่นอีก และเราต้องการได้รับการเยียวยาบางอย่าง ผู้ถูกกระทำจึงต้องเก็บข้อมูลหลักฐานทุกอย่างไว้ทั้งหมดจากนั้นจึงใช้กระบวนการทางยุติธรรมดำเนินการในขั้นต่อไป ปัจจุบันมีเทคโนโลยีในการถ่ายรูป แคปเจอร์หน้าจอ หรือว่าส่งไปให้บุคคลที่สามได้รับรู้ไว้ว่าเราเจออะไรอย่างไร และที่สำคัญคืออาจารย์แนะนำว่าควรเขียนไดอารีไว้เหมือนกับบันทึกเหตุการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้น เพราะว่าหลายครั้งเทคโนโลยีเวลาส่งข้อมูลไป พอผู้กระทำรู้ว่าเป็นการคุกคามเขาก็จะทำการ Unsent หรือว่าลบข้อมูล ฉะนั้นต้องบันทึกข้อมูลในไดอารีให้เรียบร้อยว่าเกิดอะไรขึ้น เรารู้สึกอย่างไร เราได้บอกบุคคลที่สามอะไรไว้ เป็นต้น

“สำหรับทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ได้คำนึงถึงประเด็นนี้ มหาวิทยาลัยโดยการนำของท่านอธิการบดี และรองอธิการบดีฝ่ายการนักศึกษา จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ที่เรียกว่า “คณะกรรมการส่งเสริมความปลอดภัยและความเข้าใจเรื่องเพศ” ซึ่งมีทั้งบุคคลภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย ทำหน้าที่ในการป้องกัน ควบคุม ดูแล แก้ไขปัญหา และเยียวยาให้กับผู้ที่กระทำและถูกกระทำด้วยนะครับ สุดท้ายก็อยากจะฝากถึงผู้ที่ถูกคุกคามทางเพศทั้งในโลกออนไลน์และแบบเผชิญหน้าโดยตรง ก็อย่าไปรู้สึกแย่กับมันมาก เราต้องลุกขึ้นมาแล้วสู้ก้าวผ่านมันไปให้ได้ แล้วเรื่องร้ายทั้งหมดจะผ่านไป” (ที่มา : คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

สอนให้เด็กรู้ตัวและไหวตัวทัน

โครงการ Starfish Academy ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาวิชาชีพ นักการศึกษา ผู้ปกครอง เพื่อให้เด็กไทยได้มีทักษะในศตวรรษที่ 21 วิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อการศึกษา การเผยแพร่ และแบ่งปัน ได้ระบุว่า ขณะที่โลกกำลังตื่นเต้นกับการก้าวเข้าสู่ยุค Metaverse เมื่อบริษัทโซเชียล เน็ตเวิร์ก ยักษ์ใหญ่อย่างเฟซบุ๊ก โดยมาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta เพื่อก้าวเข้าสู่ยุคโลกเสมือนจริงอย่างเต็มตัว แต่กระนั้น แม้เทคโนโลยีจะพัฒนาไปไกล แต่จิตใจของมนุษย์บางกลุ่มก็ยังเปรียบเสมือนหลุมดำ ที่คอยจ้องหาโอกาสใช้เทคโนโลยี ทำร้ายผู้คน โดยเฉพาะเด็กๆ ผู้เยาว์ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ทำให้พานตกเป็นเหยื่อ สิ่งที่พ่อแม่ยุคนี้ต้องระวังจึงไม่ใช่เพียงแค่ภัยที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าในชีวิตจริงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภัยคุกคามที่มาในโลกออนไลน์ โดยที่เราอาจไม่เคยพบเจอคนร้ายเลยก็ตาม

ในยุคปัจจุบันที่โซเชียลมีเดีย เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น ภัยคุกคามทางเพศ อาจเกิดขึ้นในโลกออนไลน์ได้ ผ่านการคอมเมนต์ด้วยข้อความอนาจาร วิจารณ์รูปร่างหน้าตา ส่วนต่างๆ ของร่างกาย พิมพ์ข้อความในเชิงส่อไปทางเพศ นำรูปภาพของผู้ที่ไม่ยินยอม ไปตัดต่อโดยไม่เหมาะสม รวมทั้งการแชร์หรือส่งภาพอนาจารของตนเองให้ผู้อื่น โดยที่ผู้รับไม่ได้ต้องการ ก็จัดเป็นภัยคุกคามทางเพศเช่นเดียวกัน

“คนใกล้ตัว-คนแปลกหน้า” ที่มาของความเสี่ยง : ภัยคุกคามทางเพศในยุคนี้ เกิดขึ้นได้แม้จะไม่เคยพบกันเลยก็ตาม กระนั้น ข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้ทำการรวบรวมข่าวการละเมิดทางเพศ พบว่า 45.9% เกิดขึ้นจากคนแปลกหน้า คนที่ไม่รู้จักกัน ขณะที่ 45.6% เกิดจากคนใกล้ตัว ไม่ว่าจะเป็นครู เพื่อน หรือกระทั่งคนในครอบครัว และอีก 8.5% เกิดขึ้นจากคนที่รู้จักกันผ่านโซเชียล มีเดีย

จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นว่า ระหว่างคนแปลกหน้ากับคนใกล้ตัว มีเปอร์เซ็นต์การก่อเหตุคุกคามทางเพศใกล้เคียงกันมาก ต่างกันแค่เพียง 0.3% เท่านั้น การป้องกันลูกหลาน จึงไม่เพียงสอนให้ระวังคนแปลกหน้าเท่านั้น แต่อาจหมายถึงการ “ระวังทุกคน” ผ่านการสังเกตและสัญชาตญาณ

การสอนลูกระวังภัยคุกคามทางเพศ สามารถสอนด้วยการสอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน และการปฏิบัติตัวของพ่อแม่ต่อเด็กๆ ก็มีส่วนช่วยให้ลูกเรียนรู้เกี่ยวกับพื้นที่ส่วนตัวในร่างกายได้ด้วย มาดูวิธีที่ใช้สอนเด็กๆ กัน

เรียกชื่ออวัยวะให้เหมาะสม : สอนให้ลูกรู้จักชื่ออวัยวะต่างๆ ของร่างกายทำได้ตั้งแต่ลูกยังเล็กๆ รวมถึงอวัยวะที่เกี่ยวกับเรื่องเพศ เช่น จู๋ จิ๋ม ก้น หน้าอก หัวนม นม ทั้งนี้ควรใช้คำง่ายๆ เพื่อให้ลูกสื่อสารกับพ่อแม่ได้ เมื่อเกิดสิ่งที่ไม่ปกติกับร่างกายของลูก ไม่ควรใช้คำเรียกเฉพาะที่คนอื่นไม่เข้าใจเพราะอาจทำให้เกิดความสับสน เมื่อต้องขอความช่วยเหลือจากคนอื่น

เคารพร่างกายของลูก : แม้พ่อแม่จะเป็นผู้ให้กำเนิด แต่พ่อแม่ไม่ได้มีสิทธิเหนือร่างกายของลูก ก่อนกอด หอม หรือสัมผัสตัวลูก ควรขอนุญาตเด็กๆ ก่อนทุกครั้ง เพื่อให้ลูกเรียนรู้ว่า ร่างกายของเขา เขามีสิทธิตัดสินใจอนุญาตหรือไม่ก็ได้ หากเด็กๆปฏิเสธ ควรเคารพและไม่ถือมาเป็นเรื่องขุ่นข้องหมองใจ เพราะเมื่อไรที่ลูกรู้สึกสบายใจกับเราพวกเขาก็จะเข้ามากอดมาหอมเราเอง รวมถึงไม่บังคับให้ลูกกอด หอม คนอื่นๆ แม้กระทั่งคนในครอบครัวหากลูกไม่ต้องการ

พื้นที่ต้องห้าม : สอนลูกว่าพื้นที่ภายในร่มผ้า บริเวณที่เสื้อผ้าปกปิด เป็นพื้นที่ส่วนตัวต้องห้าม ไม่ควรเปิดเผยให้ใครและและห้ามไม่ให้ใครสัมผัส หากมีใครสัมผัส ขอดู ขอถ่ายรูป หรือมีใครมาให้ลูกจับหรือให้ดูบริเวณพื้นที่ต้องห้าม ต้องปฏิเสธ หนีออกมาให้ไกล และบอกพ่อแม่ทันที

แยกแยะสัมผัสที่ปลอดภัย :  สำหรับเด็กๆ ที่ยังไม่เข้าสู่วัยรุ่น อาจมีบางครั้งที่พ่อแม่ต้องช่วยเหลือดูแลร่างกาย เช่น อาบน้ำ ล้างก้น บอกให้เด็กๆ เข้าใจว่า พ่อแม่หรือผู้ดูแลหลัก จะสัมผัสร่างกายเมื่อมีเหตุผลจำเป็นเท่านั้น หากเป็นคนอื่นนอกเหนือจากคนที่เคยดูแล มาขอสัมผัสไม่ว่าด้วยเหตุผลอะไรก็ตามต้องบอกพ่อแม่ก่อนทุกครั้ง

“ลวนลามออนไลน์” ภัยยุคใหม่ต้องระวัง

นอกจากนี้ โครงการ Starfish Academy ยังกล่าวด้วยว่า การคุกคามทางเพศออนไลน์ (Online Sexaul Harrasment) คือ การกระทำใด ๆ ในโลกออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเพศต่อคนอื่น ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกว่าถูกละเมิด หรือผู้ถูกกระทำ ไม่ต้องการ ไม่ยินยอม และส่งผลกระทบเชิงลบต่อผู้ถูกกระทำ โดยการคุกคามทางเพศออนไลน์ อาจมีทั้งรูปแบบเป็นข้อความ เช่น คอมเม้นต์ หรือส่งข้อความในเชิงคุกคามทางเพศ หรือเป็นการแซว ล้อเล่น แต่ส่อไปในทางเพศ การใช้ Emoji ปิดบนรูปตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย แล้วโพสต์หรือส่งต่อ หรือการสื่อสารโดยตรง เช่น ส่งอีเมล์คลิปอนาจาร ข้อความไม่เหมาะสมให้กับผู้รับโดยที่ผู้รับไม่ได้ต้องการ

ทั้งนี้มักพบว่า การคุกคามทางเพศออนไลน์ กับ การคุกคามทางเพศในโลกจริงมีจุดเชื่อมโยงกัน เช่น การคุกคามที่เกิดขึ้นในบ้าน ในโรงเรียน อาจมีการส่งคลิปต่อในโลกออนไลน์ หรือการคุกคามออนไลน์ เช่น การนำภาพของเหยื่อไปตัดต่อ อาจส่งผลกระทบต่อเหยื่อในชีวิตจริง เป็นต้น

สิ่งที่พ่อแม่ควรทำเพื่อปกป้องลูกจากภัยคุกคามทางเพศออนไลน์คือ สอนให้ลูกป้องกันตนเองในโลกออนไลน์เบื้องต้น เช่น ไม่ส่งรูปภาพให้คนที่ไม่รู้จักหรือเพิ่งรู้จักกัน หรือหากมีใครส่งรูปภาพหรือข้อความที่ไม่เหมาะสม ควรบอกให้พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่ไว้ใจทราบ สิ่งสำคัญคือ สอนให้ลูกเชื่อสัญชาตญาณของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารออนไลน์ หรือการพบเจอคนในชีวิตจริง หากรู้สึกอึดอัด แปลกๆ ไม่สบายใจ ควรพาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้น ไม่ต้องกลัวเสียมารยาท หรือกลัวถูกทำโทษ หากเกิดขึ้นออนไลน์ควรบล๊อคและเลิกติดต่อกับคนๆ นั้น เน้นย้ำกับลูกว่าความปลอดภัยของลูกสำคัญที่สุด

อย่างไรก็ตาม การคุกคามออนไลน์อาจเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดในชีวิตจริง กรณีลูกวัยรุ่น มีความสัมพันธ์กับแฟนโดยสมัครใจแต่ถูกนำคลิปไปเผยแพร่ออนไลน์ พ่อแม่ควรสอนลูกให้ระวังตัว ด้วยการไม่ถ่ายคลิปหรือภาพถ่ายที่อาจถูกนำไปใช้สร้างความเสียหายในอนาคตได้ แม้ว่าอีกฝ่ายจะอ้างอย่างไร ก็ไม่ควรยินยอมและไม่ควรไว้ใจ เพราะรูปภาพและคลิปต่างๆ อาจกลายเป็นสิ่งที่สร้างความเสียหายไปตลอดชีวิตของลูกได้

นอกจากนี้ พ่อแม่ควรสังเกตความเปลี่ยนแปลงและพฤติกรรมของลูก กรณีที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ อาจมีร่องรอยฟกช้ำตามร่างกาย มีอาการหวาดกลัว ตกใจง่าย นอนไม่หลับ เก็บตัว พูดน้อยลง เหม่อ ซึมเศร้า มีความหวาดระแวงคนแปลกหน้าหรือกลุ่มคนมากกว่าปกติ กลัวสถานที่ใดสถานที่หนึ่ง ซึ่งอาจเป็นสถานที่ที่ถูกทำร้าย เช่น โรงเรียน ห้องน้ำ ฯลฯ หากพบว่าลูกมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป ควรพูดคุยซักถามลูกอย่างใจเย็น ไม่ตำหนิ คาดคั้น เพื่อหาทางออกร่วมกัน

สุดท้าย พ่อแม่อาจต้องปรับทัศนคติว่า เรื่องเพศไม่ใช่เรื่องต้องห้าม แต่เป็นเรื่องที่สามารถพูดคุยกันด้วยตามหลักความเป็นจริงและด้วยเหตุผล เพื่อสอนให้ลูกรู้จักป้องกันตนเองจากภัยคุกคามรอบตัว (ที่มา : www.starfishlabz.com)

ภาษาลวนลามทางเพศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย

จากข้อมูลจาก www.sanook.com ได้กล่าวถึง การใช้ภาษาลวนลามทางเพศผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย หรือ Cyber Sexual Harassment ว่า ปัจจุบันพฤติกรรมคุมคามทางเพศผ่านสังคมออนไลน์สามารถพบเห็นไปแทบทุกช่องทาง เนื่องจากโซเชียลมีเดียเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคนในสังคม และไม่สามารถระบุตัวตนที่แท้จริงของผู้ใช้งานได้ ทำให้การกระทำความผิดเป็นเรื่องง่ายมากขึ้น เพราะผู้กระทำความผิดสามารถ ลบทำลายหลักฐานบนโซเชียลมีเดียได้ ทำให้ยากในการติดตาม และยังมีแนวคิดบางส่วนมองว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการพูดเล่น พูดติดตลก หรือเป็นการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคนอื่นไปในแนวลามก “เป็นเรื่องปกติที่ใคร ๆ ก็ทำได้ เพราะเราต่างไม่รู้จัก” ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก

พฤติกรรมแบบใดเข้าข่าย Cyber Sexual Harassment อาทิ ทวิตเตอร์,เฟซบุ๊ก,ยูทูป,อินสตาแกรม และ การแสดงความคิดเห็นผ่านการไลฟ์สด ประกอบด้วย

การเหยียดเพศ : การแสดงความคิดเห็นในเชิงดูถูกเหยียดหยามรสนิยมทางเพศ หรือเพศสภาพของผู้อื่น โดยเห็นว่าเป็นเรื่องตลก และนำมาล้อเลียนให้อับอาย อาทิ สายเหลือง, ล้างตู้เย็น, ขุดทอง หรือเปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ ฯลฯ

            การลวนลามทางเพศ : การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องเพศ การพูดถึงอวัยวะเพศ (ชาย/หญิง) เสนอหรือขอทำกิจกรรมทางเพศกับบุคคลดังกล่าว โดยไม่สนใจเรื่องเพศ หรืออายุของผู้ถูกกระทำ อาทิ อยากเลีย/อม_ให้ล้ม, ได้น้อง_สักครั้ง จะตั้งใจเรียน, เห็นกล้ามแล้ว อยาก_ซักคำ, ช่วงนี้ พี่หิวขอกินข้าวหลามน้องได้ไหม หรือเห็นน้องแล้ว พี่อยากเป็นผู้ประสบภัย เป็นต้น

การข่มขู่ทางเพศ : การข่มขู่ผู้ถูกกระทำและคนสนิทบนโลกออนไลน์ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ทางเพศ โดยพฤติกรรมดังกล่าว ถือว่าเป็นการเกาะติดชีวิตออนไลน์ของผู้อื่น (Cyberstalking) หรืออีกกรณี คือ Revenge Porn เป็นการนำรูปโป๊ของเหยื่อมาข่มขู่หรือแก้แค้น และเหตุการณ์ที่พบบ่อย คือ เมื่อฝ่ายหญิงเลิกกับฝ่ายชาย แล้วฝ่ายชายนำภาพโป๊ที่เคยถ่ายตอนเป็นแฟนกันมาข่มขู่ หรือแก้แค้นฝ่ายหญิง โดยไม่สนใจว่าฝ่ายหญิงจะได้รับความเสื่อมเสียหรืออับอายเพียงใด

ตัวอย่างพฤติกรรมที่เข้าข่าย Cyber Sexual Harassment อาทิ การแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคนอื่นไปในแนวลามก, การกระจายข่าวลือเรื่องการร่วมเพศ หรือนินทาคนอื่นด้วยข้อความบนสื่อออนไลน์, การโพสต์แสดงความคิดเห็นทางเพศภาพหรือวิดีโอลามกบนสื่อออนไลน์,ส่งข้อความและภาพลามกผ่านข้อความ,กดดันให้คนอื่นมีส่วนร่วมในการส่งข้อความลามก,ส่งต่อข้อความและภาพลามกผ่านข้อความหรืออีเมล และ แอบอ้างเป็นบุคคลอื่นบนสื่อออนไลน์ เพื่อแสดงความคิดเห็นลามกหรือเสนอการร่วมเพศ

สิ่งที่ควรย้ำเตือน เพื่อไม่ให้เกิด Cyber Sexual Harassment อาทิ คนหน้าตาดี ไม่ว่าจะเพศใด อายุเท่าใด หรือสัญชาติไหน ท่องไว้ว่า บุคคลเหล่านั้นไม่ใช่เหยื่ออารมณ์หื่นที่คุณจะนำมาเล่นสนุกบนโซเชียลได้, การแต่งตัวเซ็กซี่ หรือล่อแหลม ไม่ใช่ใบอนุญาตคุกคามทางเพศ, การแสดงความหื่น ไม่ว่าจะทำกับใครก็ตาม การกระทำของคุณไม่ได้ดูเท่ หรือดูเก่งเหนือใคร แต่เป็นเรื่องน่าอายที่เข้าข่ายผิดกฎหมาย,หากคุณไม่เคารพ “สิทธิส่วนตัว” ของผู้อื่น ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้คนอื่นเคารพสิทธิส่วนตัวของคุณเช่นกัน ฯลฯ

Cyber Sexual Harassment เข้าข่ายความผิดอะไรบ้าง : ปัจจุบันยังไม่มีตัวบทกฎหมายที่กำหนดเรื่องการเอาผิดกับผู้กระทำผิดเรื่องลวนลามทางเพศในสังคมออนไลน์ เนื่องจาก พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ หรือ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2560 ไม่ได้บัญญัติความผิดเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศบนอินเทอร์เน็ตไว้เป็นการเฉพาะ อีกทั้งประมวลกฎหมายอาญา ก็ไม่มีบทบัญญัติโดยเฉพาะเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวเช่นกัน มีเพียงบทบัญญัติทั่วไปที่อาจนำมาปรับใช้ตามกรณีที่เกิดขึ้น อาทิ

พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ 2560 : มาตรา 14 ข้อ (4) ที่กล่าวไว้ว่า การนำข้อมูลที่มีลักษณะอันลามกเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ การกระทำดังกล่าวถือว่า มีความผิด อาจต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

            ประมวลกฎหมายอาญา : สำหรับในส่วนของประมวลกฎหมายอาญาที่สามารถนำมาเทียบเคียงได้ อาทิ มาตรา 59 วรรคสอง กล่าวถึงเรื่องเจตนา ว่า ผู้กระทำความผิดรู้อยู่แล้วว่า การกระทำของตน (โพสต์ข้อความในเชิงลามก) จะส่งผลอะไรต่อผู้ถูกกระทำนั้นบ้าง และ มาตรา 397 กล่าวไว้ว่า บุคคลใดที่กระทำการรังแกหรือข่มเหงผู้อื่นจนได้รับความอับอายหรือเดือดร้อนรำคาญ อาจต้องรับโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

การแบล็กเมลทางเพศ (Sextortion)

การแบล็กเมลทางเพศ อาจเป็นการล่อลวงไปละเมิดทางเพศจริง ๆ หรือถูกโน้มน้าวชักจูงหรือล่อลวงให้แสดงโชว์ลามกผ่านกล้องแล้วถูกบันทึกภาพวิดีโอเอาไว้ข่มขู่เรียกเงิน ประจานให้เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือขายทำเงินบนอินเทอร์เน็ต ซึ่งภาพหรือคลิปนั้นก็จะถูกนำมาใช้ข่มขู่ให้ยินยอมในการแสดงครั้งต่อ ๆ ไป ในกรณีที่ถูกล่อลวงชักจูงไปจริง ๆ อาจจะกลายเป็นการผลักดันเข้าสู่วงการโสเภณีเด็กหรือธุรกิจค้ากามเด็กต่อไป

กรณีที่พบบ่อยในระยะหลังนี้ ได้แก่การ “แลกกล้อง” หมายถึงการถ่ายทอดสดพฤติกรรมทางเพศระหว่างสองฝ่าย โดยจะถูกโน้มน้าวชักจูงหรือล่อลวงให้กระทำพฤติกรรมทางเพศ กระทำต่อตนเอง กระทำกับผู้อื่น หรือถูกกระทำ ฝ่ายที่เป็นเหยื่อไม่รู้ตัวว่ากำลังถูกอีกฝ่ายหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มมิจฉาชีพอัดคลิปวิดีโอเอาไว้ข่มขู่เรียกเงิน เอาคลิปวิดีโอไปขายในกลุ่มที่มีรสนิยมทางเพศกับเด็ก หรือปล่อยขายทำกำไรบนเว็บไซต์สื่อลามกอนาจารทั้งในประเทศและต่างประเทศ วิธีการนั้นมากจาก อาทิ ล่อลวงเหยื่อไปล่วงละเมิดทางเพศ หรือชักชวนถ่ายทอดสดพฤติกรรมทางเพศบันทึกภาพ/คลิปทางเพศของเหยื่อไว้ นำภาพ/คลิปมาข่มขู่เหยื่อเรียกเงิน หรือบีบบังคับให้ส่งภาพ

การป้องกันที่ดีคือ ไม่รับคนแปลกหน้าเป็นเพื่อน, ปิดกั้น ถ้ามีการชวนพูดคุยทางเพศ, ไม่เข้ากลุ่มลับต่าง ๆ, ไม่ส่งรูป/ข้อมูลส่วนตัวให้คนอื่น และการแก้ไขที่ดีคือ เก็บหลักฐาน คนโพสต์และเผยแพร่ให้ปรากฏชัดเจน ส่วนใครที่นำไปแชร์ต่อ ให้เก็บหลักฐานไว้เช่นกัน เนื่องจากมีความผิดทั้งคนโพสต์และคนแชร์ ในส่วนของการเก็บหลักฐานการข่มขู่ รีดทรัพย์ ได้แก่ ข้อความ แชทสนทนา , คลิปเสียง โดยขอความช่วยเหลือจากผู้ใหญ่,แจ้งตำรวจเพื่อดำเนินคดี, ปิดกั้นการเข้าถึงของคนร้าย, อย่าเชื่อคำขู่ของคนร้าย

ความผิดทางกฎหมาย : ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  338  ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่น ให้ยอมให้ หรือยอมจะให้ตนหรือผู้อื่นได้ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน โดยขู่เข็ญว่าจะเปิดเผยความลับซึ่งการเปิดเผยนั้นจะทำให้ผู้ถูกขู่เข็ญหรือบุคคลที่สามเสียหาย จนผู้ถูกข่มขืนใจยอมเช่นว่านั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานรีดเอาทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และ พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ มาตรา 14 (4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ ส่วนคนที่แชร์ต่อ จะมีความผิดตามมาตรา 14 (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1) (2) (3) หรือ (4) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ (ที่มา : https://www.thaihotline.org)

แจ้งความดำเนินคดี

ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า อาชญากรรมทางเทคโนโลยีนำเข้า หรือส่งต่อข้อมูลที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 397 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท หากส่งรูปลามก โป๊เปลือย โชว์ของลับ มีความผิด ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เรื่องการนำข้อมูลที่มีลักษณะลามกอนาจารเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์

วิธีแก้ไขคือ แจ้งความออนไลน์ทางเว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.com, บล็อกช่องทางการสนทนา, แจ้งเรื่องร้องเรียนไปยัง Facebook (หากเกิดขึ้นใน Facebook) ,สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้จัดทำเว็บไซต์ https://www.thaipoliceonline.com และเริ่มใช้งานมาตั้งแต่ 1 มี.ค.65 ถึงปัจจุบัน โดยมีลักษณะเป็น web application ที่ประชาชนต้องลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน แล้วสามารถขอรับรหัสผ่าน (OTP) เข้าสู่ระบบได้ ทั้งทางอีเมล และเบอร์โทรศัพท์

       สำหรับการรับแจ้งความคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หากประชาชนไม่สะดวกในการแจ้งความออนไลน์ด้วยตนเอง สามารถไปที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงแจ้งความออนไลน์ให้ได้อีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งหากประชาชนลงแจ้งความออนไลน์แล้ว จะได้เลขรับแจ้งความออนไลน์ (Case ID) และสุดท้ายขอเน้นย้ำว่า ประชาชนผู้แจ้งต้องไปให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนตามที่นัดหมายเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด

ภาพ : อินเทอร์เน็ต

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ฉบับที่ 418 วันที่  9-15 กุมภาพันธ์ 2567

หน้า 2-3 สกู๊ปปก

“อาชญากามออนไลน์”

เรื่องเซ็กซ์ท่วมหัวเอาตัวให้รอด 

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๑๘ ระหว่างวันที่ ๙-๑๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
https://book.bangkok-today.com/books/wsyw/#p=1
(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post