Digiqole ad

“อนุทิน”ต้องบินสูง กู้วัคซีนฝ่าวิกฤติ

 “อนุทิน”ต้องบินสูง  กู้วัคซีนฝ่าวิกฤติ
Social sharing
Digiqole ad

          ช่วงนี้สื่อมวลชนที่ทำงานแบบมืออาชีพอาจจะเกร็งหรือค่อนข้างระมัดระวังในการนำเสนอข่าวหรือแสดงความคิดเห็นที่เกี่ยวกับปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่  เพราะในกระบวนการแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ถูกชาวบ้านวิจารณ์ว่าทำงานเหมือน “ลิงแก้แห”แล้ว  ยังมีการออกมาตรการควบคุมการเสนอข่าวสารที่มีโทษแรงถึงขั้นติดคุก 2 ปี ปรับถึง 40,000 บาท ตามพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548”

         แม้กูรูกฎหมายของฝ่ายรัฐบาลจะบอกว่าเสนอความจริงไม่ผิด  แต่ในเมื่อกฎหมายเขียนไว้ครอบจักรวาลว่า  “…การเสนอข่าวที่อาจทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความสงบเรียบร้อย  เป็นความผิด…” แม้จะไม่มีเจตนาบิดเบือนแต่ก็อาจจะถูกหวยโดนแจ้งข้อหาสร้างความหวาดกลัว  หรือกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ  เป็นกรณีตัวอย่างให้ต้องเสียเวลาไปค้าความเพิ่มงานให้กับศาลอีก

          กระนั้นก็ตามในยามที่ประชาชนคนไทยครึ่งค่อนประเทศยังไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดเกาะกินปอดและคร่าชีวิตพี่น้องไทย เพิ่มมากขึ้นทุกวัน  จนมียอดผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 สะสมเกินกว่า 3,000 ราย  ยอดป่วยรักษาตัวอยู่มากกว่า 100,000 ราย  การทำหน้าที่รายงานข้อเท็จจริงที่ไม่บิดเบือนและแสดงความคิดเห็นติชมในเชิงสร้างสรรค์อย่างเป็นกลางไม่เอียงข้าง  เพื่อประโยชน์ของพี่น้องคนไทยและประเทศชาติจึงต้องดำเนินต่อไป     

          ประเด็นที่อยากจะบอกกับรัฐบาลที่กำลังเสียศูนย์และอาจจะเสียขวัญกับการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 แม้ผู้นำอย่างพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะยังปากแข็งทำใจดีสู้เสือประกาศว่า “จะไม่มีวันยอมแพ้ต่อสงครามครั้งนี้……จะสู้จนกว่าเราจะเอาชนะได้” ก็ตามที  แต่เสียงสะท้อนของชาวบ้านเดินดินที่กำลังไม่มีกิน  ลามไปถึงคนชั้นกลางชั้นสูงที่เคยให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพราะเชื่อว่า “เจ็บแล้วจบ  แต่เมื่อสถานการณ์ยืดเยื้อมาปีครึ่งกลายเป็น “เจ็บแล้วเจ๊ง” หลายธุรกิจถอดใจเลิกกิจการอย่างสวนเสือศรีราชา ที่เปิดมา 24 ปียังต้องหยุด  ไม่ต้องพูดถึงภัตตาคารร้านอาหารนับหมื่นแห่งที่สายป่านขาดทนสู้ต่อไม่ไหว  ต่างพากันตำหนิรัฐบาลร้องประสานเสียงขอเปลี่ยนคนขี่ม้าดีกว่า

          คุยกับเพื่อนนักธุรกิจคนหนึ่งที่เก็บตัวอยู่บ้าน(ผ่านทางLINE) บอกว่าสถานการณ์ไทยตอนนี้ก็แปลกดีนะ  หลายคนกลุ้มใจค้าขายไม่ได้เพราะรัฐบาลสั่งล็อคดาวน์ 10 จังหวัดแดงเข้ม 14 วันหวังหยุดการแพร่กระจาย  หวังกดยอดลงได้  แต่ก็เป็นไปอย่างยากลำบากเพราะยอดติดเชื้อรายวันใกล้หลักหมื่น ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลจนต้องให้กลับไปนอนรักษาตัวเองที่บ้าน  แพทย์และพยาบาลติดเชื้อเสียชีวิต  เตียงไม่พอ  โลงศพไม่พอ  เมรุเผาศพบางแห่งร้อนจนพัง  ฯลฯ 

          แต่ในสถานการณ์แบบนี้คนไทยกลับยังไม่เลิกพูดด้อยค่าวันซีนจีนที่บางคนเรียก “วัคซีนเซินเจิ้น” ไม่ยอมฉีดวัคซีนจีน  จะรอวัคซีนที่ฝรั่งผลิตซึ่งเชื่อว่าดีกว่า  จนตัวเองติดเชื้อต้องนอนห้องไอซียูให้หมอยื้อชีวิตอยู่ขณะนี้

          เพื่อนนักธุรกิจคนนี้ฉีดวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 2 เข็มแม้ไม่ได้เชียร์จีน ให้ความเห็นว่า  ในเมื่อองค์การอนามัยโลกอนุมัติให้ใช้วัคซีนซิโนแวคได้  ในขณะที่จีนยืนยันในประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคว่าฉีดครบ 2 โดส ช่วยป้องกันป่วยหนักหรือเสียชีวิตได้  ในประเทศจีนใช้ซิโนแวคร่วมกับซิโนฟาร์มฉีดให้ประชาชนไปแล้วกว่า 1,400 ล้านโดส หรือเกือบครึ่งประเทศ และคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติของจีนเพิ่งอนุมัติให้ฉีดซิโนแวคให้อาตี๋อาหมวยในจีนอายุตั้งแต่ 3 -17 ปี  ทำไมคนไทยส่วนหนึ่งจึงไม่เชื่อมั่นวัคซีนจีน  หรืออาจเป็นเพราะข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้รับรู้

         หรืออาจเป็นเพราะคนไทยยุคนี้บริโภคข่าวสารมากเกินไป  หรือเลือกที่จะเชื่อจากผู้ที่พูดมาก สื่อสารบ่อยอย่างนายแพทย์บางนายที่โพสต์เฟซบุ๊กแทบทุกวัน  หรือแม้แต่ฝ่ายรัฐบาลเองที่ตัดสินใจดำเนินการฉีดวัคซีนสลับชนิด  หรือฉีดเข็มที่ 3 ให้บุคลากรแพทย์ด่านหน้า  ก็เท่ากับเป็นการสื่อสารในเชิงลบเช่นกัน

          เช่นกรณีที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ  แจ้งว่าคณะกรรมการเพิ่งมีมติสำคัญคือ  เห็นชอบการฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าฯ ระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์เดลตา   และฉีดวัคซีนแบบบูสเตอร์ โดส เข็มที่ 3 แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า          

          มติของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติของไทยเรื่องฉีดวัคซีนสูตรผสมที่พัฒนาจากจีนและชาติตะวันตก  หรือฉีดบูสเตอร์เข้มที่ 3 กลายเป็นข่าวใหญ่ระดับโลกเมื่อองค์การอนามัยโลก(WHO) ตอนแรกออกมาร้องเสียงหลงว่า “อย่าหาทำ”เพราะค่อนข้างเป็นอันตราย เนื่องจากขณะนี้ยังมีข้อมูลการวิจัยในเรื่องนี้น้อยมาก

         ประชาชนไม่ควรเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตัวเองในการเลือกวัคซีน  ผู้ที่สามารถตัดสินได้คือหน่วยงานด้านสาธารณสุข ” ดร.สมยา สวามินาธาน หัวหน้าคณะนักวิทยาศาสตร์ องค์การอนามัยโลกให้ความเห็น

          องค์การอนามัยโลกออกมาเตือนอย่างเป็นห่วงเพราะหลังจากโควิด-19 สงบลงได้พักหนึ่งก็กลับมาเพราะระบาดรอบใหม่จากเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา  พบว่าผู้ป่วยทั่วโลกเพิ่มต่อเนื่อง4สัปดาห์  อัตราการเสียชีวิตกลับมาเพิ่มสูงขึ้น  ตอนนี้สายพันธุ์เดลตาระบาดกว่า 104 ประเทศอย่างรวดเร็วและคาดว่าจะครองโลกในเวลาไม่นาน  วันนี้มาเลเซียเพื่อนบ้านทางใต้ของไทยติดเชื้อทะลุ 1 หมื่นคน/วัน  อินโดนีเซียติดเชื้อวันเดียว 48,000 คน ขึ้นอันดับ 1 ของโลกไปแล้ว 

           การฉีดวัคซีนสลับชนิดดังกล่าวรัฐบาลไทยตัดสินใจเดินหน้าต่อแน่  และไม่ใช่เพิ่งเริ่มทดลองที่ประเทศไทยแต่ประเทศอื่นก็ดำเนินการทำนองเดียวกัน  อาทิ เวียดนามฉีด แอสตร้าเซนเนกาเข็มที่ 1 ฉีดวัคซีนไฟเซอร์เข็มที่ 2  ซึ่งหวังว่าจะมีผลให้เกิดการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดียิ่งขึ้น

            นอกจากนี้ยังพอมีหวังในข่าวดีที่รัฐบาลเริ่มฟังเสียงนอกทำเนียบมากขึ้น  นอกจากฟังคนรอบข้างที่พาเดินเป๋ออกนอกลู่นอกทางมาหลายครั้ง  กล่าวคือคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ เตรียมคุมการส่งออกวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาซึ่งเป็นการแก้ปัญหาตรงจุดที่สุด  จะช่วยให้มีวัคซีนมากขึ้นในการฉีดป้องกันแก่ประชาชน

          คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ มีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน  จากการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2564  มีมติให้กรมควบคุมโรค และสถาบันวัคซีนแห่งชาติเร่งจัดหาวัคซีนปี 2564 ให้ได้ 100 ล้านโดส  พร้อมเห็นชอบและอนุมัติให้จัดหาวัคซีนอีก 120 ล้านโดส สำหรับปี 2565 

          นอกจากนั้น ที่ประชุมเห็นชอบหลักการ ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข ภายใต้มาตรา 18 พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 ในการกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนป้องกันโควิดไปภายนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว  แต่แทนที่จะเคาะกันออกมาให้เบ็ดเสร็จสะเด็ดน้ำตามสถานการณ์ฉุกเฉิน  กลับบอกว่าต้องพิจารณาให้รอบคอบ  ต้องไปเจรจากับผู้ผลิตวัคซีนก่อนแล้วค่อยมานัดประชุมกันอีกครั้ง

           ณ ที่นี้ขอเสนอต่อนายอนุทินผู้เคยมีภาพขับเครื่องบินขนส่ง “หัวใจ” และอวัยวะช่วยคนป่วยให้รอดชีวิตมาแล้วหลายราย  ว่าประเทศไทยยามนี้ไม่มีเวลามากมายสำหรับการนั่งประชุมไปวันๆ  เพราะแต่ละนาทีแต่ละชั่วโมงหมายถึงชีวิตของพี่น้องชาวไทยที่ติดเชื้อและเสียชีวิตเพิ่ม  วันนี้ประเทศไทยต้องการผู้นำที่รู้จักคิดนอกกรอบและกล้าตัดสินใจเพื่อรักษาชีวิตคนไทยอีกหลายสิบล้านคนที่ยังไม่ได้สัมผัสวัคซีนแม้สักเข็มเดียว  

             รัฐบาลเคยบอกว่าเป็นบุญของประเทศไทยที่มีโรงงานผลิตวัคซีนอยู่ในประเทศ  ปีที่แล้วรัฐบาลได้ให้เงินจากภาษีประชาชนไปอุดหนุนบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์จำนวน 600 ล้านบาท สำหรับการผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19  แต่กำลังการผลิตเดือนละ 16 ล้านโดส กลายเป็นข้ออ้างให้ต่างชาติไม่ส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนกาให้ตามสัญญา 10 ล้านโดสต่อเดือน  

          ทางแก้ปัญหาไม่ควรจำกัดแค่กำหนดสัดส่วนการส่งออกเท่านั้น  แต่หากคิดนอกกรอบ  รัฐบาลใส่เงินอีก 1,000 – 2,000  ล้านบาทให้เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 20-30 ล้านโดสได้ไหม  เท่ากับจ่ายเงินลงทุนให้ก่อนแล้วจ่ายคืนกลับในรูปวัคซีนที่จะได้มากกว่าเดือนละ 10 ล้านโดส  เพราะยังไงก็ต้องการวัคซีนเพิ่มในอนาคต  นี่เป็นเรื่องที่ต้องเจรจากับแอสตร้าเซนเนกา  ไม่ใช่ไปขอร้องแค่จำกัดการส่งออก         

           ความมั่นคงด้านวัคซีน” ในพ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561  มิใช่แค่การเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม  การดำเนินการให้มีปริมาณวัคซีนเพียงพอต่อความต้องการทั้งในสถานการณ์ปกติและในสถานการณ์ฉุกเฉินคือหัวใจของกฎหมายฉบับนี้หากจะใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา

Facebook Comments

Related post