Digiqole ad

“หมอพร้อม” ทำไมถูกเท? เพราะ…“วัคซีนไม่พร้อม”

 “หมอพร้อม” ทำไมถูกเท?   เพราะ…“วัคซีนไม่พร้อม”
Social sharing

Digiqole ad

หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน “แอสตร้า เซนเนก้า” เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเชื้อไวรัสโควิด-19 เข็มแรกไปตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2564แล้ว เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ที่สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข

ตอนที่พล.อ.ประยุทธ์ โชว์ฉีดวันซีนเข็มแรกนั้น  ชาวบ้านบางส่วนส่งเสียงชื่นชมว่าแสดงความเป็นผู้นำที่กล้าหาญ  ยอมเป็นหนูทดลองวัคซีนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาชน  แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปหลังเกิดการแพร่ระบาดระลอกสาม  ติดเชื้อสะสมทะลุหลักแสนคน  เสียชีวิตมากขึ้นใกล้หลักพันคน วันที่พล.อ.ประยุทธ์ ฉีดวัคซีน เข็มที่ 2  พร้อมรับวัคซีนพาสปอร์ตว่าเป็นบุคคลที่ปลอดภัย  ในขณะที่ประชาชนเกือบทั้งประเทศยังเฝ้ารอคอยการฉีดวัคซีนเข็มแรก  เสียงด่าจึงแซงหน้าเสียงชม

ข้อมูลรายวันของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งแจ้งยอดผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตที่ไม่สามารถกดตัวเลขลงได้  อีกทั้งยังเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆโดยเฉพาะใน “เรือนจำ”ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และอีกหลายจังหวัดทั่วทุกภาค  ก่อให้เกิดคำถามว่ารัฐบาลสามารถบริหารจัดการวัคซีนฉีดสู่ประชาชนได้ทันต่อความรุนแรงของสถานการณ์หรือไม่

การประกาศให้ลงทะเบียน “หมอพร้อม” ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและ 7 กลุ่มโรคเสี่ยง ซึ่งมียอดลงทะเบียนรวมเกือบ 8 ล้านคน   และกำหนดจะให้ประชาชนทั่วไป กลุ่มอายุ 18-59 ปี ลงทะเบียนในวันที่ 31 พฤษภาคม แต่ศบค.กลับสั่งเบรกการลงทะเบียน “หมอพร้อม” โดยบอกให้ใช้ช่องทางท้องถิ่น เช่น “นนท์พร้อม”ของจังหวัดนนทบุรี  “ภูเก็ตต้องชนะ”ของจังหวัดภูเก็ต  หรือ “ไทยร่วมใจ”ของกรุงเทพมหานคร ยิ่งเพิ่มเติมความสับสนแก่ประชาชน

โฆษกศบค.บอกจะเปลี่ยนบทบาทของ “หมอพร้อม” เป็นใช้ติตดามการฉีด รายงานผลข้างเคียง และออกใบรับรองการฉีดวัคซีน  แต่ไม่อธิบายเหตุผลว่าระบบของหมอพร้อมล้มเหลวหรือยังไง  ข้อสำคัญคนที่ลงทะเบียนไปแล้วเกือบ 8 ล้านคนจะถูกเทหรือไม่กับการนัดหมายฉีดวัคซีน

รัฐบาลไม่เคยยอมรับว่าบริหารจัดการวัคซีนผิดพลาดมาตั้งแต่ต้น  จนเมื่อรู้ตัวว่าเข้าสู่การระบาดระลอกสามรัฐบาลได้จัดตั้ง “ศูนย์บริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 แบบเบ็ดเสร็จ” เมื่อวันที่ 26 เมษายน โดยพล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. ได้รวบอำนาจบัญชาการแบบ “Single Command” มีการประชุมร่วมกับภาคเอกชน 2-3 ครั้งในการจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมแต่ทำไปทำมาภาคเอกชนก็ถอยออกให้รัฐบาลดำเนินการเองโดยสถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวหลังได้วัคซีนเข็มที่ 2 แล้วว่า วันนี้ที่เราจำเป็นต้องปรับปริมาณวัคซีน เพราะขึ้นอยู่กับวัคซีนที่เข้ามา เข้าแล้ว กำลังนำเข้า หรืออยู่ในขั้นตอนเจรจาก็มีหลายประเภทด้วยกัน เมื่อได้มาครบทุกอย่างมันก็จะเร็วขึ้น

มีการปรับแก้ตลอดเวลา ถ้าวัคซีนมาพอก็เป็นไปตามแผน ถ้าวัคซีนมาน้อยกว่าก็ต้องปรับแผน ถ้าวัคซีนมามากกว่านั้นก็ปรับแผนอีก วันนี้สิ่งสำคัญคือเรื่องของการฉีดผู้ที่เข้าหมอพร้อม ก็อาจจะมีปัญหาอยู่บ้าง ที่เข้าหมอพร้อมแล้วขยับไปนิดหนึ่ง เพราะวัคซีนในเมื่อยังมาไม่ถึงและมีความเร่งด่วนก็ต้องปรับ ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เรื่องตลกคือรุ่งขึ้นวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 สถาบันบำราศนราดูร ที่นายกรัฐมนตรีเพิ่งไปฉีดวัคซีนมาหมาดๆได้ออกประกาศทางเพจเฟซบุ๊กว่า “ตามที่สถาบันฯ ได้แจ้งท่านนัดฉีดวัคซีนในเดือนมิถุนายน 2564 นั้น เนื่องจากสถาบันฯ ไม่ได้รับการจัดสรรวัคซีนในช่วงเดือนมิถุนายน จึงขอเลื่อนวันนัดฉีดวัคซีนของท่านไปเดือนกรกฎาคม 2564 เมื่อทางสถาบันฯ ได้รับจัดสรรวัคซีนมาแล้ว จะแจ้งให้ท่านทราบวันนัดฉีดวัคซีนโดยเร็ว”

แต่หลังจากสื่อสารออกไปแล้วสื่อมวลชนกระจายข่าวต่อได้ไม่นาน  ทางสถาบันฯได้ลบโพสต์ออกแล้วรุ่งขึ้นวันที่ 26 พฤษภาคม สถาบันฯได้โพสต์แก้ไขข่าวว่า  “ ตามที่เคยเสนอข้อมูลก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2564 และมีความคลาดเคลื่อนของข้อมูลนั้น  ทางสถาบันบำราศฯ ขอแจ้งว่าทุกท่านที่ได้นัดหมายการฉีดวัคซีนกับทางสถาบันฯ จะได้รับการฉีดตามกำหนดการ   หากมีข้อสงสัย สอบถามได้ที่ สถาบันบำราศนราดูร โทร. 02-9511170-9”

ความสับสนดังกล่าวผู้บริหารสถาบันบำราศนราดูรโยนกลองว่าเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน  แต่เป็นไปได้หรือที่เรื่องการฉีดวัคซีนซึ่งถือเป็น “วาระแห่งชาติ” เป็นภารกิจสำคัญของสถาบัน  เป็นหน้าตาขององค์กรที่นายกรัฐมนตรีเพิ่งมาถลกแขนเสื้อให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขปักเข็ม  กลับประกาศเลื่อนฉีดวัคซีนโดยผู้บริหารออกตัวว่า “ไม่รู้เรื่อง”

การกลับลำในเวลาข้ามคืนของสถาบันบำราศนราดูรประกอบกับการให้ข่าวของผู้บริหารสามารถประเมินความเป็นไปได้ประการเดียวคือ  ประกาศครั้งแรกนั้นถูกต้องแล้ว  เพราะวัคซีนแอสตร้า เซนเนก้า ยังไม่ได้รับการจัดสรรมา  แต่ข่าวที่เผยแพร่ออกไปเป็นผลลบต่อรัฐบาล  คงมีการจัดสรรวัคซีนโคโรนาแวค(ซิโนแวค)ที่สำรองไว้มาให้แทน  จึงมีประกาศครั้งที่สองว่าฉีดตามนัดหมายเดิม

สัญญาณของการาขาดแคลนวัคซีนปรากฏก่อนหน้ามาแล้วเมื่อโรงพยาบาลหลายแห่งแจ้งเลื่อนนัดหมายการฉีดวัคซีนให้ประชาชน อาทิ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ  ต้นแบบการก่อตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรักษาผู้ป่วยโควิด-19  ศ.ดร. สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการ ได้โพสต์ทางเฟซบุ๊กเมื่อ 22 พฤษภาคม ตัดพ้อว่า “รู้สึกว่าเรากำลังถูกเท”  โดยต่อมามีข้อมูลว่าทางโรงพยาบาลขอวัคซีนไป 12,000 โดส แต่ถูกตัดเหลือแค่ 6,000 โดสซึ่งไม่เพียงพอสำหรับทีมงานส่วนหน้าและประชาชนที่ลงทะเบียนไว้

ขณะที่ วชิรพยาบาล ประกาศเลื่อนวันรับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 จนกว่าจะได้รับวัคซีน  และโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ประกาศว่าตั้งแต่วันที่ 24 พฤษภาคม ศูนย์บริการฉีดวัคซีนจะมีเฉพาะวัคซีนซิโนแวคเท่านั้น

เรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้นรัฐบาล ศบค. และกระทรวงสาธารณสุข พูดแต่อนาคตสวยหรูว่าภายในปีนี้จะหาให้ได้ 100 ล้านโดสเพื่อฉีดให้ถึง 50 ล้านคนภายในสิ้นปี และหาเผื่อปีหน้าอีก 50-100 ล้านโดส  แต่ความจริงคือตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนพฤษภาคม 2564  รัฐบาลได้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามาเพียง 117,000 โดส ซึ่งน่าจะใช้ไปเกือบหมดแล้ว  ส่วนวัคซีนซิโนแวคจากรัฐบาลจีนได้รับมา 6 ล้านโดส ใช้ไปแล้วประมาณ 3.2 ล้านโดส(ข้อมูล ณ 27 พฤษภาคม 2564) คงเหลืออยู่ประมาณ 2.8 ล้านโดส นี่คือหน้าตักจริงๆของรัฐบาล

วัคซีนที่ทำสัญญาซื้อจากแอสตร้าเซนเนก้าปีนี้ 61 ล้านโดส มีกำหนดส่งมอบเดือนมิถุนายน 6 ล้านโดส เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายนเดือนละ 10 ล้านโดส เดือนธันวาคม 5 ล้านโดส

ปัญหาใหญ่คือเดือนมิถุนายนที่รัฐบาลนัดหมายฉีดวัคซีนแก่คนทั่วประเทศตั้งแต่ 7 มิถุนายน โดยคาดหวังจะใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก  แต่เมื่อไม่มีการยืนยันว่าจะส่งมอบวันไหนแน่จึงต้องปรับแผนหันมาใช้ซิโนแวค  โดยมีการสั่งวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 3 ล้านโดส กำหนดส่งภายในเดือนมิถุนายนซึ่งน่าจะเร็วกว่าแอสตร้าเซนเนก้า

วันที่ 25 พฤษภาคม 2564  บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด ชี้แจงถึงกรณีการส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซเนก้า ที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ให้แก่ประเทศไทย ตามข้อตกลงตามสัญญา ระบุว่า  การผลิตวัคซีนป้องกันโควิดในประเทศไทยมีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ยืนยัน พร้อมทยอยส่งมอบวัคซีนล็อตแรกที่ผลิตโดย สยามไบโอไซเอนซ์ ให้แก่รัฐบาลไทยตามกำหนดภายในเดือนมิถุนายนแต่ไม่ระบุวันที่แน่นอน

ตอนนี้ประชาชนมีความเข้าใจเรื่องวัคซีนมากขึ้น  ผู้ลงทะเบียนด้วยความสมัครใจ  ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นยี่ห้อไหนหรือจากประเทศใด  ยุโรป  จีน รัสเซีย  อเมริกา  ขอให้ได้ฉีดโดยไวเพื่อความปลอดภัย  เพื่อลดการแพร่ระบาด  เพื่อให้บ้านเมืองกลับสู่ปกติ  สามารถทำมาหากินเปิดร้านค้าขายได้  เด็กได้ไปเรียนหนังสือ  เปิดประเทศรับการท่องเที่ยวได้  แต่ปัญหาอยู่ที่ความล่าช้าของวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่รัฐบาลจัดหา

ส่วนพวกที่ไม่เชื่อมั่นในวัคซีนที่รัฐบาลจัดหา  ยินดีเสียเงินเองรอฉีด “วัคซีนทางเลือก” กับโรงพยาบาลเอกชนที่จองเอาไว้ก็ถือเป็นสิทธิส่วนบุคคลซึ่งเชื่อว่ามีจำนวนไม่มาก  แต่ก็เจอปัญหาการต้องสั่งซื้อผ่านรัฐบาลและกว่าจะเข้ามาเห็นว่าต้องรอถึงเดือนกันยายน

ท่านที่โชคดีได้ฉีดวัคซีนไปแล้วจงอย่าชะล่าใจว่าจะปลอดภัยไม่ติดเชื้อ  ส่วนพวกที่ยังไม่ได้ฉีดเพราะยังไม่ได้ลงทะเบียน  ยังไม่ได้เดินไปจองคิว  ลงทะเบียนแล้วยังไม่ถึงกำหนด  หรือถูกเลื่อน  ยังรอคอยเหมือนถูกปล่อยให้ลอยคอกลางทะเลเชื้อโรคที่ไม่รู้ว่ามันจะเข้ามาทะลวงปอดเมื่อไร   ขอแนะนำให้หา “ฟ้าทะลายโจร” สมุนไพรพื้นบ้านของไทยมากินเสริมภูมิคุ้มกันไปพลางๆก่อน

นอกจากนั้นให้พยายามทำความคุ้นชินกับหน้ากากอนามัยให้เสมือนเป็นอวัยวะชิ้นที่ 33 เนื่องจากต้องอยู่กับมันไปอีกเป็นปี  หมั่นล้างมือและฉีดแอลกอฮอล์ทุกวาระโอกาส   สุดท้ายให้จุดธูปท่องคาถาให้ขึ้นใจ “อยู่บ้าน หลบเชื้อ กินเกลือ เพื่อชาติ

Facebook Comments


Social sharing

Related post