Digiqole ad

หญิงแกร่งแห่งเมืองอุบล “วิยะดา อุนนะนันทน์” ผู้ขับเคลื่อนแบรนด์ “ไหมจันทร์หอม” ผ้าไทยสุดงดงาม

 หญิงแกร่งแห่งเมืองอุบล “วิยะดา อุนนะนันทน์” ผู้ขับเคลื่อนแบรนด์ “ไหมจันทร์หอม” ผ้าไทยสุดงดงาม
Social sharing

Digiqole ad

เพราะด้วยใจรักจึงทำให้อดีตสาวนักการธนาคารชาวอุบลราชธานีอย่าง “คุณบุ๋ม-วิยะดา อุนนะนันทน์” ได้ผันตัวมาเป็นสตรีนักธุรกิจผู้ก่อตั้งแบรนด์ “ไหมจันทร์หอม” ซึ่งได้ทำการรังสรรค์ผ้าไหมสีสันและลวดลายโบราณต่าง ๆออกมาได้อย่างสวยงามในระดับพรีเมี่ยม โดยกว่า 4 ปีที่ผ่านมาเธอได้อุทิศทั้งแรงกายแรงใจ เพื่อปลุกปั้นแบรนด์ขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือสังคมเป็นหลัก ที่สำคัญสิ่งที่เธอทำด้วยหัวใจที่เปี่ยมท้นด้วยความสุข ถึงขั้นมีการเก็บสะสมไว้มากพอสมควรอีกด้วย

เธอเล่าว่า สำหรับเรื่องผ้าไหมแล้วเป็นความชอบส่วนตัวได้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยคุณปู่ คุณย่า ที่ปลูกฝังให้รู้จักกับผ้าไหมมาตั้งแต่เด็ก ๆ พอมาถึงรุ่นคุณแม่ และช่วงที่ต้องมาทำงานนั้นไม่มีใครสืบทอด จนมาถึงเวลาที่ต้องลุกขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อสืบสานของดีเมืองอุบลให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาคนที่มีใจรักและชื่นชอบผ้าไหมเป็นชีวิตจิตใจ โดยได้เชิญคนในชุมชนกว่า 70 ครัวเรือน  เข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตผ้าไหมจำหน่าย ซึ่งจุดเด่นคือลาย การออกแบบ กระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำกระทั่งถึงปลายน้ำ จะมีความเป็นเอกลักษณ์ท้องถิ่นของจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้งานเน้นคุณภาพจะผลิตลายละ 1 ผืนเท่านั้น ที่เป็นเอกลักษณ์ของอุบลราชธานีผ้าลายโบราณ เรียกได้ว่าใส่ได้แบบสบายใจไม่เหมือนใคร และไม่มีใครเหมือนแน่นอน

“ทั้งนี้ลวดลายต่าง ๆจะเป็นคล้ายกับผ้าที่สตรีชั้นสูง เจ้าเมืองอุบล สวมใส่ในสมัยรัชกาลที่ 5  ราคาเริ่ม 2,000 กว่าบาทไปถึงหลักแสนบาท ขึ้นอยู่กับความยากง่าย สำหรับรูปแบบทำธุรกิจจะเน้นการทำธุรกิจเพื่อชุมชน เพื่อศิลปวัฒนธรรม ไม่ได้เน้นว่าต้องได้กำไรเท่านั้นเท่านี้  ทำด้วยความสุข สิ่งที่รัก ตอบแทนชุมชนบ้านเกิดให้คนในชุมชนมีงาน มีเงิน จากเดิมที่มีรายได้น้อยก็ให้เพิ่มรายได้มากขึ้น อยู่แบบยั่งยืน โดยจะทำหน้าที่เป็นแม่ทัพในการทำการตลาด พร้อมทั้งใส่ไอเดีย คิดแบบ ลวดลายต่าง ๆ ตลอดจนถึงการนำความรู้ และนวัตกรรมใหม่ ๆ มาถ่ายทอดให้ชาวบ้านได้นำมาปฏิบัติกัน เน้นย้ำให้ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำอีก ไม่ได้ทำแค่สวยงาม แล้วถ้าไม่ตอบโจทย์ลูกค้าจะทำให้ขายไม่ได้เหมือนกัน”

คุณบุ๋ม กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันช่องทางการจำหน่ายจะมี 2 ที่ คือร้านคุ้มจันทร์หอม  เรือนไทยอีสานประยุกต์อยู่ที่ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ จังหวัดอุบลราชธานี และร้านไหมจันทร์หอม ในตัวเมือง นอกจากนี้ยังมีช่องทางออนไลน์ที่เจาะลูกค้าทั่วประเทศ ตลาดกลางและตลาดบน ส่วนลูกค้าหลัก ๆ จะเป็นกลุ่มผู้หญิงวัย 30 ปีขึ้นไปที่ชื่นชอบผ้าไหม ใส่ไปทำงาน หรือกิจกรรมต่าง ๆ และกลุ่มคนที่ชื่นชอบสละสมก็เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงมาก โดยเฉพาะตลาดกลุ่มคนเมือง  หรือกลุ่มภรรยาที่ได้สามีเป็นชาวต่างชาติ นักธุรกิจไทยที่ไปทำธุรกิจต่างชาติกลุ่มนี้ก็น่าจับตามอง

ถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิด -19 จะทำให้ตลาดผ้าไหมเงียบเหงาไปบ้าง ซึ่งไหมจันทร์หอมก็พยายามปรับตัวโดยการผลิตสินค้าที่ราคาไม่สูงมากออกมาเพื่อให้คนที่กำลังซื้อไม่มากสามารถจับต้องได้ ในส่วนของคุ้มจันทร์หอมก็จะพยายามนำสินค้าท้องถิ่นอุบลให้มีความหลากหลายมาวางจำหน่าย และได้เปิดให้เยี่ยมชมศูนย์ถ่ายทอดการเรียนรู้วิถีการทอผ้าภูมิปัญญาท้องถิ่นและให้ความรู้เกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการ หัตถกรรมพื้นบ้านการทอผ้าไหม

“เริ่มตั้งแต่การปลูกหม่อนเลี้ยงไหม การสาวไหม การย้อมไหม การทอ และกระบวนการอื่น ๆ ทุกขั้นตอน เพื่อให้ได้ผืนผ้าที่งดงามและได้คุณภาพมาตรฐาน ซึ่งถือเป็นกิจกรรมหลักของทางคุ้มที่ช่วยส่งเสริมสนับสนุนการอนุรักษ์สืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น เสริมสร้างประสบการณ์ในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และพัฒนางาน ทรัพยากรของชุมชนให้มีคุณค่า สร้างงาน สร้างรายได้แก่ชุมชน และผู้สนใจศึกษา ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดในการสร้างงานสร้างอาชีพได้อย่างยั่งยืน นำมาซึ่งความเจริญงอกงามทางด้านการศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่นอันมีคุณค่าให้อยู่คู่เมืองอุบลราชธานีสืบไป เป็นการท่องเที่ยวเชื่อมโยงไปยังลาวใต้”

คุณบุ๋มกล่าวด้วยว่า ในอนาคตจะนำกาบบัวมาต่อยอดทอเป็นผ้ากาบบัวของดีเมืองอุบลราชธานีอีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้ยังจะเข้าไปสอนอาชีพในเรือนจำ ในการนำเศษผ้ามาทำเป็น กระเป๋าใบเล็ก ๆ พวงกุญแจ สร้างรายได้ให้คนกลุ่มนี้ได้ออกมามีชีวิตที่ดี ซึ่งทั้งหมดคือเรื่องราวของหญิงแกร่งแห่งเมืองดอกบัวที่ปั้นแบรนด์ไหมจันทร์หอม ผ้าไหมเอกลักษณ์ท้องถิ่นเมืองอุบลราชธานีที่ทำธุรกิจเพื่อชุมชน ให้ตัวเขาเองมีความสุข และชุมชนมีความสุข พร้อมสืบสานความเป็นไทยต่อไป

สำหรับผู้ที่ชื่นชอบและหลงรักผ้าไหมไทยสไตล์จันทร์หอม สามารถติดตามรายละเอียดได้ที่

แฟนเพจเฟซบุ๊ก :

เพจร้านไหมจันทร์หอม https://www.facebook.com/maichanhomubon/

เพจจันทร์หอม ChanHom https://www.facebook.com/pumpapoo199/

เว็บไซต์  www.chanhomstore.com และ

เฟซบุ๊ก wiyada Unnanuntana

Facebook Comments


Social sharing

Related post