Digiqole ad

ส.ส. ก้าวไกล ซัด สสส. ขาดความโปร่งใสในการใช้งบ 4 พันล้าน ชี้ทำงานเหมือนแดนสนธยา

 ส.ส. ก้าวไกล ซัด สสส. ขาดความโปร่งใสในการใช้งบ 4 พันล้าน ชี้ทำงานเหมือนแดนสนธยา
Social sharing

Digiqole ad

2 ส.ส. พรรคก้าวไกลชำแหละรายงานประจำปีกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ชี้เหมือนแดนสนธยา ใช้งบประมาณเก่ง แต่จัดการปัญหายาสูบไม่ประสบผลสำเร็จ ยกตัวอย่างการแบนบุหรี่ไฟฟ้าที่สวนทางนานาชาติ ซัดพูดความจริงไม่หมดและขาดความโปร่งใสในเรื่องบทบาททับซ้อน

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายรายงานประจำปีของ สสส. ระหว่างการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 15 ระบุว่า “สังคมไทยเริ่มมีการแสดงความคิดเห็นเป็น 2 ฝ่ายคือฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า แต่ในรายงานของ สสส. ยังคงยืนกระต่ายขาเดียวต่อต้านเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย และนำเสนอแต่ข้อมูลที่ผิด ๆ ที่พูดถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าและการเกิดนักสูบหน้าใหม่ ซึ่งตนเห็นว่า สสส. พูดความจริงไม่หมด เพราะมีงานวิจัยในต่างประเทศอีกจำนวนมากที่ขัดแย้งกับสิ่งที่ สสส. รายงาน เช่น ประเทศอังกฤษ ที่กำลังศึกษาเพื่อใช้บุหรี่ไฟฟ้าทางการแพทย์เพื่อช่วยให้ผู้ติดบุหรี่เลิกบุหรี่ได้ นอกจากนี้ ผมยังได้ยินประสบการณ์ตรงจากคนรอบข้างที่เคยสูบบุหรี่มาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นที่บอกว่าเมื่อเปลี่ยนไปใช้บุหรี่ไฟฟ้าแล้ว ทำให้ไม่สามารถกลับไปสูบบุหรี่ได้อีก”

นายปกรณ์วุฒิ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เมื่อโลกมีทางเลือกใหม่ ประเทศไทยก็จำเป็นต้องศึกษาอย่างรอบด้าน นำผลวิจัยมาถกเถียงกันอย่างมีเหตุผล และหาวิธีป้องกันเยาวชน เช่น การห้ามการแต่งกลิ่นน้ำยานิโคติน ศึกษาวิจัยสารปนเปื้อน และทำให้เป็นวิทยาศาสตร์ แทนที่จะยกงานวิจัยของฝ่ายเดียวมาพูด แล้วอ้างตรรกะผิดๆ ว่างานวิจัยของฝ่ายตรงข้ามได้รับทุนวิจัยจากบริษัทบุหรี่ ปัจจุบันมี 35 ประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่อีก 73 ประเทศก็อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าภายใต้การควบคุมได้ และไม่มีใครเรียกร้องให้เปิดเสรีบุหรีไฟฟ้า มีแต่เรียกร้องให้ควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าและเก็บภาษีและมีมาตรการควบคุมที่เหมาะสมเช่นเดียวกับบุหรี่มวน เช่นการควบคุมอายุขั้นต่ำ การควบคุมปริมาณ สารนิโคติน ความปลอดภัย และการจัดประเภทให้ถูกต้อง”

“อยากตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของ สสส. ที่ให้ทุนงานวิจัยที่เป็นลบหรือศึกษาความอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าเท่านั้น บางงานวิจัยที่ต้องการศึกษาอย่างเป็นกลางว่ามี harm reduction หรือไม่กลับไม่ได้รับทุน จึงอยากขอให้เปิดเผยโครงการงานวิจัยที่ได้รับทุนและที่มาขอทุน และตั้งคำถามว่าอีก 70 กว่าประเทศที่เขาอนุญาตบุหรี่ไฟฟ้าขายได้ตามกฎหมายนั้นได้รับทุนข้ามชาติหรือถูกล๊อบบี้จากบริษัทเหล่านี้หรือไม่ และยังต้องตั้งคำถามว่า สสส. ที่ต่อต้านบุหรี่ไฟฟ้าขณะนี้ถูกล๊อบบี้จากใคร”

ด้าน “หมอเอก” นายแพทย์เอกภพ เพียรพิเศษ ส.ส. เชียงราย ระบุว่า “ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่ผมได้อภิปรายรายงานของ สสส. เกี่ยวกับความโปร่งใสในการทำงานของ สสส. เพราะที่ผ่านมา 20 ปีทำงานโดยไม่มีความโปร่งใสเลย สสส. ทำตัวเหมือนแดนสนธยา ใช้งบประมาณ 4 พันล้านบาทเทียบเท่า 1 กระทรวง ใช้เงินโดยไม่ผ่านสภาและไม่มีคนนอกมากำกับดูแล และไม่สามารถหาข้อมูลว่า สสส. ให้งบประมาณกับใคร หน่วยงานไหนไปแล้วบ้าง ก็ไม่สามารถหาข้อมูลได้ ผมจึงตั้งใจมาช่วยล้างบางมาเฟียใน สสส.

ส.ส. เอกภพ ยกตัวอย่างการทำงานด้านยาสูบของ สสส. โดยอภิปรายต่อว่า “การจัดการยาสูบเป็นงานหลัก งานเด่นของ สสส. แต่จำนวนผู้สูบบุหรี่ในประเทศไทยแทบไม่ได้ลดลงเลย สสส. ใช้งบประมาณรณรงค์เรื่องนี้ปีละประมาณกว่า 300 ล้านบาท 10 ปี ก็ 3,000 ล้านบาท นอกจากนี้เรื่องยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าสังคมให้ความสนใจหลังจากรัฐมนตรีกระทรวงดีอีเอสพูดเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ก็มีกระแสจากกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ สสส. ออกมาต่อต้าน ตำหนิ และโจมตี ล่าสุดเอฟดีเอของสหรัฐ ที่นำบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาอยู่ในการควบคุม มีการพูดถึงเรื่องการลดพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้า เรื่อง harm reduction และยืนยันว่าผลดีจากการเปลี่ยนมาใช้บุหรี่ไฟฟ้าของผู้ที่สูบยาสูบอยู่แล้ว มีน้ำหนักมากกว่าความเสี่ยงที่จะเกิดของเยาวชน และไม่ได้เป็นประตูทางเข้าสู่บุหรี่มวนของเยาวชน โดยมีการจัดการเรื่องรสชาติและการเย้ายวน ขณะที่ประเทศไทย แบนก็จริงแต่ปล่อยให้ขายทางออนไลน์ และยังมีองค์กรที่สัมพันธ์ใกล้ชิดกับ สสส. เหิมเกริม เข้ามาก้าวก่ายการทำงานของสภาผู้แทนราษฎรทั้งๆ ที่คนเหล่านี้เข้ามานั่งเป็นกรรมาธิการ แต่กลับไม่ยอมรับรายงานของกรรมาธิการ ยิ่งไปกว่านั้นยังตรวจพบเจอความผิดปกติจากผู้รับทุนของ สสส. มีคนนั่งเป็นผู้ร่างกฎหมาย สสส. แล้ว ยังไปนั่งเป็น regulator และรับทุนจาก สสส.เองด้วย มีหน่วยงานวิจัยที่ตั้งธงการวิจัยไว้แล้ว จึงขอให้ผู้จัดการกองทุน สสส. ไปดำเนินการต่อเพื่อให้เกิดความโปร่งใสในรายงานครั้งต่อไป”

ทั้งนี้ สสส. ได้รับเงินบำรุงจาก “ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ หรือ Earmarked Tax” ที่รัฐจัดเก็บจากสินค้าสุราและยาสูบ ในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีสรรพสามิต เพื่อนำมาขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพในสังคมไทย โดยในปีที่ผ่านมา สสส. ได้รับเงินสนับสนุนเป็นจำนวน 4,095 ล้านบาท แต่ถูกสังคมตั้งคำถามถึงความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมและเรื่องความโปร่งใสมาโดยตลอด

ที่มา https://www.facebook.com/TPchannelFan/videos/882914672389006/

Facebook Comments


Social sharing

Related post