Digiqole ad

สกู๊ปปก…๑๓ ตุลาคม “วันนวมินทรมหาราช” อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 401 วันที่ 13-19 ต.ค.66)

 สกู๊ปปก…๑๓ ตุลาคม “วันนวมินทรมหาราช” อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 401 วันที่ 13-19 ต.ค.66)
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 401 วันที่ 13-19 ตุลาคม 2566

หน้า 2-3

๑๓ ตุลาคม “วันนวมินทรมหาราช”

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร * หมายเหตุ : พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เฉลิมพระปรมาภิไธย พระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช บรมนาถบพิตร สมเด็จพระบรมชนกนาถ เนื่องในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช ๒๕๖๒ ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า “พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ ๙ แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เป็นพระโอรสพระองค์เล็กในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก กับสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ ที่ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๐ ณ โรงพยาบาลเมานต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตต์ สหรัฐอเมริกา เสด็จขึ้นครอง สิริราชสมบัติต่อจาก สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๙ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๘๙ ทรงดำรงสิริราชสมบัติ ๗๐ ปี เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๙ สิริพระชนมายุ ๘๘ พรรษา ๑๐ เดือน ๘ วัน

ตลอดรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ประชาชนชาวไทยใต้ร่มพระบารมีต่างมีความผาสุกร่มเย็น ด้วยพระมหากรุณาธิคุณและน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยในชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรที่ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อน ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อก่อเกิดประโยชน์อย่างยั่งยืนแก่ประเทศชาติและประชาชนโดยมิทรงย่อท้อต่ออุปสรรคทั้งปวง ทรงอุทิศเวลาในการเสด็จพระราชดำเนินไป ยังท้องถิ่นทุรกันดารในภูมิภาคต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น ดังที่เคยพระราชทานสัมภาษณ์แก่ผู้แทนนิตยสารเนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก

            “…เคยมีผู้กล่าวไว้ว่าราชอาณาจักรนั้นเปรียบเสมือนปิรามิด มีพระมหากษัตริย์อยู่บนยอดและมีประชาชนอยู่ข้างล่าง แต่สำหรับประเทศไทยแล้วดูเหมือนทุกอย่างจะตรงกันข้าม นั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกปวดคอและบริเวณไหล่อยู่เสมอ…”

            หลังจากเสด็จนิวัตประเทศไทยเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๔ และประทับในพระราชอาณาจักรเป็นการถาวรแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เพื่อทอดพระเนตรชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร แม้ว่าในช่วงเวลานั้นเส้นทางการคมนาคมยังเต็มไปด้วยความยากลำบาก การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรอย่างเป็นทางการครั้งแรก เริ่มต้นขึ้นเมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๘ เป็นการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคกลาง ระหว่างวันที่ ๒๐ – ๒๑ และวันที่ ๒๗ – ๒๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ ลำดับถัดมา คือ การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ ๒ – ๒๐ พฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๙๘ เป็นเวลา ๑๙ วัน การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคเหนือ ระหว่างวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ – ๑๗ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๑ เป็นเวลา ๑๙ วัน และการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรในภาคใต้ ระหว่างวันที่ ๖ – ๒๖ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๐๒ เป็นเวลา ๒๐ วัน ตามลำดับ

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ทรงถือเป็นธรรมเนียมที่จะเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระตำหนักในแต่ละภูมิภาค ภาคเหนือ ภูพิงคราชนิเวศน์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภูพานราชนิเวศน์ ภาคใต้ ทักษิณราชนิเวศน์ รวมทั้ง พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อทรงงานช่วยเหลือพสกนิกรในท้องถิ่นทุรกันดารเป็นประจำทุกปี

การเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรตามภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้ทรงรับรู้ถึงความทุกข์ยากเดือดร้อนของราษฎร ดังเช่นเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๕ ทรงได้รับทราบถึงปัญหาและความยากลำบากในการเดินทางสัญจรของราษฎร จึงเป็น ที่มาของโครงการสร้างถนนสายห้วยมงคล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการพระราชดำริด้านพัฒนาชนบทโครงการแรก ที่มุ่งช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ราษฎรกำลังประสบอยู่ ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สร้างอ่างเก็บน้ำเขาเต่าขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำของราษฎรในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้มีน้ำจืดไว้สำหรับบริโภคและอุปโภคได้ตลอดทั้งปี นับเป็นโครงการพระราชดำริด้านชลประทานโครงการแรก

หลังจากนั้น ทรงริเริ่มโครงการด้านการพัฒนาชนบทอีกหลากหลายโครงการ ทั้งโครงการที่เกี่ยวกับดิน น้ำ ป่าไม้ การประมง และการปศุสัตว์ อันเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญสำหรับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม และยังเป็นการวางรากฐานสำหรับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ด้วยพระวิสัยทัศน์อันกว้างไกลทำให้ตลอดระยะเวลา ๗๐ ปีแห่งการครองราชย์ ประเทศไทยจึงมีโครงการพระราชดำริ/โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โครงการส่วนพระองค์ โครงการตามพระราชประสงค์ จำนวนกว่า ๔,๐๐๐ โครงการ และมีศูนย์การศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ๖ แห่ง ในทุกภูมิภาคของประเทศ พระราชกรณียกิจที่ยังประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติและอาณาประชาราษฎร์มากมายเหลือคณานับ ได้แก่ พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรดิน พระราชกรณียกิจด้านการบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา พระราชกรณียกิจด้านการคมนาคม พระราชกรณียกิจด้านการแพทย์และการสาธารณสุข พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา พระราชกรณียกิจด้านการศาสนา พระราชกรณียกิจด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมไทย พระราชกรณียกิจด้านการเจริญพระราชไมตรีกับต่างประเทศ

 

               พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นพระมหากษัตริย์ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ทรงปฏิบัติพระองค์ดังพระปฐมบรมราชโองการที่ได้พระราชทานในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกว่า “เราจะปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” อีกทั้งทรงพระวิริยะอุตสาหะทุ่มเทกำลังพระวรกายและพระราชทรัพย์บำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรให้ดีขึ้น ดังพระราชดำรัสว่า “…ขาดทุนคือกำไร (Our loss is our gain)…” ซึ่งทรงขยายความว่า การลงทุนทำโครงการเพื่อความอยู่ดีมีสุขของประชาชนนับเป็นมูลค่าเงินไม่ได้ สิ่งที่ได้คือคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนและประเทศชาติได้รับการพัฒนาอย่างยั่งยืน

 

ภาพพระราชกรณียกิจที่ปรากฏแก่สายตาประชาชนทั้งในและนอกประเทศ ตลอดระยะเวลากว่า ๗๐ ปีที่ทรงครองราชย์ ต่างรับรู้โดยทั่วกันว่าทรงเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาผู้ทรงงานหนักที่สุดในโลก ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการเป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์แก่อาณาประชาราษฎร์ ทรงเป็นพระมิ่งขวัญและหลักยึดเหนี่ยวของพสกนิกรชาวไทย แม้เสด็จสวรรคตล่วงมาจนปัจจุบัน เหล่าพสกนิกรยังคงคำนึงถึงพระมหากรุณาธิคุณเสมอมาไม่เสื่อมคลาย และเพื่อให้วันคล้ายวันสวรรคต เป็นวันแห่งการร่วมรำลึกและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ แห่งพระมหากษัตริย์ผู้ทรงมีคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่แผ่นดิน ประกอบวันที่ ๑๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๖ เป็นวันแห่งการเสด็จสวรรคต ครบ ๗ ปี หรือ “สัตตมวรรษ” รัฐบาลจึงได้นำความกราบบังคมทูลพระมหากรุณาขอพระราชทานชื่อวันคล้ายวันสวรรคต และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระดำริประทานชื่อวันดังกล่าว ประกอบพระบรมราชวินิจฉัยว่า “วันนวมินทรมหาราช” ซึ่งแปลว่า วันที่ระลึกถึงพระมหาราช รัชกาลที่  ๙ ผู้ยิ่งใหญ่

การนี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ว่า “วันนวมินทรมหาราช” ตามที่รัฐบาลได้ขอพระราชทานพระมหากรุณา อีกทั้ง รัฐบาลยังได้กำหนดให้วันที่ ๑๓ ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันนวมินทรมหาราช” ที่หน่วยราชการภาครัฐและเอกชน รวมถึงประชาชนสามารถมาวางพวงมาลาถวายราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ อุทยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

(ที่มา : สำนักพระราชวัง https://www.royaloffice.th)

ล้อมกรอบ

ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันนวมินทรมหาราช”

โดยมีรายละเอียดว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเตชมหาราช บรมนาถบพิตรมีพระมหากรุณาธิคุณล้นเกล้าล้นกระหม่อมแก่อาณาประชาราษฎร์  ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่นานัปการเพื่อความวิวัฒน์พัฒนาของชาติบ้านเมืองเป็นคุณประโยชน์อเนกอนันต์และยังความผาสุกร่มเย็นแก่ผองพสกนิกรชาวไทย

พระเกียรติคุณเป็นที่แช่ซ้องก้องประจักษ์ทั้งแก่ปวงชนชาวไทยและนานาอารยประเทศ แม้การเสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 จะล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบัน พสกนิกรทุกหมู่เหล่ายังล้วนคำนึงถึง ด้วยความสำนึกซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณอย่างไม่รู้ลืมเลือน เพื่อให้วันคล้ายวันสวรรคตเป็นวันแห่งการร่วมรำลึกและน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้แห่งพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงมีคุณูปการอันยิ่งใหญ่แก่แผ่นดิน

ประกอบกับวันที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2566 จะเป็น วันแห่งการเสด็จสวรรคตครบ 7 ปี หรือ “สัตตมวรรษ” รัฐบาลจึงได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวินิจฉัยเกี่ยวกับการกำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก  มีพระดำริประทานชื่อวันดังกล่าวเพื่อประกอบพระบรมราชวินิจฉัย ว่า “วันนวมินทรมหาราช” (อ่านว่า นะ-วะ-มิน-ทระ-มะ-หา-ราด)

แปลว่า วันที่ระลึกถึงพระมหาราชรัชกาลที่ 9 ผู้ยิ่งใหญ่ การนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้กำหนดชื่อวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ว่า “วันนวมินทรมหาราช”  ตามที่รัฐบาลได้ขอพระราชทานพระมหากรุณาจึงกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันนวมินทรมหาราช” บัดนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2566 รับทราบการกำหนดให้วันที่ 13 ตุลาคม ของทุกปี เป็น “วันนวมินทรมหาราช”

ประกาศ ณ วันที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2566 ลงนามโดย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์ ฉบับที่ 401 วันที่ 13-19 ตุลาคม 2566

หน้า 2-3

๑๓ ตุลาคม “วันนวมินทรมหาราช”

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๐๑ ระหว่างวันที่ ๑๓-๑๙ ตุลาคม ๒๒๖๖
https://book.bangkok-today.com/books/mtdb/
(สามารถพลิกได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post