Digiqole ad

ว่าที่รัฐบาลใหม่ สุขใจได้วันเดียว

 ว่าที่รัฐบาลใหม่  สุขใจได้วันเดียว
Social sharing

Digiqole ad

          ต้องบันทึกเอาไว้ว่า  วันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 เป็นวันที่คนไทยหลายสิบล้านคนที่มีความยินดีกับการได้ออกไปใช้สิทธิใช้เสียงหย่อนบัตรลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (..) ในรอบ 4 ปี  และเมื่อรู้ผลการเลือกตั้งในคืนวันนั้น  ผู้ใช้สิทธิส่วนใหญ่มากกว่า 25 ล้านคนได้นอนหลับอย่างเป็นสุขว่า  เมื่อตื่นขึ้นในวันใหม่จะพบกับการเริ่มต้นการเมืองยุคใหม่   มีความหวังจะได้พบอนาคตอันสดใสของประเทศไทยทั้งการกิน การอยู่ การคิด หลังจากที่จมปลักกับอำนาจนิยมและการคอรัปชั่นมายาวนาน 9 ปี

          แต่ฝันหวานได้คืนเดียว  มีความสุขได้แค่วันเดียวเมื่อได้เห็นว่าพรรคการเมืองซีกประชาธิปไตยมีคะแนนรวมเหนือกว่าพรรคฝ่ายนิยมรัฐประหารเดิม

          เพราะหลังจากที่นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล  ประกาศชัยชนะอย่างเป็นทางการ  ประกาศรวมเสียง 8 พรรคการเมือง  ประกอบด้วยพรรคก้าวไกล  พรรคเพื่อไทย  พรรคประชาชาติ  พรรคไทยสร้างไทย  พรรคเสรีรวมไทย  พรรคเพื่อไทรวมพลัง  พรรคเป็นธรรม  พรรคพลังสังคมใหม่   ร่วมจัดตั้งรัฐบาลใหม่  แค่นั้นยังไม่พอ  ยังคิดจะเก็บเศษเพิ่มจนเกิดเป็นเรื่อง

          เมื่อพลาดไปเชิญ พรรคชาติพัฒนากล้า ที่มีนายกรณ์ จาติกวณิช เป็นหัวหน้าพรรค มาเข้าร่วมหวังอีก 2 เสียง  แต่ถูกติ่งส้มประท้วงสวนกระแสว่า # มีกรณ์ไม่มีกู  เพราะกรณ์เคยร่วมเป่านกหวีดกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้การชุมนุมของ กปปส.จนเป็นที่มาของการรัฐประหารปี 2557

          ขณะที่อีกฝ่ายแอบเชิญ พรรคใหม่ เข้าร่วมรัฐบาลเพราะหวังเพิ่มอีก 1 เสียง  แต่เอฟซีพรรคก้าวไกลขุดพบอีกว่ากรรมการบริหารพรรคใหม่คนหนึ่ง  เคยวิพากษ์วิจารณ์นโยบายแก้ไข .112 ของพรรคก้าวไกลแบบรับไม่ได้

         สุดท้ายต้องล้มดีล 2 พรรค เป็นบทเรียนของการใจเร็วด่วนได้  จึงต้องคงไว้ที่ 8 พรรค  313 เสียง ซึ่งเพียงพอแก่การจัดตั้งรัฐบาล  แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการรับรองตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการเสียงจากรัฐสภาอย่างน้อย  376 เสียง                                                                                                                                                         นั่นหมายถึงยังขาดอีกอย่างน้อย 63 เสียง  ที่ต้องการการสนับสนุนจากส..ที่มีอยู่อีก 187 เสียง หรือส..ที่มีอยู่ 250 เสียง

          ที่หวังจากส..นั้นคงได้จาก ชาติพัฒนากล้า 2 เสียงที่เจ้าของพรรคอย่างสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เอ่ยปากแล้วว่าสนับสนุนพิธา  และอีก 1 เสียงจากพรรคใหม่ที่หัวหน้าพรรคบอกยกมือให้  เท่ากับยังต้องการอีก 60 เสียงเพื่อสนับสนุนนายพิธา

          เสียงจาก 3 พรรคอย่างพลังประชารัฐ  รวมไทยสร้างชาติ  และภูมิใจไทยนั้นตัดไปเลย  

          ส่วนที่จะหวังลมๆแล้งๆจากพรรคประชาธิปัตย์ 25 เสียง ซึ่งวันแรกๆหลังเลือกตั้งมีส..สอบตก 2-3 คนออกมาเรียกร้องให้เพื่อนส..ยกมือให้พิธาเพื่อแสดงสปิริตความเป็นพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยและเพื่อสร้างภาพพจน์ใหม่ของพรรคที่กำลังเป็นขาลงนั้นคงยาก  เพราะจนถึงวันนี้เมื่อนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ ลาออกจากหัวหน้าพรรคเพื่อแสดงความรับผิดชอบจากความพ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งแล้ว  ตัวเองก็ยังหาใครที่เหมาะสมมาทำหน้าที่ผู้นำพรรคคนใหม่ไม่ได้

          แม้แต่นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค  อดีตนายกรัฐมนตรี  อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร  ที่ควรแสดงสปิริตสูงสุดก็ยังอดจิกกัดก้าวไกลและเพื่อไทยไม่ได้

          และอย่าลืมว่านายหัวชวนก็เคยแขวนนกหวีดไปเดินร่วมม็อบกับนายสุเทพ  เคยไปนั่งวาดรูปอยู่ข้างๆเวที กปปส. เสมือนการให้กำลังใจผู้ชุมนุม

          สำหรับเสียงจากส..นั้นแม้จะมีส่วนหนึ่งกล้าแสดงจุดยืนว่าจะโหวตให้ซึ่งคงมีประมาณไม่เกิน 30 คน  เมื่อเทียบกับส่วนใหญ่ที่จะงดออกเสียง  และคัดค้าน  ก็คงต้องลุ้นกันแบบเยี่ยวเหนียวในวันประชุมรัฐสภาครั้งแรกแบบห้ามป่วย ห้ามลา  ว่าเสียงจะเกินกว่ากึ่งหนึ่งของที่ประชุม 700 คนหรือไม่

          การเซ็น MOU จับมือผู้นำ 8 พรรค  แถลงข่าวถึงพันธกิจร่วม 23 ข้อ  คือจุดเริ่มต้นของสัญญาว่าจะร่วมกันจัดตั้งรัฐบาลใหม่  แต่รุ่งขึ้นกลับมาทะเลาะกันเองผ่านสื่อ

          นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย  ทะเลาะกับ ..ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย  ด้วยเรื่องไม่เป็นเรื่อง  บรรดาลูกพรรคของแต่ละพรรคเริ่มออกมาแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งผ่านโซเชียลมีเดีย  ทั้งเรื่องตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร  เรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีที่พรรคไหนควรได้ครอง  หรือใครจะเหมาะสมกว่าใคร   นโยบายหาเสียงที่ไม่บรรจุในMOU ฯลฯ

          พฤติกรรมของนักการเมืองที่เริ่มออกลายทำให้ชาวบ้านรู้สึกผิดหวังกับการเทคะแนนให้   

          ขณะที่ภาคธุรกิจรู้สึกกลัวนโยบายประชานิยมที่สองพรรคใหญ่หาเสียงเอาไว้  อาทิการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 450 บาท  การเพิ่มเบี้ยยังชีพคนชราจากเดือนละ 600-800 บาท เป็น 3,000 บาท  การกำจัดทุนผูกขาดที่ครอบงำระบบเศรษฐกิจของชาติ

          นโยบายต่างประเทศที่หลายคนเป็นห่วงว่าพรรคก้าวไกลจะนำประเทศไทยเข้าซบตะวันตก  ถอยห่างตะวันออก  ถึงขนาดมีการปล่อยข่าวว่าจะให้ตั้งฐานทัพอเมริกันในไทย   แม้ในข้อสุดท้ายของ MOU จะบอกว่าต้องการรักษาสมดุลของมหาอำนาจ  แม้คนของพรรคก้าวไกลจะบอกว่าไม่ยอมให้ต่างชาติรุกล้ำอธิปไตยแน่นอน  แต่ตราบใดที่รัฐบาลใหม่ยังไม่ได้แถลงนโยบายเป็นทางการก็คงยังลือกันต่อไป  

          เพราะ ช่อ-พรรณนิการ์ วานิช  กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า  เคยขึ้นเวทีช่วยหาเสียงให้พรรคก้าวไกล พูดเรื่องนโยบายต่างประเทศว่า  การต่างประเทศของไทยทั้งทศวรรษที่ผ่านมา เป็นการต่างประเทศที่สูญหาย เสียเวลากับการเข้าผิดคลับ คือเมื่อประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ผู้นำไม่อยู่ในสถานะที่จะอยู่ในคลับของฝั่งประชาธิปไตย หรือโลกที่เป็นอารยะได้ ก็จำเป็นต้องเข้าหาคลับฝั่งที่มีอุดมการณ์คล้ายกัน

          เพราะว่าที่นายกฯพิธาเคยกล่าวว่า  เราควรจะคิดนโยบายต่างประเทศแบบดูเป็นกรณีไปมากกว่าที่จะเป็นแบบบุฟเฟ่ต์ เพราะมันไม่ใช่ว่าเราต้องเข้าข้างใดข้างหนึ่งตลอดเวลา  แต่เราต้องมีนโยบายเดี่ยวๆจำนวนหนึ่งที่เป็นประโยชน์กับทั้ง 2 ประเทศ  ไม่ว่าจะเป็นไทย-สหรัฐ  และไทย-จีน  หรือไทยกับประเทศอื่นๆ

           ประเมินช่วงเวลากันว่า  นายกรัฐมนตรีคนใหม่และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะได้เริ่มทำงานประมาณต้นเดือนสิงหาคม หรืออีกกว่า 2 เดือนซึ่งแม้จะมีรัฐบาลรักษาการแต่ก็เหมือนสุญญากาศทางการเมืองที่จะเกิดข่าวปล่อย ข่าวลือ ข่าวลวง  จากทุกฝ่าย  สะท้อนการเมืองที่ไม่สร้างสรรค์  

           8 พรรคที่จับมือร่วมรัฐบาลใหม่ควรช่วยกันสงบปากสงบคำสร้างความสมานฉันท์  หรือใช้เป็นเวลาในการทำการบ้านเตรียมพร้อมเริ่มงาน

          ปัญหาบ้านเมืองมีอยู่มากมายที่รอการแก้ไขฟันฝ่า  ไม่ใช่มารบรากันเอง

          ประชาชนเลือกพวกท่านเข้ามาเพื่อให้โอกาส  ให้ช่วยกันทำงานเพื่อบ้านเมือง

………………………………………………………

          

          

          

Facebook Comments


Social sharing

Related post