Digiqole ad

วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP:67 กูรูหนุ่ม-นันท์นภัทร เล่าประสบการณ์ตรง “คุณหลอกดาว ตอน 3 เงินทำให้รู้นิสัยคนดี-สันดานคนเลว”

 วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP:67 กูรูหนุ่ม-นันท์นภัทร เล่าประสบการณ์ตรง “คุณหลอกดาว ตอน 3  เงินทำให้รู้นิสัยคนดี-สันดานคนเลว”
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๓๗ ระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๗

หน้า 29 วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP 67 : กูรูหนุ่ม-นันท์นภัทร เจิมจุติธรรม

คุณหลอกดาว ตอน 3

เงินทำให้รู้นิสัยคนดี-สันดานคนเลว

มาต่อกันตอนที่ 3 คิวของ “กูรูหนุ่ม-นันท์นภัทร เจิมจุติธรรม” กับประเด็น “คุณหลอกดาว” ขอตั้งชื่อตอนนี้ว่า “เงินทำให้รู้นิสัยคนดี-สันดานคนเลว” ซึ่งเป็นเรื่องราวทั้งที่เกิดขึ้นกับตัวเองโดยตรง และเรื่องจริงที่เคยเจออยู่บ่อยครั้ง

ขอเริ่มจากเรื่องทั่วไปที่รู้เช่นเห็นชาติกัน แต่ไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวเองก่อน ประเภทนี้คือ ใครเป็น “มิส” อะไร นั่น! นี่! โน่น! โนสนโนแคร์ แต่สำหรับกรูแล้วคือ “มิจฉาชีพ” ที่ไม่ต้องสมัครเข้าประกวดให้กรรมการหัวหงอกหัวดำมานั่งตัดสิน แต่กรูสมัครใจขอเป็นเองโดยสันดาน

คนเหล่านี้มักจะจัดประกวดเด็กขี้นมาบังหน้า ซึ่งที่เลือกจัดประเภทนี้ เพราะจะได้หลอกเอาเงินจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กง่าย กว่าการจัดประกวดคนวัยหนุ่มสาว โดยจัดขึ้นประมาณว่า หาเด็กเข้าวงการบันเทิง บ้างก็ให้ความหวังว่า พาประกวดต่อในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบเพื่อนบ้านของเรานี่แหละ ใกล้ ๆ และง่ายต่อการหลอกเอาเงิน

โฟกัสไปที่แผนการหลอกเด้งแรกคือ จะซื้อตำแหน่งให้เด็กมั้ย เนื่องจากเด็กที่จะเข้าวงการ หากมีตำแหน่งการันตีจะเข้าง่ายหน่อย สรุปคือ นอกจากเสียเงินสมัคร เงินซื้อคะแนนป็อปปูล่าโหวตผ่านการซื้อดอกไม้ ตุ๊กตุ่นตุ๊กตา  เงินค่าชุดกองประกวด ยังไม่รวมกับชุดเสื้อผ้าอื่น ๆ เช่น ชุดสปอร์ต ชุดลำลอง ชุดประจำชาติ ชุดราตรี ชุดสูท (สำหรับเด็กผู้ชาย) รวมถึงค่าแต่งหน้า ทำผม ค่าน้ำมันรถ ค่ากิน และอีกสารพัดที่อยู่เบี้ยบ่ายรายทาง ยังต้องหาเงินก้อนโตมาซื้อตำแหน่ง โดยสนนราคาเป็นหมื่นเป็นแสนบาท

ซึ่งการประกวดโมเดลเนี่ยจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำแล้วโกยเข้ากระบุงได้หลายแสนบางงานได้เป็นล้านบาท ที่ได้ขนาดนี้ไม่ได้กล่าวเลยจากความเป็นจริง ลองมาไล่ดูเล่น ๆ กันนะ ประกวดโมเดลแยกประเภทหญิงชาย พอแบ่งเพศจากนั้นมาแบ่งเป็นรุ่นต่อ ที่เห็นมากที่สุดคือ 6 รุ่น ไล่ไปตั้งแต่เด็กเล็กมาก บางคนขึ้นมาบนเวทีแล้วร้องไห้หาคุณแม่ บางคนไม่รู้ประสีประสาก็ไม่เดิน กระทั่งคุณแม่ต้องขึ้นมาอุ้มเดิน หรือดีหน่อยแค่จูงมือเดิน ที่จิ๋วแต่แจ๋วเก่งเกินเด็กก็มีเช่นกัน แบ่งช่วงอายุไปเรื่อย ๆ กระทั่งถึงรุ่นเด็กโตหรือรุ่นหนุ่มสาว

เป็นการประกวดที่มาราธอนมาก บางเวทีเริ่มประกวดตั้งแต่เที่ยงวันแล้วไล่แต่ละรุ่นไปเรื่อย ๆ กระทั่งถึงเวลาอันควรเจ้าหน้าที่มาบอกว่า ห้างจะปิดแล้ว (นิยมจัดประกวดที่ห้าง เนื่องจากมีพื้นที่รองรับคนได้เป็นจำนวนมาก) แต่บางทีเจ้าของงานทำเป็นหูทวนลมแกล้งไม่ได้ยิน ห้างก็ปิดแอร์ไล่ไปเลยสิครับจะรออะไร ยังดีที่ไม่ได้ปิดไฟไล่ตามมา

พอใช้เวลาในประกวดนาน ๆ เพราะมีหลายรุ่น (จัดรุ่นเดียวประเภทเดียวไม่คุ้มค่าเช่าสถานที่และค่าจัดงานจิปาถะ) ปัญหาตามมา อาทิ ลูกเล็กเด็กแดงพากันร้องไห้กระจองอแง เหตุจากการที่น้องๆหนูๆประกวดกันตั้งแต่เที่ยงเสร็จบ่ายต้น ๆ แต่ด้วยความเห็นแก่ตัวของเจ้าของงาน ปรากฏว่า ให้รอขึ้นรับรางวัลตอนจบงานที่ขณะนั้นเวลาปาเข้าไปสามสี่ทุ่ม เพราะกลัวว่าจะไม่มีคนอยู่ในงาน กลับบ้านกันหมด ทั้ง ๆ ที่ถ้าหากมีจิตสำนึกดีพอ ครั้นเด็กประกวดเสร็จก็มอบรางวัลกันไปเลย จะได้กลับบ้านไปนอน แหม! เวทีเหล่านี้นิยมจัดวันกันวันอาทิตย์เสียด้วย ซึ่งพรุ่งนี้เป็นวันจันทร์เด็ก ๆ ต้องไปโรงเรียนกันนะครับ

อีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกผลกระทบไม่แพ้กันคือ คณะกรรมการชุดเดิม ๆ ที่นั่งกันตั้งแต่เที่ยงวันยันเกือบเที่ยงคืน ลุกจากเก้าอี้ก็นั่งวีลแชร์ต่อให้คนเข็นกลับบ้านไปเลย ประทานโทษค่าตัวหรือค่าน้ำรถบางทีตีราคาให้ 1-2 พันบาท หากกรรมการท่านใดขอกลับก่อน เพราะไม่ไหวจริง ๆ มันนานมากแม่ เจ้าของเวทีถือโอกาสมั่วมึนไม่จ่ายค่าตัวให้ กรรมการบางคนถึงกับบอกว่า กรูไม่เอาก็ได้(โว้ย) แต่ต่อไปงานมรึงเชิญมาอีกอย่าหวังว่ากรูจะมาเหยียบให้หนักบาทา

งานนี้คงจบแบบศพไม่สวย เพราะขายมงขายตำแหน่งไปแล้ว ทุกวันนี้เด็ก ๆ ยังไม่ได้ไปประกวดต่อในต่างประเทศ ยังไม่ได้เข้าวงการตามที่เจ้าของเวทีไปหลอกเอาเงินและคุยโม้โอ้อวดเอาไว้อย่างสวยหรู ถึงกระนั้นพ่อแม่ ผู้ปกครองบางรายก็ยังโดนหลอกเด้งสอง หลอกเอาเงินว่า จะสร้างหนังทำละคร ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม หากท่านใดจ่ายเท่านั้นเท่านี้ เด็กจะได้เป็นนักแสดงหลักของเรื่อง ด้วยความที่ผู้ใหญ่อยากให้บุตรหลานเข้าสู่วงการบันเทิง จะรออะไรต้องจ่ายไปอีกจ้า สุดท้ายยังไม่มีการถ่ายทำ หรือถ่ายทำไปแล้วไม่รู้ว่าออนแอร์ที่ส่วนใดในโลกนี้ แจ้งความกันไปตามระเบียบ ทุกวันนี้สิบแปดมงกุฎที่หากินด้วยวิธีย่ำยีความฝันของเด็ก ๆ หลายคนยังเชิดหน้าชูตาในสังคม และเที่ยวหลอกคนเขาไปทั่ว แปลกใจว่า ทำไมคนเลว ๆ แบบนี้จึงยังคงมีพื้นที่เสนอหน้าในสังคมอีก (น่าจะอยู่ในคุกมากกว่า)

ปิดท้ายด้วยเรื่องของตัวเอง ต้องยอมรับว่า เราไม่ใช่นักธุรกิจที่มีชั้นเชิงแพรวพราว จึงไม่ค่อยทันเหลี่ยมคนสักเท่าไหร่ แต่ทว่าบางประสบการณ์สอนให้เรารู้จักบทเรียนที่ราคาแพงยิ่งนัก เรื่องมีอยู่ว่า จากการที่เราผู้เชี่ยวชาญด้านความงามและการประกวด แต่เดิมมีผู้ติดต่อให้เราไปเป็นเพียงแค่กรรมการตัดสินการประกวดเท่านั้น (ถึงวันนี้น่าจะเกือบพันเวที) ต่อมาเพิ่มเป็นผู้ถือลิขสิทธิ์และประสานงานเวทีการประกวดระดับนานาชาติ สุดท้ายมีผู้มาติดต่อให้เป็นผู้จัดการหรือออแกไนซ์จัดการประกวด

ซึ่งการตกลงรับทำงานให้กับเวทีประกวดใด ๆ นั่นหมายถึงว่า เราเอาชื่อเสียงของเราไปการันตีว่า เวทีประกวดนั้น ๆ จะต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน ก่อนอื่นเราต้องคุยให้เคลียร์คัตชัดเจนก่อนว่าขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบของเรามีมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่โอเคก็ไม่ทำ แต่ถ้าตกลงกันแล้ว จะไม่ไปก้าวก่ายในงานของกันและกัน ซึ่งเราต้องรับผิดชอบงานในหน้าตักของเราทั้งหมด ไม่ว่าเกิดอะไรขึ้น จะต้องแก้ไขปัญหาให้พบทางออกที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

การทำงานในเวทีการประกวดสิ่งสำคัญอันดับแรก ๆ ที่คนในวงการนี้จะปฏิเสธไม่ได้เลยคือ “เงิน” ไม่ใช่ว่าเราหน้าเงินหรืองกอะไรนะครับ เพราะการดำเนินงานให้ราบรื่นนั้น จะต้องมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นมากมาย มีเงินหรือถือเงินไว้ทำอะไรก็ง่ายและสะดวกสบาย อย่างเงินในส่วนที่ตัวเองรับผิดชอบหลัก ๆ คือ ค่าตัวทีมงาน และ รางวัลเงินสดทุกรางวัลของผู้เข้าประกวด หลังเสร็จสิ้นการประกวดจะรีบเคลียร์และโอนผ่านแอปธนาคารให้ทันทีภายใน 24 ชั่วโมง ไม่มีลากยาว

และแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองจากเจ้าของเวทีบางเวทีคือ งานสำเร็จตามเป้าหมายแล้วแต่ค่าทำงานค่าวิชาชีพของเรายังไม่ได้ครบถ้วนตามจำนวนที่ตกลงกันเอาไว้ ก่อนทำงานเจ้าของเวทีจะความจำดีมาก ๆ อะไรอย่างไรจำได้หมด แม้แต่ค่าดำเนินการที่แบ่งออกเป็นงวด ๆ ว่าจะจ่ายเท่านั้นเท่านี้ แถมยังจิกใช้ยิ่งกว่าแม่กาแม่ไก่ แต่พอเสร็จเกิดอาการเบลอกะทันหัน ความจำเสื่อมขึ้นมาในบัดดล พอทวงถามก็อ้างสารพัด โดยเฉพาะ 1.ลูกค้ายังจ่ายเงินไม่ครบ 2.ถูกโกง และ 3.จัดงานขาดทุน อยากจะบอกว่านั่นเป็นเรื่องของบริษัทคุณ เราไม่ได้อยากรับรู้เรื่องอะไรเหล่านี้ เพราะทีมงานเขารู้ว่าทำงานจบแล้วต้องรับเงิน เราจะมาอ้างแบบนั้น ข้อ 1-3 ได้ไหม มันไม่ได้เพราะทีมงานไม่ใช่พนักงานบริษัท เขาทำงานฟรีแลนซ์กันแทบทั้งนั้น เหตุด้วยความเชื่อใจและไว้วางใจทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้เงินแม้แต่บาทเดียว แต่เจ้าตัวยังคงเดินหน้าจัดเวทีประกวดต่าง ๆ ไปเรื่อย ๆ คงจะติดหนี้กันไปถึงชาติหน้ากระมัง !?! ก็สาปส่งกันไปครับ!!!

ใครดีเราก็ว่าดี ขอยกมาเป็นตัวอย่าง ล่าสุดที่ไปออแกไนซ์งานประกวดให้คือ “มิสยูนิเวิร์ส ไทยแลนด์ ลำพูน 2024” (MUT LAMPHUN 2024) เจ้าของเวทีการบริหารจัดการดีมาก ๆ โดยเฉพาะด้านการเงิน ทั้งนางงามทั้งทีมงาน แม้แต่ตัวเราเอง ได้เงินครบถ้วนบริบูรณ์กันในคืนนั้นทุกคน งานประสบความสำเร็จอย่างสวยงามได้รับคำชื่นชมอีกด้วย

            จากเรื่องราวที่กล่าวมาทั้งหมดอยากจะบอกว่า เงินสำหรับกูรูหนุ่มแล้ว คงไม่ได้ทำให้จนลงหรือรวยขึ้น แต่ทำให้เรารู้นิสัยคนดีว่าควรจะคบกันต่อไป และรู้ซึ้งสันดานคนเลว ว่าควรเลิกคบตลอดไปครับ!!!!!

เรื่อง : กูรูหนุ่ม-นันท์นภัทร เจิมจุติธรรม

เรียบเรียง : ดร.จุมพล โพธิสุวรรณ

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๓๗ ระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๗

หน้า 29 วินทุกเว(ที)..Ways to Win EP 67 : กูรูหนุ่ม-นันท์นภัทร เจิมจุติธรรม

คุณหลอกดาว ตอน 3

เงินทำให้รู้นิสัยคนดี-สันดานคนเลว

 

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๓๗
ระหว่างวันที่ ๒๑ – ๒๗ มิถุนายน ๒๕๖๗
https://book.bangkok-today.com/books/ixfz/#p=29
(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

Facebook Comments


Social sharing

Related post