Digiqole ad

ล้ออายุ ๑๑๕ ปี ชาตกาล พุทธทาสภิกขุ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ “ออกจากวิกฤติชีวิต ด้วยแสงแห่งปัญญา” ข้อคิดชีวิตยุคโควิด-19

 ล้ออายุ ๑๑๕ ปี ชาตกาล พุทธทาสภิกขุ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ “ออกจากวิกฤติชีวิต ด้วยแสงแห่งปัญญา” ข้อคิดชีวิตยุคโควิด-19
Social sharing
Digiqole ad

๒๗ พฤษภาคม ๒๕๖๔ เป็นวาระอันดีที่จะน้อมจิตอาจาริยบูชา ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุ ในวาระ ล้ออายุ ๑๑๕ ปี ท่านอาจารย์พุทธทาส นับได้ว่าเป็นปราชญ์ทางธรรมที่ทั่วโลกยกย่อง เพราะมีผลงานทางธรรมมากมาย ไม่เพียงผลงานแปลพระไตรปิฎกเป็นงาน “ธรรมโฆษณ์” ตามรอยพระพุทธเจ้า กว่า ๑๐๐ เล่ม ที่ทรงคุณค่าต่อพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการที่ตัวท่านเป็นต้นแบบของพระภิกษุที่นำสมัย กล้าถอดหัวใจปรมัถธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงวางไว้ในสองพันกว่าปีก่อนมาใช้อย่างก้าวหน้าเพื่อให้เราได้ศึกษาธรรมที่พระพุทธเจ้าค้นพบด้วยตนเอง

ในวาระนี้ ทาง สวนโมกข์กรุงเทพ ได้จัดทำบทความเรื่อง ออกจากวิกฤติชีวิต ด้วยแสงแห่งปัญญา  ด้วยสถานการณ์ของโรคระบาดโควิด-19 และเศรษกิจที่เป็นพิษ จึงได้นำข้อธรรมในการใช้ชีวิต ผ่านวิกฤติและอุปสรรคปัญหา ของท่านอาจารย์พุทธทาสมาเพื่อเป็นแสงเทียนเล็ก ๆ เผื่อจะช่วยส่องสว่าง ให้เห็นแนวทางการแก้ไขปัญหา ในช่วงปีนี้ได้ ดังที่เราจะรู้สึกได้เสมอว่า ครูบาอาจารย์เป็นเพื่อน เป็นพี่ และเป็นกัลยาณมิตรที่ดี ของชีวิตเรา

ออกจากวิกฤติชีวิต ด้วยแสงแห่งปัญญา

วิกฤติโควิดและมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม สร้างผลกระทบต่อธุรกิจและประชาชนในวงกว้าง การหารายได้ฝืดเคือง บางคนตกงาน ถูกลดเงินเดือน หนี้สินรุมเร้า ขณะที่ภาระครอบครัวเป็นสิ่งที่ละทิ้งไม่ได้ เด็กจบใหม่จำนวนมากหางานทำไม่ได้ คิดมากฟุ้งซ่าน ขณะที่คนจำนวนไม่น้อยยังไม่รู้ว่า หลังวิกฤติผ่านพ้นไป จะเริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างไร เมื่อบริบทโลกหลายอย่างไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว

ท่ามกลางสถานการณ์ขณะนี้ หลายคนกำลังดิ้นรนต่อสู้เพื่อหาทางออกจากวิกฤติชีวิต แต่ใช่ว่า ทุกคนจะโชคดีพบทางออก ทีมงานสวนโมกข์กรุงเทพตระหนักว่า พวกเราต้องช่วยกันจุดแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ เพื่อให้ผู้ที่ได้พบแสงนั้นได้พอจะเห็นเส้นทางออกจากวิกฤติชีวิตได้ ที่สำคัญ  “จะมีแสงใดสว่างเสมอแสงแห่งปัญญาย่อมไม่มี”

ในโอกาสครบรอบวันคล้ายวันเกิดของท่านอาจารย์พุทธทาสหรือ “วันล้ออายุ” (๒๗ พฤษภาคมนี้) ปีที่ ๑๑๕      พวกเราขอนำ “แสงแห่งปัญญา” ของท่านอาจารย์พุทธทาส  ที่น่าจะเป็นทางออกหนึ่งให้ท่านที่สนใจได้ทดลองนำไปประยุกต์ใช้

แสงแรก: ปลดพันธการทางใจจากยึดถือทรัพย์

ท่านเล่าว่า เมื่อพูดถึงสิ่งของหรือทรัพย์สมบัติ … ในชั้นแรกของการอยู่ที่นี่ ฉันมีทรัพย์สมบัติแต่เพียงบาตร ๑ ใบ มีฝาทองเหลืองชนิดตักน้ำฉันได้ กับถังตักน้ำเล็กๆ จากบ่อน้ำใบหนึ่ง และจีวรเท่าที่จำเป็นจะต้องมีเท่านั้น กับมีตะเกียงน้ำมันมะพร้าว … จุดที่หน้าพระพุทธรูปประจำ จะไปไหนเมื่อไรก็ได้ ไม่ต้องปิดประตู … ไม่มีอะไรที่จะต้องดูแลรักษา … มีแต่ความเบาสบายที่ยากจะบอก

ครั้นต่อมา มีทรัพย์สมบัติเพิ่มขึ้น เมื่อคิดออกหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา ทำให้ต้องมีกระดาษ ดินสอ และหนังสือบางเล่ม จะไปไหนต้องเก็บ ต้องปิดหีบ ปิดประตู กลับมายังเรียบร้อยอยู่ก็เบาใจ มีคราวหนึ่ง ไปธุระค้างคืน กลับมาทันขณะที่ปลวกขึ้นมาถึงกองหนังสือพอดี … ถ้าปลวกกัดกินทำให้ของเขาขาดชำรุดไป จะเป็นเรื่องยุ่งไม่น้อย และสมน้ำหน้าที่อุตริเป็นพระบ้าน ในเมื่อตนมีความเป็นอยู่อย่างพระป่า เหล่านี้คือเรื่องที่ความคิดสองฝ่ายกระทบกันบ่อย จนบางครั้งจะเลิกล้มความคิดที่จะทำการเกี่ยวกับหนังสืออีกต่อไป

ในที่สุดความคิดทั้งสองฝ่ายก็รู้จักประนีประนอมกันได้เอง … สิ่งนั้นเกิดมาจากการเสียสละและไม่ยึดถือ การไม่ยึดถือนั้น นอกจากจะเกิดมาจากการไม่มีอะไรจะยึดถือแล้ว ยังเกิดมาจากการที่เราไม่ยึดถืออีกส่วนหนึ่งด้วย แม้จะมีอะไรเป็นสมบัติของตนอยู่ก็ตาม … โดยตนไม่ต้องยึดถือไว้เป็นเครื่องหนักใจ จะเป็นสิ่งที่ทำได้หรือไม่เป็นเรื่องที่น่าลองดู

จะทำกันอย่างไรนั้น เป็นปัญหาที่ต้องพยายามแก้ และฉันขอตอบด้วยการกล้ารับรองในที่นี้ว่า ไม่มีทางอื่นใดดีไปกว่าการหลีกออกไปบำเพ็ญชีวิตสันโดษ ไร้ทรัพย์สมบัติโดยประการทั้งปวงเสียสักคราวหนึ่งก่อน ซึ่งในที่สุดจะพบคำตอบพร้อมทั้งได้สมรรถภาพแห่งจิต ชนิดที่จะปฏิบัติงานอันแสนยากนั้นได้ดีจริงๆ เพราะว่า ความรู้ที่ได้มาจากการเคยผ่านมาทางจิตใจของตนเอง กับความรู้ที่คาดคะเนเอาตามหลักเกณฑ์ในตำรานั้น ยังไกลกันอยู่ไม่น้อย

แสงต่อมา: เมื่อก้าวผิดไปก็ตั้งต้นใหม่กับเป้าหมายที่มุ่งทำประโยชน์ ความท้อถอยย่อมไม่มี

ในช่วงที่ท่านเข้ามาเรียนปริยัติธรรมที่กรุงเทพ ท่านเขียนจดหมายถึงคุณธรรมทาสว่า เราตกลงใจกันแน่นอนแล้วว่า กรุงเทพฯ มิใช่เป็นที่ที่จะพบความบริสุทธิ์ เราถลำเข้าเรียนปริยัติธรรมทางเจือด้วยยศศักดิ์ เป็นผลดีให้เรารู้สึกตัวว่า เป็นการก้าวผิดไปก้าวหนึ่ง หากรู้ไม่ทันก็จะต้องก้าวผิดไปอีกหลายก้าว และยากที่จะถอนออกได้เหมือนบางคน จากการรู้ตัวว่าก้าวผิดนั่นเอง ทำให้พบเงื่อนว่า ทำอย่างไรเราจะก้าวถูกด้วย … และตั้งใจจะไปหาที่สงัดปราศจากการรบกวนทั้งภายนอกและภายในสักแห่งหนึ่ง เพื่อสอบสวนค้นคว้าวิชาธรรมที่ได้เรียนมาแล้ว … เป็นการฟื้นความจำและได้หลักธรรมพอที่จะเชื่อว่า การค้นคว้าของฉันไม่ผิดทางแล้ว

ท่านจึงกลับมาบ้านเกิดและจำวัดอยู่ที่วัดร้างตระพังจิกรูปเดียวโดยไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ เหมือนที่เล่าไว้ใน “แสงแรก” ข้างต้น มิหนำซ้ำยังมีคนว่า ท่านเป็น “พระบ้า” เมื่อเวลาผ่านไปมีคนถามท่านว่า ในช่วงนั้น เคยรู้สึกหมดหวัง ท้อถอยหรือไม่

ไอ้เรื่องหมดหวังหรือท้อถอยนี่มันไม่มี และสิ่งที่ทำอยู่ มันก็กำลังมีผลอย่างนั้นอย่างนี้บ้างอยู่เรื่อยๆ มันมีความคิดว่า จะเป็นผู้เปิดเผยสิ่งที่คนส่วนมากยังไม่รู้ เราจึงสามารถค้นของใหม่ออกมาสู่ประชาชนอยู่เสมอ … ทำให้มีของใหม่ขึ้นในโลก ในสังคม บางอย่างเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้ว แต่คนอื่นเขาไม่สังเกตก็มี เมื่อรวมๆ กันเข้า มันเกิดประโยชน์ มันก็มีกำลังใจ ยังเป็นปุถุชนก็ต้องการกำลังใจ คนที่ได้รับประโยชน์จากหนังสือ จากงานของเรา มันมีอยู่เห็นอยู่ มันก็มีกำลังใจ

 แสงสุดท้าย: ทุนที่จะทำงานใหญ่ให้สำเร็จ

เรื่องสุดท้ายที่ฉันจะเล่าสู่ท่านทั้งหลายฟังก็คือ เรื่องทุน (สร้างสวนโมกข์พลาราม)ทุนอันแรกก็คือ เงินและแรง … นับตั้งแต่แรกเริ่มมา เมื่อพิจารณาดูแล้ว … การจัดสถานที่แบบนี้ ไม่เป็นการหมดเปลืองมากมายอย่างใดเลย เมื่อคำนึงถึงผลแล้ว รู้สึกว่า ได้ผลเกินค่า … จะทำอะไรก็ทำให้มีเหตุผลที่สุด ทำให้ประหยัดที่สุด คุ้มค่าที่สุด อะไรที่ทำเองได้ก็ทำ ที่จำเป็นต้องจ้างจึงจ้าง ที่จะเป็นต้องซื้อจึงซื้อ

ท่านอาจารย์พุทธทาสกล่าวย้ำอยู่บ่อยๆ ว่า อาตมาเป็นเนื้อเป็นตัวทำอะไรได้อย่างนี้ … ก็เพราะแม่ทั้งนั้น เพราะแม่ได้สั่งสอนอบรมมาอย่างนี้ … สอนให้ประหยัด … ทุกอย่างที่มันประหยัดได้ต้องประหยัด ประหยัดจนถี่ยิบไปหมด ประหยัดไปได้ทุกวิธี มันก็เลยติดนิสัย มันมองเห็นอยู่เสมอ  … ประหยัดแม้กระทั่งเวลา ขึ้นชื่อว่าเวลาต้องใช้ให้เป็นประโยชน์

ทุนอันที่สองคือ กำลังน้ำใจ … ทุนอันนี้สำคัญยิ่งไปกว่าเงินหรือแรง เพราะถ้าไม่มีกำลังใจ มุ่งหวังอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างแรงกล้า และได้รับการสนับสนุนจากมิตรสหาย และเหตุการณ์บางอย่างอยู่เสมอแล้ว ก็ชวนให้เบื่อหน่าย

ทุนอันที่สาม ได้แก่ ผู้กล้ารับภาระจัดการเป็นตัวยืนโรง ถ้าไม่มีใครทำหรือใครช่วย ก็ยินดีที่จะทำไปคนเดียวเรื่อยๆ ไม่ยอมเลิกล้ม ได้เท่าใดก็เอาเท่านั้น ซึ่งมีความสำคัญในข้อที่ว่า คนที่คอยให้ทุนหรือกำลังใจนั้น มิใช่ได้มาทำด้วยได้

ต่อเมื่อทุนมีครบพร้อมทั้งสามประการดังกล่าวมา กิจการก็ก่อรูปและดำเนินไปได้ และนอกจากทุนข้างต้นแล้ว ต้องรู้จัก “รอ” ท่านเล่าว่า ตอนไปดูแลการทำไม้ในป่า เดินผ่านที่แปลงนี้บ่อยๆ (ที่ดินสร้างสวนโมกข์) … มีคนบอกว่า เขาเคยบอกขาย ๓๕ บาท ไม่มีคนซื้อ ผมก็เลยสนใจ … ก็เลยพยายามติดตามติดต่อเพื่อพบเจ้าของ ก็ได้นัดพบกันที่ตลาด

คนที่ติดต่อบอกว่า โอ ท่านจะซื้อ ท่านมีทางจะบอกบุญได้มาก ผมเอา ๓,๐๐๐ บาท ท่านเล่าต่อว่า เราก็เฉยเสีย ต่อมาแกคงเกิดความลำบากทางการเงิน ถูกความต้องการเงินบีบคั้นเข้าๆ ก็ลดลงมาเรื่อยๆ จนผลสุดท้าย ตกลงกันราคา ๔๕๐ บาท วัดได้ ๙๐ ไร่ ไร่ละ ๕ บาท

สุดท้ายนี้ พวกเราหวังว่า เมื่อท่านได้ลองอยู่อย่างสันโดษไร้ทรัพย์สมบัติสักระยะหนึ่ง จะทำให้ท่านคลายความเครียดกังวลกับปัญหารายได้และหนี้สินลงบ้าง และสำหรับคนที่ยังหางานทำไม่ได้ การลองหาสิ่งที่เป็นประโยชน์รอบตัวทำเพื่อให้ชีวิตในแต่ละวันผ่านไปอย่างมีความหมาย ก็อาจทำให้ท่านได้พบคุณค่าใหม่ของชีวิตก็ได้ นอกจากนี้ หากใครอยากเริ่มต้นกิจการใหม่จะลองนำข้อคิดในเรื่องทุนของท่านอาจารย์ไปใช้ก็น่าจะช่วยให้กิจการเติบโตอย่างยั่งยืนได้

และนี่คือ แสงแห่งปัญญาบางส่วนของท่านอาจารย์พุทธทาส ที่ทำให้เกิดความสว่างในใจของทุกคนที่ร่วมเดินบนเส้นทางแห่งปัญญาของท่านด้วย ซึ่งท่านบันทึกไว้ว่า “พวกเรากำลังได้รับความพอใจในงานที่ทำ มีความกล้าหาญรื่นเริง เป็นสุขสบายดีอยู่ทั่วกันทุกคน และตั้งใจที่จะทำหน้าที่ของเราเรื่อยๆ ไป ไม่ว่าสถานการณ์ของโลกจะเปลี่ยนไปอย่างใด” และทีมงานเราหวังว่า ความสว่างในใจเช่นนี้ จะเกิดขึ้นในผู้ที่กำลังดิ้นรนออกจากวิกฤติชีวิต ด้วยแสงแห่งปัญญาท่านเช่นกัน

รวบรวบจาก “สิบปีในสวนโมกข์” และ “เล่าไว้เมื่อวัยสนธยา” อัตชีวประวัติของท่านพุทธทาสภิกขุ สามารถ ติดตาเรื่องราว และ ข้อธรรมอื่น ๆ ได้ที่ Facebook : หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ

Facebook Comments

Related post