Digiqole ad

ร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ฉบับก้าวไกล รัฐบาลจะใช้อำนาจพิเศษ ต้องขออนุญาตผู้แทนประชาชน

 ร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ฉบับก้าวไกล รัฐบาลจะใช้อำนาจพิเศษ ต้องขออนุญาตผู้แทนประชาชน
Social sharing

Digiqole ad
📌สส.พรรคก้าวไกลเดินหน้าทำงาน ทั้งเชิงรับ-เชิงรุก ต่อประเด็นสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
📌เชิงรับ: ‘รอมฎอน’ ตั้งกระทู้ถึง ‘สมศักดิ์ เทพสุทิน’ ถามทิศทางรัฐบาลต่อการจัดการสถานการณ์ชายแดนใต้ หลังเพิ่งขยายการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่ ออกไปอีก 1 เดือน แตกต่างจาก 72 ครั้งก่อนหน้า
📌เชิงรุก: สส.ก้าวไกลยื่นร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ เข้าสภา กำหนดนายกฯ ถ้าประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องขออนุมัติสภาใน 7 วัน พร้อมแจกแจงแผนให้ชัด จะยุติสถานการณ์อย่างไร-เมื่อใด
.
[ รอมฎอนถามรัฐบาล เอายังไงกับชายแดนภาคใต้ ]
.
ช่วงสายวันนี้ ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร รอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ ตั้งกระทู้ถามสดด้วยวาจา ต่อสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน (กบฉ.) กรณีการขยายระยะเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ออกไปอีก 1 เดือน ถือเป็นครั้งที่ 73 ระบุคำถามสำคัญว่า รัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง จะมีความกล้าหาญทางการเมืองเพียงใด ในการกำหนดทิศทางการบริหารสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
.
รอมฎอนกล่าวว่า กฎหมาย ‘พิเศษ’ หรือกฎหมาย ‘ผิดปกติ’ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นกฎหมายที่เพิ่มเข้ามาด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง มีทั้งหมด 3 ฉบับ หรืออาจเรียกว่า 3 พี่น้อง (1) พี่คนโต คือกฎอัยการศึก อายุเยอะที่สุด 109 ปี ให้อำนาจฝ่ายทหารอย่างสูงสุด เข้มข้นที่สุด (2) พี่คนรอง คือ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ซึ่งกลายเป็นปัญหาใหญ่ เพราะคือรากของวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด ทำให้เจ้าหน้าที่พ้นจากการเอาผิดในทางอาญา แพ่ง และทางวินัย (3) น้องคนสุดท้อง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หัวใจสำคัญคือการจัดตั้งหน่วยงาน กอ.รมน.
.
อิทธิฤทธิ์ของกฎหมายทั้ง 3 ฉบับตลอด 18 ปีที่ผ่านมา ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหามากมาย ดังนั้น หากรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน มุ่งมั่นที่จะสร้างนิติธรรมที่เข้มแข็งตามที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา กฎหมายพิเศษหรือกฎหมายผิดปกติเหล่านี้ ต้องถูกทบทวนยกชุด เพราะมีความเสี่ยงทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซ้ำร้ายจะทำลายความชอบธรรมของอำนาจรัฐ ด้วยวงจรที่ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐมีอำนาจพิเศษเหนือกลไกต่างๆ
.
จึงขอสอบถามสมศักดิ์ ในฐานะประธาน กบฉ. 3 ข้อ (1) การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไป 1 เดือน โดยทยอยลด 1 อำเภอ (อ.กะพ้อ จ.ปัตตานี) หมายความว่าอย่างไร และถ้าจะยกเลิกประกาศนี้ รัฐบาลจะยกเลิกกฎอัยการศึกเมื่อไร ทั้งหมดนี้สัมพันธ์กับมาตรการในระดับปฏิบัติ กระทบต่อประชาชนและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน (2) รัฐบาลพลเรือนจะยังคงรักษา กอ.รมน. อยู่ต่อไปหรือไม่ เพราะเหตุใด และ (3) รัฐบาลใหม่จะเอาอย่างไรกับร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล
.
[ นี่คือโอกาสฟื้นความไว้วางใจของประชาชน รัฐบาลจะคว้าไว้หรือไม่ ]
.
รอมฎอนสะท้อนความสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ว่า ความเคยชินที่เคยอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้ประชาชนในพื้นที่จินตนาการไม่ออกว่ากฎหมายไทยสามารถปกครองอย่างชอบธรรมมากกว่านี้ได้หรือไม่ หรือหลักนิติธรรมหน้าตาเป็นอย่างไร
.
นี่จึงเป็นโอกาสของรัฐสภาไทยในการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อการอยู่ร่วมกันในสังคม ทำให้คนในจังหวัดชายแดนภาคใต้รู้สึกว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่ง ได้รับการปฏิบัติ ได้รับการเคารพยอมรับในตัวตน และสิทธิเสรีภาพที่ควรมี จึงคาดหวังว่า สส.จากพรรคการเมืองต่างๆ โดยเฉพาะจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเฉพาะในพรรครัฐบาลมีถึง 12 คน จาก 13 เขตเลือกตั้ง จะทำให้กฎหมายฉบับนี้เป็นฉันทามติร่วมกัน เปลี่ยนโฉมหน้าของประเทศต่อไป
.
[ ยื่นร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉินฯ ให้สภาตรวจสอบอำนาจ ‘พิเศษ’ ของฝ่ายบริหาร ]
.
ต่อมา รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ แถลงข่าวการยื่นร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ โดยกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ พรรคก้าวไกลเคยยื่นต่อสภาในสมัยที่ผ่านมา เกือบผ่านวาระหนึ่ง โดยได้รับความร่วมมือจากพรรคฝ่ายค้านด้วยกันในเวลานั้น เช่น พรรคเพื่อไทย ที่วันนี้เป็นพรรครัฐบาล
.
เหตุผลของการเสนอกฎหมาย เนื่องจากการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในจังหวัดชายแดนใต้มีมายาวนาน และยังมีการประกาศใช้ในสถานการณ์ทางการเมืองหลายขณะ โดยพบว่าปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุลของสภาฯ แม้ที่ผ่านมาสภาส่งเสียง แต่มักไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล เช่น สถานการณ์โควิด มีการประกาศใช้ พรก.ฉุกเฉินฯ นำไปใช้ในลักษณะการปราบปรามผู้ชุมนุมที่เห็นต่างทางการเมือง จนมีคำถามจากประชาชนว่าตกลงแล้ว การออก พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ในเวลานั้น มีจุดประสงค์อย่างไร ต้องการแก้ปัญหาโควิดหรือปกป้องผู้มีอำนาจ
.
ด้วยปัญหาทั้งหมด พรรคก้าวไกลจึงเสนอร่าง พ.ร.บ. การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้มีกฎหมายที่ทำให้สภาฯ สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจของฝ่ายบริหาร โดยมีรายละเอียดดังนี้
.
[ 4 หัวใจสำคัญ หลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย ]
.
ประการที่ 1 การประกาศ พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ยังคงอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการประกาศได้ แต่เงื่อนไขในการประกาศ ต้องมีการขออนุมัติจาก ครม. ภายใน 3 วัน และต้องขออนุมัติจากสภาฯ ภายใน 7 วัน เพื่อให้ตัวแทนของประชาชนสามารถอนุญาตให้รัฐบาลใช้กฎหมายในการจำกัดสิทธิเสรีภาพของพวกเขาได้ ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย
.
ประการที่ 2 การขออนุมัติกับสภาฯ รัฐบาลมีหน้าที่ทำแผนว่าการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว จะสามารถแก้ไขวิกฤติสถานการณ์ฉุกเฉินด้วยวิธีการใด เพราะปัจจุบัน เมื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินแล้ว รัฐบาลขาดความชัดเจนว่าท้ายที่สุดทำไปทำไม มีแผนอย่างไร แผนดังกล่าวจะแก้วิกฤตได้เมื่อไร ประชาชนไม่เคยรับทราบ ดังนั้นสภาฯ มีสิทธิที่จะรู้ว่ารัฐบาลที่กำลังจะใช้อำนาจพิเศษ มีแผนการจัดการวิกฤตอย่างไร
.
ประการที่ 3 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับปัจจุบัน ศาลปกครองไม่มีอำนาจตรวจสอบ แต่กฎหมายที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ให้อำนาจประธานสภาฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในการร้องศาลปกครอง ว่าถึงที่สุดยังมีเหตุในการประกาศใช้หรือไม่ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุล
.
ประการที่ 4 การใช้อำนาจพิเศษอย่าง พรก.ฉุกเฉินฯ เจ้าหน้าที่แทบไม่ต้องรับผิดอะไรเลย แต่กฎหมายที่เสนอโดยพรรคก้าวไกลระบุว่า หากการใช้อำนาจนั้น เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้อง เกิดความเสียหาย การดำเนินคดีตามกฎหมายต่อเจ้าหน้าที่หรือผู้มีอำนาจนั้น สามารถดำเนินการได้
.
[ คาดหวังพรรคเพื่อไทย จุดยืนไม่เปลี่ยนแปลง ]
.
รังสิมันต์กล่าวว่า หลักการที่นำเสนอผ่านกฎหมายฉบับนี้ คือหลักการสากลที่ประเทศไทยควรจะมี และจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ควบคู่กับการใช้อำนาจพิเศษที่เราเข้าใจว่าบางครั้งจำเป็นต้องมีในสถานการณ์ที่ไม่สามารถคาดคะเนได้ ส่งเสริมให้รัฐบาลใช้อำนาจได้อย่างเป็นที่ยอมรับ ตรวจสอบได้ จึงหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะได้รับการสนับสนุนจาก สส. โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทย ซึ่งเคยสนับสนุนมาก่อน วันนี้เมื่อเป็นรัฐบาล หวังว่าจะไม่ทำให้จุดยืนของพรรคเพื่อไทยเปลี่ยนไป
.
“สาระสำคัญของร่างนี้คล้ายกับร่างเดิมที่พรรคเพื่อไทยเคยสนับสนุน สถานการณ์วันนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากเดิม ความแตกต่างมีประการเดียว คือวันนี้พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาล คำถามคือพรรคเพื่อไทยจะว่าอย่างไร หากเพียงพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลเห็นด้วย เราจะสามารถเดินหน้า ทำให้กฎหมายพิเศษนี้ได้รับการตรวจสอบให้มีความชอบธรรมในการใช้อำนาจมากขึ้น” รังสิมันต์กล่าว
ที่มา : เพจพรรคก้าวไกล
Facebook Comments


Social sharing

Related post