Digiqole ad

มูลนิธิจุฬาภรณ์ ช่วยเหลือ…เพื่อปวงประชา

 มูลนิธิจุฬาภรณ์  ช่วยเหลือ…เพื่อปวงประชา
Social sharing

Digiqole ad

ศาสตราจารย์ ดร.สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี  ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขแก่ปวงชนชาวไทยมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ โดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ                 พระบรมราชชนนีพันปีหลวงไปทรงเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย ตั้งแต่พระชนมายุเพียง 14 พรรษา ดังปรากฏในพระดำรัสรับสั่งครั้งหนึ่งว่า ตั้งแต่ข้าพเจ้าอายุ 14 ได้ออกไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ให้ความช่วยเหลือชาวบ้านทั้งด้านสุขภาพพลานามัย และทางด้านการประกอบอาชีพและได้เห็นวิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงปฏิบัติ ทรงไม่เคยนึกถึงพระองค์เลย ทรงนึกถึงแต่ราษฎรความปรารถนาอย่างเดียวของพระองค์ท่าน คือ อยากให้คนไทยมีความสุข   มีความเจริญ และก้าวหน้าเท่าเทียมอารยประเทศ

จากการที่ทรงรับทราบและทรงตระหนักถึงปัญหาความเดือดร้อนต่าง ๆ ของประชาชนชาวไทยมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะปัญหาด้านการแพทย์และการสาธารณสุขที่มีประชาชนจำนวนมากในถิ่นทุรกันดารที่ห่างไกล   และยังไม่สามารถเข้าถึงการบริการได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง อันเกิดจากการขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์ และการสาธารณสุข รวมถึงการขาดแคลนงบประมาณและการสนับสนุนที่เพียงพอด้านการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในด้านต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศสามารถนำความก้าวหน้าและวิทยาการที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนได้อย่างเหมาะสม ด้วยเหตุนี้จึงทรงพระดำริก่อตั้ง “กองทุนจุฬาภรณ์” ขึ้นในขั้นแรก เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษา การวิจัย การดำเนินงานทางการแพทย์และการสาธารณสุข ต่อมาจึงได้มีการจดทะเบียนและสถาปนากองทุนนี้ให้เป็นมูลนิธิจุฬาภรณ์

มูลนิธิจุฬาภรณ์ ถือกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พุทธศักราช 2529 เพื่อดำเนินงานสนองพระปณิธานอันมุ่งมั่นที่จะนำความก้าวหน้าและการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี    ไปประยุกต์ใช้ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

ตลอดระยะเวลากว่า 3 ทศวรรษ มูลนิธิจุฬาภรณ์ ได้มีส่วนร่วมดำเนินกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่พี่น้องประชาชนชนที่ได้รับความเดือดร้อน พร้อมทั้งดำเนินกิจกรรมเพื่อดูแลและช่วยเหลือสังคมอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย

* การดูแลรักษาผู้ป่วยยากไร้ในพระอนุเคราะห์

* การสนับสนุนทุนการศึกษาและอุปการะค่าเล่าเรียนพร้อมทั้งวัสดุอุปกรณ์ทางการศึกษาที่จำเป็น

* การบรรเทาความเดือดร้อนช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติและภัยจากการคุกคามของโรคระบาดรุนแรงทั่วประเทศ

* การจัดหายาและเวชภัณฑ์สำหรับหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นแก่โรงพยาบาล

* การสงเคราะห์ผู้ยากไร้และผู้ด้อยโอกาส

*  การสนับสนุนมูลนิธิและหน่วยงานต่าง ๆ

ปัจจุบัน มูลนิธิจุฬาภรณ์ มีหน่วยงานในสังกัด คือ สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์                   ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พุทธศักราช 2530      เพื่อถวายราชสักการะในโอกาสมหามงคลสมัยที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร  ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 5 รอบ เมื่อปีพุทธศักราช 2530            มีภารกิจสำคัญในการสนับสนุนงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ผ่านการดำเนินงาน 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ งานวิจัย  งานวิชาการ งานพัฒนาสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน

ทั้งนี้ เมื่อเกิดวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิจุฬาภรณ์และสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ได้ร่วมกันดำเนินงานให้ความช่วยเหลือด้านการแพทย์ การสาธารณสุข และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ นอกจากนี้ มูลนิธิจุฬาภรณ์ยังให้ความช่วยเหลือด้านการดำรงชีวิตในภาวะวิกฤตภัยธรรมชาติ เช่น สถานการณ์อุทกภัย ที่เกิดขึ้นหลายครั้งในภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ

เมื่อเกิดวิกฤตภัยธรรมชาติและโรคระบาดที่เกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด  ส่งผลให้มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก     ทำให้การดำเนินงานของมูลนิธิจุฬาภรณ์ ในภารกิจเพื่อช่วยเหลือและสงเคราะห์ประชาชนที่เจ็บป่วย -ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส และผู้ได้รับผลกระทบจากวิกฤตภัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ ยังคงต้องดำเนินต่อไปเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีและทั่วถึง ด้วยการสนับสนุนจากผู้มีจิตศรัทธาทั้งหลาย ที่จะทำให้มูลนิธิจุฬาภรณ์สามารถขยายขอบข่ายการดำเนินงานเพื่อให้ความช่วยเหลือได้อย่างครอบคลุมและทันท่วงที เพื่อสร้างสรรค์สังคมไทย ให้มีความมั่นคงและยั่งยืนต่อไป ผู้มีจิตศรัทธา สามารถร่วมสมทบทุน “มูลนิธิจุฬาภรณ์”  ผ่านทางธนาคารไทยพาณิชย์  ชื่อบัญชีมูลนิธิจุฬาภรณ์ เลขที่ 026-252296-1 ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2553-8555

Facebook Comments


Social sharing

Related post