Digiqole ad

มังกรเหยียบโลก “ภัยพิบัติ” 2024 (อาจ)แค่เริ่มต้น!

 มังกรเหยียบโลก “ภัยพิบัติ” 2024 (อาจ)แค่เริ่มต้น!
Social sharing

Digiqole ad

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 413 วันที่ 5-11 มกราคม 2567

สกู๊ปปก (2-3)

มังกรเหยียบโลก

“ภัยพิบัติ” 2024

(อาจ)แค่เริ่มต้น!

เพียงแค่เริ่มต้นปี 2567/2024 เข้าสู่ “ปีมังกร” (อาจเป็นมังกรไฟพ่นน้ำ) ก็ทำเอาทั่วโลกอกสั่นขวัญแขวน โดยเฉพาะที่ประเทสศญี่ปุ่น ที่เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติคือ “แผ่นดินไหว” เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567 มีขนาดรุนแรง 7.6 ที่จังหวัดอิชิกาวะ บนเกาะฮอนชู ทางตอนกลางของญี่ปุ่น ซึ่งถือว่าเป็นแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุดที่เกิดบนคาบสมุทรโนโตะนับจากที่มีการจดบันทึกเริ่มขึ้นเมื่อปี 2428 และจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ทำให้อาคารบ้านเรือน ระบบโครงสร้างพื้นฐาน พังเสียหายจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิต 48 คน (อัปเดตถึงวันที่ทำสกู๊ป)

นายฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เปิดเผยว่า เหตุแผ่นดินไหวครั้งนี้ ได้สร้างความเสียหายเป็นบริเวณกว้าง และเกรงว่า จะมีจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น ในขณะนี้บรรดาทีมกู้ภัยได้ระดมให้ความช่วยให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยกันอย่างสุดความสามารถ

ทั้งนี้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ยกเลิกคำเตือนภัย “สึนามิ” แล้ว เมื่อช่วงเช้าวันที่ 2 มกราคม 2567หลังจากได้แจ้งเตือนภัยสึนามิครั้งใหญ่เป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิถล่มญี่ปุ่นในปี 2554 โดยจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ได้ก่อให้เกิด “สึนามิ” สูงประมาณ 1 เมตร ซัดชายฝั่งทางตะวันตก

นี่คงจะเป็นสัญญาณเริ่มต้นของเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติในปีนี้ ที่เริ่มประเดิมตั้งแต่วันแรกของปี ที่คนทั้งโลกไม่ควรมองข้ามไป เนื่องจากในระยะหลัง ๆ ภัยพิบัติทางธรรมชาติมักจะทวีความรุนแรงสร้างความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน อีกทั้งได้มีการเตือนภัยต่าง ๆ โดยเฉพาะ “ภัยโลกร้อน” ในปีนี้

ระบบเตือนภัยญี่ปุ่นขั้นเทพ “ดีที่สุดในโลก”

ญี่ปุ่นใช้ระบบอะไรในการเตือนภัยและมีขั้นตอนอย่างไรบ้างในการเตือนประชาชน เพื่อให้รับมือกับภัยพิบัติและลดความสูญเสียมากที่สุด  ระบบเตือนภัยนั้นคือ “ระบบ J-ALERT”  เป็นระบบเตือนภัยที่ครอบคลุมทั้งประเทศญี่ปุ่น ระบบนี้จะทำงานสื่อสารกับดาวเทียมใช้ในการแจ้งเตือนและแนะนำข้อควรปฎิบัติแก่ประชาชนไม่ว่าจะเกิดภัยอันตรายใดๆ แผ่นดินไหว สึนามิหรือการยิงขีปนาวุธ  โดยระบบจะบอกประชาชนควรทำอย่างไร ต้องหนีหรือยัง เมื่อขีปนาวุธถูกยิง ระบบจะประเมินว่าจะไปตกที่ไหน บินผ่านตรงไหน จากนั้น J-ALERTก็จะแจ้งเตือนประชาชนให้เตรียมรับมือ

           J-ALERT จะปรากฏขึ้นบนโทรทัศน์พร้อมกับรายการต่าง ๆ เป็นการแจ้งข้อมูลการเตือนภัยและวิธีการปฏิบัติตัวไม่ใช่เฉพาะปรากฏบนจอโทรทัศน์เท่านั้น แต่ข้อมูลการเตือนภัยนี้จะปรากฏครอบคลุมทุกการสื่อสารไม่ว่าจะเป็นลำโพงกระจายเสียงตามท้องถิ่น วิทยุ เว็บไซต์ รวมถึงสมาร์ทโฟน ในสมาร์ทโฟนของญี่ปุ่นหากเกิดแผ่นดินไหวจะมีข้อความแล้วเสียงแจ้งเตือน 5 – 10 วินาที เพื่อให้ประชาชนได้หนีหรือหาที่ปลอดภัย เช่น หลบใต้โต๊ะ หากเป็นน้ำท่วมจะส่งเป็นข้อความที่เป็นทั้งคำเตือนและข่าวเพื่อให้ประชาชนรับทราบ ระบบนี้เรียกว่า J-ALERT ทำงานโดยการสื่อสารผ่านดาวเทียมใช้ในการแจ้งเตือนแนะนำข้อควรปฏิบัติแก่ประชาชนในกรณีที่เกิดภัยใด ๆ ไม่ว่าจะเกิดแผ่นดินไหว สึนามิ หรือแม้กระทั่งการยิ่งขีปนาวุธ ในกรณีนักท่องเที่ยวไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากที่ไหนหากอยู่บนเครือข่ายโทรศัพท์ของญี่ปุ่นแม้จะเป็นแค่การวอร์มมิ่งก็ตามก็สามารถได้รับข้อความเตือนจากระบบ J-ALERTทันที

 

            ระดับการเตือนภัยของ J-ALERTแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามความเร่งด่วน

            1.เตือนให้ระวัง : จะใช้สีเหลือง แนะนำให้ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย และผู้ที่อาศัยอยู่ริมน้ำเตรียมหนีภัย

            2.เตือนผู้ที่อยู่ในพื้นที่ให้อพยพ : ระดับเตือนภัยอันตราย คือ สีแดง ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยควรรีบอพยพโดยด่วน

           3.กำลังเกิดภัยพิบัติร้ายแรง

สีม่วง คือระบบการเตือนภัยที่ร้ายแรงมากๆ ในรอบหลายปี หากเห็นประกาศนี้ประชาชนจะรับรู้ทันทีว่าพื้นที่ใกล้เคียงเกิดภัยพิบัติขึ้นแล้วหรืออาจกำลังจะเกิด ซึ่งอาจจะมีอันตรายถึงชีวิตให้รีบทำทุกวิถีทางเพื่อเอาตัวรอดทันที โดยไม่ต้องรอประกาศลี้ภัยเพิ่มเติม    นอกจากนี้ระบบ J-ALERT ใช้แจ้งข่าวในกรณีที่มีประกาศฉุกเฉินจากทางรัฐบาลอีกด้วย

            ยังมีระบบใหม่ที่สร้างขึ้นเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ L-ALERT ขึ้นมา คือระบบที่เน้นในระดับท้องถิ่นและให้ข้อมูลเจาะจงเฉพาะแต่ละพื้นที่ ระบบ L –ALERT จะเน้นให้ข้อมูลรายละเอียดย่อยของแต่ละพื้นที่ เช่น บอกที่ตั้งศูนย์ช่วยเหลือในชุมชนเป็นต้น โดยพัฒนามาจากเดิมโดยที่แต่ละชุมชนรวบรวมข้อมูลแล้วคอยแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ด้วยตัวเอง ทำให้ล่าช้าและไม่ทันท่วงที กลายมาเป็นระบบที่มีศูนย์กลางที่คอยส่งข้อมูลให้แทน

            ในกรณีเมื่อเกิดเหตุอุทกภัยแนวทางการอพยพแบ่งออกเป็น 2 กรณี

  1. กรณีที่เกิดเหตุตอนกลางวันและทัศนวิสัยชัดเจน ให้เร่งอพยพไปยังที่ปลอดภัย
  2. กรณีเกิดเหตุตอนกลางคืนทัศนวิสัยไม่ชัดเจน และเส้นทางถูกตัดขาดให้อพยพขึ้นชั้นบนของอาคารเองเพื่อรอรับความช่วยเหลือ

นอกจากนี้ที่ประเทศญี่ปุ่นยังมีการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับเรื่องภัยพิบัติอยู่ตลอดเวลานอกเหนือจากระบบที่ว่าแล้ว ยังมีการให้คำแนะนำและให้การศึกษา โดยมีพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับการรับมือกับภัยพิบัติ ส่วนทางรัฐบาลญี่ปุ่นมีการแนะนำให้คนเตรียมรับมือจากเหตุภัยพิบัติธรรมชาติ เช่น การเตรียมกระเป๋าฉุกเฉินให้กับสมาชิกแต่ละคนภายในบ้านซึ่งในกระเป๋าก็จะมีของที่จำเป็น ในการดำรงชีวิต 3 วัน นอกจากนี้ยังมีการจัดเตรียมศูนย์อพยพตามโรงเรียน เป็นต้น

โดยปัจจุบันทีมงานที่ทำตัวระบบการแจ้งเตือนขึ้นมากำลังพัฒนาระบบอยู่ตลอดเวลา เพื่อระบบที่ดีและเร็วยิ่งขึ้นกว่าเดิมรวมถึงเรื่องความแม่นยำ นอกจากนี้เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้คนไทยที่อยู่ในประเทศญี่ปุ่นได้รับโดยข้อความแจ้งเตือนภัยเป็นภาษาไทยทั้งหมด เช่น “เตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้า : จะเกิดแผ่นดินไหวรุนแรง ให้อยู่ในความสงบและหาที่หลบภัยใกล้ๆ (กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น)” , “เตือนภัยสึนามิ : อพยพออกจากบริเวณชายฝั่งและบริเวณริมแม่น้ำทันทีไปยังสถานที่ปลอดภัย เช่น ที่สูงหรืออาคารอพยพ (กรมอุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น)”(ที่มา : pptvhd36/The World with Karuna)

3 แอป แจ้งเตือนภัยพิบัติญี่ปุ่น

แม้ว่าประเทศญี่ปุ่นนั้นจะได้รับการยกย่องในเรื่องความสวยงามของธรรมชาติ วัฒนธรรมท้องถิ่นอันน่าประทับใจ และแง่มุมอีกมากมายที่ทำให้หลายๆคนหลงรักประเทศญี่ปุ่นจนหาโอกาสไปเยือนอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่านอกจากความงดงามและความน่าประทับใจแล้ว ประเทศญี่ปุ่นถือเป็นประเทศที่มักจะเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติต่างๆขึ้นอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะเหตุการณ์แผ่นดินไหว แต่นั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลจนเกินไป หากเรามีข้อมูลและการรับมือที่ถูกวิธี วันนี้เราจึงมาแนะนำ 3 แอปพลิเคชันแจ้งเตือนภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นที่ควรดาวน์โหลดติดตัวไว้ เพื่อให้ทุกคนได้เดินทางท่องเที่ยวกันได้อย่างสบายใจและหาทางรับมือได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดขึ้น

1.Safety tips : แอปพลิเคชันแจ้งเตือนภัยพิบัติต่างๆในประเทศญี่ปุ่น ทั้งภูเขาไฟระเบิด แผ่นดินไหวและซึนามิ ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นโดยหน่วยงานการท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่น (Japan Tourism Agency) หน่วยงานที่น่าจะเป็นที่คุ้นเคยกันดีสำหรับนักท่องเที่ยวทุกคน จุดเด่นของแอปพลิเคชันนี้จึงไม่ได้มีเพียงเรื่องของมูลภัยพิบัติอันแม่นยำและเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ยังมีการแนะนำข้อมูลอื่นๆที่เป็นประโยชน์ระหว่างการท่องเที่ยวในประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย ทั้งเบอร์ติดต่อในกรณีฉุกเฉิน รายชื่อสถานพยาบาล ระบบค้นหาข้อมูลการเดินทาง รวมไปถึงระบบ Communication Card ซึ่งจะมีรูปแบบประโยคสำคัญในภาษาญี่ปุ่นที่เป็นตัวช่วยในการสื่อสารกับคนญี่ปุ่นในกรณีฉุกเฉินต่างๆได้เป็นอย่างดี

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ที่

iOS : https://apple.co/2ya5gvw

Android : https://play.google.com/store/apps/details?id=jp.co.rcsc.safetyTips.android

2.Yurekuru Call : เป็นแอปพลิเคชันที่แจ้งเตือนแผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่นโดยเฉพาะ ซึ่งจะรายงานให้เราทราบแม้กระทั่งแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ชื่อ Yurekuru Call ของแอปพลิเคชันนี้ก็หมายถึงปลาดุกแผ่นดินไหว ตามความเชื่อโบราณของชาวญี่ปุ่นว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวแต่ละครั้งนั้นเกิดขึ้นจากเจ้าปลาดุกยักษ์ที่อาศัยอยู่ใต้พื้นโลกตัวนี้ได้ขยับตัวจนเกิดแรงสั่นสะเทือนขึ้น

ในหน้าแรกของแอปนั้นจะแสดงพื้นที่ในประเทศญี่ปุ่นที่เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุด พร้อมทั้งตัวเลขที่แสดงถึงระดับความรุนแรงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าในภายหลังได้เองว่าจะให้แอปส่งการแจ้งเตือนสำหรับแผ่นดินไหวทุกระดับ หรือมากกว่าระดับใดขึ้นไป และยังสามารถเลือกรับการแจ้งเตือนเฉพาะในบางจังหวัดของประเทศญี่ปุ่นตามเมืองที่เราเดินทางไปท่องเที่ยวได้อีกด้วย นอกจากนี้หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้น นอกจากการแจ้งเตือนทั่วไปแล้ว ภายในแอปจะมีข้อมูลบอกเราอีกว่าหากเกิดแผ่นดินไหวในระดับดังต่อไปนี้ ควรเตรียมการหรือรับมืออย่างไรบ้าง ซึ่งข้อมูลทุกอย่างนั้นเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ที่

iOS : https://apple.co/2sOJHeE

Android : https://play.google.com/store/apps/details?id=jp.co.rcsc.yurekuru.android&hl=th

3.PocketShelter : อีกหนึ่งแอปพลิเคชันที่น่าสนใจในการแจ้งเตือนข้อมูลภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่นเป็นภาษาอังกฤษสำหรับนักท่องเที่ยว โดยก่อนเริ่มต้นใช้งานเราอาจจะต้องเสียเวลาในการดาวน์โหลดข้อมูลแผนที่ประเทศญี่ปุ่นเล็กน้อย แต่ก็แลกมากับการที่เราสามารถเปิดใช้แอปพลิเคชันนี้ได้แบบออฟไลน์ในภายหลัง ซึ่งโหมดออฟไลน์ของ PocketShelter นั้นถือเป็นจุดเด่นกว่าแอปพลิเคชันอื่นๆตรงที่เราสามารถใช้เป็นแผนที่ท่องเที่ยวแทนการใช้ Google Map ได้ และในกรณีที่เกิดภัยพิบัติขึ้น แผนที่ภายในแอปจะมีการแสดง”จุดปลอดภัย”ในบริเวณใกล้เคียงที่เราสามารถมุ่งหน้าไปหลบภัยได้อีกด้วย

สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันได้ที่

iOS : https://apple.co/2JzZmox

Android : https://play.google.com/store/apps/details?id=jp.pocketshelter.safety&hl=en

(ที่มา jnto.go.jp,rcsc.co.jp,womjapan.com)

 

ไทยถอดบทเรียนแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น

ศ.ดร.อมร พิมานมาศ นายกสมาคมวิศวกรโครงสร้างแห่งประเทศไทย และนักวิจัยศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ เผยถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 7.6 ที่ญี่ปุ่นล่าสุด ว่า เป็นธรณีพิบัติที่รุนแรงมากและอยู่ในระดับตื้นมาก เพียง 10 กิโลเมตร ทำให้เกิดความเสียหายกับอาคารบ้านเรือน โครงสร้างพื้นฐาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนเป็นจำนวนมาก ทั้งยังทำให้เกิดคลื่นสึนามิความสูง 1.2 เมตร ซัดเข้าหาชายฝั่งเมืองวาจิมะ จังหวัดอิชิกาวะ ซึ่งผลของแผ่นดินไหวดังกล่าวจะยังคงเกิดอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกหลายวัน อย่างไรก็ตาม ด้วยระยะห่างจากประเทศไทย 4,000-5,000 กิโลเมตร จึงไม่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย

ก่อนหน้านี้เมื่อเดือนมีนาคม 2554 ได้เคยเกิดแผ่นดินไหวโตโฮคุขนาด 9.0-9.1 นอกชายฝั่งด้านตะวันออกของคาบสมุทรโอชิกะในเขตโตโฮคุ ประเทศญี่ปุ่น ทำให้เกิดคลื่นสึนามิมีความสูงถึง 40 เมตร พัดเข้าชายฝั่งจังหวัดเซ็นได เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตราว 20,000 คน และสูญหายอีกประมาณ 2,500 คน มีความรุนแรงมากกว่าแผ่นดินไหวที่อิชิกาวะในครั้งนี้เป็น 10 เท่า แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยแต่อย่างใด

“สำหรับสึนามิที่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศไทย ยังถือได้ว่ามีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากจุดกำเนิดคลื่นแผ่นดินไหวในทะเลหรือวงแหวนไฟอยู่ห่างไกลค่อนข้างมาก แผ่นดินไหวและสึนามิจากประเทศญี่ปุ่นจึงจะไม่กระทบต่อประเทศไทย อย่างไรก็ตามได้มีการศึกษาแบบจำลองการเกิดสึนามิในอ่าวไทยกรณีเกิดแผ่นดินไหวที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งอยู่ในแนววงแหวนไฟเช่นกันแต่อยู่ใกล้ประเทศไทยมากกว่า โดยสมมติว่าหากเกิดแผ่นดินไหวระดับ 9 อาจทำให้เกิดคลื่นสึนามิมาถึงชายฝั่งทะเลไทยได้ แต่จะใช้เวลาเดินทางนาน 10-20 ชั่วโมงกว่าจะมาถึงชายฝั่ง และด้วยสภาพทางกายภาพที่ค่อนข้างตื้นของชายฝั่ง ทำให้พลังงานจากคลื่นสึนามิสลายตัวไปส่วนใหญ่ ความสูงคลื่นสึนามิไม่น่าจะเกิน 20-30 เซนติเมตร จึงอาจกล่าวได้ว่าชายฝั่งทะเลอ่าวไทยค่อนข้างจะมีความเสี่ยงต่อสึนามิในระดับต่ำ และไม่น่าวิตกกังวล”

ลดผลกระทบความเสี่ยงสึนามิ

ศ.ดร.อมร ยังกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ชายฝั่งด้านตะวันตกของไทยหรือชายฝั่งทะเลอันดามันยังคงมีความเสี่ยงต่อสึนามิอยู่ เนื่องจากแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกอยู่ห่างไปเพียงประมาณ 800-1,200 กิโลเมตร ซึ่งใกล้กว่าแนวรอยต่อทางฝั่งตะวันออกมาก แนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกที่อยู่ใกล้ชายฝั่งทะเลอันดามัน คือแนวมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกอินโด-ออสเตรเลียกับแผ่นยูเรเซีย ดังที่ได้เคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.1-9.3 ที่นอกชายฝั่งตะวันตกของเกาะสุมาตราเหนือมาแล้วเมื่อปี 2547 ทำให้เกิดคลื่นสึนามิความสูงถึง 11 เมตร ซัดชายฝั่งทะเลอันดามันของประเทศไทย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและสูญหายถึงเกือบ 9,000 คน ดังนั้นความเสี่ยงต่อสึนามิในฝั่งทะเลอันดามันจึงเป็นเรื่องที่จะประมาทไม่ได้ การเตรียมความพร้อมรับมือเท่านั้นที่จะลดความเสี่ยงและความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน

สำหรับมาตรการลดผลกระทบความเสี่ยงจากสึนามิ ประกอบด้วย

  1. ระบบเตือนภัยสึนามิและแผนที่หลบภัยสึนามิ ปัจจุบันได้ติดตั้งระบบเตือนภัยสึนามิและแผนที่หลบภัยสึนามิในชายฝั่งทะเลอันดามันแล้ว แต่ควรจะซักซ้อมเหตุการณ์เป็นระยะ และตรวจสอบสภาพให้ใช้งานได้ดีตลอดเวลา
  2. มาตรการด้านอาคารและที่หลบภัยแนวดิ่ง เช่น การก่อสร้างอาคารหลบภัยสึนามิทั้งรูปแบบถาวรและแบบชั่วคราว หรือการปรับปรุงอาคารเดิมในพื้นที่ให้ต้านทานแรงสึนามิได้
  3. มาตรการบรรเทาผลกระทบหลังเกิดสึนามิ ซึ่งประเทศไทยไม่ควรประมาทภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิ ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเกิดเหตุแผ่นดินไหวหลายครั้งทั้งในและนอกประเทศที่ทำให้ประชาชนรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ชัดเจน

ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีแจ้งเตือนแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ แต่สึนามิสามารถแจ้งเตือนภัยได้ โดยประเทศไทยสามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ประมาณ 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาเพียงพอที่จะหลบภัย ทั้งนี้ระบบแจ้งเตือนภัยต้องทำงานตามเกณฑ์ที่กำหนด และต้องซักซ้อมเพื่อมิให้เกิดโกลาหล อีกทั้งแผนที่เสี่ยงภัยที่แสดงเส้นทางหลบภัยจะต้องครอบคลุมพื้นที่และเข้าใจได้ง่าย เส้นทางหลบภัยควรอพยพประชาชนไปสู่ที่สูงตามธรรมชาติ หากเป็นพื้นที่ราบที่ไม่มีที่สูงตามธรรมชาติควรจัดให้มีอาคารหลบภัยในบริเวณนั้น โดยการก่อสร้างอาคารหลบภัยทางดิ่งทั้งแบบชั่วคราวหรือแบบถาวร หรือการปรับปรุงอาคารหลายชั้นที่มีอยู่เดิมให้แข็งแรงต้านสึนามิได้ ขณะที่ประชาชนควรเรียนรู้เทคนิคการหลบภัยทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ รวมถึงการศึกษาแผนที่หลบภัยสึนามิ เพื่อจะได้ไม่ตระหนกและรู้เส้นทางหลบภัยเมื่อถึงคราวเกิดภัยพิบัติ

ทางด้าน รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เผยว่า นับตั้งแต่แผ่นดินไหวที่เชียงรายเมื่อปี 2557 แม้จะไม่มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นอีกในประเทศไทยโดยตรง เพียงแต่ได้รับแรงสั่นสะเทือนจากประเทศเพื่อนบ้านหลายครั้ง ดังนั้นนักวิจัยควรจะถอดบทเรียนว่าจากวันนั้นถึงวันนี้เราเรียนรู้อะไร และเตรียมการอะไรเพิ่มเติมบ้าง โดยเฉพาะในมุมความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมการจัดการ  และการเตรียมคนทั้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องและประชาชน เพื่อให้ประเทศไทยมีความพร้อมมากขึ้นสำหรับการรับมือภัยพิบัติแผ่นดินไหว รวมถึงสึนามิที่อาจจะเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต (ที่มา : posttoday)

สถานีต่อไปโลกร้อนดินแล้ง

จับตาปรากฎการณ์ “เอลนีโญ” เตรียมรับมือภัยแล้ง ส่งผลให้อุณหภูมิร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์  คาดการณ์ว่าจะลากยาวถึงอย่างน้อย มี.ค. ปี 2567  ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอาหาร เพราะอาจจะทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง

 “เอลนีโญ” เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ เป็นการแปรปรวนของระบบภูมิอากาศที่ทรงพลังที่สุดในโลก ซึ่งเอลนีโญมีชื่อเต็มว่า ENSO ย่อมาจาก El Nino/Southern Oscillationซึ่งเป็นคำเรียกรวมปรากฏการณ์เอลนีโญ กับความผันแปรของระบบอากาศในซีกโลกใต้ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ เกิดขึ้นครั้งล่าสุดในปี 2561-2562 ที่โลกทำสถิติร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ และนักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยเชื่อว่าปี 2024 อาจทุบสถิติเดิมเมื่อ 2016 เอลนีโญจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้โลกร้อนขึ้นทะลุ 1.5 องศาเซลเซียส สิ่งที่อาจเกิดขึ้นได้อันเป็นผลจากปรากฏการณ์นี้ มีทั้งการก่อให้เกิดภาวะแล้งมากกว่าปกติในบางพื้นที่ของเอเชียและออสเตรเลีย คล้ายกับในแอฟริกาที่เอลนีโญจะส่งผลให้แล้งกว่าปกติอยู่แล้ว

ภาพ : วิกิพีเดีย

ส่วนทางตอนใต้ของสหรัฐฯ อาจมีฝนตกมากขึ้น ในฤดูหนาวที่จะถึงปลายปีนี้ ขณะที่ฤดูมรสุมในอินเดียอาจอ่อนกำลังลงกว่าปกติ ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวคาดว่าจะมีผลไปจนถึงฤดูใบไม้ผลิปี 2024 และหลังจากนั้นผลกระทบจะค่อยๆ ลดลง ประกอบกับข้อมูลจาก National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) ที่รายงานว่า พื้นที่ทั่วโลกในปี 2566 ทำลายสถิติอากาศร้อนที่สุดในรอบ 174 ปี โดยอุณหภูมิพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นอยู่ที่ +0.87 °C สูงขึ้นมากกว่าปี 2000 ซึ่งอยู่ที่ +0.34 °C เท่านั้น

ปรากฏการณ์เอลนีโญ จะลากยาวไปจนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2567 สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก เอลนีโญ ส่งผลให้เกิดภัยแล้งหนัก ฝนขาดช่วง ปริมาณน้ำฝนน้อยกว่าทุกปี ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ รวมถึงระบบนิเวศและห่วงโซ่อาหารในมหาสมุทรจะแย่ลง ฝูงปลามีจำนวนลดลง นกชายฝั่งขาดอาหาร ชาวประมงขาดรายได้ ขณะที่ทางชายฝั่งประเทศเปรู ทวีปอเมริกาใต้ จะเกิดพายุฝนอย่างหนัก อาจมีน้ำท่วมและดินถล่มอย่างรุนแรง

มีการพยากรณ์อากาศจาก องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ระบุว่า ภายในสิ้นเดือนกรกฎาคมปีนี้ มีโอกาส 60% ที่จะเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ และภายในสิ้นเดือนกันยายน 2566 มีโอกาสมากถึง 80% ที่จะเกิดเอลนีโญ ขณะที่ กรมอุตุนิยมวิทยา ประเทศไทย ก็มีคำพยากรณ์ออกมาในทิศทางเดียวกัน คือ คาดการณ์ปี 2566 ไทยมีแนวโน้มจะพบปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน และจะเกิดยาวไปถึงปี 2567

ภาพ : https://www.nsm.or.th/nsm/index.php/th/node/54337

สำหรับประเทศไทยปรากฎการณ์เอลนีโญได้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนและอาจลากยาวไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า 2567 ซึ่งส่งผลให้ปริมาณฝนปีนี้น้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 5 % และจะเกิดฝนจะ ทิ้งช่วง ในเดือนมิถุนายน – กลางเดือนกรกฎาคม และจะทิ้งช่วงอีกครั้งในช่วงเดือนกันยายน ทำให้เกิดพื้นที่แล้งซ้ำซากในส่วนของภาคเกษตรกรรมยืนยันว่าปีนี้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกทำนาปีได้ตามปกติ  แต่หลังจากนั้นอาจจะต้องให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อยแทนการทำนาปรัง

ไทยเตรียมพร้อมรับมือ “เอลนีโญ” : ปัจจุบันกรมชลประทานได้ส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน เพื่อให้เกษตรกรได้เพาะปลูกแล้ว และจะเร่งเก็บเกี่ยวผลผลิตให้ทันก่อนน้ำหลากในช่วงกลางเดือนกันยายน เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดความ         เสียหายจากอุทกภัย นอกจากนี้ ได้กำชับให้โครงการชลประทานทุกแห่งปฏิบัติตามมาตรการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2566 ที่กรมชลประทานกำหนด ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามมาตรการรองรับฤดูฝนปี 2566 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนด อย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนให้มากที่สุด ดังนั้นคนไทยจำเป็นต้องเตรียมรับมือกับ “ภัยแล้ง” ที่จะมาถึงในปีนี้ โดยการช่วยกันประหยัดทรัพยากรน้ำให้เพียงพอในช่วงวิกฤติภัยแล้ง  ( ที่มา : thaitv5hd)

สถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับเริ่มวิกฤต คุกคามสุขภาพประชาชน

นอกจากไทยจะเจอกับวิกฤตปรากฏการณ์เอลนีโญ ทางด้านสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 อยู่ในระดับเริ่มวิกฤต คุกคามสุขภาพประชาชน คาดการณ์คุณภาพอากาศช่วง 1-2 วันข้างหน้า ปริมาณฝุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชน โดยเฉพาะจราจร วินมอเตอร์ไซค์ ไรเดอร์ แรงงานก่อสร้างที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เสี่ยงกระทบสูงสุด สั่งหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่เตรียมพร้อมสำรองหน้ากากอนามัย/N95 ล่าสุดพิษณุโลก นนทบุรี สมุทรสาคร เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีฝุ่น PM 2.5 แล้ว ขณะที่กรมอนามัย- กรมควบคุมโรค เร่งสื่อสารความเสี่ยงวิธีป้องกันตนเองจากฝุ่นพิษ หลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง สวมหน้ากากอนามัยถ้าจำเป็นต้องออกจากบ้าน

จากการคาดการณ์คุณภาพอากาศในช่วง 1-2 วันข้างหน้า ปริมาณฝุ่นละอองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลายพื้นที่ โดยล่าสุดมี 28 จังหวัดที่ค่าฝุ่น PM 2.5 เกินมาตรฐาน อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้หน่วยงานสาธารณสุขทุกจังหวัดเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตสุขภาพของประชาชน โดยจังหวัดที่มีความเสี่ยงสูงให้เตรียมสำรองหน้ากากอนามัย หน้ากากชนิด N 95 ไว้ให้พร้อมหากมีความจำเป็นที่จะต้องแจกจ่ายให้กับประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 4 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด,โรคระบบทางเดินหายใจ, โรคเยื่อบุตาอักเสบ และโรคผิวหนัง

นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายการเมือง เปิดเผยว่า ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 เป็นภัยสิ่งแวดล้อมที่คุกคามสุขภาพของประชาชน หากได้รับเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วยหรือป่วยเรื้อรังได้ โดยเฉพาะผู้ที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคระบบทางเดินหายใจ หอบหืด เด็กเล็ก ผู้สูงอายุและหญิงตั้งครรภ์ ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข มีความห่วงใยพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องทำงานกลางแจ้ง เช่น ตำรวจจราจร วินมอเตอร์ไซค์ ไรเดอร์ และแรงงานก่อสร้าง ซึ่งต้องทำงานท่ามกลางฝุ่นและความร้อนตลอดทั้งวัน จะมีความเสี่ยงสูงมาก แนะนำให้สวมหน้ากากป้องกันฝุ่น และหากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์ ส่วนผู้มีโรคประจำตัว ควรเตรียมยาและอุปกรณ์ที่จำเป็นให้พร้อม สำหรับสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยง เช่น สถานศึกษา สถานดูแลผู้สูงอายุ ควรจัดทำห้องปลอดฝุ่นเพื่อเป็นที่พักในช่วงค่าฝุ่นสูง และเฝ้าระวังสุขภาพกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัด อาทิ กรมอนามัย กรมควบคุมโรค เร่งสื่อสารความเสี่ยงกับประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงขึ้น
ด้าน พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ได้มอบหมายให้กองประเมินผลกระทบทางสุขภาพจัดทำข้อมูลความรอบรู้สุขภาพเรื่อง PM 2.5 สื่อสารกับประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงสูงตามนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยมีคำแนะนำการดูแลและป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจาก PM2.5 ในเบื้องต้น ดังนี้
1.ให้อยู่ภายในอาคารบ้านเรือน หากไม่จำเป็นอย่าออกนอกบ้าน โดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเสี่ยง
2.ปิดประตูหน้าต่างป้องกันฝุ่นเข้า หากปิดไม่ได้ให้ใช้ผ้าชุบน้ำทำเป็นม่านปิดแทน
3.หากต้องออกนอกบ้าน ให้ใช้ผ้าชุบน้ำบิดพอหมาดๆ ปิดจมูกและปาก หรือใส่หน้ากากกรองฝุ่น
4.หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายและทำงานหนัก เมื่ออยู่นอกบ้าน
5.ดื่มน้ำมาก ๆ และไม่สูบบุหรี่ ในช่วงที่มีปัญหาฝุ่นขนาดเล็ก
6.ผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์และเด็กเล็ก ต้องดูแลสุขภาพเป็นพิเศษ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสอากาศที่มีฝุ่นละออง
7.ไม่เผาขยะ โดยเฉพาะขยะที่เป็นสารพิษ เช่น พลาสติก ยางรถยนต์ รวมทั้งขยะทั่วไป
8.ลดการใช้รถยนต์ หรือใช้เท่าที่จำเป็น เพื่อไม่ให้มลพิษจากท่อไอเสีย ทำให้คุณภาพอากาศแย่ลง
สำหรับสถานการณ์ค่าฝุ่น PM 2.5 ภาพรวมอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยจังหวัดที่มีค่าฝุ่นเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเกินมาตรฐาน 28 จังหวัด และมี 3 จังหวัดที่เปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรณีฝุ่น PM 2.5 แล้ว คือ พิษณุโลก นนทบุรี และสมุทรสาคร

ภาพ : อินเทอร์เน็ต

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ 413 วันที่ 5-11 มกราคม 2567

สกู๊ปปก (2-3)

มังกรเหยียบโลก

“ภัยพิบัติ” 2024

(อาจ)แค่เริ่มต้น!

อีบุ๊กบางกอกทูเดย์รายสัปดาห์ ฉบับที่ ๔๑๓ ระหว่างวันที่ ๕-๑๑ มกราคม ๒๕๖๗
https://book.bangkok-today.com/books/dyuq/index.html#p=1
(สามารถพลิกอ่านได้เหมือนหนังสือปกติ)

 

 

 

 

 

 

 

Facebook Comments


Social sharing

Related post