Digiqole ad

ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร

 ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร
Social sharing
Digiqole ad

ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร

พญ.ศิริณา เอกปัญญาพงศ์ อายุรแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินอาหารและตับ คลินิกอายุรกรรม โรงพยาบาลหัวเฉียว บอกกล่าวถึงภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ความรุนแรงขึ้นกับตำแหน่งที่เลือดออก พยาธิสภาพ และ ปริมาณเลือดที่ออก ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารเป็นสัญญาณเตือนอันตรายของโรคทางเดินอาหารที่สำคัญหลายชนิด

ทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract หรือ GI tract) ของคนเราประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ ตั้งแต่ ช่องปาก หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก (ซึ่งประกอบด้วย duodenum, jejunum และ ileum) ลำไส้ใหญ่ (ส่วน colon และ rectum) และ ทวารหนัก

ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร สามารถแบ่งย่อยออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1. ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน (Upper GI bleeding) หมายรวมถึงภาวะเลือดออกตั้งแต่ตำแหน่งหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น (เหนือต่อรูเปิดของ Ampulla of Vater บริเวณ duodenum)

อาการแสดง : อาเจียนเป็นเลือดสด (hematemesis) หรือสีน้ำกาแฟ (coffee ground) และถ่ายดำเหมือนยางมะตอย (melena) หากมีเลือดออกปริมาณมากอาจทำให้ความดันโลหิตต่ำและถ่ายเป็นเลือดได้เช่นกัน

การตรวจวินิจฉัย : การส่องกล้องกระเพาะอาหาร (Esophagogastroduodenoscopy หรือ EGD)

2. ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนกลาง (Mid GI bleeding) หมายถึงภาวะเลือดออกบริเวณลำไส้เล็ก (นับตั้งแต่ใต้ต่อรูเปิดของ Ampulla of Vater บริเวณ duodenum ถึง ileum) ซึ่งอาจพบได้ไม่บ่อยนัก

อาการแสดง : ภาวะซีดเรื้อรัง ตรวจอุจจาระพบเม็ดเลือดแดงแฝง หรือสามารถถ่ายอุจจาระได้หลายรูปแบบ เช่น ถ่ายดำ หรือถ่ายเป็นเลือด ขึ้นกับตำแหน่งของพยาธิสภาพบริเวณลำไส้เล็กและปริมาณเลือดที่ออก

การตรวจวินิจฉัย : การกลืนแคปซูล (Capsule endoscopy) หรือ การส่องกล้องลำไส้เล็ก (Enteroscopy)

3. ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง (Lower GI bleeding) หมายถึงภาวะเลือดออกบริเวณลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

อาการแสดง : ถ่ายอุจจาระเป็นสีแดงเลือดนก (maroon stool) หรือสีเลือดแดง (hematochezia) ซึ่งขึ้นกับตำแหน่งพยาธิสภาพอยู่ส่วนต้นหรือส่วนปลายของลำไส้ใหญ่ หากเลือดออกบริเวณทวารหนัก มักถ่ายอุจจาระเป็นเลือดสดแยกจากอุจจาระ

การตรวจวินิจฉัย : การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy)

อนึ่ง ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารสามารถพบได้ทั้งในเพศชายและเพศหญิง ลักษณะพยาธิสภาพที่พบได้อาจแตกต่างกันตามกลุ่มวัย และตำแหน่งในทางเดินอาหาร ซึ่งอาจสัมพันธ์กับโรคประจำตัว การใช้ยาประจำบางชนิด ความเสื่อม หรือไม่ทราบสาเหตุชัดเจน อาทิเช่น แผล เส้นเลือดขอด เส้นเลือดผิดปกติ ก้อนเนื้อ กระเปาะในลำไส้ใหญ่ เป็นต้น ทั้งนี้หากพบว่ามีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมด้วยการส่องกล้องทางเดินอาหารตามเทคนิคต่างๆ ซึ่งแพทย์จะพิจารณาวิธีที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละราย เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว อีกทั้งยังสามารถทำหัตถการห้ามเลือดขณะส่องกล้องเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนได้

 

Facebook Comments

Related post