Digiqole ad

ภาระกิจเร่งด่วนภาครัฐ “ตอน” หมูเถื่อน ก่อนเกษตรกรถอดใจเลิกเลี้ยง

 ภาระกิจเร่งด่วนภาครัฐ “ตอน” หมูเถื่อน ก่อนเกษตรกรถอดใจเลิกเลี้ยง
Social sharing
Digiqole ad

“การตอน” (castration) หรือ การทำหมันหมูเพศผู้ ยังมีความจำเป็นสำหรับการเลี้ยงสุกร วัตถุประสงค์หลัก คือ ลดพฤติกรรมก้าวร้าวและดุร้ายของสัตว์ ลดการต่อสู้ของสัตว์ ทำให้สัตว์ได้รับบาดเจ็บในการเลี้ยงรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ การตอนจึงส่งผลดีต่อสุขภาพสัตว์และการเจริญเติบโต ที่สำคัญเป็นวิธีที่ช่วยขจัดปัญหากลิ่นสาบในเนื้อที่ผู้บริโภคไม่ยอมรับ แตกต่างจากวันนี้ที่ภาระกิจเร่งด่วนของภาครัฐไม่ใช่ “การตอน” หมูในฟาร์ม แต่ต้อง “ตอน” หมูเถื่อน ให้สูญพันธุ์ไม่ให้ออกมาวิ่งเล่นในประเทศไทยได้อีกต่อไป

“หมูเถื่อน” ยังไม่ถูก “ตอน” จึงออกอาละวาดทั่วไทยได้อย่างเสรี ทำร้ายเศรษฐกิจประเทศ ทำลายความเชื่อมั่นของผู้เลี้ยงหมูที่กำลังมุ่งมั่นผลิตหมูรุ่นใหม่ เสริมความมั่นคงทางอาหารให้กับคนไทยทั้งประเทศ หลังโดนโรคระบาด ASF เสียหายทั้งพ่อแม่พันธุ์และหมูขุนไปมากกว่า 50% เพราะหมูเถื่อนเป็นปัจจัยสำคัญที่บิดเบือนกลไกราคา ดึงราคาขายปลีกให้ต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริงของเกษตรกร ร้ายไปกว่านั้นส่งคนไทยให้ “ตายผ่อนส่ง” จากสารเร่งเนื้อ และสารพิษอื่นๆ เช่น ยาฆ่าแมลง ที่ปะปนในเนื้อหมูลักลอบนำเข้าที่ไม่ผ่านการตรวจเชื้อโรคและสารตกต้างตามมาตรฐานที่ไทยกำหนด

ภาครัฐ ทั้งกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ เปรียบเหมือนผู้รับผิดชอบการ “ตอน” แต่ก็ละเลยปล่อยปละหมูเถื่อนออกมาส่งกลิ่นสาบนอกท่าเรือ แต่ตามกลิ่นอย่างไรก็ไม่เจอ “ตัวพ่อ-ตัวแม่พันธุ์” เสียที จับได้แต่ปลาซิว ปลาสร้อย พลาดเป้าทุกครั้ง ทั้งที่กรมศุลกากรกุมอำนาจและเอกสารนำเข้าไว้ในมือ และอย่าแย้งว่าสำแดงเท็จแล้วตรวจไม่เจอ เพราะเครื่องเอ็กซ์เรย์ (Fixed X-ray Scanning System) ที่ใช้งบประมาณแผ่นดินไปหลายร้อยล้าน นั้น แม้แต่ขนหมูเส้นเล็กๆ ยังส่องให้เห็นได้ นับประสา…กับหมูแช่แข็งแท่งใหญ่ๆ ชิ้นโตๆ กลับเล็ดลอดออกมาได้

จะว่า “หมูเถื่อน” ปราบปรามยาก ก็ไม่น่าเหลือบ่ากว่าแรง ขอเพียงกรมศุลกากรขยับนิด กรมปศุสัตว์ออกแรงหน่อย น่าจะเรียบร้อยโรงเรียนจีนได้โดยง่าย อยู่ที่ว่าจะร่วมมือกัน หรือรอดูเชิงกัน หรือเพราะพ้นช่วงเวลาโยกย้ายแต่งตั้งประจำปีแล้วไม่ต้องทำผลงานมาก หากจะมีก็ “ย้ายด่วน” หรือ “เด้งฟ้าผ่า” แบบนี้ภาพลักษณ์เสียหาย ไม่เป็นผลดีกับประวัติรับราชการแน่ กับพวกที่ละเลยต่อหน้าที่ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งมีให้เห็นอยู่ต่อเนื่องช่วงนี้…ขออย่าทำ

ที่ผ่านมา สมาคมผู้เลี้ยงสุกรทั่วทุกภาคออกมาประสานเสียงโอดครวญ ว่า “หมูเถื่อน” มีอยู่จริงและมีมากด้วย เพราะตอนนี้เกษตรกรขายหมูเป็นอืดมาก เพราะโรงชำแหละไม่ซื้อ ด้วยเหตุผลที่ว่าหมูไทยราคาสูง ทั้งผู้เลี้ยงหมูทั้งประเทศพร้อมใจกันรักษาระดับราคาหน้าฟาร์มที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม มานานกว่า 23 สัปดาห์แล้ว เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของผู้บริโภค ทั้งที่เกษตรกรต้องแบกต้นทุน 98-100 บาทต่อกิโลกรัม ถือซะว่าคนไทยไม่ทิ้งกัน

ร้ายกว่านั้น การตรวจจับโจรตัวจริงไม่ได้เสียที เป็นปัจจัยผลักดันให้ขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน เปลี่ยนวิธีการไปเรื่อยๆ เพื่อหนีการจับกุม ตอนนี้ข่าววงในว่าหันมาใช้ช่องทางธรรมชาติลำเลียงหมูเถื่อนแล้ว หน่วยงานภาครัฐจะมีวิธีจัดการ “กองทัพมด” เหล่านี้ได้อย่างไร…ให้เวลาถึงสิ้นปี 2565 ว่าจะปราบปรามให้ราบคาบได้หรือไม่ เท่ากับเวลาที่รับปากคนไทยจะนำผลผลิตเนื้อหมูของเกษตรกรไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติให้ได้

ช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา การปราบปรามกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังตกเป็นเป้าสายตาของผู้บริหารระดับเจ้ากระทรวง มีเด้งฟ้าผ่า ที่กระทรวงเกษตรฯ เป็นการเตือนสติเจ้าหน้าที่รัฐให้ขยันขันแข็งกับการทำงาน และทำหน้าที่เพชรฆาตฟันไม่เลี้ยง ตามมูลเหตุแห่งความผิด ประชาชนจะแซ่ซ้องสรรเสริญ แต่ที่ยังจับตา คือ กรมศุลกากร เพราะหมูเถื่อนผ่านด่านแรกที่ท่าเรือหรือด่านติดพรมแดนประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯชุกชุม จึงควรจับให้ได้ ณ จุดนำเข้า เหมือนกับข่าวจับหมูยอจากเวียดนามที่สนามบินสุวรรณภูมิ หรือ ข้ามห้วยไปจับ ยาอี ที่ซุกซ่อนมาในพัสดุไปรษณีย์ ณ ศูนย์ไปรษณีย์กรุงเทพฯ ขอให้ท่านมี “ตาวิเศษ” มองทะลุปรุโปร่งจับหมูเถื่อนให้ได้คาหนังคาเขาบ้างก็จะเป็นการดี

“อาบอรุณ ธรรมทาน นักวิชาการอิสระ”
Facebook Comments

Related post