Digiqole ad

ภารกิจเพื่อผู้ประกอบการไทย อนาคตที่ฉายแววสดใส

 ภารกิจเพื่อผู้ประกอบการไทย อนาคตที่ฉายแววสดใส
Social sharing
Digiqole ad

ในวันที่ตลาดโลกเต็มไปด้วยการแข่งขันของผู้ผลิตมากมาย ในขณะเดียวกันกับที่ผู้บริโภคเองก็มีโจทย์ความต้องการที่มากขึ้น โดยมีปัจจัยกระตุ้นที่เป็นทั้งยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลง กับภาวการณ์ของโลกที่เปลี่ยนไป การสร้างผลิตภัณฑ์ด้วยวิธีคิดแบบเดิมๆ จึงอาจไม่ใช่คำตอบของความสำเร็จในอนาคต โดยเฉพาะในวันที่เรา ‘ผลิตภัณฑ์ไทย’ ต้องการก้าวไปผงาดบนเวทีโลก คุณสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ บอกว่าแนวทางหนึ่งที่ไทยควรก้าวไปคือ การผสานทั้งฐานความแข็งแกร่งของทรัพยากรไทย ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ พร้อมกับอาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่โดดเด่นด้วยนวัตกรรม …หลายแนวทางต่อไปนี้น่าจะช่วยฉายภาพให้ชัดขึ้นได้ว่า ไทยควรก้าวต่อไปอย่างไร

 

ผลิตภัณฑ์ไทยกับเทรนด์โลก

 ในฐานะที่ทำงานร่วมกับผู้ประกอบการชาวไทยโดยตรง กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จึงเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่มองเห็นศักยภาพของคนไทยและผลิตภัณฑ์ไทยอย่างมาก คุณสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เล่าว่า ที่ผ่านมามีสินค้าและผลิตภัณฑ์ของไทยมากมายได้รับความสนใจในตลาดโลก หลายผลิตภัณฑ์โดดเด่นด้วยตัวเองจากการผลิตขึ้นจากฐานทรัพยากรอันแข็งแกร่งของไทย ในขณะที่อีกหลายผลิตภัณฑ์ก็สามารถต่อยอดให้ดึงดูดได้มากขึ้น ผ่านความคิดสร้างสรรค์ในการผลิตสินค้าและการนำเสนอ เพียงแต่ในวันที่ตลาดโลกกำลังแข่งขันสูงมากเช่นนี้ การแสวงหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้น่าสนใจขึ้น ก็เป็นเรื่องสำคัญมาก

“หากพิจารณาให้ถ้วนถี่จะพบว่าวันนี้ตลาดโลกเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคเองก็เปลี่ยนเร็ว บางความต้องการเกิดขึ้นพร้อมกับภาวการณ์ใหม่ๆ ที่เราอาจคาดไม่ถึงมาก่อน อย่างในยุคที่มีการแพร่ระบาดของโควิด – 19 เราก็จะได้เห็นหลายผลิตภัณฑ์ หรือหลายบริการ เกิดขึ้นเพื่อรองรับความต้องการในช่วงนี้ ดังนั้นในฐานะผู้ผลิต หากเราก้าวไปเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เห็นความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค เราก็จะสามารถผลิตสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ได้ตรงกับความต้องการได้จริง โดยนโยบาย ‘ตลาดนำการผลิต’ ของท่านรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ท่าน ‘จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์’ ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นลำดับต้น เมื่อเราเริ่มตั้งโจทย์การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากความต้องการจริงของลูกค้า ทราบแนวโน้มของความต้องการของผู้บริโภค สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เราผลิต ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจมากขึ้นเช่นกัน”

ทั้งนี้ความโดดเด่นหนึ่งของผลิตภัณฑ์ไทยเองก็ยังเป็นเรื่องความแข็งแกร่งจากฐานทรัพยากรที่เรามีขณะเดียวกันการเป็นชนชาติที่เปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์เป็นทุน ก็ทำให้ที่ผ่านมาผู้ประกอบการ SMEs ไทย สามารถนำสินค้าและผลิตภัณฑ์ไทยในหมวดหมู่ต่างๆ ออกไปฉายชัดบนเวทีโลกได้มากขึ้น แต่ไม่ว่าจะอย่างไร การเข้าใจเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน รวมถึงการจับตามองเทรนด์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต ก็ยังเป็นหนึ่งในเรื่องที่ควรให้ความสำคัญอย่างมาก ตามแนวนโยบายเรื่องตลาดนำการผลิต ซึ่งจากแนวคิดนี้เรื่องนี้ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เน้นย้ำด้วยว่า อีกเทรนด์หนึ่งของโลกที่ผู้ผลิตไม่ควรพลาดจับตามอง คือ การสร้างสรรค์สินค้าและผลิตภัณฑ์ที่สัมพันธ์กับการรักษ์โลก

“ Renim Project “ แบรนด์ไทยที่ผสนางานดีไซน์เข้ากับนวัตกรรม ด้วยการใช้วัสดุเหลือใช้ต่างๆ มาผสมกับยีนส์

“Laika” ขนมสุนัขจากโปรตีนแมลง แก้ปัญหา Food Waste

“นอกจากวันนี้ที่เราจะต้องจับตามองโลกและการเปลี่ยนแปลงของโลกในภาวการณ์โควิด -19 แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ทั้งโลกกำลังพูดถึง ก็คือความยั่งยืน ดังนั้นโจทย์ความต้องการที่เกิดในวันนี้และอนาคตก็จะสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์รักษ์โลก และการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งเรื่องนี้ก็สัมพันธ์กับแนวนโยบายของประเทศไทยของเราที่มุ่งให้ความสำคัญการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ว่าด้วย ‘BCG Economy’ หรือ Bio Economy ,Circular Economy และ Green Economy โดยรัฐบาลได้กำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปในทิศทางเดียวกัน ผ่านฐานความแข็งแกร่งด้านทรัพยากรที่เรามี และเมื่อนำไปผนวกกับความโดดเด่นในด้านอื่นๆ การให้กำเนิดสินค้าและผลิตภัณฑ์ไทย ก็ย่อมจะเป็นที่น่าจับตามองในอนาคตมากขึ้นไปอีกด้วย”

ความโดดเด่นในด้านอื่นๆ ที่อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเอ่ยถึงวันนี้ ยังหมายถึงการสามารถผสานนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งกับการสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ด้วย ซึ่งที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศตระหนักถึงความสำคัญเรื่องนี้ จึงพยายามที่จะเป็นตัวกลางเพื่อผสานทั้งผู้เชี่ยวชาญในนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย ให้ได้เชื่อมโยงกัน เพื่อให้กำเนิดและต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ถึงพร้อมด้วยนวัตกรรม ซึ่งใน 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ โดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า ดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง คือการเชื่อมสะพานระหว่างผู้ประกอบการ SMEs ไทย กับนักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านโครงการ Smart Value Creation การส่งเสริมและต่อยอดนวัตกรรมสู่การค้าระหว่างประเทศ” ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้จับคู่กับนักวิจัย ก่อนจะสร้างสรรค์และต่อยอดผลิตภัณฑ์อย่างมีทิศทางและเป็นรูปธรรม โดยโครงการ Smart Value Creation ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการ SMEs ไทย อย่างมาก และประสบความสำเร็จ โดยวัดจากการเกิดขึ้นของผลิตภัณฑ์สัญชาติไทยใหม่ๆ ที่มีนวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน และพร้อมตบเท้าออกสู่ตลาดโลก

‘นวัตกรรม’ คำตอบความสำเร็จบนเวทีโลก

“เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าวันนี้โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วรอบด้าน นวัตกรรม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็เป็นอีกหนทางหนึ่งให้เราก้าวเท่าทันโลกได้ สำหรับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศแล้ว สิ่งที่เราพยายามทำคือส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยเห็นความสำคัญและความจำเป็นของนวัตกรรม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้ที่ผ่านมาจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะเป็นสะพานเชื่อมในส่วนนี้ โดยโครงการหนึ่งที่ดำเนินมาอย่างเป็นรูปธรรม คือ โครงการ “Smart Value Creation การส่งเสริมและต่อยอดนวัตกรรมสู่การค้าระหว่างประเทศ” โดยเชื่อมให้ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ได้พบกับนักวิจัยและพัฒนา เพื่ออาศัยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี เข้าไปช่วยสร้างสรรค์และต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้ถึงพร้อมไปด้วยนวัตกรรม อันจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลกในยุคสมัยที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ได้ ในขณะเดียวกันก็นับว่าเปิดโอกาสอันดี และสร้างเวทีให้นักวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไทย ได้ต่อยอดงานวิจัยสู่การพาณิชย์ด้วย”

ใน 2 ปีที่ผ่านมา โครงการ “Smart Value Creation การส่งเสริมและต่อยอดนวัตกรรมสู่การค้าระหว่างประเทศ”  จึงนับได้ว่าประสบความสำเร็จสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวที ‘Smart Value Creation 2021’ ในปีนี้ที่ผู้ประกอบการ SMEs ไทย ให้ความสนใจมากขึ้น จนมีผู้ประกอบการในแขนงต่างๆ ผ่านการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการถึง 43 ราย ใน 7 กลุ่มสินค้า และได้ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาเข้าผนึกกำลังเพื่อร่วมจับมือผู้ประกอบการให้เดินไปข้างหน้าอย่างมีทิศทาง ทั้งจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หรือ บพข.  และโปรแกรมสนับสนุนพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (ITAP) ภายใต้ สวทช. ทั้งนี้เพื่อสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมสำหรับการปลุกปั้นและให้กำเนิดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ สู่เวทีโลกในอนาคตด้วย

“ผมมั่นใจอย่างยิ่งว่ากิจกรรม Smart Value Creation จะเป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาคการผลิต และภาคการวิจัย ได้อย่างดียิ่ง รวมถึงจะเป็นอีกหนึ่งหนทางในการช่วยยกระดับสินค้าไทยให้มีนวัตกรรมและคุณภาพสูงขึ้น พร้อมขยายออกสู่ตลาดสากล ในขณะเดียวกันก็ตอบโจทย์ความต้องการจริงของผู้บริโภค และช่วยเพิ่มยอดขายให้กับผู้ผลิตมากขึ้น ซึ่งนับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ไทย ได้อย่างยั่งยืน รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันที่ดียิ่งขึ้นเพื่อรับมือกับอนาคต แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วแค่ไหนก็ตาม”

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าต่างประเทศ ยังเชื่อมั่นด้วยว่า หลังจากนี้หลายภาคส่วนก็จะเห็นความสำคัญของนวัตกรรม ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมากขึ้น อันจะสามารถนำไปใช้พัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ ของตนได้มากขึ้นอีก ขณะเดียวกันผู้ประกอบการไทยที่ได้เข้าร่วมโครงการฯ ก็จะเป็นอีกหนึ่งความหวังในการนำผลิตภัณฑ์ไทยออกไปผงาดบนเวทีโลกด้วยนวัตกรรมอย่างภาคภูมิใจ

 

Smart Value Creation 2021 การผนึกกำลังเพื่อผู้ประกอบการไทย

 สำหรับโครงการ Smart Value Creation การส่งเสริมและต่อยอดนวัตกรรมสู่การค้าระหว่างประเทศ” ครั้งล่าสุดในปีนี้ นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่น่าจับตามอง ไม่เพียงเป็นหลอมรวมความมุ่งมั่นจากผู้ประกอบการ SMEs ไทยในแขนงต่างๆ เท่านั้น แต่ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ก็มีความพร้อมอย่างมากสำหรับการมอบองค์ความรู้อันมีค่า เพื่อร่วมจับมือผู้ประกอบการไทยไปสู่ตลาดโลกด้วย ซึ่ง ‘Smart Value Creation 2021’ ในปีนี้ นับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดงานรูปแบบกิจกรรมออนไลน์ทั้งหมด

 

โดยพิธีเปิดในวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ได้รับเกียรติจาก คุณสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เป็นประธานเปิดงานผ่านระบบออนไลน์ พร้อมด้วย ผู้บริหารหน่วยงานพันธมิตรด้านนวัตกรรมจำนวน 3 ท่าน ได้แก่ รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.), รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ ดร.นันทิยา วิริยบัณฑร ผู้อํานวยการฝ่าย ฝ่ายสนับสนุนการสร้างนวัตกรรมภาคเอกชน (ITAP) ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เข้าร่วมพิธีเปิดกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์ในครั้งนี้ด้วย

 

Link :  https://youtu.be/08Wu9-RTvNY

ในปีนี้ยังมีผู้ประกอบการ SMEs ไทย เข้าร่วมโครงการจำนวน 43 ราย จากกลุ่มสินค้า 7 ประเภท โดยทั้งหมดได้ผ่านการคัดเลือกจากผู้สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวน 100 ราย ทั่วทุกภูมิภาค ได้แก่

  1. กลุ่มสินค้าสุขภาพและความงาม
  2. กลุ่มสินค้าประเภทอาหาร
  3. กลุ่มสินค้าเฟอร์นิเจอร์
  4. กลุ่มสินค้าประเภทวัสดุการก่อสร้าง
  5. กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์และหัตถกรรม
  6. กลุ่มสินค้าการเกษตรและสัตว์เลี้ยง
  7. กลุ่มสินค้าประเภทเส้นใย เครื่องประดับและเครื่องแต่งกาย

โดยมีกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในงาน Smart Value Creation 2021 ประกอบด้วยกิจกรรมใน 3 ส่วนกิจกรรม ได้แก่

ส่วนที่ 1 – กิจกรรม Online Technology Matching : จับคู่ปรึกษานักวิจัยเพื่อต่อยอดพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วยงานวิจัยและเทคโนโลยี

จำนวน 26 นัดหมาย จาก 20 บริษัทส่วนที่ 2 – กิจกรรม Online Business Clinic : คลินิกปรึกษาหน่วยงานวิจัยฯ เพื่อต่อยอดพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วย งานวิจัยและเทคโนโลยี

จำนวน 24 นัดหมาย จาก 23 บริษัท

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมในส่วนที่ 3 เป็นกิจกรรมเสวนาในรูปแบบออนไลน์โดยผู้เชี่ยวชาญอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น การเสวนาหัวข้อ ‘พลิกโฉมสินค้าไทยอย่างไร? ให้โดนใจตลาดโลกด้วย BCG โดย อ.ทรงพล เณรกัณฐี ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแบรนด์และการวางแผนกลยุทธ์การตลาด การเสวนาหัวข้อ ‘ทุนวิจัยและนวัตกรรมของหน่วยงานรับงบประมาณจากกองทุน ววน. และแพลตฟอร์ม Tech2biz’ โดย รศ.ดร.สุดสวาสดิ์ ดวงศรีไสย์ รองผู้อำนวยการภารกิจการส่งเสริมระบบการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และการเสวนาหัวข้อ ‘การสนับสนุนทุนวิจัยของ บพข.’ โดย รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

โดยวันนี้ผู้สนใจยังสามารถรับชมการเสวนาในรูปแบบออนไลน์ ย้อนหลังได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ DITP  หรือติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับ Smart Value Creation ได้ที่ เฟซบุ๊กแฟนเพจ : DitpDesignDitp

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มงานส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการค้า สำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โทร 02-5078267 / 02-5078270 ผู้ประสานงาน : บริษัท อีเอยู เอ็นเตอร์ไพรซ์จำกัด 095-8474807 (ภาวนันทร์)

Facebook Comments

Related post